คุยกับนางยักษ์ที่วัดมหาธาตุ(1)

คุยกับนางยักษ์ที่วัดมหาธาตุ(1)

ชวนคิดเรื่อง นางยักษ์ บนฝาผนังในวัด มีแง่มุมที่เขียนได้สนุก ลึกในทุกมิติ ทั้งวัฒนธรรมและจิตวิญญาณ (อ่านต่อตอน 2 )

 

     วัดมหาธาตุเมืองเพชรบุรีมีนางยักษ์ด้วยหรือ เธออยู่ตรงไหน ทำไมแทบจะไม่มีใครเคยเห็นหรือกล่าวถึงเธอกันบ้าง?

 

ตั้งข้อสงสัยไว้เท่ห์ๆ พอให้ครึ้มใจไปอย่างนั้นแหละ แต่ที่จริงก็คือ มิใช่ไม่มีเรื่องจะเขียน ถึงได้พยายามไปขุดไปคุ้ยเรื่องศิลปกรรมของวัดมหาธาตุ ที่ใครๆ ก็เล่าก็เขียนมาซะพรุนไปแล้ว หากเป็นเพราะดิฉันรีๆ รอๆ อยากได้ความรู้ใหม่ๆ มาด้วย เพราะดิฉันรักวัดมหาธาตุ หลังแม่ตายดิฉันได้มาอยู่ประจำที่เมืองเพชรบุรียาวนาน 7-8 ปีเข้าไปแล้ว ทุกอาทิตย์หากไม่ได้เดินทางไกล หรือไปลงพื้นที่ทำงานในถิ่นอื่น ดิฉันมักเข้าไปนั่งสวดมนตร์กราบพระในวิหารหลวงวัดมหาธาตุอยู่เป็นประจำ นั่งสวดคาถางึมๆ งำๆ ไปเรื่อย จบบทนั้นต่อบทนี้ แล้วปิดท้ายด้วยการเสี่ยงเซียมซี

 

ขอบอก...เซียมซีวัดมหาธาตุแม่นมาก เนื่องด้วยถ้าเสี่ยงเซียมซีซ้ำๆ ติดกันภายใน 2-3 วัน หากดาวจันทร์ยังไม่ย้ายราศี ดวงชะตายังไม่เปลี่ยน ดิฉันจะเสี่ยงทายได้เซียมซีใบเดิมอยู่เป็นประจำ

ได้หมายเลขเซียมซีที่เสี่ยงมา ดิฉันก็จะนั่งเปิดไดอารี่โหร ของครูทองเจือ อ่างแก้วที่มีติดกระเป๋าอยู่ตลอด เทียบดูคำทำนายในใบเซียมซี กับการเคลื่อนของดวงดาวในวันนั้น ดูกันจะจะ ว่าคำทำนายจากตำแหน่งดาวในโหราศาสตร์ไทยกับในใบเซียมซี ตรงหรือต่างกันอย่างไร ซึ่งมักได้คำตอบว่า ตรงกันเสมอ

 

นี้จึงเป็นวิธีศึกษาโหราศาสตร์ด้วยตัวเอง ที่ทำแล้วทำอีก เรียนรู้ด้วยตัวเอง เก็บความรู้ชนิดเก็บเบี้ยใต้ถุนร้านสะสมไปเรื่อย ครั้นพอนั่งจนเมื่อยขา เมื่อยเอว เมื่อยพุง ดิฉันก็จะยุรยาตรลุกออกจากวิหาร ไปเดินด้อมๆ มองๆ ดูปูนปั้น ดูพระ ดูใบเสมา ดูแล้วดูอีก ดูไปเรื่อย และได้สังเกตเห็นสิ่งใหม่ๆ อยู่ประจำ ให้กลับมาหาความรู้เพิ่มเติม มาค้นคว้าเปรียบเทียบกับงานพุทธศิลปะในพื้นที่อื่นๆ นี้เป็นการศึกษาศิลปะไทยตามวัดด้วยตัวเอง

 

ที่เขียนบันทึกนี้ไว้มิใช่เพื่ออวดตัว แต่เพื่อเป็นแนวทางให้น้องๆ คนรุ่นหลัง ได้บุกเบิกทำงานใหม่ๆ ต่อไป มิใช่จบอยู่แค่ที่คนรุ่นเก่าศึกษาไว้ เพราะเป็นแบบนั้น อิฐเก่ารื้อมาก่อเจดีย์ใหม่ จะได้แต่เจดีย์ที่เล็กลง พ่อดิฉันสอนลูกมาแบบนี้ และยินดีเสมอหากลูกไปพบอะไรใหม่ๆ สืบค้นมาสนทนากันในยามย่ำค่ำของแต่ละวัน

 

วัดมหาธาตุนี้แหละ อุดมสมบูรณ์นัก มีอีกหลายพุทธศิลปกรรมที่น่าค้นหาความหมายอย่างยิ่ง และงานศิลปะชิ้นหนึ่งที่ดิฉันชอบมาก พยายามถามว่าเคยมีใครกล่าวถึงไว้บ้าง แต่แทบไม่มีใครกล่าวถึงพูดถึงไว้เลย ก็คืองานปูนปั้นนางยักษ์แหวกกอบัว บนหน้าบันซุ้มประตู ตรงข้ามวิหารหลวง

 

ปูนปั้นหน้าบันซุ้มประตูนี้ ด้านนอกที่ติดกับถนนดำเนินเกษม เป็นภาพปางมหาภิเนษกรมณ์ เจ้าชายสิทธัตถะทรงม้ากัณฐกะเสด็จออกบรรพชา มีนายฉันนะเกาะหลังม้าตามเสด็จ ขาม้าทั้ง 4 ขา มีท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4 ประจำอยู่ นำพระองค์เหาะข้ามกำแพงพระนครออกไปด้วยปาฏิหาริย์ พุทธศิลป์ปูนปั้นชิ้นนี้ครูช่างโบราณทำมาเก่าแก่ น่าจะตั้งแต่สมัยปลายอยุธยา งามประณีตจับตายิ่ง ได้รับการซ่อมแซมมาแล้วหลายครั้ง คนผ่านไปมามักถ่ายรูป ชี้ชวนกันดูอยู่เป็นปกติ

 

แต่สำหรับปูนปั้นหน้าบันซุ้มประตูด้านใน ตรงข้ามวิหารหลวง กลับไม่ค่อยมีใครสนใจ อาจเพราะเป็นเขตจอดรถด้วยก็เป็นได้ และติดกันยังมีโรงละครชาตรีอยู่ด้านข้าง คนผ่านไปมา จึงแทบไม่มีใครรู้จักหรือมองเห็น นางยักษิณีแหวกกอบัว ทั้งที่คุณหญิงยักษ์เธออยู่ตรงนั้นยาวนาน น่าจะตั้งแต่สมัยร.3 มาแล้วกระมัง

 

ดิฉันสืบถามผู้ใหญ่หลายท่าน ว่าเคยมีใครอธิบายไว้บ้างไหม คุณหญิงยักษ์ตนนี้มีที่มาอย่างไร มีความหมายเกี่ยวโยงกับชาดก พุทธประวัติ ภาพปริศนาธรรมเรื่องใด มีผู้ใดเอ่ยถึงเธอเอาไว้บ้าง?

สืบถามมาหลายคน ไม่มีใครให้คำตอบกับดิฉันเลย ครูเฉลิม พึ่งแตง บอกแต่ว่า ช่างทองร่วงน่าจะเคยอธิบายไว้ แต่ครูเฉลิมจำไม่ได้แล้ว

 

แทบทุกครั้งที่เข้าไปกราบพระในวิหารหลวงวัดมหาธาตุ เมื่อเดินออกมา ดิฉันมักไปยืนแหงนมองคุณหญิงยักษิณีตนนี้อยู่บ่อยๆ สัญญิงสัญญากับเธอไว้ในใจว่า เอาน่ะ วันไหนสะดวกมากเพียงพอ รื่นรมย์สมใจมากเพียงพอ ดิฉันจะพยายามสืบค้น เล่าเรื่องของเธอตามที่ดิฉันได้ศึกษา ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ในใจ เพื่อให้ลูกหลานคนเมืองเพชรได้รู้จัก และช่วยกันพยายามเสาะหาที่มาของเธอในสักวัน

 

สัญญาไว้แล้วก็ลืม เพราะอายุมันเริ่มเข้าสู่วัยยายย่า เป็นอีแก่ไปซะแล้ว ไม่ใช่สาวน้อย หรือสาวมั่นดังเช่นวันวาน จนเมื่อวันก่อนไปทำธุระที่วัดลาด กับอ.แสนประเสริฐ ปานเนียม อาจารย์ภาควิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี เราเดินผ่านศาลาใหญ่วัดลาด ริมผนังศาลาทำเหล็กดัด เป็นรูปนางยักษ์แหวกกอบัว เห็นจะแจ้งว่า มีต้นเค้าที่มาจากคุณหญิงยักษ์วัดมหาธาตุ เมืองเพชรนี้แน่ ๆ

 

คุณหญิงยักษ์ปูนปั้นสมัยร. 3 ของวัดมหาธาตุ ได้เดินทางสืบอายุมาเป็นเหล็กดัดริมผนังศาลาวัดลาด ข้ามฝั่งแม่น้ำเพชรเรียบร้อยแล้ว และมามีเหตุให้อ.แสนประเสริฐ สกิดเตือนให้นึกถึงคำสัญญาที่ดิฉันเคยพูดคุยกับคุณหญิงยักษ์ตนนี้ไว้ มาบัดนี้ดิฉันจึงขอใช้หน้าหนังสือนี้เล่าเรื่องของเธอให้ได้รับรู้กันโดยทั่วหน้า เพื่อเป็นหมุดหมายในการช่วยกันสืบค้นเรื่องของเธอดูบ้าง

 

อันที่จริงพุทธศิลปะภาพนางยักษ์กลางกอบัวเช่นนี้ ดิฉันเคยเห็นครั้งแรกประมาณเกือบ 20 ปีก่อน เมื่อได้ทำวิจัยให้กับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ในหัวข้อ ศิลปกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับชาดกในพุทธศาสนาระหว่างปี พ.ศ.2000–2400 ภายใต้การดูแลของเมธีวิจัยอาวุโส รศ.ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ ครูที่ดิฉันรักเคารพยิ่ง

 

ในการทำวิจัยครั้งนั้น ดิฉันต้องศึกษาเรื่องของภาพชาดกที่สลักไว้บนแผ่นหินชนวนและติดผนึกอยู่บนผนังอุโมงค์ วัดศรีชุม จ.สุโขทัย อย่างละเอียด รูปอักษรจารึกและอักขรวิธีในการจารึกภาพชาดกชุดนี้ มีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19-20 (พ.ศ.1801-2000) ในจำนวนหินชนวนจารึกภาพชาดกทั้ง 48 ภาพนี้ หนึ่งในภาพถ่ายนั้น ติดตาดิฉันอย่างมาก เพราะเป็นภาพนางยักษ์เขี้ยวสั้นแหลม ยืนตาถลนอยู่ในกอบัว

 

คุณหญิงยักษิณีตนนี้ ท่าทีของเธอ อารมณ์ของเธอเตะตา ติดตา คุ้นตาดิฉันอย่างไรชอบกล เหมือนเราเคยรู้จักกันมาแล้ว ผ่านตามมาบ้าง แต่นึกเท่าไหร่ก็นึกไม่ออก จนเมื่อสายๆของวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ.2552 ดิฉันได้มีโอกาสมุดเข้าไปในอุโมงค์วัดศรีชุม จ.สุโขทัย ไปดูแผ่นหินชนวนสลักรูปชาดกในเอกนิบาต กับน้องๆ เพื่อนๆ และท่านเคริว ชิมะ เจ้าอาวาสวัดพุทธนิชิเร็นในญี่ปุ่น คราวนี้จะได้ดูของจริงที่มิใช่ภาพถ่าย ให้เห็นเต็มตา ดูซะให้เต็มตา ณ ที่ตรงนั้น

 

แล้วดิฉันก็ได้ไปพบจังๆ กับหินชนวนสลักภาพนางยักษ์ในกอบัว ติดผนึกอยู่บนเพดานอุโมงค์วัดศรีชุม ขณะไต่บันไดไปตามอุโมงค์แสนแคบ รกอับเหม็นอุดอู้ไปด้วยขี้ค้างคาว บางช่องผนังยังมีนกแสกยืนเบิกตาโพลงสู้แสงไฟฉาย ไต่อุโมงค์ไป ฉายไฟดูหินชนวนสลักไป พยายามกลั้นหายใจ ผ่อนลมหายใจถ่ายรูปกลับมาทั้งหมด ทุกภาพหินชนวนสลัก เท่าที่มีกำลังจัดการมาได้ และหนึ่งในนั้นที่ติดตาดิฉัน ที่เธอทักทายดิฉัน ก็คือคุณหญิงยักษิณีกลางกอบัว

 

นางยักษ์ตนนี้อยู่ในอุโมงค์วัดศรีชุม เธออยู่มาไม่ต่ำกว่า 750 ปีแล้ว เค้าหน้า อารมณ์ของเธอจากการเห็นของจริงตรงหน้า ทำให้ดิฉันปิ๊งแว้บ อยากร้องว้าวๆๆ ออกมาเลย อยากบอกเธอว่า จำได้แล้ว จำได้จ้ะ เราพบกันมาหลายสิบปีแล้ว ตั้งแต่ดิฉันยังเป็นหนูน้อย ตัวเล็กเด็กน้อยอยู่ที่เมืองเพชรบุรี เพราะนางยักษ์บนหินชนวนวัดศรีชุม เธออยู่กลางกอบัวด้วยใบหน้า สีหน้าเช่นเดียวกับคุณหญิงยักษ์แหวกกอบัวบนหน้าบันซุ้มประตูวัดมหาธาตุเมืองเพชร ซึ่งดิฉันได้เห็นเธอมายาวนานตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 10 ขวบ และขอบันทึกไว้ตรงนี้ด้วยว่า ดิฉันเพิ่งได้มาพบเธอครั้งล่าสุดในภาพนางยักษ์แหวกกอบัวบนเหล็กดัดผนังศาลาวัดลาด เมื่อไม่กี่วันที่เพิ่งผ่านมา

 

รูปนางยักษ์กลางกอบัวในหินสลัก อุโมงค์วัดศรีชุมนั้น ได้มีการระบุชัดไว้ในหนังสือ ประชุมศิลาจารึกภาคที่ 5 ว่า มาจากเรื่อง นฬกปานชาดก อันเป็นชาดกลำดับที่ 20 ในเอกนิบาต เล่าเรื่องพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระยาวานร คิดแก้กลนางยักษ์รากษสผีเสื้อน้ำ จนพ้นอันตรายได้

 

ที่มาของนางยักษ์กลางกอบัว ในนฬกปานชาดก(พระยาวานรกับไม้อ้อ)  ชาดกว่าด้วยการใช้สติปัญญาพิจารณาแก้ปัญหา มีรายละเอียดอย่างไรนั้น ดิฉันขอนำไปเล่าถึงในบทความ คุยกับนางยักษ์ที่วัดมหาธาตุ ตอน 2 ช่วงเดือนหน้า ก็แล้วกันนะ

 

  7ยักษ์

 (ภาพสลักชาดก ในเอกนิบาต อุโมงค์วัดศรีชุม จ.สุโขทัย)