เมื่อต้นไม้คุยกันได้

เมื่อต้นไม้คุยกันได้

พืชก็มีโครงข่ายที่เรียกว่า wood wide web เอาไว้สื่อสารกับต้นไม้ด้วยกัน

เชื่อหรือไม่ หากมนุษย์มีโครงข่ายที่เรียกว่า world wide web เอาไว้สื่อสารกับมนุษย์ด้วยกัน พืชก็มีโครงข่ายที่เรียกว่า wood wide web เอาไว้สื่อสารกับต้นไม้ด้วยกัน

 

สิ่งมีชีวิตเหล่านี้ฉลาดล้ำลึกกว่าที่มนุษย์คิด

ใครเคยดูภาพยนตร์เรื่อง Avatar เข้าฉายในปี 2009 มีฉากหนึ่งเป็นต้นไม้ขนาดยักษ์บนดวงดาวแห่งหนึ่ง

 

ลึกลงไปชั้นใต้ดินของต้นไม้ยักษ์นี้ จะเห็นเป็นเส้นโครงข่ายต่าง ๆ ผ่านทางเส้นใยที่มีลักษณะคล้ายเต้าเสียบและเต้ารับ ซึ่งเป็นอวัยวะของสิ่งมีชีวิตที่ใช้เชื่อมโยงถ่ายทอดข้อมูลกัน คือวิธีที่พืชต่าง ๆ สามารถติดต่อสื่อสารกันได้

 

ดูแล้วนึกว่าเป็นแค่จินตนาการของคนทำภาพยนตร์แนววิทยาศาสตร์ แต่ทุกวันนี้ นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบแล้วว่า พืช สามารถสื่อสารกันได้จริง ๆ ใต้พื้นดิน

 

เชื่อหรือไม่ ใต้ผืนดินที่เราอาศัย มีโครงข่ายเชื่อมต่อข้อมูลขนาดใหญ่ สร้างโดยเห็ดราใต้ดินเชื่อมต่อกับระบบรากของต้นไม้ เพื่อเป็นการสื่อสารและพึ่งพาสิ่งมีชีวิตซึ่งกันและกัน

 

เป็นที่ทราบกันดีว่า ประมาณร้อยละ 90 ของพันธุ์พืชบนโลก ล้วนมีความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยกันกับเชื้อราใต้ดิน

 

เชื้อเห็ดราจะมีส่วนประกอบเป็นเส้นใยบางๆ เรียกว่า ไมซีเลียม (Mycelium)

เส้นใยเหล่านี้จะถักทอเป็นเสมือนโครงข่ายใต้ดินเชื่อมโยงระหว่างรากต้นไม้ไปสู่พืชชนิดอื่น ๆ ทางใต้ดิน เป็นระบบที่เกื้อกูลซึ่งกันและกัน โดยเห็ดรา และเติบโตอยู่ในรากพืช จะให้สารอาหารแก่ต้นไม้ และได้รับน้ำตาลเป็นการตอบแทน

 

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ศาสตราจารย์ Suzanne Simard นักนิเวศวิทยา ได้ค้นพบว่าต้นไม้ในป่าสนประเทศแคนาดา สามารถติดต่อสื่อสารกันใต้ดินโดยใช้เชื้อราเป็นเครื่องมือการส่งสัญญาณเคมี

 

การแลกเปลี่ยนผลประโยขน์กันเกิดขึ้น เมื่อต้นไม้ใหญ่ได้รับแสงแดดเต็มที่ จนผลิตแป้งและน้ำตาลได้มากพอ จะส่งแป้งและน้ำตาลมาให้เชื้อราไมซีเลียมที่ห่อหุ้มปลายรากต้นไม้ใหญ่เป็นอาหาร เจ้าเชื้อราก็ตอบแทนด้วยการส่งธาตุอาหารได้แก่ฟอสฟอรัสและไนโตรเจนจากดินให้ต้นไม้ใหญ่ และเชื้อราก็จะส่งต่อน้ำตาลให้กับต้นไม้เล็ก ๆ ที่อยู่รอบ ๆ

 

เป็นระบบเครือข่ายที่พึ่งพากัน ต้นไม้ใหญ่ส่งน้ำตาลเลี้ยงต้นไม้เล็ก ๆ ผ่านเชื้อรา และหากต้นไม้ใดอ่อนแอใกล้ตาย ก็จะส่งน้ำตาลผ่านเชื้อราไปให้ต้นไม้ที่แข็งแรงกว่า เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับธรรมชาติ

 

เปรียบได้กับมนุษย์ที่รู้ตัวว่าใกล้ตาย ก็เขียนพินัยกรรมมอบมรดกส่งต่อให้คนรุ่นหลัง Suzanne Simard บอกว่า ต้นไม้ใหญ่มีความสำคัญในการส่งอาหารเลี้ยงดูต้นไม้เล็ก ๆ นับร้อยต้นที่อยู่รอบ ๆ

 

 “ ในอดีตเราคิดว่า ต้นไม้ต้องแข่งกัน แย่งชิงอาหาร แสงแดด น้ำ แต่ความจริงต้นไม้ร่วมมือกันมากกว่าเพื่อความอยู่รอด”

 

เมื่อต้นไม้ใหญ่ถูกโค่นลง จึงไม่น่าแปลกใจว่า หลายครั้งที่ต้นไม้เล็ก ๆ อาศัยโดยรอบก็จะตายไปด้วย

 

นักวิทยาศาสตร์ยังพบว่า หากเกิดอันตรายหรือภัยคุกคาม ไม่ว่าจากเชื้อโรค แมลง สารเคมีเป็นพิษ หรือการรุกรานของมนุษย์ ต้นไม้จะส่งสัญญาณเตือนภัยซึ่งกันและกัน โดยส่งผ่านสารเคมีในเชื้อราที่อยู่บริเวณราก เพื่อเตือนภัยไปสู่พืชอื่น ๆ

 

หากมนุษย์วางสาย world wide web เชื่อมต่อกันด้วยท่อใยแก้วใต้ทะเลลึก พืชก็วางสาย wood wide web เชื่อมต่อด้วยเส้นใยของเชื้อราผ่านชั้นใต้ดินเช่นกัน

 

เครือข่ายการสื่อสารใต้ดินของเห็ดรานี้ ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่นักวิทยาศาสตร์พบว่าเกิดมาร่วม 500 ล้านปีแล้ว

ฃไม่น่าเชื่อว่า wood wide web ในธรรมชาติ จะมีมาก่อน world wide web ของมนุษย์

 

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติได้ทำแผนที่ของโครงข่ายเห็ดรานี้เป็นครั้งแรกของโลก  เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาช่วยแก้ปัญหา climate change ทีมนักวิทยาศาสตร์ของสวิสเซอร์แลนด์และสหรัฐอเมริกา ได้ร่วมมือกันทำแผนที่ครอบคลุมพื้นที่ป่า 1.2 ล้านไร่ ในเจ็ดสิบกว่าประเทศ เพื่อสร้างแบบจำลองจนได้เป็นภาพเสมือนจริงของเครือข่ายเห็ดราเอคโตไมคอร์ไรซาที่อาศัยอยู่ใต้ต้นไม้

 

นักวิทยาศาสตร์พบว่า ต้นไม้กว่าร้อยละ 60 ติดต่อสื่อสารกันผ่านเห็ดราชนิดนี้ และเป็นเห็ดราที่ช่วยเก็บกักก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าชนิดอื่นด้วย

 

ในอนาคต นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า หากเราเข้าใจการสื่อสารของต้นไม้ผ่านระบบรากได้ชัดเจนมากกว่านี้แล้ว อาจจะเป็นคำตอบในการฟื้นฟูธรรมชาติให้กลับมาพร้อมก้บการช่วยลดปัญหาโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศได้ด้วย

 

ยิ่งเข้าใจกลไกของธรรมชาติ มนุษย์ก็จะอยู่รอดได้มากขึ้น เพราะธรรมชาติฉลาดกว่าที่มนุษย์คิดมากนัก

.................

จากคอลัมน์ สมรู้ร่วมคิด วันที่ 26/11/62