ไปพิสูจน์เสียงร้องของ ‘โฆเซ การ์เรรัส’ในวัย 72 ปี

ไปพิสูจน์เสียงร้องของ  ‘โฆเซ การ์เรรัส’ในวัย 72 ปี

อยากรู้เรื่องลึกๆ ของนักร้องคนนี้ ทั้งเรื่องชีวิตและการร้องเพลง ลองอ่านเรื่องนี้

การแสดงสุดท้าย ปิดมหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ ครั้งที่ 21 วันพุธที่ 23 ตุลาคม เวลา 19.30 น. ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย จะเป็น คอนเสิร์ต Farewell Bangkok การขับร้องเดี่ยวของ โฆเซ การ์เรรัส (Jose Carreras) ร่วมกับวง รอยัล บางกอก ซิมโฟนี ออร์เคสตรา อำนวยเพลงโดย เดวิด กีเมเนซ (David Gimenez)

 ค่อนข้างจะเป็นธรรมเนียมของมหกรรมฯ ถ้าผู้จัดการแสดงมีโอกาส และจังหวะเหมาะสม จะต้องมีรายการแสดงของศิลปินชื่อเสียงโด่งดัง ระดับนานาชาติ โดยเฉพาะศิลปิน “อาวุโส” แต่ละวงการ เป็นไฮไลต์ของปีนั้นๆ

มหกรรมฯ ครั้งที่ 20 ปีที่แล้ว เป็นการแสดงของ สุบิน เมห์ธา วาทยกรชื่อดัง เชื้อสายอินเดีย ในวัย 82 ปี อำนวยเพลงอุปรากรเรื่อง คาร์เมน และแสดง ซิมโฟนี คอนเสิร์ต อีก 2 รายการ ร่วมกับวงออร์เคสตราแห่ง Teatro di San Carlo จากประเทศอิตาลี

 ปีนี้ โฆเซ การ์เรรัส นักร้องเสียงเทเนอร์ ชื่อดัง ชาวสเปน วัย 72 ปี เป็น ไฮไลต์ สำคัญ ของมหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ ครั้งที่ 21 ปี ค.ศ. 2019 เป็นคอนเสิร์ตเดินสาย “ร่ำลา” แฟนเพลงในเมืองใหญ่ทั่วโลก หลังจากที่เขาเคยมาแสดงคอนเสิร์ตในบ้านเราครั้งหนึ่งแล้ว เมื่อปลายปี ค.ศ. 1996 ณ บริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โรงแรมโอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ

 สัจธรรมชีวิตที่ว่า ทุกคนล้วนผ่านวัยต่างๆ ของชีวิต จากวัยเด็ก วัยหนุ่มสาว จนถึงวัยชรา เป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง สิ่งที่ตามมาพร้อมวัยอาวุโส คือความถดถอยลงของสภาพร่างกาย

 มักมีคำถามขึ้นในใจของคอเพลง และผู้สนใจดนตรีบางท่านว่า สำหรับนักร้อง ในวัย 72 ปี ของการ์เรรัส จะเป็นอย่างไร? เขาจะยังสามารถรักษาสุ้มเสียงร้อง ระดับเสียงเทเนอร์ เสียงร้องสูงสุดของนักร้องโอเปร่าชาย สีสันเสียงร้องลักษณะ Lyric Tenor ที่สร้างความประทับใจ และก่อให้เกิดแฟนเพลง หลงใหลในเสียงร้องของเขามากมาย เช่นในอดีตได้อีกหรือไม่?

 จะเป็น “แก่ มะพร้าวห้าว” ในส่วนของนักดนตรี, วาทยกร, นักร้อง ยิ่งผ่านประสบการณ์ทางการแสดงมามาก ย่อมลึกซึ้ง ลงลึกด้านการแสดงได้ดีกว่าศิลปินหนุ่มสาวหน้าใหม่ หรือ เป็นเพียงศิลปินอาวุโสที่ “ร่วงโรย” ไปตามวัย รวมถึงคุณภาพการแสดงที่ลดน้อยลง ตามธรรมชาติที่ทุกคนต้องพานพบ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

  เซลีน ไบร์น

 (เซลีน ไบร์น)

เส้นทางนักร้อง เริ่มจากหนังเรื่อง The Great Caruso

โฆเซ การ์เรรัส เกิดเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม ค.ศ. 1946 ที่เมืองบาร์เซโลน่า ประเทศสเปน จากครอบครัวที่พ่อเป็นครู แม่เป็นแม่บ้าน สงครามในสเปนทำให้ครอบครัวต้องอพยพไปแสวงหาโอกาสที่ดีกว่าในประเทศอาร์เจนติน่า แต่อยู่ได้เพียง 11 เดือน ก็ต้องย้ายกลับมาประเทศสเปน พักอาศัยอยู่นอกเมืองบาร์เซโลน่า โดยแม่ของเขาเปิดร้านทำผม ทำรายได้เลี้ยงดูครอบครัวเป็นอย่างดี

 สมัยเด็กๆ การ์เรรัสชอบเล่นกีฬา เล่นได้ดีหลายอย่าง โดยเฉพาะฟุตบอลและบาสเกตบอล ชีวิตเส้นทางดนตรีของเขาแปลกไปจากศิลปินทั่วไป ที่ส่วนใหญ่มักเกิดและเติบโตในครอบครัวที่เป็นนักดนตรี หรือไม่ก็สนใจดนตรี

 ครอบครัวของการ์เรรัสไม่ได้สนใจดนตรีเป็นพิเศษ เขามีประสบการณ์เกี่ยวกับการฟังเพลงร้องจากโอเปร่า ผ่านการชมภาพยนตร์ โดยเฉพาะภาพยนตร์เรื่อง The Great Caruso แสดงนำโดย มาริโอ แลนซ่า ซึ่งสร้างแรงบันดาลใจ และความสนใจการร้องเพลงให้กับเขา จนถึงกับหลงใหล

การ์เรรัส เขียนบอกเล่าไว้ในหนังสืออัตชีวประวัติ ชื่อ Singing for the Soul ว่า

“หนังเรื่องนี้ปลุกเร้าความปรารถในเรื่องการร้องเพลง ที่ผมไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่า ผมมีสิ่งนี้อยู่ในตัวเอง ทำให้ผมอยากจะร้องเพลงขึ้นมา”

 หลังจากนั้น การ์เรรัส เริ่มร้องเพลงเอกหลายเพลงจากหนังเรื่อง เดอะ เกรท คารูโซ่ จนทำให้แม้ครอบครัวที่ไม่สนใจดนตรี ตัดสินใจซื้อเครื่องเล่นแผ่นเสียงและแผ่นเสียงซาวด์แทร็กจากภาพยนตร์ มาเปิดฟังภายในบ้าน ทำให้การ์เรรัสมีโอกาสร้องเพลง ไปพร้อมๆ กับเสียงร้องจากแผ่นเสียง

 เขามีโอกาสได้ชมการแสดงอุปรากรจริง เมื่อตอนอายุ 8 ขวบ โดยพ่อพาเขาไปชมการแสดงอุปรากรเรื่อง ไอดิด้า ที่โรงอุปรากรเมืองบาร์เซโลน่า ขับร้องและแสดงนำโดย เรนาต้า เทบาลดี สร้างความประทับใจให้กับเด็กน้อยเป็นอย่างมาก

 จากนั้นเขามีโอกาสเรียนร้องเพลงอย่างจริงจัง มีโอกาสแสดงในโอกาสต่างๆ หลายครั้ง เมื่อมาถึงการเรียนในระดับมหาวิทยาลัย เขาต้องเลือกระหว่างการเรียนวิชาเคมี ที่เรียนมาแล้ว 2 ปี กับการเป็นเรียนดนตรี เพื่อเป็นนักร้องอาชีพอย่างจริงจัง

 แน่นอนว่าเขาเลือกเส้นทางการขับขานเสียงเพลง จนนำไปสู่ความเป็นหนึ่งในบรรดา “ซุปเปอร์สตาร์” ด้านเสียงร้องเทเนอร์ ไปในที่สุด

 

‘โมนเซราท คาบายเย่’ เบื้องหลังความสำเร็จของการ์เรรัส

นักร้องโซปราโน ชื่อดัง ชาวสเปน โมนเซราท คาบายเย่ (Monstserrat Caballe) เห็นถึงความสามารถด้านการร้องเพลงของการ์เรรัส ช่วงเริ่มต้นเส้นทางการร้องอุปรากรของเขา เธอสนับสนุนให้เขามีโอกาสแสดง และขับร้องในอุปรากรร่วมกับเธอหลายต่อหลายเรื่อง  

 ช่วงรุ่งโรจน์ของการ์เรรัสอยู่ในช่วงทศวรรษ 70 และ 80 เขาแสดงอุปรากรเรื่องสำคัญๆ เกือบทุกเรื่อง ตามโรงแสดงอุปรากรโด่งดังทั้งหลายทั่วโลก สร้างมนต์สะกดคอเพลงด้านนี้ ให้ลุ่มหลงด้วยเสียงร้องเทเนอร์ ลักษณะสีสันที่เรียกว่า Lyric Tenor

 เสียงร้อง ลิริค เทเนอร์ คือ คุณภาพของเสียงร้องนักร้องชายที่นุ่มนวล, สดใส, อบอุ่น ฟังแล้วไม่ก่อให้เกิดความรู้สึกว่า “หนัก” หรือ “ลึก” เกินไป นักร้องเทเนอร์ส่วนใหญ่จะมีลักษณะเสียงร้องสีสันนี้

 ความโดดเด่นของเสียงร้องของการ์เรรัส ประกอบด้วยความน่าฟัง อันเกิดจากความมั่นคงของเสียงร้อง, เสียงร้องช่วงกลางๆ ฟังสบาย มีพลัง และความรู้สึกทางอารมณ์ต่างๆ ที่สอดใส่ในบทเพลงได้อย่างเหมาะสม เป็นธรรมชาติ

 

การ์เรรัส ผู้พิชิตโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว

ช่วงปี ค.ศ. 1987 ระหว่างที่การ์เรรัส กำลังถ่ายทำภาพยนตร์อุปรากรเรื่อง ลา โบเอม เขารู้สึกปวดฟันเป็นอย่างมาก ทำอย่างไรอาการก็ไม่ทุเลาลง จนต้องพบแพทย์ในโรงพยาบาล และตรวจพบว่าเป็นอาการหนึ่งของโรคลูคีเมีย หรือ มะเร็งเม็ดเลือดขาว

 เขาเข้าโรงพยาบาลทั้งฉายแสงและปลูกถ่ายไขกระดูก จนรอดพ้นจากโรคร้ายนี้ กลับมาแสดงคอนเสิร์ตการร้องเพลงอีกครั้ง ได้รับกำลังใจและการต้อนรับอย่างมากมาย โดยเฉพาะการแสดงที่ เวียนนา สเตต โอเปร่า เฮาส์ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย

 

 โด่งดังอีกครั้งกับ คอนเสิร์ต Three Tenors

 การ์เรรัส ดังสุดๆ อีกครั้งกับ คอนเสิร์ต ทรี เทเนอร์ส ในงานฟุตบอลโลก ปี ค.ศ. 1990 ประเทศอิตาลี ร้องร่วมกับเพื่อนนักร้องเทเนอร์อีก 2 คนคือ พลาซิโด โดมิงโก้ และ ลูชาโน พาวารอตตี้ การแสดงที่แผ่นซีดีบันทึกการแสดงสด ทำยอดขายกว่า 13 ล้านอัลบั้ม

 รวมถึงคอนเสิร์ต ทรี เทเนอร์ส ในฟุตบอลโลก จัดที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และการเดินสายออกทัวร์แสดงคอนเสิร์ตนี้อีกหลายครั้ง

 ---------------------------

การ์เรรัส ในวัย 72 ปี กับคอนเสิร์ตในเมืองไทย แฟนเพลงร้อง ผู้สนใจทั่วไป คงต้องไป “พิสูจน์” กับการแสดงจริงของเขาในวันพุธที่ 23 ตุลาคมนี้ เพราะการ์เรรัส ตั้งอกตั้งใจ พิถีพิถันกับ “คอนเสิร์ตร่ำลา” นี้เป็นพิเศษ

 บทเพลงที่เลือกมาขับร้องเดี่ยวคนเดี่ยว หรือร้องคู่กับ เซลีน ไบร์น (Celine Byrne) นักร้องโซปราโน ดาวรุ่ง ชาวไอริช ส่วนหนึ่งเป็นเพลงร้องลักษณะ อาร์ต ซอง ซึ่งหลังจากการ์เรรัส อำลาเวทีแสดงอุปรากร เขานิยมนำเพลงลักษณะนี้มาขับร้องในการแสดงคอนเสิร์ตต่างๆ

 เป็นเพลงร้อง ลักษณะฟังสบายๆ ไม่หนัก ไม่ต้อง “เค้น” เสียงออกมา เสียงร้องอยู่ในช่วงเสียง หรือ พิสัยเสียง ที่ร้องออกมาได้อย่างมีพลัง โทนเสียงสดใส เป็นบทเพลงที่เหมาะกับความเป็นธรรมชาติของเสียงร้องของการ์เรรัสมากที่สุด หลังจากที่ช่วงหนึ่ง เขาเคยได้รับคำแนะนำจากแฟนเพลง และนักวิจารณ์ดนตรีจำนวนหนึ่งว่า อยากให้เขาหลีกเลี่ยงการร้องเพลง ที่ต้องใช้เสียงร้องอย่างหนักหน่วงมาก

  ยังมีเพลงฮิต อาทิ The Impossible Dream ร้องโดยการ์เรรัส, เพลงเอก Vilja Lied จากจุลอุปรากรเรื่อง The Merry Widow ขับร้องเดี่ยวโดย เซลีน ไบร์น และเพลงบรรเลงน่าฟัง Jazz Suite, Waltz 2 ผลงานเพลงของ โชสตราโกวิช อำนวยเพลงโดย เดวิด กีเมเนซ หลานชายของ การ์เรรัส วาทยกรคู่ใจ ทำงานร่วมกันมาโดยตลอด

 ใครเป็นแฟนเพลง (ตัวจริง) ของ โฆเซ การ์เรรัส คิดว่าไม่พลาดคอนเสิร์ตนี้ ใครไม่เคยสัมผัสกับเสียงร้องของเขา ลองไป “พิสูจน์” กับการแสดงสดของเขา ...ในบ้านเราครับ

..................................

จากคอลัมน์มิวสิคคอร์เนอร์  กรุงเทพธุรกิจ เซคชั่นจุดประกาย วันพุธ 16 ตุลาคม 2562 

  เดวิด กีเมเนซ_1 เดวิด กิเมเนซ