'Journey into reality' พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

'Journey into reality' พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

การเดินทางคือการค้นหาตัวเอง เป็นช่วงเวลาที่เราได้เป็นตัวของตัวเองมากที่สุด

 “การเดินทางคือการค้นหาตัวเอง เป็นช่วงเวลาที่เราได้เป็นตัวของตัวเองมากที่สุด ตอนนี้เป็นผู้แทน เป็นพ่อ ก็ต้องเป็นผู้แทนที่ดี เป็นพ่อที่ดี แล้วเป็นนักธุรกิจที่ดี เรามีภาระหน้าที่ต้องทำให้คนอื่น แต่พอเรา Escape From Reallity ผมจะยิ่ง Journey into reality (การเดินทางสู่ความเป็นจริง) ว่าจริงๆ แล้วเราเป็นคนยังไง เวลามีสถานการณ์ที่ดีหรือไม่ดีเราตอบสนองมันยังไง มันไม่ได้เป็นที่ๆ เราได้รับการตัดสินจากคนๆ อื่น เวลาเราไปเที่ยว เขาไม่รู้จักเรา เราเป็นตัวของตัวเอง หาข้อเท็จจริงของตัวเองได้ แล้วก็มี Travel Bug ความถวิลหาการท่องเที่ยวอยู่ตลอดเวลา เพราะมันได้ออกจากปัจจุบัน”

  1

ทิม-พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่ีอ พรรคอนาคตใหม่ พูดถึงความคิดที่มีต่อการเดินทางให้ฟัง ก่อนจะเข้าสู่วงการการเมือง เขาจบการศึกษาระดับปริญญาตรี เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง จากคณะบริหารธุรกิจภาษาอังกฤษ  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาโท การเมืองการปกครอง สาขาการบริหารภาครัฐ ที่ John F. Kennedy School of Government มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และ ปริญญาโท บริหารธุรกิจ ที่ Sloan, Massachusetts Institute of Technology (M.I.T.) สหรัฐอเมริกา ใช้ชีวิตการทำงานในฐานะนักธุรกิจหนุ่มที่พลิกวิกฤติจากติดลบจนบริษัท ซีอีโอ อกริฟู้ด จำกัด ก้าวสู่ธุุรกิจพันล้าน ในฐานะบริษัทผลิตน้ำมันรำข้าวที่ใหญ่ส่งออกเป็นอันดับ 3 ของประเทศ และอันดับ 5 ของโลก

แม้อนาคตทางธุรกิจยังไปได้อีกไกล แต่เขาก็เลือกก้าวเข้าสู่เวทีการเมืองในวัย 38 ปี พร้อมกับภารกิจที่หนักหน่วงรอบด้าน การเดินทางสำหรับเขาจึงเป็นช่วงเวลาพิเศษ โดยเฉพาะเมื่อได้เดินทางกับคนที่รักที่สุด

  4

“ผมเพิ่งกลับมาจากฮอกไกโด ไปกับลูกสองคน ลูกสาว 3 ขวบ เป็นการทดสอบตัวเอง เพราะถ้าเราอยู่บ้าน มีพี่เลี้ยงคอยช่วย เวลาที่เขางอแงที่สุด โวยวาย หนาวแต่ไม่ยอมใส่รองเท้าบูท ความเป็นพ่อของเรามันถูกพิสูจน์ ณ ตอนนั้นว่า เราเป็นพ่อที่ดีแค่ไหน ผมไปญี่ปุ่นกับลูกมา 6-7 ครั้งแล้ว ผมชอบญี่ปุ่นตรงที่มีความปลอดภัย มีปรัชญาต่างๆ เกี่ยวกับการใช้ชีวิต ความเป็นระเบียบ มีทั้ง Idealism แล้วความ Reallity ผสมกันได้ในที่เดียวกัน ไปเที่ยวเรียวกังที่ไกลๆ ก็มีรถไปถึง รองรับการเป็นพ่อเป็นแม่คนได้มากกว่าที่อื่น”

ดาวสภาขวัญใจคนรุ่นใหม่ ผู้อภิปรายในวันแถลงนโยบายของรัฐบาล เรื่องการแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรไทยด้วยแนวคิดกระดุม 5 เม็ด บอกว่า การท่องเที่ยวเชิงการเกษตร คือสิ่งที่เขาสนใจ

  8

“ตอนนี้สนใจเรื่องท่องเที่ยวเชิงเกษตรเป็นพิเศษ ตอนเด็กๆ อยู่ที่อเมริกา ได้ไปเที่ยวคิวบา จาไมกา เบอร์มิวดา เบอร์มิวดาเป็นเมืองที่ทะเลสวย มีความหลากหลายของคนหลายสัญชาติ ด้วยความเป็นเกาะ อาหารจะแพง เขาก็เริ่มปลูกกล้วย อ้อย เลี้ยงสัตว์ เราก็ไปอยู่โฮมสเตย์พวกนี้ อย่าง คิวบา โรงแรมดีๆ ไม่มี เราก็ไปอยู่กับทหารฟิเดลคาสโตร เชกูวารา เขาทำใบยาสูบ ทำซิการ์ เป็นครอบครัวเกษตรกร ซิการ์แท่งหนึ่ง 8,000 กว่าบาท เท่ากับข้าวไทยตันหนึ่ง

  3

ผมถามเขาว่า กล้าดียังไงถึงตั้งราคาสูงขนาดนี้ เขาตอบว่า แท่งนี้วินสตัน เชอร์ชิล, ฟิเดล คาสโตร ชอบสูบ มันเป็น Sun Soil Skill ของ cubian people มันคือแสงแดด คือผืนดินของแคริเบียน มันคือ skill ในการ roll ในการปลูก ต้องใช้พืชใบยาสูบ 4 ประเภท ทำให้เป็นซิการ์อันหนึ่ง (รสชาติ-ใส้ใน-ความแน่น-ผิวสัมผัส) ทำให้คิดถึงประเทศไทย เรามีข้าวหอมสีนิล ข้าวสังข์หยด เรามี Story มี Sun Soil Skill เหมือนกัน พอไปอิตาลี เจอนโยบาย Agritourismo ให้คนปลูกมะกอก ปลูกไร่องุ่นทำไวน์ เปลี่ยนบ้านตัวเองเป็น Home Stay รัฐมีหน้าที่ทำ Platform ติดป้ายทุกบ้านว่าผ่าน Agritourismo Training แล้วได้กี่ดาว

หรือที่ญี่ปุ่นก็มีนโยบาย มินาขุ (บ้านของทุกคน) เปลี่ยนบ้านเกษตรกรเป็นที่พัก จากขายสินค้ามาเป็นขายประสบการณ์ วัฒนธรรม ความรู้ ประเทศเรามีจุดแข็งอยู่ที่ Agriculture กับ Tourism แต่ไม่ค่อยถึงมือชาวบ้านเท่าไร การท่องเที่ยวเข้าเชียงใหม่แสนกว่าล้าน ถึงเชนโรงแรมไม่กี่แห่ง นี่คือประโยชน์ของการท่องเที่ยว ทำให้เห็นสิ่งที่เขาเอามาใช้ในการทำงาน”

6

เมื่อถามถึงสถานที่ที่ประทับใจ พิธาเลือก มาชูปิกชู (Machu Picchu) มรดกโลกในประเทศเปรู เขาว่า...ที่นี่คือสถานที่ที่ทำให้ “กระดิ่งในใจดังได้” 

"มาชูปิกชู (Machu Picchu) ของเผ่าอินคา เขากำหนดไว้ว่าห้ามเกิน 500 คนต่อวันเพื่อการอนุรักษ์ไว้ เราไม่คิดว่าจะได้ พอต่อแถวไป เราเป็นคนที่ 498 ก็ได้ปีนขึ้นไป 11 ชั่วโมง ปีนด้วยเท้าเปล่า เพิ่งบินมาจากนิวยอร์ค แต่งตัวเป็นนิวยอร์คเลย รองเท้าก็ไม่ใช่รองเท้าปีนเขา ปีนไปถึงพระอาทิตย์ก็ตกพอดี เป็นการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ ไม่ได้เป็นเชิงปริมาณที่เอาคนมาเที่ยวเยอะๆ เป็นการท่องเที่ยวที่กำหนดคนแล้วคิดแพงๆ”

  2

แม้จะเป็นคนที่ใช้ภาษาอังกฤษได้คล่องแคล่วและมีความรอบคอบ แต่ประสบการณ์แบบผิดคาดผิดแผนก็มีเหมือนกัน และนั่นทำให้เขาต้องเข้าห้องขังในต่างแดน

“ตอนไปคิวบา เขานึกว่าเราเป็น American Citizen เราไปกับคนอาร์เจนติน่า คนเม็กซิโก สองคนนั้นพูดภาษาสเปน คุยกันรู้เรื่อง ก็เข้าไปได้ ผมเป็นคนสุดท้ายกำลังจะเข้าไป เขาดูวีซ่าเป็น US VISA เป็น American Student บินมาจากเม็กซิโก เขาจับเข้าห้องขังเลย 4-5 ชั่วโมงกว่าจะคุยกันได้รู้เรื่อง พอได้เข้าไป ที่นั่นกำลังมีการแข่งขันเบสบอลโลกชิงชนะเลิศพอดี ญี่ปุ่นชนะคิวบา ผมหน้าจีนเขานึกว่าเป็นคนญี่ปุ่นเลยต้องวิ่งหัวซุกหัวซุน เลยได้บทเรียนมาว่าต่อไปนี้ถ้าไปเที่ยวไหนกับเพื่อน ต้องเข้าคนแรก ถ้าเราพูดไม่รู้เรื่องก็หันมาหาเพื่อนให้พูดภาษาสเปนช่วยเราได้” 

สำหรับประเทศที่อยากไปแต่ยังไม่ได้ไป นั่นคือ ศรีลังกา เหตุผลมาจากความประทับใจในวัยเด็กที่ได้ไปอยู่ในเมืองที่ติดทะเล

5

“ผมชอบศรีลังกา ตรงที่มีความหลากหลาย ผมโตมาที่นิวซีแลนด์ เป็นที่ที่มีทั้งทะเลแล้วก็ภูเขา เมืองที่ผมอยากไปใช้ชีวิตบั้นปลายคือเมืองที่มีทะเลอยู่ข้างหน้า แล้วก็มีภูเขาอยู่ข้างหลัง ศรีลังกาเป็นที่ที่เหมาะสม มีทั้งซาฟารี มีทั้งโคโลเนียล ซาฟารี ผมเคยไปที่ซึมบับเว สนุกมาก เป็นอะไรที่ยอมตื่นมาตีห้า เพื่อจะมาดู ส่วนเป้าหมายช่วงนี้ จะพาลูกไปเที่ยวให้ครบ 103 จังหวัดของญี่ปุ่นให้ได้ ตอนนี้ไปมา 50 ที่แล้ว ไปกับลูกสองคน”