บนโลกแห่งความสัมพันธ์ของ ‘มุนินฺ’

บนโลกแห่งความสัมพันธ์ของ ‘มุนินฺ’

หนังสือที่ชวนถ่ายทอดเรื่องรักๆ ผ่านประโยคสัญลักษณ์ และหาคำตอบให้กับความสัมพันธ์ที่กำลังเป็นอยู่

 

‘ประโยคสัญลักษณ์’ เราได้ยินคำนี้ครั้งแรกเมื่อไรกัน ใช่ในวิชาคณิตศาสตร์สมัยประถมไหมเอ่ย ที่บอกให้เรา จงเขียนเป็นประโยคสัญลักษณ์ และหาคำตอบ และนี่ก็คือข้อความแรกของหนังสือการ์ตูนวัยรุ่น ที่อ่านได้ทุกวัย ของนามปากกาชื่อคุ้นหู มุนินฺ-เมษ์ สายประสาท

เธอเป็นผู้หญิงมินิมอล ตัวเล็ก ผมสั้น วัย 31 ปี ที่ตอนนี้เป็นทั้งนักเขียนการ์ตูน เจ้าของสำนักพิมพ์ 10 millimetres (10 mm.) และมีร้านหนังสืออิสระในโคราช ย่านมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.)

...เรื่องราวความรัก การแสดงออกของวัยรุ่นที่ปราศจากความรุนแรง การจัดการกับความรู้สึก ความฝัน อารมณ์รักที่ต้องเผชิญกับความผิดหวังหรือสิ่งที่ไม่คาดคิด ที่สะท้อนภาพสังคมปัจจุบันได้อย่างชัดเจน... - คำนิยมจากคณะกรรมการของงานหนังสือดีเด่น เซเว่นบุ๊คอวอร์ดปีที่ 16 ที่ตัดสินให้ประโยคสัญลักษณ์ ได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทการ์ตูน

ในฐานะคนเขียน มุนินฺไม่เคยคิดว่าการ์ตูนที่ตัวเองสร้างขึ้นมากับมือจะมีคุณค่ากับคนได้มากขนาดนี้

“เราไม่ได้มองมันอย่างลึกซึ้งถึงขั้นนั้น คิดแค่ว่าเล่าเรื่องความสัมพันธ์ที่ไม่ชัดเจน แล้วก็หาตอนจบที่กลมกล่อม แต่กลายเป็นว่าเขามองเห็นในสิ่งที่เราคาดไม่ถึง แสดงว่าเขาอ่านอย่างตั้งใจจริงๆ และมองเห็นความสำคัญของการ์ตูนวัยรุ่น” แววตาเป็นประกายกับรอยยิ้มเล็กๆ ปิดความรู้สึกปลื้มปริ่มที่เอ่อล้นไม่มิดจริงๆ

และนี่เป็นรางวัลที่สองของเล่นนี้ เพราะก่อนหน้านี้ประโยคสัญลักษณ์ไปคว้ารางวัลเหรียญทองแดงที่ประเทศเจ้าแห่งการ์ตูนอย่างญี่ปุ่น ในงานอินเตอร์เนชั่นเนลมังงะอวอร์ดมาแล้ว

ประโยคสัญลักษณ์ คือเรื่องราวความรัก ความสัมพันธ์ที่ไม่ชัดเจน เป็นคำที่เคยอยู่ในช่วงหนึ่งของชีวิตวัยเด็ก และเราอาจลืมมันไปแล้ว เช่น เรามีเงิน 5 บาท แม่ให้มา 10 บาท รวมแล้วเรามีเงินเท่าไหร่ จงเขียนเป็นประโยคสัญลักษณ์ ซึ่งมันก็คือโจทย์คณิตศาสตร์สมัยประถมนั่นเอง มันคือความสัมพันธ์บางรูปแบบที่ไม่สามารถแทนค่าด้วยความชัดเจนได้

 

ประโยคสัญญาลักษณ์

 

เมื่อได้คอนเซปต์แล้ว สิ่งที่เราต้องคิดต่อก็คือโครงเรื่อง ตอนนั้นเธอเป็นเพียงเด็กสาวในรั้วมหาวิทยาลัย ที่เพื่อนๆ มักก็จะมาระบายเรื่องราวในชีวิตให้ฟังเสมอ จึงเป็นแหล่งข้อมูลชั้นดีขอพอร์ตเรื่องการ์ตูนของเธอ

“อย่างเรื่องแรกของประโยคสัญลักษณ์ก็เป็นเรื่องจริงของเพื่อนสนิทคนหนึ่ง เกี่ยวกับความสัมพันธ์ที่มีตัวตนแค่บนโลกตัวอักษร ข้อความกระดาษที่แชทกัน บทสนทนาที่บ่งบอกว่าคนสองคนกำลังคุยๆ กันอยู่ แต่พอเจอหน้ากันกลับทำเป็นเหมือนคนไม่รู้จัก แล้วความสัมพันธ์แบบนี้คืออะไร” มุนินฺ เปรยถึงหนึ่งในความสัมพันธ์ที่ไม่ชัดเจน

เธอรวบรวมความสัมพันธ์ 4 รูปแบบ 4 เรื่องราว ที่แทนค่าไม่ได้ด้วยสถานะ กลายเป็นประโยคสัญลักษณ์ที่คำถามอยู่ที่เธอแต่คำตอบอยู่ในใจผู้อ่าน

จุดเด่นของเล่มนี้คือ การใช้ภาพเป็นตัวหลักดำเนินเรื่อง โดยมีคำบรรยายสั้นๆ เป็นส่วนประกอบ ที่ขาดไม่ได้เช่นกัน ลายเส้นและการวางลำดับความสำคัญของภาพที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เรียบง่าย สบายตา แต่แฝงด้วยลีลาท่าทางที่แสดงถึงทักษะ ความรู้ และจินตนาการที่สื่อสารให้ผู้อ่านเข้าถึงอารมณ์ ความรู้สึกของตัวละครได้อย่างอิสระ นี่คงเป็นเหตุผลว่าทำไมประโยคสัญลักษณ์ถึงได้รางวัลชนะเลิศ

สำหรับมุนินฺ เธอบอกว่าประโยคสัญลักษณ์เป็นความท้าทายในการเริ่มทำสิ่งใหม่ๆ ที่ตัวเองอยากทำมานานแล้ว

 

DSC_1265

 

“เราอยากลองทำเหมือนภาพยนตร์ที่มีตัวหนังสือเป็นซับไตเติ้ลอยู่ด้านล่าง ตอนนั้นเป็นช่วงที่เริ่มทำสำนักพิมพ์พอดี เหมือนเป็นการทดลองทำหนังสือแบบไม่มีตัวหนังสือ และนี่ก็เป็นหนังสือเล่มแรกอย่างเป็นทางการของสำนักพิมพ์ ประมาณปี 2014”

การเล่าเรื่องด้วยภาพ คือเสน่ห์อย่างหนึ่ง ภาพทุกภาพต้องสื่อความหมายอย่างตรงไปตรงมา และสื่ออารมณ์ได้ชัดเจน และในบางครั้งภาพๆ เดียวไม่สามารถสื่ออารมณ์ของเรื่องราวนั้นได้สมบูรณ์ อาจต้องใช้ถึงสามช่องเพื่อบอกความรู้สึก เพราะตัวละครไม่ได้พูด เป็นเพียงการมองต่ำ แล้วก็มองขึ้นไป ซึ่งมันเป็นสัญลักษณ์ของร่างกายอย่างหนึ่งที่ต้องขยายความด้วยภาพ คนอ่านจะต้องอยู่กับมันจริงๆ เพื่อซึมซับอารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร ไม่ต่างจากการดูภาพยนตร์ในโรงหนัง

ย้อนกลับไปก่อนจะมาเป็นนักเขียนการ์ตูนอย่างทุกวันนี้ เธอเองก็ไม่คิดไม่ฝันมาก่อนว่าจะยึดอาชีพนี้เป็นหลัก ด้วยภาพจำของนักเขียนไส้แห้งที่กินข้าวกับน้ำปลา แล้วมีรูปก้างปลาอยู่ข้างๆ ในยุคการ์ตูนขายหัวเราะบ้านเรา นั่นทำให้เธอรู้สึกว่ามันคงเป็นอาชีพที่สาหัสเหลือทน เส้นทางก็ดูมืดมนนัก แต่ด้วยความที่ชอบศิลปะเป็นทุนเดิม การวาดรูปและโน๊ตเป็นภาพ เป็นความชอบที่ทำประจำจนกลายเป็นสิ่งที่พาเธอมาถึงจุดๆ นี้ได้

“31 ก็เป็นเรื่องแรกในชีวิตที่ได้ตีพิมพ์ ตอนนั้นได้ค่าต้นฉบับมา 6,000 บาท เราก็รู้สึกภูมิใจมาก เป็นเรื่องสั้นที่เล่าถึงความขาดกับเกิน ความพอดีของชีวิต เล่าผ่านเด็กที่มีอวัยวะไม่ครบ 32 และทำให้เรามองเห็นว่ามันเป็นอาชีพได้”

 

DSC_1271

 

ส่วนหนึ่งเพราะจังหวะของชีวิต มุนินฺโชคดีที่รู้ตัวเร็ว ลงมือทำเร็ว ไม่ปล่อยให้ความชอบอยู่แค่ในความฝัน เธอบอกว่าทุกอาชีพต้องมีวินัยและเอาจริงกับมัน เพราะไม่ว่าอาชีพไหนก็ไส้แห้งกันได้ทั้งนั้น

“ช่วงแรกที่เราเขียนเป็นเรื่องที่เจอในชีวิตประจำวัน ความสัมพันธ์ในครอบครัว เพื่อน แฟน เราเพียงระบายเรื่องเหล่านั้นออกมาเป็นการ์ตูน พอเริ่มทำอาชีพนี้อย่างจริงจัง เรื่องราวก็ค่อยๆ หมด พอโตขึ้นเราก็ไม่ได้มีความรักแบบสมัยวัยรุ่นแล้ว ไม่ได้มีความไม่ชัดเจน มันก็จะต้องสร้างเรื่องขึ้นมาใหม่ เรื่องที่โตขึ้น มีระบบความคิดมากขึ้น มีโครงสร้างของการเล่าเรื่องที่ซับซ้อนขึ้น”

นอกจากนี้ยังมีร้านหนังสือ 10 mm. ที่ทำมากว่า 2 ปีได้ ก่อนหน้านี้เธอมองแค่ว่ามันเป็นเพียงดิสเพลย์ให้กับสำนักพิมพ์ ไม่เชิงว่าจะลงหลักปักฐานเสียทีเดียว เนื่องจากว่ามีรายได้หลายทาง อย่างออกบูธตามงานหนังสือทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด ซึ่งก็มองว่าระหว่างที่ไม่ได้ออกงานแฟร์นั้น หนังสือควรจะมีที่อยู่ของมัน ซึ่งร้านหนังสือก็ถือว่าตอบโจทย์

ร้านหนังสือของเธอตั้งอยู่นอกเมือง มีคาเฟ่กาแฟเล็กๆ อยู่ใกล้ๆ เสมือนเป็นที่พักผ่อนมากกว่าที่เป็นร้านหนังสือที่คนมุ่งหน้ามาซื้ออย่างเดียว คล้ายเป็นออฟชั่นเสริมที่ผูกติดกับคาเฟ่ เพราะถ้าคนจะซื้อหนังสือจริงๆ เขาอาจจะไปตามร้านชั้นนำในห้างสรรพสินค้ามากกว่า ซึ่งที่นี่เสมือนเป็นการมาพักสมอง เดินดูนิยายภาพ หนังสือเบาๆ อ่านเล่น หากเจอนิยายภาพที่น่าสนใจ ก็ถือว่าเป็นโบนัสของการพักผ่อน แล้วไปนั่งอ่านจิบกาแฟที่คาเฟ่ข้างๆ ท่ามกลางแมกไม้และทิวเขา หากถามเธอว่าในใจอยากจะขยับขยายไปเปิดในกรุงเทพฯ อย่าง 10 ml. ไหม ก็มีความคิดนั้นอยู่ซึ่งในอนาคตไม่แน่

 

DSC_1238

DSC_1240

 

และเมื่อได้ทำสำนักพิมพ์ทำให้เธอได้เห็นการซื้อขาย เห็นตลาดของวงการหนังสือ ซึ่งคนซื้อไม่ได้น้อยลงเลย ยิ่งเด็กรุ่นใหม่ที่เริ่มสนใจก็มีมาก ในขณะที่รุ่นก่อนอาจจะเจอวิกฤตเศรษฐกิจซื้อจ่ายไม่คล่องก็ค่อยๆ หายไป แต่จะมีเด็กๆ รุ่นใหม่เข้ามาทดแทน 

เป็นความหวังที่ว่าการ์ตูนไทยยังโตและไปไกลได้อีก แม้ว่าจะมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามา ถ้าพลิกให้เป็นโอกาส เป็นอีกช่องทางให้แฟนนักอ่านได้ติดตาม หรือเป็นพื้นที่ทดลองปล่อยของ ซึ่งมันไม่ใช่สิ่งที่ต้องมาสู้กัน แต่เป็นสิ่งที่ส่งเสริมกันมากกว่า

“กล้าพูดเลยว่าตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ไม่มีอุปสรรคในการทำงานการ์ตูน เมื่อเราอยู่กับงานที่เราชอบเวลาที่เราทำสิ่งนั้น เข็มนาฬิกาจะเดินไปไวเสมอ ถ้าคุณอยากทำลงมือทำเลย แล้วผลลัพธ์จะบอกเองว่าเราจะไปทิศทางไหน”

ต่อให้ใครจะพูดติดตลกว่าวงการนี้มันยากลำบากนัก สุดท้ายเราก็รักในการเปิดหนังสืออ่าน รักในการวาดการ์ตูน และยังคงกลับมาทำหนังสืออีกจนได้

 

DSC_1274