‘งิ้ว’ ไร้ศาล? มรดกทางวัฒนธรรมที่ถูกซ่อนในซอกหลืบ

‘งิ้ว’ ไร้ศาล? มรดกทางวัฒนธรรมที่ถูกซ่อนในซอกหลืบ

ความจริงหลังโรงงิ้วในเมืองใหญ่ เสียงที่ไม่ได้ยินของผู้สืบสานมรดกวัฒนธรรม

เสียงกลองรัวกึกก้อง ขิม ซอ ขลุ่ย ตามผสานบรรเลงเพลงสลับกับนักแสดงที่กำลังเปล่งคำร้องทำนองโอเปร่าจีน ประกอบกับท่วงท่าในการสื่ออารมณ์ที่ลื่นไหลไปด้วยกัน ช่างเป็นองค์ประกอบที่ลงตัวและหาชมได้ยากนักในยุคนี้

‘อุปรากรจีน’ หรือ ‘งิ้ว’ ศิลปะการแสดงที่มีต้นรากจากวัฒนธรรมจีน ไม่เพียงมีบทบาทสำคัญในการถ่ายทอดวัฒนธรรม แต่ยังแสดงให้เห็นถึงการอยู่ร่วมกันของคนต่างชาติต่างภาษา ว่ากันว่า งิ้วเข้ามาสู่สังคมไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ตามบันทึกจดหมายเหตุลาลูแบร์ ราชทูตจากฝรั่งเศสที่เข้ามาเจริญไมตรีกับสมเด็จพระนารายณ์ในช่วงปี 2230 เรียกงิ้วในขณะนั้นว่า ‘ละครจีน’ และเมื่อครั้งสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินแห่งกรุงธนบุรีอัญเชิญพระแก้วมรกตล่องน้ำมายังพระนคร นอกจากขบวนแห่ของโขน ละคร ดนตรีปี่พาทย์ ยังมีคณะงิ้วล่องมาด้วยกัน

การแสดงงิ้วในประเทศไทยรุ่งเรืองอย่างมากในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งมีทั้งคณะของไทยและจีน มีการเปิดโรงเรียนสอนเป็นเรื่องเป็นราว รวมทั้งมีโรงงิ้วแสดงประจำที่เรียกกันว่า ‘วิก’ ตามถนนเยาวราช

ทว่าหลายทศวรรษที่ผ่านมา พร้อมๆ กับการเจริญเติบโตของเมือง ความหลากหลายของมหรสพ และความบันเทิงที่ผู้ชมสามารถเข้าถึงได้โดยผ่านเทคโนโลยีทันสมัย งิ้วค่อยๆ ลดความนิยมลงไปอย่างมาก หากจะเปิดการแสดงสักครั้งก็ต้องรอเทศกาลหรืองานประจำปีของศาลเจ้าต่างๆ ซึ่งคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่จะมีโอกาสได้เห็นงิ้วก็จากละครหลังข่าวมากกว่า

 

มรดกจีนในไทย

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ใช่ว่า...งิ้วจะหยุดนิ่งหรือแข็งขืนต่อโลกของการเปลี่ยนแปลง งิ้วภาษาไทย งิ้วการเมือง หรือแม้แต่การปรับบท เปลี่ยนเนื้อเรื่องเพื่อให้ตอบโจทย์ได้ใจผู้ชมมากขึ้น ล้วนแต่แสดงถึงความพยายามในการปรับตัวของคณะงิ้ว

อาจารย์อำพัน เจริญสุขลาภ หรือ ‘อาจารย์เม้ง ป.ปลา’ ในวัย 78 ปี เจ้าของคณะงิ้วเม้ง ป.ปลา และผู้อำนวยการศูนย์ศิลปวัฒนธรรมไทย-จีน เพื่ออนุรักษ์และพัฒนาอุปรากรจีน ผู้เป็นทั้งอาจารย์สอนงิ้วและเครื่องดนตรีจีน เป็นคนหนึ่งที่ริเริ่มนำงิ้วแต้จิ๋วมาแปลเป็นภาษาไทย ร้องไทย พูดไทยเพื่อให้คนทั่วไปสามารถดูงิ้วได้อย่างเข้าใจ อีกทั้งเขายังอยู่เบื้องหลังการถ่ายทอดศิลปะการแสดงงิ้วสู่บทละครบนจอแก้วในละครหลายเรื่อง ที่รู้จักกันดีก็เช่น เสน่ห์นางงิ้ว

 

20

 

ในฐานะคนที่โลดแล่นอยู่ในวงการนี้มากว่า 50 ปี อาจารย์เม้งเล่าว่า การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดก็คือ คนดูงิ้วน้อยลง โดยเฉพาะงิ้วแต้จิ๋วที่เคยได้รับความนิยมอย่างมาก ทั้งนี้เพราะคนรู้ภาษาจีนแต้จิ๋วมีน้อย การเพิ่มบทงิ้วภาษาไทยและเขียนบทให้เข้ากับยุคสมัยจึงเป็นสิ่งที่จะช่วยต่อลมหายใจของการแสดงแขนงนี้

“อย่างเรื่องแม่นาคพระโขนง เราได้นำมาปรับเป็นบทเพื่อแสดงงิ้วและร้องเป็นภาษาไทยได้ เพราะงิ้วไม่จำเป็นต้องเป็นภาษาจีนโบราณเสมอไปแล้ว ไม่ว่าจะภาษาไหนชาติไหนก็สามารถร้องเป็นงิ้วได้ทั้งนั้น เราจึงเรียกว่า งิ้วสากล อย่างที่คณะงิ้วเม้ง ป.ปลา มีทั้งบทภาษาไทย ภาษาจีนแต้จิ๋ว ภาษาจีนกลาง เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดของงิ้วไม่ใช่การยึดติดที่ภาษา แต่เป็นการสอดแทรกคติธรรมสู่คนดู”

ด้วยเหตุนี้ ‘งิ้ว’ จึงไม่ใช่แค่ศิลปะที่แสดงให้ถึงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของจีน หรือเป็นมหรสพเพื่อความสวยงามและบันเทิงเท่านั้น แต่เปรียบเสมือนโรงเรียนเคลื่อนที่ ที่สอนเรื่องความดีความชั่ว และยังเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่น่าตื่นตาตื่นใจอีกด้วย

ในปัจจุบันไม่เฉพาะแต่จีนเท่านั้นที่ให้ความสำคัญกับงิ้ว ทั่วโลกก็สนใจศิลปะการแสดงแขนงนี้ เมื่อปี 2554 ‘งิ้วปักกิ่ง’ ได้รับการยอมรับจากองค์การยูเนสโกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก สำหรับประเทศไทยอาจารย์เม้งบอกว่า มีความพยายามนำมาเป็นศิลปะการแสดงอีกแขนงหนึ่งโดยเป็นงิ้วภาษาไทย พูดไทย ร้องไทย แต่จะทำอย่างไรให้อยู่ร่วมกับบริบทสังคมเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปได้ ทุกฝ่ายต้องมีการปรับตัว

“เราต้องเข้าใจก่อนว่าปัญหามันอยู่ที่คน คนต้องปรับตัว เราต้องเคารพศิลปะแขนงนี้ ต้องช่วยกันส่งเสริม ไม่ใช่ทำลาย” ปรมาจารย์งิ้วพูดถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างผู้พักอาศัยในคอนโดกับศาลเจ้า กรณีเสียงรบกวนจากการแสดงงิ้ว

“งิ้วสมัยนี้อยู่ยาก เพราะขึ้นอยู่กับคนดู ขึ้นอยู่กับศาลเจ้า จะทำอย่างไรให้งิ้วอยู่ได้ เราก็ต้องส่งเสริมศาลเจ้าด้วย ถ้ามีศาลเจ้าไหนเขาเชิญงิ้วไปแสดง เราก็ต้องขอบคุณเขา ถ้าศาลเจ้าไม่เชิญงิ้ว งิ้วก็หายไปหมดนะสิ วัฒนธรรมอันนี้ก็จะไม่มี เราต้องยกเรื่องประเพณีวัฒนธรรมเป็นเรื่องใหญ่ ไม่อย่างนั้นก็คงมันจะหายไปในไม่ช้า”

ในมุมมองของอาจารย์เม้ง ศาลเจ้าและวัฒนธรรมงิ้วอยู่คู่กันมาเป็นร้อยปี งิ้วถือเป็นการแสดงเพื่อบูชาเทพเจ้า เป็นเรื่องมงคล ผู้ที่เข้ามาอยู่อาศัยในย่านที่มีพื้นฐานวัฒนธรรมเช่นนี้ควรจะต้องศึกษาหาความรู้ และช่วยกันส่งเสริมให้คงอยู่ต่อไป

 “ก็แปลกดีนะ เมื่อก่อนมีแต่ทะเลาะกันเรื่องจะให้เล่นดึกๆ ให้เล่นจนตีสองตีสาม มีแต่โมโหทำไมงิ้วเลิกเร็ว แต่มาตอนนี้กลับบอกให้เลิกก่อน ซึ่งมันไม่ควรเกิดขึ้นด้วยซ้ำ ความเห็นของผมไม่ใช่แค่คนที่อยู่ในวงการงิ้วเท่านั้น แต่มันเป็นเรื่องของวัฒนธรรม ประเพณี เรื่องศาสนาด้วย”

 

ชีวิตบนเส้นด้ายในโรงงิ้ว

สีสันและลวดลายที่ถูกวาดระบายลงบนใบหน้า คือเอกลักษณ์ที่คุ้นตาของนักแสดงงิ้ว เช่นเดียวกับเสียงร้องที่เปี่ยมไปด้วยพลัง

เฉินฮุยชิง หรือ ณิชากร ตั้งศิววงศ์  อดีตนักแสดงงิ้ววัย 63 ปี เล่าว่าเส้นทางในวงการนี้ เริ่มต้นเมื่อ 30 ปีที่แล้ว เธอต้องมาทำงานในโรงงิ้วโดยผูกสัญญา 5 ปี ค่าตัวในตอนนั้นตกวันละ 100 บาท นับแต่นั้นมาเฉินฮุยชิงก็มีงิ้วเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เธอฝึกฝนด้วยความตั้งใจ จากตัวประกอบสู่พระเอก และรับบทนางเอกในเวลาต่อมา

“สมัยนั้นลำบากมาก เล่นงิ้วตั้งแต่อายุ 17 ปี จนอายุ 50 ปีก็เกษียณ ปัจจุบันมีเล่นรับเชิญให้กับคณะเม้งป.ปลาบ้างตามโอกาส สมัยก่อนงิ้วจัดว่าเป็นเครื่องมือทำมาหากินสำหรับคนยากจน ไม่มีใครอยากจะให้ลูกมาเล่นเพราะมันลำบาก ชีวิตเหมือนยืนอยู่บนเส้นด้าย ไม่มีงานก็ไม่มีเงิน”

ในฐานะที่เป็นอีกคนที่อยู่ในวงการงิ้วมานาน เฉินฮุยชิง มองว่า การจะอนุรักษ์ศิลปะแขนงนี้ไว้จะต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย แต่ในขณะเดียวกันจะต้องไม่ลดทอนคุณค่าดั้งเดิม งิ้วในประเทศไทยก็ต้องมีการปรับบทให้มีภาษาไทยมากขึ้น และเนื้อเรื่องก็สามารถปรับให้ทันสมัยได้ แต่ก็ยังคงหลักเดิมในการสอดแทรกคุณธรรมเข้าไปด้วย ซึ่งการจะแสดงงิ้วเป็นภาษาไทยไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องออกเสียงภาษาไทยให้ถูก ควบกล้ำต้องมี ร, ล ชัดเจน ไม่อย่างนั้นก็ฟังไม่รู้เรื่อง ต่อให้จะใช้ภาษาไหนก็ต้องร้องให้ชัดถ้อยชัดคำและลื่นไหลไปกับดนตรีให้ได้

สำหรับการฝึกเล่นงิ้วนั้น ต้องเริ่มจากกระบวนท่า การแสดงท่าทางประกอบอารมณ์ จากนั้นก็เริ่มฝึกร้อง ภายในหนึ่งวันจะต้องฝึกทั้งลีลาและการร้อง “...จะได้มากได้น้อย สองอย่างนี้ต้องเริ่มพร้อมกัน แล้วนักร้องเขาจะมีไมค์อยู่ที่ตัว แต่งิ้วไมค์จะอยู่ที่ขอบเวที เพราะฉะนั้นต้องใช้พลังงานมาก"

 

  37697

 

ในฐานะนักแสดงเจ้าบทบาท เฉินฮุยชิงพูดถึงกรณีที่ศาลเจ้าถูกร้องเรียนเรื่องเสียงจากการแสดงงิ้วว่า ถือเป็นแรงกดดันให้กับคนที่ใช้งิ้วเป็นอาชีพหาเลี้ยงครอบครัวอย่างมาก แม้ว่าตนเองจะเกษียณจากการเป็นนักแสดงแล้ว แต่ก็รู้สึกไม่สบายใจ

“มีศาลเจ้าที่ไหน ก็ต้องมีงิ้วที่นั่น เพราะสองสิ่งนี้เป็นของคู่กัน ถ้าศาลเจ้าถูกกีดกันไม่ให้แสดงงิ้วอีก แล้ววัฒนธรรมนี้จะอยู่อย่างไรกัน”

อดีตนางเอกงิ้ว ตัดพ้อว่าไม่อยากให้งิ้วหายไป เพราะมันเป็นรากเหง้าของเรา “ยิ่งพอเห็นข่าวเรื่องคอนโดกับศาลเจ้ายิ่งหดหู่ใจมาก คนแสดงงิ้วนี่นะชีวิตเหมือนแขวนอยู่บนเส้นด้าย เขาเป็นกลุ่มคนที่ช่วยอนุรักษ์และเผยแพร่งิ้วให้เป็นที่รู้จัก แต่นี่นอกจากจะไม่อนุรักษ์แล้ว ยังจะไม่สนับสนุนอีก มันเหมือนเป็นการทำลายรากเหง้า ดูถูกวัฒนธรรมกัน

เราต้องอยู่ร่วมกันให้ได้ แผ่นดินไทยขึ้นชื่อว่ามีความหลากหลาย และเปิดกว้างมาก เราอยู่ร่วมกันมาได้เป็นร้อยๆ ปีแล้ว ไม่ว่าจะยุคสมัยไหน เพราะว่าเรามีความเห็นใจซึ่งกันและกัน เราไม่ดูถูกวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมา”

 

เรื่องจริงที่ศาลเจ้า

หากผู้ชมคือกำลังใจที่อยู่เบื้องหน้าฉากตระการตาของการแสดงงิ้ว ผู้สนับสนุนที่อยู่เบื้องหลังก็คือ ‘ศาลเจ้า’ ซึ่งเป็นสถานที่จัดแสดงหลัก สุชาติ วรรณโชคทรัพย์ ผู้รับหน้าที่ผู้ดูแลศาลเจ้าแป๊ะกง ในซอยนราธิวาส 14 มากว่า 20 ปี เล่าว่าศาลเจ้าแห่งนี้อยู่ร่วมกับชุมชนมากว่า 50 ปี กระทั่งการพัฒนาได้รุกคืบเข้ามา มีสิ่งก่อสร้างผุดขึ้นมากมายและในจำนวนนั้นก็คือคอนโดที่พักอาศัย ซึ่งความขัดแย้งเริ่มก่อตัวเมื่อมีการร้องเรียนเรื่องการใช้เสียง ก่อนจะกลายเป็นข่าวดังในช่วงงานประจำปีของศาลเจ้าครั้งที่ผ่านมา

“ที่นี่มีงานประจำปีของศาลเจ้าปีละ 2 ครั้ง คือช่วงกลางปีเดือน 6-7 เป็นเวลา 5 วัน และอีกช่วงคือปลายปีประมาณเดือน 9 จะมีงาน 3 วัน กับเทศกาลเทกระจาด จะมีการไหว้เจ้า และแจกทานคนยากไร้ ซึ่งที่ขาดไม่ได้เลยก็คืองิ้ว รวมแล้วในหนึ่งปีจะมีการแสดงงิ้ว 8 วัน ซึ่งช่วงปลายปีทุกศาลเจ้าก็จะมีการแสดงงิ้วทั้งนั้น”

ศาลเจ้ากับงิ้วก็ไม่ต่างกับวัดที่คู่กับมหรสพอย่างลิเก สุชาติเล่าว่า เมื่อก่อนมีงานเป็น 20 วันได้ คนละแวกนี้จะเอาของมาขาย เพราะคนแห่มาดูงิ้วกันเต็มไปหมด ทำให้ธุรกิจท้องถิ่นในตอนนั้นมีเงินไหลเวียนดีทีเดียว แต่ปัจจุบันก็ลดถอยลงไปตามกาลเวลาและบริบทสังคมที่เปลี่ยนไป

แม้จะเข้าใจดีถึงเงื่อนไขที่ไม่เหมือนเดิม และยินดีปรับลดเสียงและเวลาการแสดง แต่เหตุการณ์ครั้งล่าสุดก็สร้างความลำบากใจให้ไม่น้อย

 “ทางเจ้าหน้าที่แก้ปัญหาด้วยการขอให้ลดเวลาในการแสดงลงไปอีก จากเดิม 3-4 ชั่วโมง เหลือเพียง 2 ชั่วโมงเท่านั้น ต้องขอชี้แจ้งก่อนว่า ทุกครั้งที่จะจัดงานเรามีการขออนุญาตทุกครั้ง ทางเจ้าหน้าที่ก็รับรู้ ส่วนเรื่องเสียงดังนั้นเราคิดว่าเราเองก็พยายามที่สุดแล้วในการเบาเสียง แต่ก็ต้องเข้าใจว่าการแสดงงิ้วมันต้องมีการใช้เสียง”

ไม่ได้แสดงจนดึกดื่นเที่ยงคืน คือคำยืนยันของผู้ดูแลศาลเจ้าแห่งนี้ แต่หากจะไม่ให้ใช้เสียงไปเลย นั่นก็ไม่ต่างอะไรกับการบอกว่า ‘ห้ามแสดงงิ้ว’

“เราไม่รู้ว่างิ้วจะอยู่ไปได้อีกนานแค่ไหน แต่ที่ทำอยู่ทุกวันนี้ก็เพราะยังพอมีกำลังทรัพย์จากคนที่ศรัทธาทำบุญเข้ามา มันเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมา งิ้วอยู่ได้เพราะศาลเจ้า ถ้าวันหนึ่งไม่มีศาลเจ้าแล้วงิ้วจะอยู่อย่างไร คนแสดงงิ้วจะอยู่อย่างไร”

 ไม่เพียงเหตุผลของการเป็นรายได้หล่อเลี้ยงชีวิตคนกลุ่มหนึ่ง หรือการเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของคนไทยเชื้อสายจีน แต่การดำรงอยู่ของงิ้ว ยังแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมที่อยู่ร่วมกันได้อย่างงดงามบนแผ่นดินนี้

“แม้จะพยายามปรับตัวมากแค่ไหน สิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือการปลูกฝังคนรุ่นใหม่ เหมือนการเรียนหนังสือที่ก็ต้องเริ่มตั้งแต่เด็กให้ซึมซับวิชาความรู้ เขาก็จะรัก เขาก็จะชอบ พ่อแม่เป็นส่วนสำคัญ ถ้าไม่อยากให้วัฒนธรรมหายไป ต้องสอนตั้งแต่เด็ก” อาจารย์เม้ง กล่าวทิ้งท้าย

 

0000

 

วันนี้ แม้เสียงที่เปล่งออกมาจากพลังของนักแสดงจะยังคงกังวาน ผสานดนตรีที่เร่งเร้า ท่าทางการร่ายรำและการต่อสู้ที่เร้าใจ ทว่าท่ามกลางมรสุมของการเปลี่ยนแปลง มนต์เสน่ห์ของงิ้วดูเหมือนจะค่อยๆ จางลง

หากขาดการสนับสนุนและสานต่อ...‘งิ้ว’ จะต่อสู้กับความท้าทายแห่งยุคสมัยได้อย่างไร