ถนนสายสีชมพู

ถนนสายสีชมพู

ถอดรหัสความคิด...เมื่อชาวเชียงใหม่ลงขันปลูกต้นกัลปพฤกษ์ 1,248 ต้น ริมถนนยาว 7 กิโลเมตร

ที่เชียงใหม่มีปรากฏการณ์น่าสนใจ กำลังจะมีการปลูกต้นกัลปพฤกษ์ 1,248 ต้น ริมถนนสายคันคลองชลประทานระยะทาง 7 ก.ม. เป็นสีชมพูสว่างไปทั้งสาย โดยภาคประชาชนเข้าไปเสนอต่อสำนักงานชลประทานเจ้าของพื้นที่ จากนั้นก็ตกลงปลงใจจะทำกิจกรรมนี้ร่วมกันให้เสร็จภายในฤดูฝนนี้

นี่ไม่ใช่แค่การปลูกต้นไม้ที่เห็นกันดาษดื่นดอกนะครับ เพราะงบประมาณดำเนินการมาจากประชาชนเรี่ยไรกัน แนวการปลูกที่ว่าก็ไม่ใช่แค่ตรงไหนว่างก็ไปปลูกๆ และสุดท้ายก็คือปกติหน้าที่ของกรมชลประทานไม่ได้ต้องมาทำอะไรในเรื่องเหล่านี้ด้วยซ้ำไป

สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา (10 ส.ค.) เขาเริ่มระดมขุดหลุมกัน จากนั้นจะเริ่มทยอยลงต้นกัลปพฤกษ์ ซึ่งเป็นไม้พื้นเมืองให้ดอกสีชมพู-ขาวในฤดูแล้ง และระบบรากไม่ทำลายโครงสร้างคอนกรีตของคลองชลประทาน หากสำเร็จแนวถนนสายนี้จะเป็นถนนสีชมพู เป็นแลนด์มาร์คใหม่ของเมืองดึงดูดนักท่องเที่ยวและผู้คนได้มาเยี่ยมชม

อย่างไรก็ตามก็มีข่าวแพลมๆ มาว่า มีผู้ใหญ่ในกรมชลประทานบางท่านที่ยังไม่เข้าใจไม่เห็นด้วยกับโครงการ อันนี้ค่อยดูกันต่อว่าจะถึงขั้นระงับหรือแค่ลดขนาด พิกัดพื้นที่จำนวนต้นไม้ลงมา หรือจะอย่างไรกันต่อ?

ก็ภาวนาให้มันเดินหน้าลุล่วงไปได้ด้วยดี...

โดยส่วนตัวผมอยากให้มันเกิดอย่างยิ่ง เพราะหากโครงการนี้หากสำเร็จจะเป็นแบบอย่างดีๆ ของความร่วมมือระหว่างรัฐกับประชาชนที่รัฐบาลอยากเห็นหนักหนา นี่ไงล่ะครับ ประชารัฐของจริงทีเดียวเจียว! แถมเป็นประชารัฐที่เปี่ยมไปด้วยวิสัยทัศน์เมืองยุคใหม่

เหตุการณ์นี้มีที่มาจากวิกฤตฝุ่นควันเมื่อแล้งที่เพิ่งผ่านได้กระตุ้นให้ประชาชนตื่นตัว มีการเสนอสมุดปกเขียวเพิ่มพื้นที่สีเขียวที่มีคุณภาพของเมืองให้ได้ 30% จากที่มีอยู่ราว 18% (พื้นที่ราบเมืองไม่รวมดอยสุเทพ) 

กลุ่มสถาปนิกใจบ้านผู้ออกไอเดียฝันว่า การจะเพิ่มพื้นที่สีเขียวดังกล่าวควรจะต้องสร้างแนวเชื่อมโยงจากดอยสุเทพไปถึงแม่น้ำปิง แนวดังกล่าวควรจะอิงตามแนวถนนคูคลองที่มีอยู่ ประมาณว่ากระรอกตัวหนึ่งกระโดดข้ามต้นไม้ไปมาระหว่างดอยสุเทพกับแม่น้ำปิงได้

แต่อย่างไรก็ตามเมื่อมาดูสภาพความเป็นจริง ไม่ง่ายเลย!

เพราะเชียงใหม่เป็นเมืองใหญ่ พื้นที่ว่างสองข้างถนนที่จะสามารถปลูกไม้ใหญ่ไม่มาก แถมที่โล่งว่างที่มีส่วนใหญ่ก็อยู่ในความดูแลของหน่วยราชการ จะไปปลูกต้นไม้ในที่ราชการไม่ง่าย ปลูกเสร็จแล้วใครจะดูแล ราชการต้องตั้งงบประมาณอีก รวมไปถึงหน่วยบางหน่วยอยากกันพื้นที่ไว้ก่อนสร้างอะไรของเขา และหากจะหวังให้ราชการตั้งงบประมาณปลูกต้นไม้เองก็ยากเช่นกัน เพราะอาจจะผิดกฎหมายถูกสตง.ตรวจสอบ ใช้เงินไม่ตรงกับภารกิจ เช่น กรมทางหลวงหากยังไม่สร้างหรือขยายถนนก็ไม่รู้จะปลูกยังไง ปลูกตรงไหน เพราะอาจจะปลูกไปบนแนวที่กันไว้สำหรับโครงการในอนาคต การปลูกต้นไม้ไม่ได้เป็นภารกิจโดยตรงของแต่ละหน่วย

ระบบบ้านเรามันขยับยาก...

ซึ่งถ้าไม่ได้ที่โล่งว่างของราชการไม่มีทางที่เมืองจะเพิ่มพื้นที่สีเขียวได้ถึง 30% ตามเป้าหมาย

ก็เกิดมีประชาชนเข้มแข็ง คือ ปอ–ภราดล พรอำนวย จากกลุ่มมือเย็นเมืองเย็นเข้าไปคุยกับสำนักงานชลประทานขอปลูกต้นไม้ตามแนวคันคลองชลประทานซึ่งเป็นพาดแนวเหนือใต้ เลาะสนามกีฬา 700 ปีลงมาผ่านแยกภูคำ เลาะรั้วม.ช. ผ่านแยกตลาดต้นพะยอม ไปจนถึงไนท์ซาฟารี-พืชสวนโลก แนวดังกล่าวนี่แหละคือที่โล่งเป็นแนวพอจะปลูกต้นไม้ตามยุทธศาสตร์เชื่อมสีเขียวของเมืองได้

ปรากฏเจ้าหน้าที่ปฏิบัติในพื้นที่ท่านก็เห็นด้วย มองเห็นว่ามันจะเกิดประโยชน์อย่างไร คนที่เผชิญกับฝุ่นควันในพื้นที่ย่อมมองเห็นความสำคัญของโครงการอะไรแบบนี้

จากนั้นประชาชนก็ระดมกัน มีคนรุ่นหนุ่มสาวเข้าไปร่วมคิดจะผลักดันกิจกรรมทำนองนี้ระยะยาวกันไปเลย ถึงขั้นจะทำเป็นกองทุนสิ่งแวดล้อมเมือง ในส่วนของโครงการปลูกต้นไม้สู้ฝุ่นที่ริมคลองชลประทาน มีการเชิญผู้รู้ด้านพฤกษศาสตร์มาเป็นที่ปรึกษาว่าควรจะปลูกต้นอะไรดี

เอาแค่มีโจทย์ว่าปลูกต้นอะไรดี ก็ต้องละเอียด คิดเยอะ ...

ผู้เชี่ยวชาญเสนอหลายชนิดพันธุ์ เช่น เสี้ยวขาว, เสี้ยวแดง, คูน (ราชพฤกษ์), อะราง (นนทรีป่า) และกัลปพฤกษ์ (สีขาวชมพู) ต่างก็มีจุดดีจุดด้อย ที่สุดก็ลงเอยที่กัลปพฤกษ์

นี่จึงไม่ใช่แค่การปลูกต้นไม้ของนักพฤกษศาสตร์แล้ว... หากคือการสร้างแลนด์มาร์ค สร้างภูมิทัศน์เมืองขึ้นใหม่ของนักสถาปัตยกรรมเมือง ซึ่งมันจะถูกกล่าวถึงมากขึ้นเรื่อยๆ ในยุค ‘urbanization’ ต้นไม้ในเมืองไม่ใช่แค่ต้นไม้ แต่ต้องสอดคล้องเข้ากันกับสภาพของเมือง 

การปลูกต้นไม้ของเมืองใหญ่ๆ ยุคนี้ต้องผ่านกระบวนออกแบบดีไซน์เพราะต้นไม้แต่ละชนิดมีรูปทรงฟอร์มของมันไม่เหมือนกัน ธรรมชาติการทิ้งใบ การต้องการน้ำ ฯลฯ ก็ต้องเอามาพิจารณาร่วมหากจะปลูกในเมืองแต่เป็นไม้ต้องการความชื้นสูง ทิ้งใบใหญ่ๆ เกลื่อนกลาดก็จัดการยาก ผมเคยเขียนถึงสิงคโปร์ปลูกต้นมะขามเทศที่ถนนสายใหม่ไปสนามบินชางงี เหตุผลที่เลือกต้นไม้ชนิดนี้ก็ใบเล็ก เวลาใบร่วงแม้จะมากแต่เมื่อถูกรถราแล่นไปมา ลมจะหอบไปกองรวมกันริมถนน สะดวกต่อรถดูด/กวาดของเทศบาลมาจัดเก็บไป 

การปลูกต้นไม้ในเมืองต้องมีศาสตร์ของการดีไซน์ สถาปัตยกรรม และ การจัดการมาร่วมพิจารณาด้วย

แต่สำหรับประเทศเราเรื่องเหล่านี้ยังเป็นของใหม่ กระทั่งนักตัดแต่งต้นไม้หรือรุกขกรก็ยังมีน้อยมาก ที่ผ่านๆ มาจึงมักมีภาพข่าวต้นไม้ถูกกุดหัว ต้นไม้ที่ไม่ใช่ต้นไม้ยิ่งตัดยิ่งอุจาดมากมายไปหมด ต้นไม้ในเมืองกลายเป็นอุปสรรคของเสาไฟฟ้าแทนที่จะออกแบบสายไฟให้หลีกต้นไม้ ก็ไม่ทำ

ความตื่นตัวของสังคมเราว่าด้วยต้นไม้ในเมืองกำลังขยับ ดังจะเห็นจากความเห็นในสื่อโซเชียลว่าด้วยการตัดแต่งต้นไม้ในหลายๆ กรณี มาถึงรอบนี้ประชาชนก้าวหน้าขึ้นไปอีก ขนาดที่ออกแบบถนนสายต้นไม้ ออกแบบชนิดของพืชพรรณให้เหมาะสมกับสภาพสิ่งแวดล้อม พร้อมกับคำนึงถึงความสวยงามต่อย่านถิ่น ได้ทั้งความเขียว ความสวย และประโยชน์สู้มลภาวะอากาศ 

เมืองยุคใหม่ที่เขากำลังเห่อสมาร์ทซิตี้ไม่ใช่มีแต่ความทันสมัยเทคโนโลยี ตึกสูง แอพพลิเคชั่นเรียกรถดอกนะครับ เมืองที่สมาร์ทจริงๆ ต้องถึงพร้อมในคุณภาพชีวิตผู้คน และสิ่งแวดล้อมสีเขียวด้วย จึงจะเรียกว่าเมืองยุคใหม่จริงๆ

ขอเอาใจช่วยทั้งรัฐและประชาชน... โครงการถนนสายสีชมพูเส้นนี้ให้เดินหน้าไปถึงเป้าหมายให้ได้ นี่เป็นเรื่องใหม่ของสังคมอาจจะมีอุปสรรคเรื่องวิธีคิดของผู้คนและระบบระเบียบอะไรอยู่บ้าง!

 

+++++++++++++++

คอลัมน์ สมรู้ | ร่วมคิด
กรุงเทพธุรกิจ เซคชั่นจุดประกาย
ฉบับวันพุธที่ 14 ส.ค.62