จิระนันท์ พิตรปรีชา ‘เรียนรู้โลก รู้จักตัวเอง’

จิระนันท์ พิตรปรีชา ‘เรียนรู้โลก รู้จักตัวเอง’

ภารกิจหนึ่งคือ เดินทางเก็บเรื่องมาเขียนเป็นสารคดี หรือวรรณกรรมเดินทาง พวกเราเป็นกลุ่มแรกที่ไปถึงลี่เจียง จิ่วจ้ายโกว ถ่ายรูปด้วยฟิล์มสไลด์ หอบไปเป็นกระเป๋าเลย

“เรื่องเดินทางโซโล่คนเดียว เราทำมาก่อนจะฮิตตั้งเยอะ ตอนเรียนอยู่อเมริกาก็ซื้อตั๋วไปโน่นนี่นั่น ไปโปรตุเกส ไปนิคารากัว ชอบไปในที่ที่แปลกๆ เนปาล ภูฏาน สิกขิม อินเดีย ประเทศอาเซียนก็ไปมาหมดแล้ว ยกเว้นติมอร์” จิระนันท์ พิตรปรีชา นักเขียน ศิลปิน ช่างภาพ พูดถึงการเดินทางของตัวเองให้ฟัง

“เริ่มตั้งแต่เด็กๆ บ้านอยู่ จ.ตรัง พ่อจะขับรถพาไปเที่ยว ไปถึงปีนัง กัวลาลัมเปอร์ แต่ก่อนไปยากนะ มีเขาพับผ้า ต้องขึ้นเขาไป เดี๋ยวนี้ถนนตรงปื้ดเลย ตัดผ่านภูเขา”

4

เหตุผลสำคัญที่เป็นแรงขับให้ออกจากบ้านคือ “ชอบเดินทางเรียนรู้โลก โดยเฉพาะเรื่องธรรมชาติสวยงาม เห็นต้นไม้ใหญ่ที่ไหนต้องวิ่งเข้าไปถ่ายรูป ที่สำคัญคือได้พบผู้คนที่แตกต่าง ได้ศึกษาวิถีชีวิต วัฒนธรรม ความเป็นอยู่ของเขา ทำให้เรารู้จักตัวเองมากขึ้น เอาเฉพาะในอาเซียน ทำให้รู้เลยว่ามีความเป็นเครือญาติ มีรากวัฒนธรรมร่วมกันมันเป็นอย่างไร เช่น วัฒนธรรมข้าว ประเพณี พิธีกรรมเกี่ยวกับการเกษตรก็คล้ายคลึงกันมาก หรือว่าภาษา สำเนียง ไม่ใช่แค่ลาวนะที่พูดกันรู้เรื่อง ไปถึงโน่น เดียนเบียนฟู ไปถึงยูนนาน”

ในมุมมองของนักเขียนท่านนี้ การรู้หลายๆ ภาษาทำให้มีโอกาสมากกว่าคนอื่น “ถ้าเป็นการเดินทางเฉพาะกิจก็ไปประชุมเทศกาลกวีนานาชาติ ส่วนใหญ่ที่เขาเชิญมา เขาอยากได้คนที่เขียนเป็นภาษาของตัวเองแต่ว่าพูดภาษาอังกฤษได้บ้าง จะได้สื่อสารกันรู้เรื่อง อย่างบางทีไปสเปน โปรตุเกส เพื่อนพูดภาษาสเปน ก็มีล่ามที่ฟังภาษาอังกฤษออก น้อยมากที่จะมีล่ามแปลภาษาไทยตรงไปเป็นภาษาอื่น”

2

สำหรับการเดินทางที่ไม่ได้ไปเพราะความชอบส่วนตัวแต่ไปเพื่อสร้างสรรค์งานก็มีเหมือนกัน “ภารกิจหนึ่งคือ เดินทางเก็บเรื่องมาเขียนเป็นสารคดี หรือวรรณกรรมเดินทาง พวกเราเป็นกลุ่มแรกที่ไปถึงลี่เจียง จิ่วจ้ายโกว ถ่ายรูปด้วยฟิล์มสไลด์ หอบไปเป็นกระเป๋าเลย ไปกับนักวิจัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อาจารย์ดร.อุไรวรรณ ตันกิมยง เขาเอารูปน้ำที่จิ่วจ้ายโกวให้ดู เราก็เถียงว่ารูปนี้สีมันเพี้ยนไม่จริงหรอก ก็ไปพิสูจน์กัน ไปถึงก็ถ่ายรูปกลับมาเขียนแนะนำลงหนังสือใช้ชื่อว่า ‘อุทยานธารสวรรค์’ บริษัททัวร์ก็ใช้คำนี้ต่อมา”

สิ่งที่เธอไม่ชอบในการเดินทางคือ ‘เมืองใหญ่’ ยกเว้นว่าจะไปดูพิพิธภัณฑ์ และ เมืองที่เต็มไปด้วยมิจฉาชีพ อย่างโรม บาเซโลน่า  ส่วนที่ชอบล่าสุดคือทริปที่ไปพาราณสี กับทีมช่างภาพ 10 คน

5

"เราเป็นคนกำหนดว่าพักที่ไหน ทำอะไร ไปวิธีไหน เราเลือกพักโรงแรมอยู่เหนือลานเผาศพ ท่าน้ำวัดมณีกรรณิกา ตรงที่ทุกคนต้องไปลอยเรือดูเขาเผาศพ โรงแรมที่เราอยู่มองลงมาเห็นๆ เลย อยู่บนระเบียงนั่นล่ะ เช้าก็ตื่นขึ้นมาดูแม่น้ำคงคา ถ่ายพระอาทิตย์ขึ้น บางทีก็มีควันลอยเข้ามานะ”

1

ส่วนทริปที่ประทับใจกลับกลายเป็นทริปที่ค่อนข้างยากลำบาก "ตอนไปแทนซาเนียกับสิงห์ สิงห์ก็กลัวแม่จะรับไม่ไหว จองโรงแรมดีๆ ไปตลอดทาง ปรากฏว่าคืนที่มีความสุขที่สุดคือ กางเต็นท์นอนกลางทุ่งเซเรงเกติ มีเสียงตัวอะไรมาเห่าหอนจุ๊กกรูอยู่ตลอดเวลา น้ำก็ไม่มี ต้องไปขอที่เต็นท์อื่นมา ต้มมาม่ากิน พอออกมานอกเต็นท์ก็เห็นดาวล้านดวงอยู่บนท้องฟ้า เหมือนมีฝาชีครอบเราอยู่แล้วมีแต่ดาวล้วนๆ “

ส่วนมากคนเดินทางมักปล่อยจิตปล่อยใจล่องลอยท่องเที่ยว แต่จิระนันท์กลับไม่ใช่แบบนั้น

“ชอบศึกษา ไม่ใช่แค่ถ่ายรูปแล้วกลับมา เราเห็นอะไรสะกิดใจ ก็ไปถ่ายๆ ไว้แล้วกลับมาค้นคว้าต่อ เครื่องมือนี้เขาใช้ทำอะไร หรือว่าประวัติของสถานที่แห่งนี้เป็นยังไง ถ้าได้ไปแล้วเราก็ค้นพบสิ่งใหม่ๆ เสมอ”

7

แต่ถ้าถามถึงทริปที่ตรงข้ามกับความสุข คำตอบคือ “รันทดมาก ไปเจอประเทศยากจนสุดๆ หรือว่าดินแดนหลังสงคราม แล้วผู้คนมีชีวิตอยู่ในแบบที่คิดไม่ถึง เช่น เมืองกัลกัตตา ประเทศอินเดีย เมื่อ 15 ปีแล้ว เป็นเมืองที่ผู้คนแออัดเร้นแค้นอัตคัตมาก คนมานอนกันตามถนน ตอนกลางวัน เราเห็นผ้ากระสอบมัดติดกับเสาไฟฟ้าเหมือนรังต่อ เสาไฟฟ้าทุกต้นเหมือนแหนมปิ้ง พอกลางคืนเขาคลี่ออกมา นั่นคือบ้านของเขา มีหลังคา เราก็เดินผ่านไปแบบอนาถจริงๆ เต็มทั้งสองฝั่งถนนเลย แล้วแสงสว่างที่จะจุดไฟหรือปรุงอาหารเล็กๆ น้อยๆ ก็เอาช้อนควักยางมะตอยกลางถนนมาจุด ริมถนนตรงนั้นก็จะเป็นหลุมๆ แบบขนมครก แล้วเขาก็อยู่กันเหมือนเป็นหมู่บ้านธรรมดา ดูแล้วน่าตกใจมาก

อีกอันหนึ่งคือ เอธิโอเปีย เมื่อ 20 ปีก่อน ได้เห็นกับตาเลยว่ารัฐที่ล้มเหลวเป็นยังไง เรื่องการเมืองเรื่องสงครามทำให้เอธิโอเปียอดอยากต้องเดินอพยพข้ามประเทศ รัฐบาลที่ปกครองก็แย่งอำนาจกันไปกันมา คนอยู่กันเหมือนไม่มีประเทศ ลงจากสนามบินไป มีวงเวียนวงใหญ่ขนาดครึ่งสนามฟุตบอล คนก็ไปตั้งเพิง ตั้งแคมป์ นอนกันตรงนั้นเป็นหมู่บ้านอยู่บนวงเวียนกลางถนน ใกล้สนามบิน เรานั่งรถผ่านไป เขาเอาผ้าไปซักในคลองใต้สะพาน น้ำเป็นสีโคลนเลย เขาอยู่กันอย่างเฉยมาก ไม่สนใจแล้วว่าจะมีรัฐบาลไหนมาทำสาธารณูปโภคอะไรต่ออะไร

 เขาไม่ได้อดอยากเพราะแห้งแล้งนะ เราไปหน้าฝน โอ้โห เขียวชะอุ่มเลย แต่มันล้มเหลวเพราะไม่มีการบริหารจัดการ ไม่มีสาธารณูปโภค ในเมืองก็จ๊นจน คือถ้าเป็นชีวิตหมู่บ้านซะเลยเราก็รู้สึกรับได้ แต่นี่คือเมืองหลวง เห็นเลยว่า เรื่องปัจจัย 4 ชีวิตความเป็นอยู่ เป็นสิ่งสำคัญถ้าไม่มีรัฐมาจัดการ”

ปิดท้ายกับเมืองที่น่าไปเยือนสักครั้ง จิระนันท์บอกว่า เป็นประเทศที่ครบเครื่องทั้งธรรมชาติ ศิลปะ วัฒนธรรม โบราณคดี นั่นก็คือ เนปาล

 "เรียกว่า ลีฟวิ่งมิวเซียม คนยังปั้นหม้อดินกันอยู่เลย เอามาตากกันอยู่กลางลานนั่นล่ะ ไปเนปาลหลายครั้ง ไปแต่ละครั้ง ช่างไม่เปลี่ยนแปลงเลย คนเนปาลอัธยาศัยดีด้วย ไปที่ไหนถ้าเรารู้สึกว่าไม่ต้อนรับนะ เราก็ไม่อยากไปอีกเลย”