กว่า 'พุกาม' จะเป็นมรดกโลก

ทั้งๆ ที่อาณาจักรพุกาม มีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะเป็นแหล่งมรดกโลก แล้วทำไมยูเนสโกไม่ขึ้นทะเบียนให้ท้นที ต้องรอเนิ่นนาน

 

ครั้งหนึ่งในชีวิตของหลายคนในโลกใบนี้ ต้องหาโอกาสไปดูพระอาทิตย์ตกดินท่ามกลางทะเลเจดีย์หลายพันองค์ที่พุกาม เขตมัณฑะเลย์ สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า สักครั้ง...

 

พุกาม ตั้งอยู่ในเขตมัณฑะเลย์ ห่างจากตัวเมืองมัณฑะเลย์ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 145 กิโลเมตรปัจจุบันพุกามถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ เมืองเก่า อาณาจักรพุกาม,เมืองใหม่ ซึ่งเป็นแหล่งตั้งบ้านเรือนปัจจุบัน และเขตพาณิชยกรรมและเศรษฐกิจ

 

 เพราะพุกาม คือหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่สำคัญของพม่า เป็นอาณาจักรโบราณอายุเกือบพันปี สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 11-13  ซึ่งในอดีตมีเจดีย์ วัดและศาสนสถานประมาณ 5,000 แห่ง ปัจจุบันมีเจดีย์หลงเหลืออยู่กว่า 2,000 องค์ 

 

วันเวลาที่ผ่านไปเกือบพันปี ถือว่าเจดีย์ในพุกามที่หลงเหลือมาถึงยุคปัจจุบันมีจำนวนเยอะมาก เนื่องจากวิธีการสร้างเจดีย์และสภาพภูมิอากาศในอาณาจักรพุกาม ทำให้โบราณสถานไม่ถูกทำลายทั้งหมด จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

 

 

-1-

เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ยูเนสโก หรือคณะกรรมการองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ประกาศรับรองให้ ‘ทุ่งไหหิน’ แหล่งโบราณสถาน ที่แขวงเชียงขวาง สปป.ลาว และเมืองพุกามในเมียนมา เป็นแหล่งมรดกโลก เนื่องจากมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และเป็นแหล่งโบราณสถานที่ชาวพุทธนับถือ

 

อาณาจักรพุกาม เคยถูกเสนอชื่อขึ้นเป็นมรดกโลกมาตั้งแต่ปี 2538 ช่วงที่รัฐบาลทหารปกครองประเทศ แต่ไม่ได้สนใจเรื่องการบูรณปฏิสังขรณ์โบราณสถานให้ถูกต้องเหมาะสมตามหลักสากล จนกระทั่งปีพ.ศ. 2554 หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง รัฐบาลพม่าได้เสนอชื่อพุกามขึ้นทะเบียนอีกครั้ง และเมื่อเร็วๆ นี้ก็ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกอย่างเป็นทางการ

 

“สมัยรัฐบาลทหารปกครอง ปี 2538 ได้เสนอชื่อพุกามเป็นแหล่งมรดกโลก แต่ตอนนั้นยูเนสโกไม่ให้ เรื่องนี้ผมไม่เห็นด้วยที่ทางยูเนสโกไม่แฟร์ เพราะแยกไม่ออกระหว่างการเมืองกับมรดกโลก ถ้าสมควรให้ก็ควรให้ แต่ตอนนั้นไม่ให้ เพราะเรื่องการเมือง” มิคกี้ ฮาร์ท ผู้เ ชี่ยวชาญประวัติศาสตร์พม่า กล่าวในงานเสวนา จากพุกามมรดกโกลเชื่อมเรา...สู่เส้นทางพุทธศาสนาอาเซียน จัดโดยศิลป์สโมสร ไทยพีบีเอส

 

ในฐานะชาวพม่าที่เข้าใจวิถีชีวิตและประวัติศาสตร์เป็นอย่างดี เขา เล่าว่า ตอนที่รัฐบาลทหารดูแลเจดีย์อาณาจักรพุกามเอง ก็ไม่ได้ทำให้ถูกต้องตามหลักการซ่อมแซมโบราณสถาน

 

“ผมมองว่า เป็นเรื่องอันตราย เพราะวิธีการซ่อมโบราณสถานไม่ถูกต้อง และการทำเป็นธุรกิจท่องเที่ยว มีการสร้างโรงเรียน ร้านอาหารใหญ่ๆ ย่านโบราณสถาน ทำให้เสียมากกว่าได้ แต่ตอนนี้ได้เป็นมรดกโลกแล้ว ผมก็พอใจ แม้จะมีปัญหาเรื่องการบริหารจัดการดูแลของภาครัฐ”

 

 

-2-

“พุกาม ถูกบันทึกไว้ในแบบเรียนของชาวพม่าว่า เปรียบประหนึ่งคบเพลิงแห่งเกียรติยศของชาวพม่า” ธีรภาพ โลหิตกุล นักเขียนสารคดี กล่าว และว่า

 

“เมื่อเก้าร้อยปีที่แล้ว ถือว่าเป็นครั้งแรกที่มีรวมตัวกันของชนชาติ จนกลายเป็นอาณาจักรใหญ่คือพุกาม รวมถึงมีการสถาปนาพุทธเถรวาท มีการก่อสร้างเจดีย์มากมาย บ้างก็ว่า 4,000 องค์ บ้างก็ว่า 5,000 องค์ แต่ที่เหลือปัจจุบันนักโบราณคดีนับได้ 2,000 กว่าองค์ ที่หายไปเนื่องจากแม่น้ำอิรวดีเปลี่ยนทิศทาง ทำให้เจดีย์พังไปเยอะ ”

 

ว่ากันว่า เจมส์ สก็อต นักเขียน นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษที่หลงใหลวัฒนธรรมพม่า เคยบอกไว้ว่า “ที่พุกาม คุณไม่สามารถขยับเท้าไปทางไหนได้ โดยไม่เจอเจดีย์หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์องค์ใดองค์หนึ่ง”

 

ธีรภาพ ขยายความว่า เนื่องจากพุกามเป็นที่สถิตของพระพุทธเจ้าทุกแห่งทุกชุมชน เจดีย์ของพม่าสร้างจากศรัทธาของคนทุกชนชั้น ตั้งแต่กษัตริย์จนถึงประชาชน

 

“พุกามจึงเป็นต้นแบบพุทธศิลป์หลายๆ อย่าง ส่งอิทธิพลมาถึงเมืองไทย อย่างโบราณสถานบางส่วนที่สุโขทัยก็มีการสร้างเลียนแบบ สถาปัตยกรรมในพม่าหลายยุคก็ได้ต้นแบบจากพุกาม ว่ากันว่าเจดีย์ในพุกาม ฐานจะกว้าง เปรียบเสมือนคนที่ยืนอยู่บนพื้นที่มั่นคง แต่ปลายยอดจะแหลม เปรียบเสมือนจิตใจของคนที่แม้จะเวียนว่ายตายเกิด แต่ใจก็มุ่งสู่นิพพานในชีวิตหลังความตาย นึ่คือรากฐานจิตใจที่คนพม่าถูกปลูกฝังมาตั้งแต่อดีต แม้ว่าครั้งหนึ่งอาณาจักรพุกามจะเคยตกอยู่ในอำนาจของรัฐบาลเผด็จการ และเจอปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ แต่รากฐานพุทธศาสนาก็ยังแข็งแรง"

 

เหตุใดเจดีย์จำนวนมากในพุกาม ยังหลงเหลือให้เห็นในปัจจุบัน 

 

เรื่องนี้ ธีรภาพ ขยายความว่า เนื่องจากอาณาจักรพุกาม มีสภาพภูมิอากาศแห้งแล้งกึ่งทะเลทราย ทำให้เจดีย์จำนวนมากยังคงอยู่ได้ ในขณะที่ปราสาทตาพรหมในกัมพูชา สร้างหลังเจดีย์ในพุกามมีอายุน้อยกว่า แต่เพราะสภาพอากาศชื้นมาก ทำให้รากไม้ชอนไชจนปราสาทพัง

 

"ในพุกาม มีภูเขาลูกหนึ่งกั้นไม่ให้ลมมรสุมจากอ่าวเบงกอลพัดเข้ามา และพื้นที่เขตพุกามบางส่วนเป็นเขตเงาฝน ทำให้เจดีย์ยังคงเหลืออยู่กว่าสองพันองค์ และมีพระมหากษัตริย์บางองค์ในพุกามสาบแช่งไว้ว่า มันผู้ใดทำลายเจดีย์ มันผู้นั้นจะไม่ได้ไปเกิดยุคพระศรีอริยเมตไตรย 7 ชั่วโคตร”

 

 

-3-

ด้วยเหตุปัจจัยหลายอย่างทำให้เจดีย์ วัดและศาสนสถานในพุกาม ยังคงหลงเหลืออยู่จำนวนมาก และเป็นมรดกที่มีคุณค่าทางโบราณสถานและประวัติศาสตร์ รวมถึงพุทธศาสนา เรื่องนี้ รศ. ศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการด้านโบราณคดีและมานุษยวิทยา บอกว่า พม่าสืบทอดพุทธศาสนามานาน ในเมืองพุกามพัฒนามาจากเมืองศรีเกษตร (หนึ่งในเมืองโบราณของพุกาม) ซึ่งตอนนั้นพระมหากษัตริย์องค์หนึ่งพัฒนาบ้านเมืองในพุกามให้เจริญรุ่งเรือง มีหลักฐานโบราณคดียืนยันชัดเจนว่า คนที่นั่นนับถือพุทธศาสนาแล้ว มีเจดีย์รูปทรงแปลกๆ ร่วมสมัยกับยุคทวารวดี

 

 “ประเทศไทยก็มีการสืบทอดพุทธศาสนาเช่นเดียวกับลังกาและพุกาม เริ่มมีการทำพระพุทธรูปตั้งแต่ทวารวดี ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นพุทธศาสนาในประเทศไทย ตั้งแต่จังหวัดชุมพรไปถึงจังหวัดประจวบคีรีขันธฺ์ พบหลักฐานแหล่งโบราณคดีสมัยสุวรรณภูมิ และพุทธศาสนายุคแรกๆ ที่เผยแพร่เข้ามา ส่วนใหญ่มากับการค้า ดังนั้นกลุ่มคนที่อุปถัมภ์พุทธศาสนายุคแรกๆ ไม่ใช่พระมหากษัตริย์ แต่เป็นพ่อค้า"

 

เมื่อกล่าวถึงพุทธศาสนาในประเทศไทยหรือประเทศใกล้เคียง อาจารย์ศรีศักร บอกว่า ลัทธิการบูชาพระบรมธาตุ ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของการเข้ามาของพุทธศาสนาในอาเซียน แม้จะมีเรื่องคัมภีร์ต่างๆ เข้ามา แต่ที่สำคัญคือ การนำพระบรมธาตุเข้ามา ตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช จนเกิดการค้าขายพระบรมธาตุ เข้ามาทางเรือไปตามหัวเมืองต่างๆ

 

"เมื่อมีการนำพระบรมธาตุเข้ามา ก็จะมีการสร้างพระสถูปครอบประดิษฐานไว้ในพื้นที่กลางชุมชน ซึ่งถือว่าเป็นศูนย์กลางจักรวาลของคนพุทธ นี่คือลักษณะพุทธศาสนาของเรา ซึ่งต่างจากฮินดูจะสร้างปราสาท  ส่วนความยิ่งใหญ่พุกามสร้างด้วยความศรัทธา ศรัทธาของพุทธศาสนาไม่เหมือนการสร้างนครวัดนครธม ผมมองว่าความยิ่งใหญ่ของพุกามเป็นระบบสมมติราช ไม่ใช่ระบบเทวราชเหมือนการสร้างนครวัดนครธม ทำให้พุกามมีทั้งพระสถูปและเจดีย์อยู่ในเขตพุทธาวาส”

 

มิคกี้ ฮาร์ท ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์พม่า เล่าต่อว่า ประชาชนในสมัยพุกามมีความศรัทธาต่อพุทธศาสนามาก ศรัทธาจนยอมพลีกายเป็นทาสของพุทธศาสนา 

 

"สมัยนั้นคนที่มีเงิน มีอำนาจ ก็จะสร้างพระเจดีย์ขึ้นมา บางองค์ก็มีพระบรมธาตุบรรจุอยู่ อุทิศให้กับพระพุทธเจ้า เมื่อสร้างพระเจดีย์เสร็จ พวกเขายังถวายตัวเองเป็นทาสของพระเจดีย์องค์นั้นตลอดชีวิต ทำไร่ทำนาได้เงินมาเท่าไหร่ ก็นำมาบำรุงพระเจดีย์ที่ตัวเองสร้าง แต่ในปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาว่าชุมชนกับพระเจดีย์ที่พุกามอยู่ร่วมกันอย่างไร เพราะถ้าจะศึกษาต้องขุดโบราณสถานที่อยู่ใต้ดินออกมา  รัฐบาลยังไม่อนุญาติ นิ้วเดียวก็ขุดไม่ได้ เพราะเป็นการทำลายศาสนสถาน”

 

ว่ากันว่า พุกามเปรียบเสมือนอรุณรุ่งของพม่า ซึ่งคำนี้ ธีรภาพ เปรียบเปรยให้เห็นว่า ในยามทุกข์ ยามสงคราม คนพุกามยังมีรอยยิ้มได้บ้าง เพราะพวกเขายังมีพุทธศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ 

 

"จำได้ว่า ตอนที่ผมไปชเวดากองช่วงที่รัฐบาลเผด็จการปกครอง ก่อนจะเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยในปัจจุบัน สิ่งที่เราเห็นแถวลานชเวดากอง คือ ภาพเด็กๆ วิ่งเล่น มีคนไปนั่งสมาธิ มีคุณแม่คลอดลูกใหม่มารับบุญจากชเวดากอง เพราะศาสนสถานเป็นที่พึ่งทางจิตใจ

ผมไปเจอครอบครัวหนึ่ง นั่งล้อมวงคุยกัน มีขนมอยู่ชามเดียว เพราะเป็นวันครบรอบวันเกิดคุณตา ซึ่งเป็นวันเกิดที่เรียบง่ายมากไม่มีเค้ก ไม่มีเทียน แต่ทุกคนมีความสุขมาก นี่คือนิยามความสุขของคนพม่าที่ได้มาวัดพร้อมๆ กัน และรากฐานเหล่านี้มีมาตั้งแต่สมัยพุกาม คือ เมื่อ 900 ปีที่แล้ว และสืบเนื่องต่อมา โดยไม่มีศาสนาอื่นมาขั้นเลย พุกามจึงเป็นรากฐานทางวัฒนธรรมทางพุทธศาสนาของพม่าที่เข้มแข็งมาก”

........................

ตีพิมพ์เซคชั่นจุดประกาย หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 9 สิงหาคม 2562