อาคารหลากสีที่ 'กรีนแลนด์'

อาคารหลากสีที่ 'กรีนแลนด์'

สีสันของอาคารหลากสีในเมืองหิมะ ที่มีนัยยะมากกว่าการดึงดูดความสนใจ

กรีนแลนด์ได้ฉายาว่า ‘ดินแดนแห่งน้ำแข็ง’ เพราะพื้นที่ของเกาะเกือบร้อยละ 85 ถูกปกคลุมไปด้วยน้ำแข็งตลอดทั้งปี

กรีนแลนด์ซึ่งเป็นดินแดนปกครองตนเองของประเทศเดนมาร์ก ตั้งอยู่ในมหาสมุทรอาร์กติกทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปยุโรปและอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐนิวฟันด์แลนด์และแลบราดอร์ของแคนาดา

แม้ชื่อของกรีนแลนด์จะหมายความว่า ‘ดินแดนสีเขียว’ แต่ความจริงแล้วมันเป็นเกาะที่มีเรื่องของสีสันน้อยมากๆ เพราะมองไปทางไหนของเกาะก็เห็นแต่สีขาวโพลนของหิมะเนื่องจากอยู่ใกล้กับขั้วโลกเหนือมากๆ

แต่บนความขาวโพลนของหิมะ กรีนแลนด์ก็แอบซ่อนสีสันอันสะดุดตาเอาไว้ที่อาคารบ้านเรือนหลากสีของคนท้องถิ่น

 

gr3

 

หลายคนอาจจะคิดว่าชาวกรีนแลนด์ทาสีสดใสให้กับอาคารบ้านเรือนเพื่อดึงความสนใจจากผู้คน แต่จริงๆ แล้วสีของตัวอาคารเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงอาชีพของประชากรผู้อยู่อาศัยและวัตถุประสงค์หรือประเภทของตัวอาคาร

เมื่อ 4,000 ปีก่อน ชาวอินูอิต หรือคนพื้นเมืองกรีนแลนด์อาศัยอยู่ในกระท่อมที่คล้ายกับโรงนาในชนบท ตัวบ้านสร้างจากไม้และมีหลังคาทรงสามเหลี่ยมหน้าจั่ว บ้างก็อาศัยอยู่ในเต้นท์และบ้างก็อยู่ในอิ๊กลูหรือบ้านที่สร้างจากน้ำแข็ง

ที่พักอาศัยถูกสร้างด้วยวิธีง่ายๆ เพราะสภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลงบ่อย วัสดุที่ใช้ในการสร้างบ้านประกอบไปด้วยเศษไม้ กระดูกและขนสัตว์ที่ได้จากการล่าสัตว์ โดยพวกมันถูกปรับให้เข้ากับสภาวะอากาศของเกาะซึ่งส่วนใหญ่จะหนาวสุดขั้วถึงขั้นติดลบหลายสิบองศาโดยเฉพาะในฤดูหนาว

การใช้สีเป็นตัวจำแนกประเภทของอาคารและบ้านเรือนบนเกาะกรีนแลนด์ เริ่มใช้ในสมัยที่ตกเป็นอาณานิคมในศตวรรษที่ 18 เมื่อบ้านไม้ถูกส่งจากสแกนดิเนเวียขึ้นมายังเกาะเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย

ในตอนนั้น บนเกาะไม่มีการกำหนดเลขที่บ้านหรือชื่อถนน ดังนั้นอาคารบ้านเรือนทั้งหมดจึงใช้สี 1 ใน 5 สีประกอบด้วยแดง ดำ เหลือง เขียวและฟ้า เป็นตัวกำหนดวัตถุประสงค์ของอาคาร

 

gr2

 

ข้อมูลจากเว็บไซต์ Visit Greenland ระบุว่า สีแต่ละสีที่ใช้ทาแต่ละอาคารมีหน้าที่และความหมายของตัวเอง ตัวอย่างเช่น สีแดงหมายถึงร้านค้าหรือบ้านที่ใช้ในเชิงพาณิชย์ สีเหลืองสำหรับโรงพยาบาล สีดำสำหรับสถานีตำรวจ สีฟ้าสำหรับโรงงานปลาและสีเขียวสำหรับบริษัทโทรศัพท์

ยูแจมมิวกัค เอนเจลล์ เจ้าหน้าที่จากพิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุแห่งชาติกรีนแลนด์อธิบายว่า สีแดงเป็นสีที่ถูกใช้มากที่สุดเนื่องจากเป็นตัวแทนของโบสถ์และการค้า

“นั่นหมายความว่าอาคารทุกหลังที่เกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้...ไม่ว่าจะเป็นโบสถ์ ร้านค้า หรือบ้านที่นักบวชเจ้าของร้านค้าหรือเสมียนอาศัยอยู่จะถูกทาด้วยสีแดง” ยูแจมมิวกัคกล่าว

ต่อมาอาคารที่เกี่ยวกับธุรกิจการค้าก็มีการเปลี่ยนสีมาใช้ของตัวเอง โดยเริ่มใช้สีดำ

ส่วนสีเหลืองนั้นเป็นตัวแทนของสิ่งที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ โรงพยาบาลทั้งหมดถูกทาด้วยสีเหลืองเช่นเดียวกับบ้านของแพทย์และพยาบาล

สำหรับสีเขียว ในตอนแรกเป็นสัญลักษณ์ของการสื่อสารทางวิทยุ และหลังจากที่มีการพัฒนาอุปกรณ์สื่อสารส่วนบุคคล สีเขียวก็กลายเป็นสีของการสื่อสารโทรคมนาคม

สีสุดท้ายคือสีฟ้า ซึ่งมักจะสงวนไว้สำหรับหน่วยงานของรัฐที่มีชื่อว่า Greenlandic Technical Organization และโรงงานต่างๆ

“เหตุผลที่อยู่เบื้องหลังของการใช้สีเหล่านั้นก็เพื่อให้ง่ายต่อการแยกแยะความแตกต่างระหว่างบ้านเรือนและอาคารต่างๆ และยังเป็นการสร้างระบบการจำแนกประเภทของอาคารในช่วงก่อนที่จะมีการตั้งชื่อถนนและกำหนดบ้านเลขที่” เธอกล่าว

 

gr1

 

อย่างไรก็ตาม ยูแจมมิวกัคอธิบายว่า เนื่องจากระบบการใช้สีให้สอดคล้องกับประเภทที่อยู่อาศัยไม่มีการกำหนดตายตัวและไม่เคยถูกบังคับใช้อย่างเข้มงวด ดังนั้นจึงมีบ้านและอาคารที่ไม่ได้ทาสีตามที่ระบุไว้หรือไม่ตรงตามประเภทของอาคาร

และปัจจุบัน เจ้าของบ้านหรืออาคารมีอิสระที่จะทาสีบ้านของพวกเขาเป็นสีใดก็ได้ตามที่พวกเขาเลือก

“มันค่อนข้างยากที่จะทาสีบ้านตามที่กำหนดไว้ในยุคที่เรายังเป็นอาณานิคม บางครั้งผู้คนก็จำเป็นต้องใช้สีใกล้เคียง” ยูแจมมิวกัคกล่าว

แต่ก็มีอาคารบางอาคารที่ยังคงทาสีตามข้อกำหนดเดิม เช่น โรงพยาบาลในกรีนแลนด์ยังคงทาสีเหลือง และมหาวิหารแห่งกรีนแลนด์ยังคงทาสีแดง

ที่มา : เว็บไซต์เดลี่ เมล