'ศิลป์' สร้าง 'สุข'

'ศิลป์' สร้าง 'สุข'

ความสุขคือสิ่งที่ทุกคนต้องการ บางคนสุขกับเรื่องเล็กน้อย บางคนสุขกับเรื่องยิ่งใหญ่ สุดท้ายแล้วทุกคนต่างมีความสุขในแบบของตัวเอง

แต่ในยุคสมัยที่โลกหมุนไว เทคโนโลยีมากมายถูกคิดค้นเพื่อสร้างความสะดวกสบายให้มนุษย์ แต่ในความเป็นจริงกลับมีไม่น้อยที่หลายเหตุปัจจัยกำลังทำให้ความสุขเลือนหาย จนบางคนต้องแสวงหา

แต่สำหรับศิลปินผู้สร้างสรรค์ศิลปะ การได้ขีดเขียนหรือจรดปลายพู่กันบอกเล่าเรื่องราวในหัวใจ นั่นคือความสุขอย่างหนึ่งซึ่งไม่ต้องไปตามหาที่ไหน แต่ความน่ามหัศจรรย์ของความสุขเหล่านี้คือยังส่งต่อไปถึงคนอื่นที่เสพงานศิลป์ได้ด้วย เพราะฉะนั้นกับโจทย์แสนยากเย็นว่า “อะไรคือความสุขของคนไทย?” จึงตอบโจทย์ได้ด้วยศิลปะ

และด้วยความที่คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นคณะวิชาด้านศิลปะระดับอุดมศึกษาแห่งแรกของประเทศไทย ผลิตบุคลากรสายนี้มาช้านานและจำนวนมากมาย หลายคนคือศิลปินมีชื่อเสียง บางคนอยู่ในระดับนานาชาติ ในทางเดียวกัน บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ก็เป็นผู้บุกเบิกธุรกิจด้านน้ำมันปิโตรเลียมในประเทศไทย แน่นอนว่าพลังงานคือปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งพัฒนาการเรื่องต่างๆ ด้วย ทั้งหมดทั้งมวลนำไปสู่พัฒนาการด้านชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน

เมื่อศิลปะคือสิ่งจรรโลงโลก วิโรจน์ มีนะพันธ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ด้านกำกับองค์กรและกิจการสัมพันธ์ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) จึงเห็นว่าสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ที่ต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิต เกิดเป็นการสนับสนุนศิลปินตั้งแต่ยังเริ่มต้นก่อนจะเติบโตไปสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่ยิ่งใหญ่ ในโครงการการประกวดศิลปกรรมไทยออยล์ ครั้งที่ 1 ประจำปี 2562 หัวข้อ ‘ความสุขของคนไทย’

“การจัดประกวดครั้งนี้เพื่อสื่อสารและเผยแพร่ให้สาธารณชนรับทราบรวมถึงชาวต่างประเทศที่เข้ามารับชม รวมถึงการต่อยอดเป็นปฏิทิน เผยแพร่เป็นเอกสารในบริษัท เพื่อสื่อภาพที่ดีของสังคมไทยให้ทุกคนรับทราบ ซึ่งผมคิดว่าศิลปะสื่อถึงความอ่อนโยน ไทยออยล์ซึ่งเป็นธุรกิจเกี่ยวกับนวัตกรรม เทคโนโลยี ความเจริญก้าวหน้า เราคิดว่าการสื่อสารเพื่อให้เห็นเป้าหมายขององค์กร ศิลปะจะเป็นเครื่องมือสื่อได้เป็นอย่างดี

69164949_2444536958938435_4588682341093736448_o

เมื่อพูดถึง ‘ความสุขของคนไทย’ จริงๆ แล้วคือความเรียบง่าย และวัฒนธรรม ประเพณีของเรามีคุณค่ามีความหมาย ประเทศเรามีความหลากหลาย วิถีชีวิตความเป็นอยู่ส่วนมากถูกสะท้อนเป็นความเรียบง่าย ยึดโยงกับเรื่องศาสนา เรื่องครอบครัว”

นอกจากวัตถุประสงค์ที่จะให้ผู้ชมได้ซาบซึ้งแล้ว ยังเป็นการสนับสนุนนักศึกษาคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากรโดยตรง วิโรจน์บอกว่านี่จึงไม่ใช่แค่การให้ทุนการศึกษาธรรมดาแต่เปิดเวทีให้นักศึกษาแสดงฝีมือ สิ่งที่เด็กๆ ได้รับจึงไม่ใช่แค่ทุนการศึกษาแต่ว่าเป็นแรงบันดาลใจและความภาคภูมิใจ

“ผมเชื่อว่าฝีไม้ลายมือของจิตรกรไทยไม่ได้ด้อยไปกว่าต่างประเทศ เรามีแนวทาง มีเทคนิค ที่หลากหลาย ซึ่งโครงการนี้เกิดจากที่องค์กรเราทบทวนวิสัยทัศน์ว่าเราเป็นองค์กรเก่าแก่ที่ต้องการเห็นสังคมและคุณภาพชีวิตที่ดี สิ่งที่เราจะทำได้คือผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างความมั่นคง ปัจจัยพวกนี้คือปัจจัยพื้นฐานที่จะสร้างความสุข เราอยากเห็นรอยยิ้ม วัฒนธรรม ประเพณีที่ดีงาม เราอยากเป็นส่วนช่วยในการอนุรักษ์ และสนับสนุนให้จิตรกรไทยได้แสดงฝีมือ

ซึ่งผลงานที่ออกมาก็สื่อตรงกับเป้าหมายของไทยออยล์ คือสื่อถึงความเรียบง่าย ไม่จำเป็นต้องฟุ้งเฟ้อ แต่เรื่องปัจจัยพื้นฐานก็ยังต้องมีอยู่”

การประกวดครั้งนี้ได้คัดเลือกผลงานยอดเยี่ยม 1 รางวัล ผลงานดีเด่น 2 รางวัล รวมถึงผลงานที่ได้รับรางวัลชมเชยอีก 15 รางวัล รวมทั้งสิ้น 18 รางวัล โดยบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้สนับสนุนทุนการศึกษาให้กับผู้ชนะเลิศในโครงการทั้ง 18 รางวัลประกอบด้วย รางวัลยอดเยี่ยม 1 รางวัล ทุนการศึกษารางวัลละ 100,000 บาท, รางวัลดีเด่น 2 รางวัล ทุนการศึกษารางวัลละ 70,000 บาท, รางวัลสนับสนุนไทยออยล์ 15 รางวัล ทุนการศึกษารางวัลละ 30,000 บาท

68700188_2444536638938467_415265308220063744_o

สำหรับเจ้าของผลงานยอดเยี่ยม อย่าง ศุภัชฌา โรจนวนิช นักศึกษาชั้นปีที่ 3 เล่าถึงแนวคิดของผลงาน ‘สุขใจวิถีไทย-จีน’ ว่าต้องการแสดงถึงวิถีชีวิตที่เรียบง่ายของคนไทยเชื้อสายจีนในเยาวราช เพราะเธอเป็นลูกหลานชาวจีน ผลงานนี้จึงเป็นเสมือนแทนคำขอบคุณจากชาวจีนที่ได้มาอาศัยใต้ร่มพระบารมี แม้ตัวเธอจะไม่ได้อาศัยอยู่ที่เยาวราช แต่อากงอาม่าได้ลืมตาอ้าปากที่นั่น โดยไม่ลืมปลูกฝังความรู้สึกขอบคุณนี้ให้แก่ลูกหลานทุกคน

“ตอนที่ได้รับโจทย์ความสุขของคนไทย ก็เลยคิดถึงว่าความสุขคือเรื่องใกล้ๆ ตัว อย่างแรกคือครอบครัว คิดว่าอะไรที่ทำให้เรามีความสุข ก็คือเราได้มาใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ ในภาพของหนูจะเห็นว่ามีภาพการอัญเชิญพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 5 มาที่เยาวราช และมีฉากครอบครัวของหนูที่มารับประทานข้าวเย็นร่วมกัน ฉากคุณตาคุณยายมานอนพักอาศัยอย่างมีความสุข ฉากเด็กนักเรียน ฉากร้านอาหาร ฯลฯ”

68388745_2444536605605137_5742262908432154624_o

โจทย์เรื่องความสุขไม่ได้มีแต่เรื่องราวที่นักศึกษาสาวคนนี้ถ่ายทอดมาเป็นผลงานเท่านั้น แต่เธอบอกว่าความสุขสำหรับคนทำงานศิลปะนั้นหาง่ายมาก เพราะแค่ได้ทำงานก็คือความสุขแล้ว เรื่องอื่นๆ เป็นแค่ผลพลอยได้

ด้าน ก้องภพ เบ็ญจนิรัตน์ เจ้าของรางวัลดีเด่น จากผลงาน ‘เรื่องเล่าของยาย’ อธิบายถึงผลงานของตัวเองว่าต้องการสื่อไปถึงคนรุ่นใหม่ที่อาจไม่ทันได้เห็นพระราชกรณียกิจของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งตัวเขารับรู้และเข้าใจว่าการได้อยู่ใต้ร่มพระบารมีของพระองค์ท่านนั้นมีความสุขแค่ไหน การส่งต่อความสุขนั้นให้คนรุ่นหลังจึงต้องผ่านเรื่องเล่า

“แน่นอนว่าคุณยายเป็นคนรุ่นที่เกิดทันยุคสมัยนั้น จึงมีเรื่องเล่าถ่ายทอดไปยังคนรุ่นต่อไป ในภาพก็คือหลานของผมจริงๆ นี่จึงเป็นชีวิตจริงๆ ของผม เพราะผมนึกถึงว่าอะไรที่ทำให้คนไทยรักกัน ก็คงเป็นสถาบันพระมหากษัตริย์ นอกจากจะส่งความสุขไปถึงคนที่ดูภาพแล้ว คนทำก็มีความสุขไปด้วย”

68637194_2444536732271791_8106954120721596416_o

ผลงานส่วนมากเล่นล้อกับประเด็นใกล้ตัว ปฏิเสธไม่ได้ว่าเพราะเป็นความสุขที่หาง่ายที่สุด ยิ่งเป็นคนไกลบ้านอย่าง ภาสกร แพชนะ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 การจากบ้านที่สุราษฎร์ธานีมาเรียนหนังสือในเมืองกรุง ทำให้เขาหวนนึกถึงความสุขเมื่อครั้งอยู่กับครอบครัว สายใยความรักก่อตัวเป็นผลงาน ‘พื้นที่แห่งความสุข’ อีกหนึ่งรางวัลดีเด่น

เขาบอกว่าการนำเรื่องใกล้ตัวมาถ่ายทอดทำให้ง่ายมาก ไม่ต้องมโน หรือสมมติความสุขขึ้นมา

“ผมไม่ค่อยได้กลับบ้าน ได้กลับปีละครั้ง มันเป็นความสุขส่วนหนึ่ง และเป็นแนวงานที่ผมทำมาตลอดคือสะท้อนความสุข ผมแค่กลับบ้านไปผมก็มีความสุขแล้ว แค่เห็นแมว เห็นไก่ที่บ้านก็มีความสุขแล้ว มันจะได้เป็นตัวเรา ไม่ต้องอ้ำอึ้งว่าเป็นความสุขของเราจริงหรือเปล่า พอนำเสนอก็จะง่าย”

67880459_2444536745605123_3178337547784814592_o

ในสายตาของเจ้าของการประกวด ผลงานที่ปรากฏแม้ศิลปินจะยังเป็นนักศึกษาอยู่ก็ตาม แต่กลับทำให้วิโรจน์ออกปากชื่นชมว่าดีเกินคาดไปมาก จากทีแรกแอบหวั่นใจเพราะจัดเป็นปีแรกกลายเป็นความชื่นใจอย่างที่สุด

“เท่าที่น้องๆ นำเสนอผลงานจะยากตอนที่เขาคิดว่าจะสื่ออะไร แต่เวลาลงมือทำบางคนทำเป็นเดือน บางคนทำไม่กี่วัน ผลงานที่ออกมาหลายรูปผมทึ่งนะ ผมไม่นึกว่าน้องๆ ที่ยังเรียนไม่จบเลย จะสร้างสรรค์ผลงานระดับอย่างนี้ได้ และหลายๆ รูป สื่อถึงเทคนิคของคนไทย ใช้เทคนิคสมัยโบราณที่อนุรักษ์ไว้ ผมภูมิใจที่เห็นเด็กรุ่นใหม่มาสืบสานวัฒนธรรมตรงนี้ หลายรูปมีความร่วมสมัย”

การจัดอันดับและเงินรางวัลอาจเป็นสัญลักษณ์ของความสำเร็จที่ค่อนข้างเป็นรูปธรรม แต่นอกจากนี้การเกิดขึ้นของเวทีที่ไม่ได้มีไว้แค่ชิงเงินรางวัล ทว่าคือการสร้างโอกาส ทำให้ภาสกรบอกว่าโครงการนี้ทำให้ศิลปินฝึกหัดอย่างเขาได้มีที่ทาง แม้นี่จะเป็นครั้งแรกที่เขาส่งประกวด แต่เมื่อหัวข้อ ‘ความสุขของคนไทย’ เข้าทางคนที่ทำผลงานเกี่ยวกับความสุข เขาพูดตรงๆ เลยว่า “ตอบโจทย์มาก”

“ทั้งโจทย์ ทั้งปิดเทอม ปัจจัยหลายอย่างเอื้อให้ผมหมดเลย ถ้าผมทำงานอยู่บ้านแล้วรอให้มีคนมาซื้อ มันก็ยาก แต่พอมาส่งประกวดก็จะได้แลกเปลี่ยน มีกรรมการคอมเมนต์เรา และได้วัดศักยภาพตัวเองว่าอยู่ระดับไหนแล้ว”

  นอกจากผลงานทั้ง 18 ชิ้น ยังมีผลงานอีก 40 ชิ้น ที่เข้ารอบการคัดเลือก รวมแล้ว 58 ชิ้น จัดแสดง ณ หอศิลป์ บ้านเจ้าพระยา ตั้งแต่วันนี้ถึง 28 สิงหาคม 2562 เวลา 10.00-18.00 น. ทุกวัน ยกเว้นวันอังคาร และวันหยุด

67914584_2444536755605122_1200621140813283328_o