'สุข' หลัง 'เกษียณ' วรภัทร โตธนะเกษม

'สุข' หลัง 'เกษียณ' วรภัทร โตธนะเกษม

แผนชีวิตและความฝันในลิ้นชักของผู้บริหารวัย 70 ปี ที่ยืนยันว่าอายุไม่ใช่อุปสรรค

“เช้าวันเกิดตอนผมอายุ 30 ผมยืนอยู่ที่จอดรถที่ทำงาน มองไปรอบตัวเห็นวิวกรุงเทพยามเช้ารู้สึกสวยงามมาก พระอาทิตย์กำลังสาดแสงเหนือท้องฟ้า แต่ในหัวกับเกิดคำถามขึ้นมาว่า ตอนนี้ผมเดินทางมาครึ่งชีวิตแล้ว ดังนั้น อีกครึ่งชีวิตที่เหลือ ผมจะเดินทางชีวิตตัวเองอย่างไรดี เพื่อถึงวันเกษียณมองย้อนกลับมาจะได้ไม่รู้สึกเสียดายว่ายังไม่ได้ทำอะไร”

นี่คือคำพูดของ วรภัทร โตธนะเกษม หรือ อาจารย์วรภัทร ที่หลายใครเรียกกันติดปาก เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นในการวางแผนใช้ชีวิตยามเกษียณอย่างมีคุณภาพและมีความสุข เช่นเดียวกับตัวเขาที่ทุกวันนี้แม้จะอายุ 70 ปีแล้ว แต่ยังสนุกกับการได้ทำงาน ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก และได้ลองทำในสิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา

ปัจจุบันเขาดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาองค์กรภาครัฐ (IRDP) เป็นหน่วยงานอิสระ มีภารกิจด้านการประเมินผล ฝึกอบรม วิจัยและพัฒนา ให้กับองค์กรภาครัฐและรัฐวิสาหกิจทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยังเป็นประธานกรรมการและกรรมการ ให้กับบริษัทเอกชนอีกหลายบริษัท รวมทั้งยังสอนหนังสือและเขียนหนังสือด้วย

แม้ภารกิจจะมากมายแต่อาจารย์วรภัทรบอกว่า ยังมีความสุขกับทุกงานที่ได้ทำ รู้สึกว่าตัวเองได้ใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่า แม้วันนี้จะเข้าสู่วัยเกษียณ แต่จริงๆ แล้วยังมีอะไรให้ทำอีกมากมาย นี่ไม่ใช่ปลายทางของชีวิต เพราะการเดินทางยังไม่สิ้นสุด ตราบใดที่เรายังมีลมหายใจ

สำหรับตัวเขามองว่า การวางแผนให้กับชีวิตเปรียบเสมือนการวางเป้าหมายให้กับตัวเอง แม้เราไม่อาจคาดการณ์ได้ว่า ทุกอย่างจะเป็นไปตามแผนที่วางไว้หรือไม่ เพราะระหว่างทางอะไรก็สามารถเกิดขึ้นได้ บางครั้งเราอาจล้ม มีอุปสรรคต่างๆ เข้ามาทดสอบ แต่เชื่อว่าต้องมีสักวันที่เป็นวันของเรา

“ชีวิตเรา เราสามารถวางแผนได้ แม้ไม่รู้ว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น ขอเพียงแค่เดินให้ตรงทาง ให้มั่นคงที่สุด หลักใหญ่ยึดเอาไว้ให้ได้ แม้บางช่วงจะตกอับ บางช่วงจะรุ่งเรือง มันก็คือชีวิต เราไม่สามารถควบคุมได้ แต้ถ้าเราทำดีที่สุดแล้ว เดี๋ยวมืดก็จะสว่างเอง”

 

download (3)

กว่าที่จะมาถึงทุกวันนี้ ได้ใช้ชีวิตยามเกษียณอย่างมีความสุข แบบที่ตัวเองวาดหวังไว้ อาจารย์วรภัทรเล่าย้อนให้ฟังถึงเส้นทางชีวิตของเขา ซึ่งเป็นเด็กต่างจังหวัดคนหนึ่ง บ้านเกิดอยู่ที่จังหวัดพิจิตร หลังจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 สอบติดได้ไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ประเทศสหรัฐอเมริกา 2 เดือน และกลับมาศึกษาต่อระดับปริญญาตรีที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำเร็จการศึกษาได้เกียรตินิยมดีมาก

ก่อนสมัครชิงทุนธนาคารกสิกรไทย ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทบริหารธุรกิจ ที่มหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น ประเทศสหรัฐอเมริกา หลังเรียกจบกลับมาเมืองไทยเมื่อปี 2517 และทำงานใช้ทุนที่ธนาคารรวมทั้งยังเป็นอาจารย์พิเศษที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

หลังทำงานได้ 6 ปี ได้รับทุนจากธนาคารไปเรียนต่อปริญญาเอกที่สหรัฐอเมริกาอีกครั้ง เมื่อเรียนจบกลับมาทำงาน ก่อนตัดสินใจลาออกจากธนาคารกสิกรไทยเมื่อปี 2539 ซึ่งเขาบอกว่า การตัดสินใจครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิต เมื่อต้องยอมทิ้งหน้าที่การงานที่มั่นคง เพื่อออกไปลองทำอะไรใหม่ๆ ที่ท้าทาย

โดยเขาได้รักการทาบทามให้มาร่วมงานกับ บริษัท ทริส คอร์ปอเรชั่น จำกัด สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือของไทย ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ กับภารกิจสุดท้าทายในการเป็นหัวเรือใหญ่ ช่วยพลิกฟื้นองค์กรซึ่งตอนนั้นกำลังประสบภาวะวิกฤตจากเหตุการณ์ต้มยำกุ้ง ทำให้หลายบริษัทต้องปิดกิจการ ส่งผลให้ลูกค้าที่เคยมีเกือบ 70 บริษัท เหลือไม่ถึง 10 บริษัท เพราะไม่มีใครกล้าออกหุ้นกู้หรือพันธบัตรในภาวะวิกฤตเช่นนั้น พนักงานก็ลาออกเกือบทั้งหมด

“ตอนนั้นผมคิดอย่างเดียวว่า นี่คือสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือแห่งแรกและแห่งเดียวของไทย เราจะปล่อยให้ปิดตัวไปเหรอ ผมเป็นคนมี Public mind มาตลอดชีวิต ทำอะไรจะนึกถึงภาพใหญ่ของประเทศเสมอ ผมจึงตัดสินใจเข้ามาที่ทริส”

อาจารย์วรภัทรบอกว่า การเข้ามารับไม้ต่อเพื่อฟื้นฟูองค์กรที่กำลังประสบภาวะวิกฤต จนแทบไม่เหลืออนาคต ถือเป็นภารกิจที่ท้าทายมากๆ เพราะไม่ใช่งานง่ายเลยที่จะเรียกคืนความเชื่อมั่นกลับมา ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจเช่นนั้น

อย่างไรก็ตาม ภายใต้วิกฤตก็พอจะมีโอกาสอยู่บ้าง เพราะคนตกงานกันเยอะ จึงมีคนเก่งๆ ที่เคยทำงานกับบริษัทต่างชาติ หรือ องค์กรชั้นนำของประเทศ ชวนกันมาสมัครงานที่ทริส แต่ปัญหาคือบริษัทไม่สามารถให้เงินเดือนมากเท่ากับที่พวกเขาเคยได้รับมาก่อน

“ผมมาอยู่ที่ทริสเงินเดือนผมก็หายไปเยอะ แต่มาเพราะอยากทำในสิ่งที่อิ่มใจ ผมจะบอกกับทุกคนที่มาสมัครงานตลอดว่า ถ้าคุณมาทำงานที่ทริสจะไม่มีใครแทรกแซงแน่นอน ที่นี่ให้ความอิสระเต็มที่ และขอให้ภูมิใจว่าคุณจะเป็นส่วนหนึ่ง ในการพลิกฟื้นสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือแห่งเดียวของคนไทย”

สุดท้ายแล้วจากการร่วมมือกันของพนักงานทุกคน จึงสามารถนำพาทริสผ่านพ้นวิกฤตในครั้งนั้นไปได้ ซึ่งที่นี่ทำให้เขาได้เรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ มากมาย รวมทั้งยังได้ทำอีกหนึ่งความฝันให้เป็นจริง นั่นคือ 'การแต่งเพลง' หลังถูกเก็บไว้ในลิ้นชักมานาน

อาจารย์วรภัทรบอกว่า จุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาอยากเป็นนักแต่งเพลง ย้อนกลับไปตั้งแต่เรียนจบปริญญาโท และได้มาเป็นอาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีอยู่วันหนึ่งระหว่างบรรยายเรื่องทฤษฎีลำดับความต้องการของมนุษย์ ของ อับราฮัม มาสโลว์

มีนักศึกษาคนหนึ่งยกมือขึ้นและถามว่า ความต้องการขั้นที่ 5 ของอาจารย์คืออะไร ในเมื่อขั้นที่ 4 อาจารย์บอกว่า คือ การเป็นผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จ แล้วจะมีอะไรมากไปกว่านี้อีก

เขานิ่งไป 2-3 วินาที ก่อนตอบนักศึกษาคนนั้นอย่างเขินๆ ว่า อยากเป็นนักแต่งเพลง เพราะก่อนหน้านี้ไม่นาน ได้ฟังเพลง 'Imagine' ของ จอห์น เลนนอน ที่มีเนื้อหาให้ทุกคนจินตนาการถึงโลกที่ไม่มีพรมแดน ไม่มีการแบ่งแยกศาสนา เชื้อชาติ ทุกคนบนโลกใช้ชีวิตร่วมกันอย่างสงบสุข

รู้สึกว่าเพลงนี้มีความหมายที่ดีมากๆ ฟังแล้วรู้สึกมีอารมณ์ร่วมตามไปด้วย อยู่ดีๆ น้ำตาก็ไหลออกมา ไม่คิดว่าเพลงเพียงแค่ 3 นาที จะมีอิทธิพลต่อคนทั้งโลกมากขนาดนี้ จึงจุดประกายความฝันในการเป็นนักแต่งเพลงของเขาขึ้นมา

“ผมบอกนักศึกษาไปว่าผมคงแต่งเพลงไม่ได้หรอก เพราะผมเล่นดนตรีไม่เป็น อ่านโน้ตก็ไม่ได้ แต่นักศึกษาบอกผมว่า สักวันหนึ่งอาจารย์อาจจะทำได้ ผมได้แต่เก็บความฝันนี้ไว้ในลิ้นชัก จนอายุ 53 มีความคิดขึ้นมาว่า อีก 7 ปี จะเกษียณแล้ว ถ้าถึงตอนนั้นจะทำอะไรดี ยังมีอะไรที่เรายังไม่ได้ทำ เลยตัดสินใจดึงลิ้นชักนี้ออกมา”

หลังตัดสินใจแล้วว่าจะเดินหน้าทำตามความฝันในการเป็นนักแต่งเพลง เขาจึงเริ่มต้นจากการเรียนระนาด เพื่อทำความเข้าใจกับตัวโน้ต และอ่านหนังสือแต่งเพลงทุกเล่มที่มีขาย ทั้งของคนไทยและตำราจากต่างชาติ ใช้เวลาศึกษาด้วยตัวเองอยู่ 2-3 ปี แต่ก็ยังแต่งเพลงไม่ได้ จนไปเจอหนังสือเล่มหนึ่งเขียนไว้ว่า ถ้าคุณอยากตีกอล์ฟให้เก่ง จะอ่านแค่ทฤษฎีจากในตำราอย่างเดียวไม่ได้ คุณต้องหยิบไม้กอล์ฟแล้วออกไปตีเลย

“หลังได้อ่านหนังสือเล่มนี้ ผมบอกตัวเองทันทีว่าพรุ่งนี้เช้า ผมจะเป็นนักแต่งเพลง ผมจะถือไม้กอล์ฟ รุ่งขึ้นผมรีบลงมาเล่นเปียโน พยายามเล่นไปเรื่อยๆ จนได้ออกมาเป็นเมโลดี้ ให้ลูกสาวช่วยบันทึกเก็บไว้ เป็นจุดเริ่มต้นของเพลงแรกที่ผมแต่ง”

โดยบทเพลงแรกที่เขาแต่งมีชื่อว่า 'เรา….ชาวทริส' เป็นเพลงที่แต่งขึ้นมาให้กับองค์กร เพื่อปลุกขวัญและให้กำลังใจพนักงานทุกคนที่กำลังประสบปัญหาขณะนั้น ใช้เวลาแต่งอยู่ 2-3 ปี กว่าจะออกมาลงตัว หลังจากนั้น 4-5 เดือน เขา ได้ไปเรียนหลักสูตร วตท. ของสถาบันวิทยาการตลาดทุน และได้รับโอกาสให้แต่งเพลงประจำหลักสูตร ใช้เวลาอยู่กว่า 1 เดือน จึงออกมาเป็นบทเพลงที่ 2 ในชีวิต 'วตท.คือพลัง'

“มีนักข่าวถามผมว่าถึงขั้นที่ 5 แล้วหรือยัง หลังได้เพลง ผมบอกว่าแค่เอาเท้าไปแตะๆ เท่านั้น เพราะเพลงแรกที่แต่งคนที่ร้องก็คือลูกน้อง เขาอาจร้องเพราะเกรงใจ แต่พอถึงเพลงที่สอง วตท.คือพลัง ทำให้รู้สึกว่านี่แหละ ผมได้ขึ้นมายืนอยู่ขั้นที่ 5 ของมาสโลว์แล้ว เพราะคนที่ร้องเพลงนี้อาจไม่รู้จักผมเลยก็ได้”

นอกจากนี้ เขายังได้มีโอกาสแต่งเพลงให้กับหน่วยงานอื่นๆ อีกหลายสถาบัน เช่น สถาบันวิทยาการพลังงาน, กระทรวงการคลัง รวมถึงเพลงประจำหลักสูตร Leadership Succession Program (LSP) ของมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาองค์กรภาครัฐ (IRDP) ซึ่งเขาป็นผู้ก่อตั้งหลักสูตรนี้ขึ้นมา เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับผู้นำเบอร์สองขององค์กรในการก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารสูงสุด

“ในเมื่อชีวิตเป็นของเรา เราสามารถวางแผนใช้ชีวิตในแบบของเราได้ อย่างตอนผมใกล้เกษียณก็มาเริ่มแต่งเพลง หัดเล่นระนาด เล่นเปียโน แม้จะเริ่มช้ากว่าคนอื่นแต่ก็ทำได้ ผมอยากเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนที่กำลังจะเกษียณ อย่าคิดว่าชีวิตมันจะจบ มันเพิ่งจะเริ่มต้น เราสามารถวางแผนได้ว่าจะใช้ชีวิตต่อไปอย่างไรดีหลังเกษียณ”

download (2)

อาจารย์วรภัทร บอกว่า เขาอยากเป็นแรงบันดาลใจให้กับใครหลายๆ คน ลุกขึ้นมาทำตามความฝันของตัวเอง โดยเฉพาะคนที่ใกล้เกษียณ ถ้าคุณยังมีความฝันอะไรที่เก็บไว้ในลิ้นชัก จงอย่ากลัว จงลุกขึ้นมาทำตามความฝัน ไม่ต้องกลัวว่าอายุจะเป็นอุปสรรค ถ้าเราตั้งใจจริง แน่วแน่ ทุ่มเทให้กับสิ่งนั้นแล้ว เชื่อว่าทุกอย่างไม่ไกลเกินเอื้อ หรือ แม้สุดท้ายอาจไปไม่ถึงฝัน แต่ก็จะไม่รู้สึกเสียดาย ถ้าเราได้ทำอย่างเต็มที่

“ผมรู้สึกว่าผมได้ใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่าและมีความสุขมาก ผมถามตัวเองว่าสิ่งเหล่านั้นเกิดจากอะไร คำตอบที่ผมได้ คือ มาจากความกตัญญู ทั้งกับพ่อแม่ ครู อาจารย์ เจ้านาย ประเทศชาติ ครอบครัวของผม ผมว่าชีวิตผมมีแค่นี้ รักและกตัญญูกับผู้มีพระคุณ”

เขาบอกว่า แม้ทุกวันนี้จะอายุ 70 ปีแล้ว แต่ยังรู้สึกตื่นเต้นเสมอเมื่อได้ลองทำอะไรใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยทำมาก่อน อย่างล่าสุดได้เริ่มทำรายการพอดคาสต์ (Podcast) ของตัวเอง ชื่อรายการ 'วรภัทร คัดมาคุย' บอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม เพื่อเป็นการให้กำลังใจ จุดประกายความคิด เพิ่มมุมมองในการใช้ชีวิตกับผู้ฟัง

ถือเป็นประสบการณ์ใหม่ ต่างกับการสอนหนังสือและงานเขียนอย่างที่เคยทำมาก่อนอย่างสิ้นเชิง รู้สึกตื่นเต้นและสนุกมากๆ ไม่คิดเหมือนกันว่าอายุขนาดนี้ จะต้องมาเข้าห้องอัดเสียง มาเรียนรู้เทคโนโลยีสมัยใหม่ แต่เชื่อมั่นว่ารายการนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับหลายๆ คนที่มีโอกาสได้รับฟังอย่างแน่นอน

“ผมกำลังเริ่มต้นทำพอดคาสต์ของตัวเอง บอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ที่ดูแล้วน่าสนใจ คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับคนฟัง เอางานเขียนที่ผมเคยเขียน เปลี่ยนรูปแบบมาเล่าให้ฟัง ถือเป็นความสุขของคนอายุ 70 ที่ได้ลุกขึ้นมาทำอะไรใหม่ๆ”