แม่น้ำโขงแห้ง

แม่น้ำโขงแห้ง

เหนือกว่าภัยธรรมชาติ คืออำนาจไร้ขอบเขตของทุนใหญ่

ภาวการณ์ที่น้ำแม่โขงแห้งอย่างไม่เคยเกิดมาก่อนเป็นเพราะมนุษย์!

เขื่อนไซยะบุรีในลาว ที่เอกชนไทยสร้าง/ปั่นไฟฟ้าขายให้ กฟผ.ใกล้แล้วเสร็จ ปฏิเสธว่าไม่เกี่ยว โบ้ยไปที่จีนนู่น เขื่อนจีนกักน้ำไว้น้ำจึงแห้ง ขนาดที่เชียงของ ทางเหนือของเขื่อนไซยะบุรีก็แห้ง แต่ก็ลืมคิดว่า ที่เวียงจันทน์ด้านใต้เขื่อนน้ำก็แห้งเหมือนกัน เป็นว่าเจ้าเขื่อนนี่แหละที่เป็นตัวการ อย่าไปแบ่งสัญชาติเขื่อนไทย เขื่อนลาว เขื่อนจีนเลย

เดือนกรกฎาคมควรจะเป็นเดือนที่แม่น้ำโขงมีน้ำมาก พอถึงสิงหาคมเป็นเดือนน้ำมากสุด จำได้เมื่อปี 2536 ไปทำข่าวเรือจีนสำรวจแม่น้ำโขง ล่องมาถึงเชียงแสนต้องเลือกเดือนที่มีน้ำมากช่วงนี้ ต่อมาอีกสองสามปีเรือสินค้าชุดแรกที่ล่องมาถึงก็มาเดือนสิงหาคม

อันที่จริงแม่น้ำโขงผันผวนมาหลายปีแล้ว แต่เป็นแค่ข่าวเล็กๆ คนไม่สนใจ จนกระทั่งมันแล้งจริงๆ จังๆ ผสมโรงกับเขื่อนยักษ์ไซยะบุรีที่เอกชนไทยและกฟผ.มีเอี่ยว คนที่ไม่ได้ติดตามข่าวมาก่อนจึงถูกเบี่ยงความสนใจไปแค่ว่า เขื่อนไซยะบุรีที่จะผลิตไฟฟ้าขายให้ไทย เป็นตัวการ? หรือไม่ใช่?

ซึ่งหากสังคมจมอยู่กับแค่ประเด็นที่ว่า ก็จะมองไม่ให้ปัญหาวิกฤตแม่น้ำโขงทั้งภาพรวม

.....................

แม่น้ำโขงเป็นน้ำนานาชาติที่กำลังถูกรุมทึ้งจากนานาชาติแบบใครมือยาวสาวได้สาวเอา และยิ่งมีมือที่ใหญ่แย่งชิง มือเล็กมือน้อยของผู้คนสองฟากฝั่งก็ยิ่งเอื้อมไม่ถึงมากเท่านั้น

จีนได้เปรียบที่เป็นต้นน้ำ เขาเรียก ‘หลันฉังเจียง’ มีคนไทย-ลาวทึกทักว่า หลันฉังก็ ‘ล้านช้าง’ นี่เอง จีนรับชื่อไปจากลาว แต่ที่จริงไม่ใช่ เขาเรียกหลันฉังของเขาเช่นนี้มาก่อนนานแล้ว มันเป็นความบังเอิญที่ออกเสียงคล้ายกัน แม่น้ำหลันฉังในยูนนานใช้ประโยชน์อะไรแทบไม่ได้ แล่นเรือคมนาคมไม่ได้ มีแค่ช่วงสั้นๆ จากซือเหมาลงมาสิบสองปันนาถึงกาหลันป้า ก็ออกด่านชายแดนพม่า/ลาวแล้ว เมืองเชียงรุ่งสิบสองปันนาได้รับการพิทักษ์ปกป้องจากเทือกเขาสูงและความกันดารของแม่น้ำหลันฉังมายาวนาน ทำให้รักษาวัฒนธรรมประเพณีมาได้ยาวนานหลายร้อยปี เพิ่งจะมาถูกเปลี่ยนแปลงยุคคอมมิวนิสต์นี่เอง

ดังนั้นการที่จีนสร้างเขื่อนเอาพลังงานจึงเป็นการตัดสินใจบนแนวคิดของการพัฒนาเศรษฐกิจ-ทุน ในยุคมุ่งตะวันตก พัฒนาพื้นที่ตอนในที่ห่างไกลเมื่อ 20 ปีก่อน และเขาก็ไม่ได้คิดถึงประเทศเล็กๆ ตอนใต้ลงไปอย่างไรเลย เมื่อราวปี 2535 เริ่มมีแนวคิดเชื่อมโยงสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจจีนหวังจะใช้แม่น้ำโขงบุกเบิกลงมาสู่ประเทศไทย-ลาว ออกทะเลตอนใต้ แต่เมื่อจีนพัฒนาเทคโนโลยีมากขึ้น ทางรถไฟความเร็วสูง พัฒนาเทคนิคสร้างสะพานขุดอุโมงค์ การขนส่งและคมนาคมทางบกจึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่าในเชิงเปรียบเทียบ

แต่จีนก็ยังคงรักษาเส้นทางขนส่งทางเรือเอาไว้ เพราะแม่น้ำโขงยังมีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ ในยุคหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง จีนกลายเป็นพี่เบิ้มมหาอำนาจยื่นกรงเล็บมังกรออกไปยังประเทศอื่นๆ

มันจึงเกิดการพัวพันกันทั้งเรื่องการพลังงาน เศรษฐกิจ การค้า คมนาคม และรัฐศาสตร์การเมือง มหาอำนาจใหม่จีนอยู่ในฐานะที่คุมแม่น้ำโขงตอนบนได้แทบจะเบ็ดเสร็จ จะกักน้ำปล่อยน้ำบันดาลให้มีน้ำอยู่ในลำน้ำขนาดไหนก็ได้

เมื่อสามปีก่อน ผมเป็นคนหนึ่งที่คัดค้านการให้จีนสำรวจระเบิดแก่ง นัยว่าเพื่อให้การเดินเรือขนาด 500 ตัน สามารถเดินได้ทั้งปี ก็เพราะรู้ว่าตอนนี้เรือขนาด 300 ตันยังเกยตื้นแล่นไม่ได้เลย ในปีหนึ่งเรือใหญ่สามารถแล่นได้ไม่กี่เดือน ก็ยังมีติ่งกองเชียร์ลุงออกหน้ามาถล่มผมบนเฟซบุ๊ค ปกป้องนโยบายที่รัฐบาลให้จีนสำรวจ ปรากฏอีกปีต่อมา รมว.ดอน ปรมัตถ์วินัย กระทรวงต่างประเทศ แถลงบอกจีนเลิกแนวคิดนี้แล้ว

จีนเลิกล้มแนวคิดจะปรับปรุงร่องน้ำเพื่อเดินเรือขนาด 500 ตันได้ตลอดทั้งปี.. ฟังดูเหมือนดี แต่ที่จริงมันเป็นไปไม่ได้ตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว เพราะแม่น้ำโขงไม่มีน้ำมากพอขนาดนั้น ยิ่งในยุคที่เขากักน้ำปั่นไฟฟ้ากัน บางฤดูเรือขนาดเล็กกว่ายังติดตื้นมาไม่ถึงเชียงแสนด้วยซ้ำไป

การเดินเรือใหญ่ทั้งปีมันเป็นไปไม่ได้มาตั้งแต่ต้นแล้ว แต่ก็ยังมีการสำรวจร่องน้ำอย่างจริงจัง ประชาชนที่ประท้วงไม่ยินยอมก็ส่งเสียงโหวกเหวกไป ส่วนบริษัทสำรวจของจีนเขาก็แล่นเรือสำรวจได้จนครบตามกำหนดของเขา

แปลว่าอะไร ? ก็แปลว่า การสำรวจรอบนี้น่ะเขาได้ความลับใต้ผิวน้ำ เกาะแก่งโขดหินร่องน้ำทุกตารางเมตรไว้แล้ว

.............................

มาถึงตอนนี้ ก็มีแต่จีนที่สามารถใช้กองเรือขนาด 300-500 ตัน ลงมาจากซือเหมา/จิ่งหง ลงไปถึงหลวงพระบางได้ เขื่อนปากแบงมีช่องให้เรือขนาด 500 ตันผ่านได้นะครับ ด้วยการควบคุมระดับน้ำตามใจตัวเอง หากต้องการแล่นเรือใหญ่ก็ปล่อยน้ำลงมา

ไม่อยากจินตนาการถึงมิติด้านความมั่นคงเลย ในยุคหนึ่งที่เรือสินค้าจีนถูกปล้นฆ่าในแม่น้ำโขง ทหารไทยก็ถูกเล็งเป็นเป้าหมายด้วยซ้ำไปว่าเกี่ยวข้อง จนทางการจีนต้องเอาเรือปืนติดอาวุธคุ้มกันลงมา แสดงแสนยานุภาพของมหาอำนาจ จากนั้นก็ส่งกองกำลังไปจับโจรปล้นฆ่าไปประหารชีวิต เรื่องนี้มีการสร้างเป็นภาพยนตร์ ‘Operation Mekong’ ไว้

จินตนาการกันให้สุดไปเลยก็ได้ หากจะยกกองเรือลงไปถึงลาว แก่งใต้น้ำแถวเชียงแสนเชียงของ เขาหมายเอาไว้แล้ว วันเดียวก็ถล่มราบ ก็สำรวจไว้แล้วนี่นา

ในเมื่อมหาอำนาจทำเช่นนี้ได้ ชาติอื่นๆ ก็ต้องเอาด้วย ลาวมีแผนจะสร้างเขื่อนกั้นน้ำโขงเพิ่มเติมจากเขื่อนไซยะบุรี รายทางคือ เขื่อนปากแบง และเขื่อนหลวงพระบาง ไทยเราดูเหมือนมีเอี่ยวกับแม่น้ำโขงน้อยแต่ก็ใช้พลังทุนทั้งสร้างและใช้ไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี

อย่าปฏิเสธเลยครับว่า เขื่อนไซยะบุรีไม่ได้มีส่วนทำให้แม่น้ำโขงแห้ง เพราะได้ปล่อยน้ำออกเท่ากับน้ำที่ไหลเข้า

ปีนี้เป็นปีที่แล้งกว่าปกติ หลักการของธรรมชาติแท้ๆ ควรจะจัดสรรน้ำที่น้อยกว่าปกติไปให้ผู้ที่ต้องใช้อย่างเท่าเทียม... มีน้อย ก็แบ่งกันจากที่มีน้อยๆ สิ!

แต่นี่อำนาจใหญ่ ทุนใหญ่ เล่นกักไว้ตามสัดส่วนที่ตัวเองต้องการไว้ก่อน แล้วจึงค่อยปล่อยที่เหลือลงมาให้กับชาวบ้านคนเล็กคนน้อย

จีนกักไว้ในเขื่อนของตัวตามปกติ เมื่อไหลมาถึงลาว ไซยะบุรีก็กักน้ำไว้ตามสัดส่วนที่ตัวเองต้องการ แล้วค่อยปล่อยที่เหลือลงมา

ระบบวงจรนิเวศธรรมชาติก็วอดวายสิครับ

หลายปีมานี้แม่น้ำโขงผิดเพี้ยน ฤดูน้ำควรมากกลับน้อย ฤดูน้ำควรน้อยกลับมาก เมื่อน้ำน้อยคนบ่น จู่ๆ ก็ปล่อยน้ำมาท่วมในไม่กี่วัน ปูปลาสรรพชีวิตปรับตัวกันไม่ถูก แถมไม่มีใครไปประชาสัมพันธ์บอกเจ้าปูปลากุ้งหอยเหล่านั้นด้วยว่าจะหยุดจะปล่อยเมื่อไหร่ พืชผักที่ชาวบ้านปลูกริมน้ำก็เช่นกัน ย้ายตัวเองหนีไม่ได้

เจ้าปูปลาพืชผักที่ว่าไปประท้วงใครที่ไหนไม่ได้ เรียกนักข่าวไปฟังแถลงก็ไม่ได้ ไม่เหมือนเอกชนเจ้าของเขื่อน