แคชเมียร์ระทม ท่องเที่ยวสะเทือน

แคชเมียร์ระทม ท่องเที่ยวสะเทือน

เมื่อต้นเดือน ส.ค.ทางการอินเดียขอให้นักท่องเที่ยวออกจากแคชเมียร์ทันที เนื่องจากมีภัยคุกคามก่อการร้าย

 เมื่อพูดถึงทะเลสาบดาล ในเมืองศรีนครรัฐจัมมูและแคชเมียร์ของอินเดีย หลายคนต้องคิดถึงโรงแรมเรือที่จอดเรียงรายหนาแน่นไปด้วยนักท่องเที่ยว แต่ตอนนี้สถานการณ์ไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว เรือว่างเปล่าไร้ผู้คน ธุรกิจท่องเที่ยวแคชเมียร์ซบเซาหนัก หลังจากทางการยกเลิกสถานะพิเศษในการปกครองตนเองพร้อมปิดเมืองนาน 3 สัปดาห์

ด้วยทัศนียภาพงดงามแทบลืมหายใจกับสิ่งที่ปรากฏอยู่ตรงหน้า ภูเขาปกคลุมด้วยหิมะและทะเลสาบงามเงียบสงบ ทำให้แคชเมียร์เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมในช่วงฤดูร้อน นักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศหนีความร้อนจากส่วนอื่นของอินเดียหลั่งไหลกันมาที่นี่

แต่เมื่อต้นเดือน ส.ค.ทางการอินเดียขอให้นักท่องเที่ยวออกจากแคชเมียร์ทันที เนื่องจากมีภัยคุกคามก่อการร้าย มวลชนพากันทะลักออกไป ไม่กี่วันหลังจากนั้นรัฐบาลนิวเดลีก็ตัดสินใจแบบไม่มีใครคาดคิด เพิกถอนสถานะพิเศษของแคชเมียร์ ดึงอำนาจการปกครองพื้นที่พิพาทแห่งนี้มาอยู่ภายใต้รัฐบาลกลางโดยตรง

“พวกเขาเข้าไปที่โรงแรมเรือและโรงแรมทุกแห่ง ไปบนถนนทุกสาย บังคับให้นักท่องเที่ยวทุกคนออกไปจากแคชเมียร์ แม้แต่ตอนนี้พวกเขาก็ไปป้วนเปี้ยนอยู่ตามโรงแรม เพื่อตรวจสอบว่ายังมีใครหลงเหลืออยู่บ้าง” สิคารา เจ้าของโรงแรมยากูบเล่าถึงความเป็นไปในพื้นที่

ตอนนี้ถนนที่เคยคราคร่ำด้วยชาวบ้านและนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ร้างไร้ผู้คน ภาพที่เห็นมีแต่รั้วลวดหนาม จุดตรวจความมั่นคง และทหารพิเศษที่รัฐบาลนิวเดลีส่งมาเพิ่มอีกหลายหมื่นนาย สมทบกับของเดิมที่มีอยู่ 5 แสนนายในดินแดนแถบหิมาลัยแห่งนี้

เท่านั้นยังไม่พอทางการยังตัดช่องทางการสื่อสารทุกทาง ไม่ว่าจะสายโทรศัพท์หรืออินเทอร์เน็ต การติดต่อกับโลกภายนอกจึงทำได้ยากเต็มที

“นี่ไม่ใช่สิ่งที่เราคาดไว้เลย ตอนนี้มีไม่กี่คนหรอกที่อยู่ได้โดยไม่มีเทคโนโลยีสมัยใหม่ ไม่มีอินเทอร์เน็ต ประชาชนลำบากมากโดยเฉพาะนักท่องเที่ยว สถานการณ์โดยรวมน่ากลัวมาก” คู่สามีภรรยาชาวไต้หวันที่เอเอฟพีเห็นเพียงรายเดียวบ่นอุบกับสิ่งที่เจอ ที่พวกเขามาเที่ยวก็เพราะวางแผนไว้ตั้งแต่ปีก่อน

สวิตเซอร์แลนด์แห่งโลกตะวันออก

แคชเมียร์6

 แคชเมียร์ถูกแบ่งเป็นส่วนของอินเดียและปากีสถานเมื่อสิ้นยุคการปกครองของเจ้าอาณานิคมอังกฤษในปี 2490 แต่ที่นี่ก็เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของนักท่องเที่ยวต่างชาติ จนกระทั่งเกิดเหตุกลุ่มติดอาวุธต่อต้านการปกครองของอินเดียเมื่อปี 2532

ความขัดแย้งที่คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วหลายหมื่นคนส่วนใหญ่เป็นพลเรือน ถือเป็นสิ่งท้าทายความพยายามส่งเสริมการท่องเที่ยว ในดินแดนที่เรียกว่า “สวิตเซอร์แลนด์แห่งโลกตะวันออก”

ตลอดเวลาที่ผ่านมาจำนวนนักท่องเที่ยวขึ้นๆ ลงๆ ตามขนาดของเหตุไม่สงบ ตัวเลขรัฐบาลอินเดียระบุว่า ผู้มาเยือนแคชเมียร์ในช่วงวันหยุดลดลงจากกว่า 1.3 ล้านคนในปี 2555 เหลือ 8.5 แสนคนในปี 2561 แต่ 7 เดือนแรกของปีนี้มีคนมาเที่ยวหุบเขาแคชเมียร์กว่า 5 แสนคน เฉพาะเดือน ก.ค.เดือนเดียวตัวเลขอยู่ที่กว่า 1.5 แสนคน

นอกจากนักท่องเที่ยวปกติแล้ว เดือน ก.ค.ยังมีนักแสวงบุญอีกราว3.4 แสนคน ก่อนที่พิธีแสวงบุญตามศาสนาฮินดูจะถูกยกเลิกไปเพราะข้ออ้างภัยคุกคามก่อการร้าย

ไม่กี่วันต่อมาหุบเขาแคชเมียร์ก็เงียบสนิท นับตั้งแต่วันที่ 5 ส.ค. ที่รัฐบาลนิวเดลียกเลิกสถานะปกครองตนเองของแคชเมียร์ มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยวที่นี่เพียง 150 คนเท่านั้น ส่วนใหญ่เป็นคนที่จองมาล่วงหน้าแล้ว

จำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงอย่างฮวบฮาบส่งคลื่นกระแทกไปยังอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั้งวงการ ธุรกิจนี้ทำเงินปีละ 500 ล้านดอลลาร์ ว่าจ้างแรงงานราว 1 แสนคน อีกหลายคนดำรงชีวิตในธุรกิจที่ต่อเนื่อง เช่นงานหัตถกรรม สวนดอกไม้ และการขนส่ง

รัฐบาลอินเดียย้ำว่า การดึงแคชเมียร์มาอยู่ภายใต้รัฐบาลกลางโดยตรงจะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจ เพิ่มการจ้างงานและการพัฒนาแต่ชาวบ้านไม่เชื่อข้ออ้างนี้ ชี้ว่า แค่รัฐบาลอ้างว่าเกิดภัยคุกคามก่อการร้าย นักท่องเที่ยวก็จับเครื่องบินและรถบัสหนีออกไปแทบไม่ทัน

“โกหกทั้งนั้น ไม่มีใครออกไปทำร้ายผู้แสวงบุญหรอก รัฐบาลต้องการเพิกถอนสถานะอิสระ ก็เลยใช้การก่อการร้ายมาเป็นข้ออ้าง” บาเชียร์ เจ้าของโรงแรมเรือโอดครวญ

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเจอความปั่นป่วนครั้งใหญ่ ก่อนหน้านี้เคยเจอมาแล้วเมื่อปี 2551, 2553 และ 2559 ตอนเกิดเหตุประท้วงใหญ่

ส่วนสถานการณ์ตอนนี้ยังไม่มีวี่แววว่าจะยุติลงเมื่อใด ชาวบ้านกลัวว่าความไม่แน่นอนจะทำให้คนที่คิดมาเที่ยวห่างหายไปอีกนาน

บางประเทศถึงกับออกประกาศเตือนไม่ให้มาเที่ยวแคชเมียร์ บริษัททัวร์ก็หวั่นว่าคนจะตกงานกันหลายพันคน บั่นทอนเศรษฐกิจ และยิ่งเติมเชื้อความตึงเครียดเพิ่มขึ้นอีก

“ตอนที่ธุรกิจคุณตกต่ำ สิทธิขั้นพื้นฐานของคุณถูกทำลาย คุณอย่ามาหวังเลยว่าเราจะมีสติ จะตายแหล่มิตายแหล่กันอยู่แล้วล่ะ” ซามีร์ วานี เจ้าของร้านขายงานฝีมือระบายอารมณ์

  แคชเมียร์2