ทีวีเด็ก บล็อกพิมพ์อนาคต

ทีวีเด็ก บล็อกพิมพ์อนาคต

สื่อสำหรับเด็ก โจทย์ยากทางธุรกิจ โจทย์ใหญ่ของประเทศชาติ

 

ในยุคที่สื่อเก่ากำลังเผชิญหน้ากับ Digital Disruption โจทย์ยากทางธุรกิจกดดันให้ทีวีหลายช่องต้องฝ่ามรสุมขาดทุนไปให้ได้ น่าเสียดายว่า...สิ่งหนึ่งที่กำลังหายไปในภาวะการแข่งขันเช่นทุกวันนี้ กลับเป็น ‘รายการเด็ก’ ที่ผลิตขึ้นเพื่อส่งเสริมศักยภาพของเด็กไทยอย่างแท้จริง

 

หลายทศวรรษที่ผ่านมา รายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก เคยเป็นความบันเทิงหลักที่ไม่ต่างจากเพื่อนหรือคนในครอบครัว เป็นความทรงจำที่เด็กแต่ละยุคมีร่วมกัน แต่ปัจจุบันนอกจากเด็กๆ จะไม่ได้มานั่งรอหน้าจอทุกเช้าวันหยุดเหมือนเมื่อก่อนแล้ว รายการคุณภาพสำหรับเด็กก็เหลือน้อยเต็มที

 

และหลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ประกาศให้ช่องทีวีดิจิทัลคืนใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ได้ ภายในวันที่ 30 กันยายนนี้ ช่องทีวีดิจิทัลสำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัว ก็จะหายไปทันที

  6

 

สื่อเสริมคุณภาพเด็ก

 

“สื่อที่สอดคล้องกับวัยของเด็ก ไม่ว่าหนังสือการ์ตูน สื่อเสียง สื่อภาพ ควรจะมีสื่อที่เหมาะกับเขา ช่วยเขาพัฒนาการเรียนรู้ มีทักษะในการใช้ชีวิต เขาจะเป็นผู้รับผิดชอบโลกในวันข้างหน้าได้อย่างดี วันนี้สถานการณ์สื่อเด็กอยู่ในขั้นวิกฤติ อันตราย จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญ หาทางช่วยกัน มีพื้่นที่ให้เด็กๆ ได้มีสื่อที่ดี”

 

วสันต์ ภัยหลีกลี้ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวในเวทีสาธารณะ ‘อวสานทีวีเด็กไทย! ยอมแพ้ หรือ ไปต่อ’ โดยมี รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น สำทับด้วยความกังวลว่า นอกจากสื่อจะหายไปแล้ว เด็กยังถูกขโมยธรรมชาติความเป็นเด็กไปอีกด้วย

 

“ทั้งชีวิตหมอทำงานมาเพื่อเด็กและเยาวชน ลุกขึ้นมาพูดแทนเสียงเด็ก วันนี้สังคมเปลี่ยนไป การแข่งขันมากมายในโซเชียลมีเดีย เด็กที่เกิดมาในเจนเนอเรชั่นอัลฟ่า ถูกขโมยธรรมชาติความเป็นเด็กไป เด็กเรียกร้องต้องการธรรมชาตินั้นคืนกลับมา

 

การที่จะได้อยู่ในอ้อมอกของแม่ อ้อมอกครอบครัว แต่ Fast Life ดึงพวกนี้ไปหมด ประเทศไทยตอนนี้เด็กเกิดน้อยลง คาดการณ์ว่าปี 2573 อัตราวัยแรงงานที่ต้องดูแลผู้สูงวัยลดลงมาเหลือ 2 ต่อ 1 จากปี 53 อยู่ที่ 5 ต่อ 1 

 

เราไม่ได้คิดเลยว่า อีก 10-20 ปี ข้างหน้า คุณภาพของพลเมืองจะเป็นอย่างไร นี่คือจุดเปลี่ยนประเทศนะครับ ผู้ใหญ่ของบ้านนี้เมืองนี้คิดอะไร ลงทุนอะไรกับเด็ก เพราะคุณภาพของพลเมืองฝากไว้กับเด็กและเยาวชนเหล่านี้”

 

ด้วยสภาพครอบครัวที่ต้องแข่งขันกับเวลา สิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็กเปลี่ยนไป จากเดิมกลับบ้านมาเจอพ่อแม่ ไปโรงเรียนเจอคุณครู เจอเพื่อน ในชุมชนก็มีพี่ป้าน้าอา บ้าน-ชุมชน-โรงเรียนเป็นระบบนิเวศ แต่ปัจจุบันทุกคนมีสื่อเป็นรัศมีห้อมล้อมรอบตัว บางบ้านมีไว้เพียงเพื่ออาศัยอยู่ด้วยกัน แต่ไม่มีการพูดคุยซึ่งกันและกัน 

 

4

 

“โซเชียลมีเดีย ถ้ามันไม่มีคุณภาพ เด็กบริโภคอะไรก็ได้ อย่างไรก็ได้ ใช้ความรุนแรงแบบไหนก็ได้ เราก็จะได้คุณภาพพลเมืองในปี 2573 เฉกเช่นนั้น เราต้องการสื่อที่มีคุณภาพ ฝากถึงสื่อมวลชน ฝากถึงรัฐบาล ฝากถึงคนที่กำลังดูแล

 

ท่านรู้ไหม การลงทุนที่คุ้มค่าที่สุดในช่วงจุดเปลี่ยนวิวัฒนาการของเด็กและเยาวชนมี 2 ช่วง คือ ช่วงประถมวัย แล้วก็ช่วงรอยต่อเข้าสู่วัยรุ่น ตรงนี้เราไม่ได้ลงทุนอะไรเลย หากสองจุดนี้ไม่ได้เป็นจุดคานงัด แล้วระบบนิเวศกำลังเปลี่ยนแปลง โซเชียลมีเดียกำลังมาแรง ทีวีเพื่อเด็กถ้าไม่มีเลย และไม่มีอะไรที่เป็นคุณภาพเลย....

 

เด็กเป็น Human Resource ที่สำคัญ เขาต้องไปแบกโลกตรงนั้น ผมขอเรียกร้องและขอเสนอ กสทช. ให้ท่านช่วยดูหน่อยเถอะ เพราะท่านมีคลื่นความถี่อยู่ในมือ ฝากกองทุนพัฒนาสื่อฯ เรื่อง Content Creater เรื่องเม็ดเงินที่ Feeding เข้ามา เสนอ กสทช. ให้ท่านเปิดประมูลหาออกาไนเซอร์ที่มีคุณภาพมาฉายวิสัยทัศน์ให้เห็นว่าเรากำลังจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว สามารถมีช่องทีวีเด็กขึ้นมาได้

 

แม้เด็กในสมัยหน้าอาจจะไม่ได้ดู แต่มันเป็นทีวีพื้นฐานที่นำไปสู่โซเชียลมีเดีย ไวรัลคลิปอะไรต่างๆ อีกมากมาย ประเทศชาติก็จะดี น้องๆ ทั้งหลายก็จะกลายเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ มีทั้งความรู้ความสามารถ มีศีลธรรม มีคุณธรรม มีความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ” นพ.สุริยเดว เรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้

 

ไม่ต่างจากความเห็นของคุณแม่ ดวงรัชต์ แซ่จิว ที่ตั้งคำถามว่าถ้าสื่อของเด็กหายไป ลูกเราจะโตมาแบบไหน 

 

“คุณแม่คนหนึ่งเคยบอกว่า การเลี้ยงลูกให้เติบโตก็เหมือนการหล่อเทียน ถ้าเทียนยังไม่แข็งพอไม่สามารถแกะแม่พิมพ์ได้ เราจะได้เทียนที่ไม่สวย แม่ก็มาคิดต่อว่า แล้วบล็อกอันนั้นคืออะไร บล็อกอันนั้นคือสื่อที่ลูกเรากำลังเสพอยู่ ถ้าสื่อเป็นสื่อที่บิดเบี้ยว เทียนแท่งนั้นก็จะไม่ตรง จะคดเคี้ยว ซึ่งอันตรายนะคะ 

 

เราเป็นคนหยิบมือถือให้ลูก แล้ววันนี้เราก็ขอมือถือคืนจากลูกไม่ได้ เราควบคุมสื่อที่อยู่ในมือถือไม่ได้ ถ้าทีวี สื่อของเด็กหายไป เราจะทำยังไงให้เด็กได้รับสิ่งดีๆ ที่จะเป็นเบ้าหลอม ให้เขาโตเป็นผู้ใหญ่ในวันพรุ่งนี้"

 

1

 

สื่อเด็กสร้างชาติ

 

ย้อนหลังไปตั้งแต่มีสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทยออกอากาศเมื่อ 60 กว่าปีที่แล้ว สังคมไทยก็เริ่มรู้จักกับรายการทีวีสำหรับเด็กและเยาวชน แม้ช่วงแรกจะยังจำกัดอยู่ในมิติของการแสดงนาฏศิลป์ แต่ต่อมาได้มีพัฒนาการมากขึ้น กระทั่งเกิดกระแสความนิยมของละคร ทำให้รายการเด็กค่อยๆ ลดเวลาลง แต่ไม่ถึงกับหายไปจากหน้าจอเสียเลยทีเดียว

 

“ปี 2522 เป็นปีเด็กสากลโลก ประเทศไทยเริ่มวางแผนพัฒนาเด็ก ยุคนี้มีรายการเด็กดีๆ เช่น สโมสรผึ้งน้อย รายการน้องหนู ชวนเด็กๆ มาดื่มนม พอหมดสัญญาช่องก็ไม่ต่อ เพราะเห็นว่ามันซ้ำๆ เขาลืมไปว่าเด็กชอบความซ้ำ แม้เด็กรุ่นแรกโตไป 7-8 ขวบ แต่ก็ยังมีเด็กเล็กๆ มาดูรายการนี้ต่อ ทำให้รายการเด็กในเมืองไทยอยู่ได้ไม่นาน ธุรกิจและโฆษณาเริ่มมีบทบาทมากขึ้น บางคนถึงกับเป็นหนี้เป็นสินเพื่อทำรายการเด็กให้อยู่ได้ 

 

ปี 2540 ยุคไอเอ็มเอฟ รายการเด็กแทบจะไม่มี มีแต่ซุปเปอร์จิ๋ว ยุคต่อมา ปฏิรูปสื่อ มี สสส. มี กสทช. มีทีวีดิจิตอล มีช่องเด็ก 3 ช่อง แม้ระเบียบ กสทช. ระบุว่าให้ทีวีทุกช่องต้องมีช่วงเวลาของเด็กและเยาวชน เวลา 16.00 -18.00 น. ทุกวัน และเสาร์อาทิตย์ 7.00-9.00 น. อย่างน้อย 60 นาทีต่อวัน

 

ทีวีดิจิตอลออกอากาศในปี 2557 สำรวจพบว่า มีแค่ 37 นาทีครึ่งต่อวันเท่านั้น บางช่องไม่มีเลย ปี 2562 เหลือ 19 นาทีครึ่ง ปี 2561" ผศ.ดร.มรรยาท อัครจันทโชติ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูล พร้อมทั้งยืนยันว่า “เด็กยังดูทีวี”

 

2

 

"ไทยพีบีเอสสำรวจพบว่า สื่ออันดับหนึ่งที่เด็กเล็กใช้คือ สื่อโทรทัศน์ (อันดับ 2 หนังสือ, อันดับ 3 ยูทูป) เด็กยังดูทีวีแต่ไม่มีรายการดีๆ ให้กับเขา ที่จะช่วยพัฒนา ตอบสนองการเรียนรู้ เด็กมีความสนใจหลากหลาย

 

บางคนชอบกีฬา บางคนชอบศิลปะ เด็กไม่สามารถหารายการตรงกับเขาได้ ซึ่งจริงๆ ควรจะมีรายการสำหรับเด็กในทุกๆ แพลทฟอร์ม ไม่ว่าเขาจะดูหรือไม่ดู แต่เมื่อไรที่เขาต้องการดู ก็ควรจะมีรายการที่เขาสนใจอยากดูและช่วยส่งเสริมเขาได้”  

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางโทรทัศน์ซึ่งเป็นสื่อเดียวที่ครอบคลุมทั่วประเทศ ขณะที่สื่อออนไลน์ปัจจุบันยังไม่มีฟรีไวไฟครอบคลุม หลายๆ ครอบครัวยังใช้ทีวีเป็นสื่อเลี้ยงลูกอยู่ และการได้ดูทีวีด้วยกันก็เป็นตัวช่วยที่ดี ซึ่งล่าสุดข้อมูลจาก AC Nielsen สำรวจพบว่าคนไทยใช้เวลาดูทีวีมากขึ้น แม้จะไม่ได้ดูผ่านทีวี แต่ดูจากสมาร์ทโฟนและคอมพิวเตอร์แทน แต่นั่นก็แสดงว่าทีวียังมีบทบาทอยู่

 

“ประเทศที่เจริญแล้วให้ความสำคัญกับเด็ก ลงทุนกับเด็ก การเกิดทีวีเพื่อเด็กเป็นพันธกิจของรัฐบาลที่ต้องทำให้สังคมและประเทศเดินหน้าต่อไปในอนาคต เวียดนามก็มีทีวีช่องเด็ก ญี่ปุ่นก็มองว่าอยากให้เด็กเป็นยังไงในอนาคตก็สร้าง Content นั้นๆ ส่วน BBC ก็มีช่องเด็กถึง 2 ช่อง

มีผังรายการให้กับเด็กเหมาะกับเด็กแต่ละปี เมื่อมี Disruption เกิดขึ้น BBC ปิดช่องอื่นๆ แต่ไม่ปิดช่องเด็กแล้วยังเพิ่มงบร้อยล้านยูโรดึงเด็กกลับมาสู่จอทีวี ไม่ใช่ผลักเด็กไปสู่จอออนไลน์ที่ไม่รู้ว่าคืออะไร ทีวีช่องเด็กจึงไม่ใช่ทีวีอย่างเดียว แต่เชื่อมโยงกับอีกหลายแพลทฟอร์ม เด็กดูรายการนี้ปุ๊บมาทำแบบฝึกหัดในออนไลน์ได้ โรงเรียนก็สามารถใช้ได้ 

 

หรือ NHK รายการวิทยาศาสตร์บอกว่า เด็กเห็นสิ่งนี้รอบตัวไหม ถ่ายรูปแล้วส่งมาสิ นี่คือการเชื่อมโยง สื่อในอนาคตจะไม่มีสื่อไหนฆ่าสื่อไหน ไม่มีสื่อไหนตาย ถ้ารู้จักใช้สื่อทั้งหมดมาเสริมซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะหันไปหาสื่อไหนคุณก็สามารถเข้าถึงสิ่งนี้ได้

 

การทำทีวีช่องเด็กก็เหมือนทำสนามเด็กเล่นในชุมชน ไม่ว่าชุมชนนั้นจะมีเด็กหรือไม่ เด็กคือปัจจุบัน เด็กโตขึ้นทุกวัน เป็นเรื่องของเราทุกคน นี่คือสิ่งที่สังคมและเด็กของเราต้องการ เป็นสิ่งที่ผู้มีอำนาจต้องทำและควรจะต้องทำในวันนี้ด้วย” ผศ.ดร. มรรยาท ย้ำถึงความสำคัญ

 

5

 

ทีวีแห่งชาติเพื่อเด็ก

 

ถ้าให้ลองนึกถึงรายการที่หลายคนคุ้นเคยในวัยเด็ก แน่นอนว่าชื่อของ ‘รายการสโมสรผึ้งน้อย’ กับ ‘น้านิด’ น่าจะเป็นหนึ่งในนั้น แม้ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะประคับประคองรายการมายาวนานถึง 16 ปี แต่ด้วยใจที่มุ่งมั่น พื้นที่สำหรับเด็กจึงเกิดขึ้น

 

“ตอนไปอยู่อเมริกาได้เห็นความใส่ใจของเขา เขามีรายการ Sesame Street ให้เด็กดู พอกลับมาบ้านเรา ไม่มีรายการเด็กเลย รายการทีวีเมืองนอกจะซ้ำๆ แล้วก็รูปแบบเดิมๆ ก็เลยทำสโมสรผึ้งน้อย" ภัทรจารีย์ อัยศิริ หรือ ‘น้านิด’ ผู้ผลิตรายการสโมสรผึ้งน้อย เล่าที่มา และว่า “ช่วงนั้นยอมขาดทุน ยอมทุกอย่าง ทำมา 16 ปีแล้วก็หยุด ปาดน้ำตา ร้องไห้มาโดยตลอด”

 

ในมุมของผู้ผลิตรายการน้ำดี เธอมองว่า ต้องไม่นำทีวีเด็กมาเกี่ยวข้องกับธุรกิจ “สโมสรผึ้งน้อยเป็นรายการสำหรับเด็กวัยเรียน เด็กต้องส่งเสียงให้ดัง ไม่อย่างนั้นผู้ใหญ่จะไม่เห็นหนู น้านิดทำผึ้งน้อยเพื่อให้เด็กมีตัวตน ให้คนในประเทศชาติรู้ว่าคุณต้องดูแลเด็ก ผู้ใหญ่ต้องให้พื้นที่เด็ก”

 

ถึงวันนี้ ในวันที่หยาดน้ำตาหายไป น้านิดบอกว่ามีแต่รอยยิ้ม เพราะเด็กๆ ผึ้งน้อยในอดีต วันนี้เติบโตขึ้นเป็นคนคุณภาพ บางคนเดินมาบอกว่า...“ผมเป็นคนดี น้านิดภูมิใจผมได้นะครับ”

 

“อีกคนบอก เขาเสนอเงิน 30 ล้าน ถ้าตกลงจะมีเงินทอนให้ เขาก็ไม่ทำ มาเล่าให้ฟัง มันหายเหนื่อย สื่อเด็กสร้างชาติ" 

 

3

 

ส่วนที่มีการพูดกันว่าเด็กเดี๋ยวนี้ไม่ดูทีวี น่าจะเป็นเพราะไม่มีรายการให้ดูมากกว่า “ประเทศอื่นๆ คนของเขาประสบความสำเร็จเพราะมีรายการเด็กดีๆ น้านิดไปกระทบไหล่เนเธอร์แลนด์มา เขาบอกว่าไอทำรายการเด็ก พยายามให้เด็กใช้มือถือกดเข้ามาในรายการ เชื่อมโยงเด็กให้มาดูทีวีให้ได้ ผู้ใหญ่ที่มีอำนาจเป็นห่วงแต่นักธุรกิจ ไม่ห่วงเด็กไทย

 

อยากชวนให้มาห่วงเด็กไทย มาดูซิว่าลูกหลานของเราจะเติบโตยังไง เราจะมีทีวีดีๆ ให้เขาดูได้ยังไง ไม่ใช่เฉพาะเด็กกรุงเทพฯ ในจังหวัดต่างๆ มีเด็กเก่งๆ มากมาย ถ้ามีทีวีเด็ก เรื่องดีๆ เหล่านี้จะถูกฉายขึ้นไป ถูกยกย่อง เด็กก็จะภูมิใจ ถ้าเรามีสถานีโทรทัศน์เด็กไทยแห่งชาติ ทำให้เด็กมีตัวตน มีความสำคัญ เขาจะมีความรับผิดชอบต่อประเทศชาติ” 

 

"...ได้โปรดเถอะค่ะ ผู้มีอำนาจทั้งหลาย ทำเพื่อเด็กของเรา อย่าให้เขาเติบโตไปบนสื่ออะไรก็ไม่รู้ ที่พ่อแม่ขอลูกดู ลูกยังไม่ให้ดูเลย ช่วยเถอะค่ะ ให้เกิดสถานีโทรทัศน์เด็กแห่งชาติ รวมผู้เชี่ยวชาญ นักคิด นักสร้างสรรค์ เป็นศูนย์รวมคนไทยทั้งชาติมาทำรายการดีๆ เด็กของเราเสียโอกาสมาแล้วกี่รุ่นต่อกี่รุ่น

 

ถึงเวลาหรือยังคะ ช่วยกัน ลุกขึ้นมา ทำให้เกิดสื่อดีๆ ทีวีดีๆ ให้เด็ก เราได้แต่มอง ญี่ปุ่น เยอรมัน เนเธอร์แลนด์ เวียดนาม ที่เขาใส่ใจกับเด็ก เราจะปล่อยให้ลูกหลานของเราเติบโตไปอย่างนี้เรื่อยๆ โดยที่ไร้ทิศทางแบบนี้หรือคะ เรามาช่วยกันสร้างทีวีของชาติเพื่อเด็กๆ ค่ะ” ภัทรจารีย์ กล่าววิงวอน  ก่อนจะทิ้งท้ายว่า

 

ถ้าเราไม่ได้เตรียมอะไรไว้สำหรับเด็กๆ ของเราเลย ต้องบอกว่าอวสานจริงๆ ค่ะ ประเทศนี้