ในโลกไร้แสง เสียงของหนังเรื่องโปรดคือของขวัญล้ำค่า

ในโลกไร้แสง เสียงของหนังเรื่องโปรดคือของขวัญล้ำค่า

แม้จะมองไม่เห็น แต่สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารก็เป็นพื้นฐานของความเท่าเทียมในสังคม

“ทำไมโทรทัศน์ถึงจะต้องเสียเวลา เสียงบประมาณ เพื่อทำเสียงบรรยายภาพสำหรับคนตาบอด ซึ่งมีประชากรเพียงล้านกว่าคน ยังไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมดในประเทศด้วยซ้ำ แล้วทำไมต้องเสี่ยงลงทุนทั้งๆ ที่รู้อยู่แล้วว่ามันไม่คุ้มค่าเอาเสียเลย” คำถามที่หญิงผู้มีสายตาเลือนรางคนหนึ่งได้ยินบ่อยครั้ง เมื่อไปเป็นวิทยากรอบรมให้กับสถานีโทรทัศน์ในการทำสื่อโดยเอื้อประโยชน์แก่คนพิการ

“สำหรับเรามองว่า ถ้าพูดถึงเรื่องของเงินหรือทุนนิยม แน่นอนว่ามันไม่คุ้มค่า แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ คุณจะรู้ได้อย่างไรว่าวันหนึ่งคุณจะไม่มาเป็นคนที่ใช้สื่อนั้นเสียเอง เพราะการใช้ชีวิตโดยประมาทของคนๆ หนึ่ง เปลี่ยนชีวิตจากคนปกติเป็นคนพิการมานักต่อนักแล้ว” อมีนา ทรงศิริ หรือ 'นา' ไขข้อสงสัยในมุมของผู้พิการทางการมองเห็นที่ต้องการจะเข้าถึงสื่ออย่างคนทั่วไป

ในต่างประเทศมีเทคโนโลยีที่เอื้อกับคนพิการมากกว่าประเทศไทยเป็นไหนๆ อย่างสิงค์โปร์ที่ผุดเทคโนโลยีเครื่องครัวตอบโจทย์คนตาบอดให้สามารถใช้มีดในการทำอาหารได้อย่างปลอดภัย ญี่ปุ่นก็เป็นประเทศหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับคนพิการมาก เขาปรับปรุงอาคารและระบบขนส่งสาธารณะเพื่อการใช้งานที่แตกต่างทุกรูปแบบ ประเทศพัฒนาแล้วอย่างอังกฤษก็สนับสนุนการศึกษาแก่คนพิการอย่างต่อเนื่องและจริงจัง เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับพวกเขา และออสเตรเลียก็มุ่งพัฒนาศักยภาพคนพิการ สู่ตลาดแรงงานอีกด้วย

นอกจากโอกาสในการประกอบอาชีพแล้ว การเข้าถึงสื่อต่างๆ ในปัจจุบันก็สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือกสทช. กำหนดให้กิจการโทรทัศน์ดิจิทัลทุกช่องต้องมีรายการส่งเสริมการเข้าถึงอย่างเสมอภาคในสัดส่วน 60 นาที ต่อวัน ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากสื่อได้อย่างเท่าเทียม

 

S__20815892

 

 

มองภาพด้วยเสียง

Audio Description หรือเสียงบรรยายภาพสำหรับผู้พิการทางการมองเห็น มีในต่างประเทศมาตั้งแต่ปี 1958 และใช้ในงานภาพยนตร์อย่างแพร่หลาย ซึ่งเสียงบรรยายภาพนี้ใช้ในสื่อเคลื่อนไหวอย่างภาพยนตร์ โทรทัศน์ หรือแม้แต่ละครเวที คอนเสิร์ต และการแข่งขันกีฬา รวมทั้งสื่อภาพนิ่ง อย่างในมิวเซียมและแกลลอรี่ต่างๆ เพื่อให้เขาสามารถที่จะเข้าถึงหรือใช้ประโยชน์ได้เอง ผศ.อารดา ครุจิต รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน หนึ่งในที่ปรึกษาโครงการในการจัดทำเสียงบรรยายสำหรับผู้พิการทางการมองเห็นกับภาพยนตร์วิทยานิพนธ์ของนักศึกษา ย้ำว่าการเข้าถึงข้อมูลนี่เองที่เป็นหัวใจสำคัญในการทำงานของเสียงบรรยายภาพ

เมื่อพัฒนามาเรื่อยๆ สื่อนี้กลับไม่เพียงตอบโจทย์ผู้พิการทางการมองเห็นอย่างเดียว แต่ยังมีผู้ที่ได้รับประโยชน์จากสื่อตัวนี้หลายต่อหลายคนด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุหรือผู้ที่เรียนด้านภาษา

ซึ่งบริการเพื่อการเข้าถึงทางโทรทัศน์ โดยพื้นฐานสากลจะมีอยู่ 3 ตัวด้วยกัน ที่เราคุ้นกันอยู่ก็จะเป็นภาษามือ (Sign Language) หรือชื่อย่อที่เรียกกันว่า SL , Closed Caption (CC) หรือคำบรรยายแทนเสียงที่เป็นตัวอักษรวิ่ง และสุดท้าย Audio Description หรือ AD เสียงบรรยายภาพ โดยมองผู้ได้รับประโยชน์หรือผู้ที่ใช้ประโยชน์จากโทรทัศน์ไว้ 2 กลุ่ม คือ ผู้พิการทางการได้ยิน และผู้พิการทางการมองเห็น

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถือเป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกที่เริ่มทำงานร่วมกับ กสทช. สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยและสถาบันวิชาการคนตาบอดแห่งชาติ ซึ่งทำการทดลอง วิจัยเพื่อศึกษา และจัดอบรมให้กับสถานีโทรทัศน์ต่างๆ ตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา รวมทั้งขยายองค์ความรู้สู่วิชาในหลักสูตรวิชาวิทยุและโทรทัศน์ วารสารศาสตร์ และงานด้านภาพยนตร์ ครอบคลุมทั้งงานสื่อสารมวลชนทั้งหมด สู่ผลงานวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาอย่างงาน ‘Core หนัง X’ ครั้งที่ 10 ที่เผยแพร่ผลงานภาพยนตร์และนิทรรศการภาพถ่าย พร้อมจัดทำเสียงบรรยายภาพ เปิดโอกาสผู้พิการทางการมองเห็นร่วมรับชมภาพยนตร์อย่างเท่าเทียม

ผศ.อารดา อธิบายว่า ในหลักการผลิตเสียงบรรยายภาพนั้น ไม่มีอะไรซับซ้อน ปกติหนังจะมีช่องว่างของเสียง ผู้กำกับอาจใช้ภาพในการดำเนินเรื่องแทน มีการแพลนกล้องไปที่สิ่งๆ หนึ่ง เพื่อเป็นการบอกสัญญะ ซึ่งสำหรับคนตาบอดเขาไม่สามารถรับรู้ได้ การฟังเสียงบทสนทนาปกติอย่างเดียวไม่ทำให้เข้าใจเรื่องราวทั้งหมด แต่เสียงบรรยายภาพจะช่วยเติมภาพในจินตนาการของเขาให้สมบูรณ์ขึ้นได้ ความท้าทายในการทำงานจึงเป็นข้อจำกัดเรื่องเวลาในการใส่เสียงบรรยายภาพ ในฉากหนึ่งฉากเราไม่สามารถบรรยายภาพที่ปรากฏทั้งหมดได้ เพราะฉะนั้นต้องเลือกส่วนที่เป็นใจความสำคัญจริงๆ ซึ่งเมื่อใส่เสียงบรรยายไปแล้วจะทำให้ดำเนินเรื่องได้อย่างต่อเนื่อง

“การทำ AD ในหนังเรื่องหนึ่งใช้เวลาพอสมควร แต่ทุกคนพร้อมจะทำ การเขียนบทจะเป็นส่วนที่กินเวลามากที่สุดประมาณ 2-3 วันได้ โดยเริ่มจากการดูหนังไฟนอลที่ตัดเสร็จแล้ว ว่าจะแทรกตรงไหนได้บ้าง เรียกว่าดูเป็นวินาทีต่อวินาที ซึ่งในต่างประเทศมีเทคโนโลยีช่วยย่นเวลา เราหวังว่าอนาคตจะไปถึงขั้นนั้น ส่วนกระบวนการลงเสียงใช้เวลาไม่มาก รวมถึงการตัดต่อผสมเสียงก็เช่นกัน”

อนาคตหวังว่า ในด้านการศึกษาจะมีลักษณะของการอบรมผู้สอน ผู้เรียนในวงกว้างกว่าเดิม เพื่อต่อยอดสู่นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อการเข้าถึงอย่างเท่าเทียม ในสื่อหวังว่าจะมีบริการเช่นนี้มากขึ้น และพัฒนานวัตกรรมเพื่อผู้พิการอย่างทั่วถึง แม้ว่ากิจการโทรทัศน์บ้านเราตอนนี้กำลังเผชิญหน้ากับวิกฤต มีปัญหาเรื่องรายได้ แต่ไม่ว่าจะด้วยกลไกใดก็ตาม จำเป็นจะต้องมีการผลักดันบริการเหล่านี้

 

S__20521115

S__20078685

 

 

AD คือตาวิเศษ

สำหรับอมีนาแล้ว หากไม่มีเสียงบรรยายภาพ คนตาบอดเขาจะไม่สามารถจินตนาการออกเลยว่า คนตาปกติกำลังดูอะไรอยู่ ดังนั้น AD ทำให้เธอและคนที่มีปัญหาในการมองเห็นเข้าถึงสื่อต่างๆ ได้สะดวกขึ้น ทั้งการรับชมภาพยนตร์ สารคดี รายการทีวี หรือละครหลังข่าว ซึ่งในต่างประเทศเขาไม่ได้ใช้แค่ในภาพยนตร์หรือละครโทรทัศน์ แต่ในพิพิธภัณฑ์และตามสถานที่ต่างๆ มี AD ถูกใช้อย่างหลากหลาย พูดง่ายๆ ว่าเขาใช้เสียงแทนภาพได้หมดเลย ซึ่งมันทำให้เราเข้าถึงสื่อต่างๆ ที่เป็นภาพสำหรับคนตาบอดได้อย่างครอบคลุม

โดยใช้คู่กับแอพพลิเคชั่นฝีมือคนไทยอย่าง 'พรรณนา' (Pannana) ในการลงเสียงบรรยายภาพ ซึ่งแอพตัวนี้จะมีเสียงบรรยายของรายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์ และละคร ที่ได้มีการจัดทำเสียงบรรยายภาพขึ้น โดยสามารถเข้าไปโหลดเสียงรายการโปรด ภาพยนตร์ที่อยากดูไว้ แล้วเปิดใช้งานเสียงคู่กับเปิดรายการนั้นๆ พรรณนาจะทำหน้าซิงค์เสียงเข้ากับสิ่งที่เรากำลังดูอยู่ จากนั้นก็พรรณนาก็จัดแจงบรรยายเสียงตามภาพให้เราสามารถดูรายการได้อย่างมีอรรถรสมากขึ้น เสมือนห้องสมุดสำหรับเก็บเสียงบรรยายภาพ และเชื่อมกับเสียงจากโทรทัศน์ได้ง่าย แต่ทั้งนี้เธอบอกว่าก็ต้องอาศัยคนเขียนบทที่จะจัดทำบทบรรยายและทีมลงเสียงเช่นกัน เพราะนี่ไม่ใช่โปรแกรมเสียงอัตโนมัติ

นอกจากนี้อมีนายังมีโอกาสได้เป็นผู้ช่วยวิทยากรในการอบรมสื่อเพื่อคนพิการ ร่วมกับทีมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เธอบอกว่าไม่ว่าเราจะทำอะไรให้ใคร สิ่งที่สำคัญที่ขาดไม่ได้เลยคือ เราจะต้องรู้ว่าเขาขาดอะไร แล้วต้องการเติมเต็มในส่วนไหน แน่นอนว่าการศึกษาหาข้อมูลอย่างรอบด้าน การเรียนรู้ความต้องการของผู้ใช้จริง ย่อมได้ผลลัพธ์ที่ตอบโจทย์การใช้งานได้มากกว่า

“เรามีการทำความรู้จัก ทำความเข้าใจกันถึงระดับการมองเห็นของคนตาบอด คุยถึงความต้องการในการรับสื่อ ยึดการสร้างบทบรรยายที่ครอบคลุมถึงคนตาบอดสนิทเป็นสำคัญ ให้เขาสามารถดูได้อย่างเข้าใจ เพิ่มจินตนาการให้กับเขา และทำให้การเสพสื่อของเขามีอรรถรสมากที่สุด” อมีนาเล่าถึงความร่วมมือของคนพิการกับภาคส่วนต่างๆ 

ทว่าปัญหาที่พบบ่อยครั้งก็คือเรื่องข้อจำกัดของเวลา ความมากไปหรือน้อยไปของตัวบทบรรยาย เพราะในรายการๆ หนึ่งมีภาพที่คนมองเห็นเป็นสิบๆ ภาพ การเลือกว่าจะเล่าภาพไหนให้คนตาบอดจินตนาการได้บ้าง สมมติว่าเป็นฉากที่ตัวละครยืนอยู่ริมถนน ลองจินตนาการดูง่ายๆ ว่าริมถนนอาจจะมีอะไรมากมายเป็นภาพที่ตาเรามองเห็น ทั้งร้านค้า รถวิ่งไปมา ปฏิกิริยาของตัวละคร บรรยากาศของการจราจรหรือท้องฟ้าในวันนั้น ซึ่งจะเป็นหัวใจหลักที่ช่วยร้อยเรื่องเข้ากันอย่างลื่นไหล เมื่อประกอบกับฉากอื่นๆ แล้ว ทำให้เราสามารถดูภาพยนตร์ทั้งเรื่องได้อย่างเข้าใจตั้งแต่ต้นจนจบ

 

S__20521120

 

 

ความในใจของคนรักหนัง

คุณเคยมีความรู้สึกว่าอยากจะดูหนังที่เขาว่ากันว่าดีนักหนาสักครั้งในชีวิตหรือไม่ และถ้าข้อจำกัดของคุณไม่ใช่เรื่องเงิน แต่เป็นเรื่องปัญหาด้านการมองเห็น คุณจะทำอย่างไร นี่คือสิ่งที่คนชอบดูหนังอย่างอมีนารู้สึกทุกครั้งเมื่ออยากดูหนังสักเรื่อง

“หนังญี่ปุ่นที่เขาว่าดี เราก็อยากดูให้รู้ว่ามันดีอย่างไร แต่เราไม่สามารถดูได้ เพราะไม่มีพากษ์ไทย และซับไตเติ้ลเราก็มองไม่เห็น ส่วนเรื่องภาษานั้นทำให้เราเข้าใจลำบาก ตรงนี้มันเป็นอุปสรรคสำหรับเรามาก” เธอเล่าถึงประสบการณ์ดูหนังของตัวเอง

“เราชอบดูหนังอยู่แล้ว แต่ปกติเราจะไม่ค่อยได้ดูหนังแนวจิตๆ แนวสารคดี ที่ดูมีอิสระทางความคิดอย่างนี้ เพราะด้วยความที่เป็นหนังนักศึกษาที่ไม่ได้ทำเพื่อหารายได้ ทำให้สามารถใส่อะไรได้เต็มที่ เรารู้สึกชอบหนังฟิลนี้เหมือนกัน แต่ไม่มีโอกาสได้ดู เนื่องจากหนังในโรงที่มีเสียงบรรยายภาพส่วนใหญ่จะเป็นหนังที่ค่อยข้างแมส”

นอกจากนี้อมีนายังเล่าให้ฟังอีกว่า ในโรงภาพยนตร์ใหญ่ๆ จะมีตั๋วหนังสำหรับคนพิการ มีเฮดเซดสำหรับเธอโดยเฉพาะ ประกอบไปด้วยหูฟังและเครื่องปรับจูนเสียง เมื่อหนังฉายเราก็แค่กดปุ่มปรับเสียงที่เครื่องนั้น บทเสียงบรรยายภาพจะอยู่ในนั้น เราควบคุมการดูหนังนี้ได้ด้วยตัวเอง สามารถปรับเร็วช้าได้ตามความต้องการ ส่วนคนหูหนวกเขาก็จะมีซับไตเติ้ลขึ้นให้ และคนที่เป็นออทิสติกที่เขาตื่นเต้นกับแสง สี เสียงได้ง่าย ทางโรงภาพยนตร์จะปรับให้ทุกอย่างพอดี เพื่อการรับชมอย่างเสมอภาค แต่น่าเสียดายว่าไม่ใช่ภาพยนตร์ทุกเรื่องจะมีการทำเสียงบรรยายภาพเช่นนี้

ปลายทางสุดท้ายที่ผศ.อารดาบอกจึงไม่ใช่แค่ว่าหนังเรื่องไหนดี หนังเรื่องไหนสนุก แต่เป็นการสอดแทรกวิธีคิด วิธีการทำงานที่เอื้อต่อความแตกต่างทุกรูปแบบ เข้าใจเรื่องความเท่าเทียม แน่นอนว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ต่างประเทศให้การยอมรับว่า ทุกคนมีสิทธิที่จะรับข้อมูลและการตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง

ความด้อยโอกาสเป็นความแตกต่างที่ถูกดันให้ห่างจากวงโคจร คนพิการมักถูกผลักออกให้เป็นคนอีกกลุ่มในสังคม รับรู้ว่ามีอยู่ แต่ไม่ได้ใส่ใจมากพอ เสมือนวัตถุในพิพิธภัณฑ์ มีคนแวะเวียนเข้าไปชมบ้าง หรือคนที่สนใจเป็นพิเศษ เขาก็จะเข้าไปศึกษา ทำความเข้าใจเพิ่มเติม

 

S__20521119

 

เพราะไม่ว่าคนปกติหรือพิการ ทุกคนมีสิทธิที่จะเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างเท่าเทียม ใช้ชีวิตในสังคมได้ประหนึ่งคนปกติ โดยไม่ผลักใครออกและทิ้งใครไว้ข้างหลัง