สภาวะจิตใจ ใครออกแบบ?

สภาวะจิตใจ ใครออกแบบ?

สำรวจอัตราความเศร้า แล้วจับมือกันหาทางออก เมื่อถึงคราวทนผิดบาดแผลทางใจไม่ไหว

...ความจริงของคนซึมเศร้าถูกถ่ายทอดผ่านสารคดี Love in Depression ในโครงการ RAQUE Forward ช่องทางช่วยเหลือคนซึมเศร้าอย่างเพื่อนคนหนึ่งที่เข้าใจ

...มูลนิธิโรงพยาบาลศรีธัญญา โรงพยาบาลจิตเวชที่ไม่มีใครอยากป่วย แหล่งบำบัดจิตที่ผิดปกติให้กลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้อีกครั้ง

...หรือจะเป็นกลุ่มวิสาหกิจเพื่อสังคมกว่า 10 แห่งในประเทศไทยที่รับเมล็ดพันธุ์บำบัดจากโรงพยาบาลจิตเวช เพื่อฟื้นฟูสภาพจิตใจและเตรียมพร้อมก่อนเผชิญหน้ากับโลกแห่งความเป็นจริงนอกรั้วโรงพยาบาลอย่างเข้มแข็ง

นี่คือแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ของคนซึมเศร้า ทางออกที่ออกแบบเพื่อชีวิตใหม่ของพวกเขา ความร่วมมือของคนกลุ่มหนึ่งที่เห็นความสำคัญของประชากรกลุ่มใหญ่ที่ใช้ชีวิตบนความทุกข์ที่แสนเจ็บปวด    

 

เสพติดความเจ็บปวด

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าทั่วโลกกว่า 300 ล้านคน เทียบเท่าประชากร 4 เปอร์เซ็นต์ของโลก ไม่เพียงเท่านั้นตัวเลขการฆ่าตัวตายของประเทศไทยก็สูงลิ่วเป็นอันดับ 3 ของโลกเช่นกัน โดยข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ในปี 2562 อัตราการฆ่าตัวตายของคนไทยอยู่ที่ 6 คนต่อชั่วโมง โดยกลุ่มเด็กและวัยรุ่น มีสถิติการฆ่าตัวตายและทำสำเร็จถึง 300 คนต่อปี

นอกจากนี้ยังพบว่า ในผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า 100 คน จะเป็นวัยรุ่น 11 คน และในวัยรุ่น 100 คน จะมีภาวะซึมเศร้า 3 คน ความน่ากังวลคือ ภาวะซึมเศร้านี้ มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายมากกว่าคนทั่วไปถึง 20 เท่า

การโตมาท่ามกลางความคาดหวังที่ต้องเก่ง ต้องสวย และสมบูรณ์แบบทุกอย่าง ของเอิน กัลยกร นาคสมภพ นักร้องผู้พลิกชีวิตจากโรคซึมเศร้า ไม่ว่าเธอทำดีแค่ไหนก็ยังไม่พอ ราวกับว่าความสมบูรณ์แบบที่เธอแบกรับจากครอบครัวไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุด แล้วความรู้สึกด้านมืดก็ค่อยๆ กัดกร่อนจิตใจเธออย่างช้าๆ รอจนถึงวันที่สภาพจิตใจย่ำแย่ที่สุดในชีวิต และระเบิดออกมาอย่างน่ากลัว

ความน่ากลัวที่สุดของโรคซึมเศร้าก็คือการทำร้ายตัวเองทุกวิถีทาง บางครั้งความเจ็บปวดทางกายมันอาจเทียบไม่ได้กับความบอบช้ำของหัวใจ โรคซึมเศร้าจึงมีความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายสูง เพราะความตายที่เขาคิดถึงก็คือการหยุดความเจ็บปวด ทั้งๆ ที่ในบางครั้งเขาอาจจะไม่ได้อยากตายจริงๆ ด้วยซ้ำ เพียงแต่ว่าเขาทนพิษบาดแผลทางใจตรงนั้นไม่ไหวแล้ว

“ปัญหาครอบครัวที่ถาโถมเข้ามาในชีวิต ถือเป็นชนวนชั้นดีที่พาเราเข้าสู่วังวนการทำร้ายตัวเองด้วยความรู้สึกไร้คุณค่า อยากจบปัญหาด้วยการหายไปจากโลกนี้ เพราะเราทนรับความเจ็บปวดเหล่านี้ไม่ไหวแล้ว ทางออกจึงเท่ากับว่าไม่อยู่ดีกว่า ถามว่าผ่านมาได้อย่างไร คำตอบคือทนเอา” เอิน เล่าเรื่องของคนซึมเศร้าอย่างเข้าใจ

 

67223199_2665618123450692_8648740300669321216_n

 

ยอมรับว่าเราซึมเศร้า 

การทำใจยอมรับว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้า ยากกว่าการตัดสินใจฆ่าตัวตายเสียอีก ด้วยภาพที่สังคมสะท้อนถึงผู้ป่วยโรคนี้ที่ไม่ดีนัก สังคมตีตราว่าเป็นโรคเรียกร้องความสนใจ โรคบ้าที่รักษาไม่หาย หรือถ้าหายหลายคนก็ตั้งแง่รังเกียจ คนเป็นโรคนี้เท่ากับคนพิการทางสมองถือว่าเป็นคนไม่ปกติ

เวลาล่วงเลยไปกว่า 10 ปี ที่เอินยังไม่ยอมรับว่าตัวเองป่วย หลายครั้งเธอก็หันมามองตัวเอง และคิดว่าตัวเองก็ปกติดี ยังสามารถทำงานได้ ยังร่าเริงเวลาทำงาน แม้จะรู้สึกว่าเริ่มมีอารมณ์เศร้าแปลกๆ เกิดขึ้นในใจ แม้จะเคยทำบททดสอบสุขภาพจิต แล้วปรากฏว่าเป็นตามเกณฑ์คนมีภาวะซึมเศร้า แต่ก็ยังไม่ปักใจเชื่อ

“กระทั่งช่วงหนึ่งที่เราเปิดบริษัทเอง แล้วเราก็รู้สึกว่าเริ่มจะทำงานไม่ได้ เราร้องไห้แบบควบคุมตัวเองไม่ได้ นอนไม่หลับ กินมากกว่าปกติ ไม่อยากทำอะไรเลย พอถึงจุดหนึ่งเราคิดว่าจะทนอยู่ในสภาพแบบนี้ต่อไปไม่ได้แล้ว เรามีที่ยึดเหนี่ยวเดียวคือสามี เราทนเห็นเขาเดือดร้อนเพราะเราไม่ได้ ใครจะหาว่าบ้าก็บ้า เรายอมรับ”

คำถามที่เธอฉุกคิดได้ตอนนั้นคือ ทำไมต้องรอให้ใครก็ไม่รู้มองเราว่าบ้า เราช่างประไรกับเรื่องนี้ได้ไหม ซึ่งเป็นประเด็นที่เปราะบางมากในสังคม คนยังมองโรคซึมเศร้าว่าเป็นโรคที่แปลกประหลาด เป็นโรคที่เข้าสังคมไม่ได้ และด้วยภาพจากละครที่มักสร้างให้คนบ้าคือคนที่นั่งหัวเราะโดยไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย นางร้ายเสียสติเพราะผิดหวังจากพระเอกจนต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล ภาพเหล่านี้ฝังลึกอยู่ในใจของพวกเขามันทำให้คนที่เป็นผู้ป่วยยอมรับตัวเองไม่ได้

เมื่อรักษาได้หนึ่งปีอาการค่อยๆ ดีขึ้น ความอยากฆ่าตัวตายลดลงเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่มีตัวกระตุ้นก็ยังตกอยู่ในสภาวะเดิมได้อีก การรักษาที่เธอได้รับคือการทำจิตบำบัดควบคู่กับการทานยา ทุกวันนี้เธอพูดได้เต็มปากว่า ชีวิตที่ผ่านมาไม่เคยสงบสุขเท่านี้มาก่อน

“ทางออกที่ดีที่สุดคือการไปพบจิตแพทย์ แต่คำว่าจิตแพทย์ในบ้านเรามันเท่ากับว่าเราบ้า ซึ่งเราไม่ได้บ้า เพียงแต่ว่าเป็นอะไรไม่รู้ที่อธิบายไม่ได้ ซึ่งการที่จะให้คนที่กำลังตกอยู่ในภาวะเช่นนั้น ยอมรับว่าเป็นโรคซึมเศร้าแล้วต้องไปหาจิตแพทย์จึงเป็นเรื่องที่ยากมาก แต่ใช่ว่าจะทำไม่ได้”

 

เข้าใจและให้โอกาส

เอิน กัลยกร ในฐานะผู้ที่มีประสบการณ์ตรง เธอจึงเลือกใช้ความสามารถที่มีช่วยเหลือคนซึมเศร้า สื่อสารให้สังคมเข้าใจ เปิดใจยอมรับ และให้โอกาส เพื่อชีวิตใหม่ ผ่านโครงการที่ชื่อว่า 'RAQUE Forward' วางตัวเป็นนักสื่อสาร ถ่ายทอดเรื่องราวผ่านบทความ เพลง และสารคดี รวมถึงกิจกรรมซึมเศร้าทอล์ก พูดในมุมมองของผู้ป่วย และคนที่ยืนข้างๆ ผู้ป่วย เพื่อให้สังคมเห็นชัดๆ ว่าโรคซึมเศร้าเป็นอย่างไร และอยู่ร่วมกันได้

ปัจจุบันเธอกำลังพัฒนาโครงการอย่างต่อเนื่อง สู่ธุรกิจแบรนด์เสื้อผ้า เพื่อเป็นทุนในการบริหารจัดการกิจกรรมโรคซึมเศร้า ปรากฎว่า เธอเจอเพชรเม็ดงามที่ซ่อนอยู่ในความซึมเศร้า เจอช่างตัดเย็บมือดี เจอดีไซเนอร์สุดครีเอท เจอนักออกแบบลายผ้าสุดอาร์ท พวกเขาเหล่านี้สูญเสียความมั่นใจในการทำงานที่รัก แต่เอินกลับมอบโอกาส เรียกความมั่นใจกลับมาให้เขาอีกครั้ง

“ก็เริ่มให้งานออกแบบเขา ตอนแรกเขาบอกว่าไม่รู้ว่าจะทำได้ไหมไม่ได้ทำมานานแล้ว คำพูดเดียวที่เราบอก คือ ไม่เป็นไรค่อยๆ ทำ แค่ไหนแค่นั้น ปรากฏว่าพอทำชิ้นแรกออกมาคนชอบ หลังจากนั้นเขามั่นใจแล้วกลับไปสมัครงานดีไซน์เนอร์” เธอเล่าถึงโอกาสที่เพื่อนมนุษย์ด้วยกันจะให้กันได้

นิติพงษ์ ห่อนาค หรือดี้ นักแต่งเพลง ผู้ร่วมเปิดโลกโรงพยาบาลศรีธัญญา เป็นอีกหนึ่งคนที่ทนเห็นความหดหู่ของปัญหาสุขภาพจิตไม่ไหว ลุกขึ้นมายืดอกประกาศตัวอย่างมั่นใจว่า 'I AM FROM ศรีธัญญา' แม้จะไม่ได้เป็นผู้ป่วยแต่เขาเห็นว่าศรีธัญญาหรือโรงพยาบาลจิตเวชอีกกว่า 70 แห่งทั่วประเทศ ควรได้รับการสนับสนุน และถึงเวลาที่จะล้างภาพเดิมๆ ของโรงพยาบาลหลังคาแดงในอดีตเสียที

 

66802816_2665618143450690_9169932816807362560_n

 

“เรามีน้องที่สนิทกันทำงานอยู่ที่นั้น ก็มานั่งมาปรึกษากันว่าจะทำอย่างไรดีที่จะมีเงินไปจุนเจือมูลนิธิ เพราะทางโรงพยาบาลมีเงินที่ค่อนข้างน้อยมาก รายได้เสริมมาจากการขายเสื้อยืดตามมีตามเกิด เราฟังแล้วก็เศร้าเลย แต่ไม่ถึงขั้นซึม” เขาพูดติดตลก

ถึงเวลาที่ต้องสร้างภาพใหม่ ปรับมุมมองใหม่ให้กับสังคมว่า โรงพยาบาลศรีธัญญาไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด และไม่ได้อันตรายอย่างที่เข้าใจผิดๆ กัน โรงพยาบาลจิตเวชนั้นต่างจากโรงพยาบาลทั่วไปหลายอย่าง เป็นโรงพยาบาลที่รักษาโรคที่ไม่ติดต่อ โรคที่มองไม่เห็น โรคที่ไม่มีเลือด เว้นแต่ว่าจะมีกรณีที่ผู้ป่วยทำร้ายเจ้าหน้าที่นั้น ศรีธัญญาเป็นโรงพยาบาลหนึ่งที่ถุงยาไม่มีชื่อโรงพยาบาล จะเห็นว่านอกจากภาพที่ฉายซ้ำๆ ในละคร โรงพยาบาลจิตเวชแทบจะไม่เป็นที่รู้จัก และเป็นสถานที่ที่ไม่มีใครอยากเข้าไปไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม

“เราก็ปรึกษากันว่า หนึ่งต้องเปิดตัวเสื้อยืดแบบใหม่ ในชื่อ I AM FROM ศรีธัญญา เพื่อประกาศตัวกันก่อน มันต้องปลดล็อคความเชื่อเดิม เพื่อเปิดใจยอมรับ ก็เลยมานั่งคิดว่าจะทำแคมเปญอะไรที่ดึงคนเข้ามารู้จักโรงพยาบาลศรีธัญญา เข้ามาแล้วช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน สิงหาคมนี้เรามีวิ่งมาราธอนที่ศรีธัญญา คนให้ความสนใจสมัครกันเข้ามาเยอะมาก ถือเป็นสัญญาณการเริ่มต้นที่ดี” นิติพงษ์ กล่าว

ไม่น่าเชื่อว่าพอเปิดตัว I AM FROM ศรีธัญญาแล้วจะมีแนวร่วมมากกว่าที่คิด ขายได้เป็นหลายหมื่นตัว เสื้อตัวนี้จะทำให้คนอยากค้นหาอะไรในศรีธัญญามากขึ้น เราพยายามทำให้ทุกคนเห็นว่าโรงพยาบาลศรีธัญญาเป็นเพื่อนกับทุกคน และเข้ามาในโรงพยาบาลก็จะได้รับบรรยากาศที่คุณนึกไม่ถึงว่าจะได้เห็น

“ผมว่าคนในนั้นปลอดภัยกว่าคนข้างนอกอีกนะ ในสังคมมีคนที่ไม่รู้ตัวว่าป่วยเยอะมาก ซึ่งนั่นแหละคือตัวที่ทำให้สังคมอ่อนแอ ฉะนั้นมีอะไรสามารถปรึกษาจิตแพทย์ได้ แต่ทีนี้ปัญหาที่ตามมาคือ สังคมยังไม่ยอมรับความป่วยที่รักษาหายแล้วกลับสู่สังคม อยากให้สังคมดีไซน์ว่าจะทำอย่างไรกับบุคลากรกลุ่มนี้ต่อไปให้เขาจะสามารถดำเนินชีวิตได้ปกติเหมือนคนอื่น”

 

บำบัดจิตบำรุงใจ

อีกหนึ่งหน่วยงานที่พยายามสื่อสารว่า การฟื้นฟูหลังการบำบัดเป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลย แพทย์หญิงสมรัก ชูวานิชวงศ์ ผู้ก่อตั้งบริษัท ลิฟวิ่ง วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด พูดถึงประเด็นนี้อย่างน่าสนใจ

 

66965819_2665618210117350_7085872714644193280_n

 

สุขภาพจิตเป็น 1 ใน 5 ของปัญหาสุขภาพ ในจำนวนนั้นมีคนที่ป่วยโรคจิตเวชที่รุนแรงและเรื้อรังอยู่มาก ซึ่งจะส่งผลให้เขากลายเป็นคนพิการในสังคมเป็นภาระอย่างเลี่ยงไม่ได้ และคนป่วย 1 คน จะมีผลกระทบต่อคนที่อยู่ในครอบครัวอย่างน้อย 5 คน แม้ว่าในปัจจุบันจะมีการเข้าถึงการรักษาและทรัพยากรอยู่ แต่ยังขาดกระบวนการฟื้นฟู มีเพียงคนส่วนน้อยเท่านั้นที่ได้รับการฟื้นฟูระยะสั้นๆ

“หลายคนเมื่อออกจากโรงพยาบาลก็ไม่รู้ว่าจะไปทางไหนดี เมื่อเขาคือผลลัพธ์จากการรักษาในโรงพยาบาล คล้ายต้นกล้าที่ถูกเพาะให้งอกเงย แต่เมื่อถึงเวลาเติบโตดินที่ไหนจะพร้อมให้ต้นกล้าต้นนี้อยู่ได้จนผลิดอกออกผล ซึ่งแหล่งฟื้นฟูในประเทศไทยมีน้อย หลายคนที่จะสนับสนุนต่างถอดใจไปทำเรื่องป้องกันโรค เพื่อที่จะไม่ให้คนอื่นต้องเป็นเช่นนี้”

ในฐานะผู้ก่อตั้ง เธอบอกถึงความตั้งใจว่า ไม่ได้คาดหวังว่าพวกเขาจะกลับมาทำหน้าที่พลเมืองของประเทศ แต่หวังเพียงว่าเขากลับมาแล้วจะไม่ป่วยซ้ำด้วยโรคเดิมอีก และที่สำคัญคือครอบครัวของเขาพร้อมหรือไหมที่จะให้คนเหล่านั้นกลับสู่ครอบครัวอีกครั้ง

ถ้าสุดท้ายแล้วเขายังไม่สามารถกลับไปเรียนหรือกลับไปทำงานได้อีกครั้ง วิสาหกิจเพื่อสังคมทั้งหลายจึงต้องรับช่วงต้นกล้าต่อจากโรงพยาบาล ให้เขาได้รับการช่วยเหลือ ซึ่งลิฟวิ่งเริ่มต้นด้วยการตั้งเป็นศูนย์ฟื้นฟู ใช้เวลากว่า 2 ปี ในการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ ช่วยให้ผู้ป่วยที่ยังไม่ได้พร้อมรับมือกับโลกภายนอก เรียนรู้ที่จะอยู่กับโรคจิตเวชราวกับเป็นเพียงส่วนหนึ่งในชีวิต แต่ไม่ใช่ทั้งหมดในชีวิต

“การมีประสบการณ์ในโรคนั้นๆ นำไปสู่การเป็นผู้เชี่ยวชาญได้ เพราะฉะนั้นต้นทุนของลิฟวิ่งก็คือเอาผู้ที่มีประสบการณ์กับโรคจิตเวช มาเรียนรู้ที่จะถ่ายทอดเรื่องราวที่เป็นต้นแบบให้ผู้ป่วยคนอื่น เรามีความหวังว่าจะช่วยพลิกวิกฤติของโรคนี้ให้เป็นโอกาสในการใช้ชีวิตใหม่ของพวกเขา” แพทย์หญิงสมรัก กล่าว

 

thumbnail  

 

ปัญหาสุขภาพจิตซับซ้อนเกี่ยวโยงกับสภาวะอารมณ์ ความรู้สึก และพฤติกรรม แม้การป้องกันจะเป็นหัวใจหลักในการยับยั้งโรค แต่อย่างไรเสียหากจำนวนคนป่วยในตอนนี้มีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆ การฟื้นฟูก็สำคัญไม่แพ้ไปกว่ากัน