คุณหมอหัวใจอาสา 'สมหมาย เอี๋ยวประดิษฐ์'

คุณหมอหัวใจอาสา  'สมหมาย เอี๋ยวประดิษฐ์'

เส้นทางวิบากของนายแพทย์หนุ่มกับบิ๊กไบค์คู่ใจ เจ้าของผลงานภาพถ่ายที่ตีแผ่ความจริงให้สังคมได้รับรู้

ในฐานะพลเมืองไทยคนหนึ่ง คนธรรมดาที่ยังต้องดิ้นรนทำมาหากิน มีภาระมีหนี้สินให้ต้องชำระ มีปัญหาส่วนตัว มีเรื่องที่ต้องสะสางจัดการและมีครอบครัวที่ต้องดูแล

พลเมืองไทยธรรมดาๆ สักคนจะมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สังคมให้ดีขึ้นได้ไหม? แล้วจะทำอะไรได้บ้าง?

‘แก่งกลางน้ำโขงเชียงของ หวั่นสูญหายหากเดินหน้าระเบิดแก่งน้ำโขง’ มกราคม 2560

‘เริ่มป่วยแล้ว! ชาวสวนลาวแห่รักษาตัวในไทย หลังปลูกกล้วยชุ่มสารเคมี’ พฤษภาคม 2560

‘ช่างภาพอิสระ เปิดภาพมุมสูง ป่าแหว่ง บ้านพักตุลาการเชิงดอยสุเทพ ที่ยังไม่มีใครเคยเห็น’ เมษายน 2561

‘ไฟไหม้บ่อขยะ 4 เดือน 14 แห่ง แนะประชาชนกลุ่มเสี่ยงป้องกันตัวเอง’ เมษายน 2562

ทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของพาดหัวข่าวจากสื่อ ในช่วงเวลาต่างๆ นำเสนอประกอบภาพถ่ายและวิดีโอที่บันทึกจากอากาศยานไร้คนขับ หรือ ‘โดรน’ ฝีมือช่างภาพอิสระ ที่มีอาชีพหลักเป็นคุณหมอ

ณ ชายแดนไทย – ลาว อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย นายแพทย์สมหมาย เอี๋ยวประดิษฐ์ เปิดคลินิกรักษาโรคอายุรกรรมและโรคทั่วไป รักษาโรคให้ผู้ป่วยทั้งคนไทยและคนลาวมาเป็นเวลากว่า 20 ปี จากความชื่นชอบการถ่ายภาพ และหลงใหลการถ่ายภาพมุมสูงเป็นชีวิตจิตใจ รวมทั้งการทำงานจิตอาสาเพื่อสังคม ภาพที่ตั้งใจถ่ายด้วยจิตสำนึกและความเป็นห่วงเป็นใยเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ไม่ได้กำลังสะท้อนเพียงความงาม แต่ยังสื่อสารความจริงจากมุมมองที่ไม่เคยมีใครเห็นมาก่อน

ภาพถ่ายและภาพโดรนจากมุมสูงในพื้นที่ต่างๆ ได้ส่งต่อเรื่องราวให้สังคมรับรู้ หลายๆ เหตุการณ์ได้รับความสนใจจากสื่อ ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง และได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับสังคม...ไม่มากก็น้อย

DJI_0748

ทำไมถึงเลือกเป็นเรียนหมอคะ

จำความได้ผมไม่เคยคิดว่าตัวเองอยากประกอบอาชีพอะไร เป็นเด็กบ้านนอกที่ไม่รู้อะไรเลยจริงๆ ตอนเรียนหนังสือก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเรียนไปเพื่ออะไร แต่สมัยนั้นเราถูกปลูกฝังว่าถ้าอยากมีชีวิตที่ดีขึ้น เราต้องเรียนหนังสือ

บ้านผมยากจนมาก จนขนาดไม่มีเงินส่งให้ผมเรียน ตอนจบ ป. 6 ตอนแรกตั้งใจไปบวชเรียนที่โรงเรียนวัด แต่เพราะผมเป็นคนมีความใส่ใจ ตั้งใจกับการเรียนและมีความรับผิดชอบ ผมเลยได้รับคัดเลือกจากโรงเรียน และเป็นตัวแทนจังหวัดให้สอบชิงทุนเข้าโรงเรียนแห่งหนึ่งที่ลำปางได้ ผมใช้ชีวิตกินนอนอยู่ในโรงเรียนหอพักจนจบชั้น ม.3

ผมว่าเป็นความโชคดี การเป็นนักเรียนหอพักทำให้ได้ฝึกฝนดูแลตัวเองทุกอย่าง จนกลายเป็นเด็กที่มีความคิดเกินวัย พอจบมัธยมต้นก็กลับมาสอบเรียนต่อมัธยมปลายที่ลำพูนบ้านเกิด ผลการเรียนอยู่ระดับแถวหน้าจนเป็นตัวเต็งของโรงเรียน โรงเรียนลุ้นให้สอบเข้าโควต้าคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผมอดหลับอดนอนอ่านหนังสือเองอยู่หลายเดือน ไม่เรียนพิเศษเพราะไม่มีเงินสักบาท แต่ในเช้าวันสอบโควต้าเข้ามหาวิทยาลัย ผมเปลี่ยนใจไม่ไปสอบด้วยเหตุผลข้อเดียวคือ กลัวแม่ลำบากต้องไปกู้หนี้ยืมสินมาส่งผมเรียนหนังสือตั้ง 6 ปี

แล้วเป็นไงมาไงถึงกลับมาเรียนแพทย์จนจบได้

ถ้าคนรู้แบคกราวน์ของผม จะเข้าใจว่าทำไมผมถึงชอบทำงานจิตอาสา และช่วยเหลือคนอื่นตามกำลัง สังคมให้ผมมาเยอะแล้ว ผมมีทุกวันนี้ได้เพราะมีผู้ใหญ่ใจดียื่นมือเข้ามาช่วยเหลืออยู่เสมอ ไม่ใช่แค่คนเดียว แต่หลายๆ คนที่ผมได้พบเจอ ทุกคนเติมให้ผมคนละนิดคนละหน่อย โดยเฉพาะช่วงเวลาที่ผมเรียนอยู่ ทั้งให้ทุนการศึกษา ซื้อหนังสือเรียน หรือแม้แต่ชุดนักศึกษาให้ผมได้มีใส่

ผมไม่ไปสอบโควต้าแพทย์ เพราะรู้ว่าถึงสอบติดแม่ก็ไม่มีเงินส่งผมเรียนจนจบ เลยตัดสินใจสอบเข้าหลักสูตรพนักงานสาธารณสุขแบบ 1 ปี เพื่อจบมามีงานทำเลี้ยงดูแม่ได้เลย แต่เพราะคะแนนสอบของผมนำโด่งมาคนเดียว นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลำพูน เรียกพบผมแล้วแนะนำให้ผมไปเรียนต่อมหาวิทยาลัย ครั้งนั้นผมมีญาติยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือให้ทุนการศึกษา แต่ผมเลือกสอบเข้าคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นลำดับแรก เพราะไม่อยากรบกวนให้ญาติต้องช่วยส่งเสียถึง 6 ปี

ชีวิตตอนเรียนมหาวิทยาลัยเป็นอย่างไรบ้าง

พอได้เข้าเรียนก็มีคนให้ความช่วยเหลือ เพราะเห็นความตั้งใจและความหนักเอาเบาสู้ของเรา ผมได้ไปทำงานช่วงเที่ยงช่วยเก็บล้างจานในโรงอาหารคณะสังคมศึกษา มีงานสอนพิเศษให้กับลูกๆ ของผู้ใหญ่ที่ตั้งใจให้โอกาส ช่วยให้ผมมีรายได้

ผมสอนน้องๆ วัยมัธยมปลายด้วย ยิ่งสอนก็เหมือนได้พัฒนาความรู้ของตัวเอง มีความมั่นใจขึ้นมาว่าจะลองสอบเข้าคณะแพทย์ฯ ดูอีกครั้ง แรงบันดาลใจที่ทำให้ผมอยากเรียนแพทย์ในตอนนั้น เพราะผมอยากเป็นหน่วยแพทย์ พอสว. (มูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนคริทราบรมราชนนี) ของสมเด็จย่า อีกอย่างคือคณะแพทย์ฯ มีทุนการศึกษาและโอกาสขอทุนได้เยอะกว่า

ผลลัพธ์ออกมาเป็นอย่างไร

ผมสอบไม่ได้ ผลคะแนนออกมาได้ถึงคณะเภสัชฯ หลายคนคิดว่าผมคงหันมาเลือกเรียนเภสัชฯ แต่ผมเรียนเทคนิคการแพทย์ต่อ บอกกับตัวเองว่าปีหน้าต้องสอบเข้าคณะแพทย์ฯ ได้แน่นอน แล้วเอนทรานซ์อีกครั้งตอนกำลังเรียนคณะเทคนิคการแพทย์ชั้นปีที่ 2 ซึ่งถือเป็นโอกาสสุดท้ายที่จะลงสนามสอบได้ ในที่สุดก็ทำได้สำเร็จ แล้วทำงานสอนพิเศษหาเงินส่งตัวเองเรียนจนจบ

เหมือนกับคุณหมอมีทุกวันนี้ได้เพราะได้รับโอกาส?

ใช่ครับ ผมเป็นคนไม่มีความฝันอะไรเลย มีแต่ใช้ชีวิตไปวันๆ ช่วยที่บ้านทำงาน รีบทำการบ้านให้เสร็จแล้วออกไปเล่นตามประสาเด็กบ้านนอกยุคนั้น พกหนังสติ๊ก หาปูหาปลาตามท้องไร่ท้องนา ไม่มีใครมากดดันหรือมาสร้างแรงบันดาลใจให้อยากเป็นนั่นเป็นนี่ ใช้ชีวิตเรียบง่ายธรรมดามาก ไม่มีการแข่งขัน ยิ่งเกิดมาเป็นเด็กบ้านนอกด้วยแล้ว ไม่มีอะไรกระตุ้นความอยากได้อยากมี ที่บ้านก็ไม่เคยปลูกฝังว่าโตมาต้องเป็นอะไร

IMG_7701-1

คุณหมอคิดอย่างไรกับวิธีคิดยุคนี้ ที่มักกระตุ้นให้ตามหา passion หาความหลงใหล หาความชอบของตัวเอง แล้วทำในสิ่งที่ชอบ

ผมว่าสำคัญที่สุด เราต้องเปิดโอกาสให้ตัวเองได้ลองลงมือทำ ผมเริ่มจากไม่รู้หรอกว่าตัวเองชอบอะไร ปล่อยให้ความคิดเติบโตตามวัยและประสบการณ์ชีวิตที่ได้เรียนรู้ ไม่มีคนต้นแบบ ไม่มีแรงบันดาลใจจากไหนหรือจากใคร รู้แต่ว่าผมทำตามความรู้สึกว่ารักที่จะทำสิ่งนี้และมีความสุขที่ได้ทำสิ่งเหล่านี้เสมอ มันค่อยๆ เกิดความรู้สึกขึ้นมาทีละอย่างเมื่อเราได้มีโอกาสทำสิ่งนั้น

ภาพในความทรงจำ สิ่งที่ฝังอยู่ในใจ หรือ Passion จะชัดเจนขึ้นเองเรื่อยๆ บางเรื่องไม่รู้มาก่อนว่าตัวเองชอบ แต่มันคลิกตั้งแต่ครั้งแรก ผมไม่เคยคิดว่าตัวเองชอบขี่บิ๊กไบค์ ตอนญาติขี่มาหาที่เชียงของครั้งแรก ยังนึกในใจว่าอันตรายขี่มาได้ยังไง แต่เขาเชียร์ให้ออกไปขี่ผมก็ไป พอกลับมาผมขอซื้อรถต่อจากเขาเลย เพราะตอนขี่ผมเห็นภาพไอ้มดแดงกับอุลตร้าแมนบนมอเตอร์ไซค์วิ่งฝ่าอากาศออกไป เป็นการ์ตูนไม่กี่เรื่องที่ผมได้ดู แล้วก็รู้สึกดีกับมันมาก การบินโดรนก็เหมือนกัน ชอบตั้งแต่ได้สัมผัสครั้งแรก

แล้วคุณหมอรู้ตัวเองตั้งแต่ตอนไหนว่าชอบการถ่ายภาพ

ผมเริ่มจากการชอบเขียนบันทึกประจำวันมาตั้งแต่เรียนมัธยม ชอบบันทึกความคิดความรู้สึกของตัวเอง บางครั้งวาดภาพความคิดออกมา หรืออาศัยตัดแปะภาพจากนิตยสารเก่าๆ มาติดประกอบงานเขียน พอมีโอกาสเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ช่วงปี 2531 ที่เชียงใหม่มีคอนโด มีอาคารสูงๆ เยอะขึ้น ความคิดตอนนั้นผมอยากบันทึกภาพถ่ายวัดต่างๆ ในเชียงใหม่เก็บไว้ก่อนถูกตึกบดบังไปหมด แต่ไม่มีเงินซื้อกล้องก็รอเก็บความฝันไว้ 2 ปี พอสอบเอนทรานซ์ใหม่เข้าเรียนแพทย์ได้ เก็บเงินสอนพิเศษได้จนพอซื้อกล้องฟิล์มมือสองเก่าๆ มาใช้ ผมก็ได้เริ่มต้นถ่ายภาพมาจนถึงตอนนี้ กล้องตัวแรกที่ใช้งาน คือ Yashica FX-D Quartz ส่วนสมุดบันทึกที่มีอยู่ ผมเก็บรักษาไว้ในตู้เซฟอย่างดี

DJI_0201

ตอนไฟไหม้บ่อขยะเชียงของ เดือนเมษายนที่ผ่านมา ภาพถ่ายด้วยโดรนของคุณหมอกลายเป็นภาพที่ถูกนำมาใช้อีกครั้งเพื่อรายงานสถานการณ์ในพื้นที่ ตอนรู้ข่าวคุณหมอคิดอย่างไรถึงหยิบโดรนหยิบกล้องออกไปวันนั้น

ผมทำหน้าที่เป็นช่างภาพจิตอาสาอยู่แล้ว ช่วงนั้นเป็นช่วงฝุ่นควันด้วย ก่อนเกิดเหตุบ่อขยะไหม้ ผมตั้งใจบินโดรนเก็บบันทึกภาพสถานการณ์ไฟไหม้ป่าในเขตเชียงของอยู่ก่อนแล้วหลายครั้ง วันนั้นผมทราบข่าวจากเฟซบุ๊คของพี่คนหนึ่งที่ทำงานกู้ภัยเชียงของว่ากำลังดับไฟไหม้บ่อขยะ ผมคว้ากระเป๋าโดรน บิดมอเตอร์ไซค์ออกไปที่บ่อขยะเลยโดยสัญชาตญาณ

พอไปถึงเห็นควันพวยพุ่งเต็มท้องฟ้า เลยบินโดรนขึ้นสำรวจสถานการณ์ ก็ได้เห็นภาพว่ามันรุนแรงกว่าที่คิดไว้มาก และควันที่เกิดขึ้นอันตรายพอสมควรต่อสุขภาพของคนในชุมชนเชียงของที่ห่างจากบ่อขยะไม่มาก ผมตั้งใจถ่ายภาพมุมสูงมาโพสต์เพื่อช่วยย้ำเตือนชุมชนให้ระวังสุขภาพกันให้มากในช่วงที่ยังควบคุมเพลิงไม่ได้ เจ้าหน้าที่ใช้เวลา 4-5 วันถึงจะควบคุมสถานการณ์ไว้ได้

เห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นในชุมชนบ้าง

ความเปลี่ยนแปลงโดยตรงเกิดขึ้นที่ตัวผมเลย ขยะที่อยู่ในนั้นต้องมีบางส่วนมาจากบ้านผม หลังจากนั้นผมหันมาจริงจังกับการไม่รับถุงพลาสติก เพื่อลดปริมาณขยะในครัวเรือน ทั้งที่ก่อนหน้านี้เราก็รู้ว่าควรทำอย่างไรเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม แต่เหตุการณ์ครั้งนั้นสร้างแรงกระเพื่อมให้ผมลงมือทำ ตอนนี้ไปไหนผมพกกระติกน้ำไปเอง เวลาไปซื้อกาแฟหรือน้ำเต้าหู้ก็ใส่กระติก ตอนออกทริปขี่บิ๊กไบค์ก็เอาน้ำใส่กระติกหรือขวดที่ใช้ซ้ำได้ไป ติดกระเป๋าปี๊บหลังมอเตอร์ไซค์ไว้ใส่ของหรือใช้ถุงผ้า

เรื่องนี้คือบทเรียนสำคัญของทั้งชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้จริงจังกับการจัดการขยะ ผมว่าภาพและวิดีโอต่างๆ ที่บันทึกไว้มีประโยชน์ บางเรื่องเป็นการบันทึกภาพประวัติศาสตร์ของเมือง บางเรื่องสามารถใช้เป็นสถิติไว้เปรียบเทียบสำหรับศึกษาในปีต่อๆ ไปได้

ก่อนหน้านี้ คุณหมอเคยถ่ายภาพเกาะแก่งแม่น้ำโขง ภาพสวนกล้วยที่ใช้สารเคมี หรือแม้แต่ภาพป่าแหว่งด้วย เหมือนค่อนข้างเซนซิทีฟกับประเด็นสังคม?

อย่างที่บอก สังคมให้ผมมาเยอะ ผมทำในฐานะพลเมืองไทยไม่ใช่แค่ที่เชียงของ ผมว่าจิตสำนึกที่ดีในฐานะพลเมืองคือสิ่งที่เราควรมีทุกคน ไม่ต้องให้ใครมากำหนดหรือร้องขอให้เราทำหรือไม่ทำ เราคุ้นเคยกับสิทธิและหน้าที่ แต่นั่นคือตัวอักษรแบบทางการ ผมคิดว่าจิตสำนึกที่ดีควรเกิดขึ้นมาเองและจะเป็นตัวกำหนดทั้งสิทธิและหน้าที่ให้เราเดินตาม โดยเฉพาะถ้าหากสิ่งนั้นทำให้สังคมน่าอยู่ขึ้นและดีขึ้น ต่อให้ไม่มีใครรู้ ไม่มีใครเห็นก็ทำไปเลย ในทางกลับกันอะไรที่เอาเปรียบสังคมหรืออาจสร้างผลกระทบด้านลบกับสังคม แม้ไม่มีใครรู้เห็นเราก็ควรละเว้น

เราทุกคนได้รับการหล่อเลี้ยงดูแลพื้นฐานชีวิตจากสังคมไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม เช่น อากาศที่ดี น้ำที่สะอาด การคมนาคมขนส่ง หรือการบริจาคช่วยเหลือจากคนรอบตัว ผมเลยอยากตอบแทนกลับคืนสู่สังคมเมื่อมีโอกาส ไม่ต้องคิดไปไกลหรอก เริ่มต้นเท่าที่เราทำได้ต่อชุมชนที่อยู่อาศัยก่อน จากหน่วยเล็กๆ ของชุมชน ไม่มีเงินก็ลงแรง พอมารวมกันแล้วมันจะใหญ่ขึ้นเอง

เวลานึกถึงหมอ จะมีภาพจำว่าหมอ ต้องเป็นเด็กเรียนเก่ง ใส่แว่น ดูเนิร์ดๆ ไม่ชอบอะไรโลดโผด เท่าที่เห็นคุณหมอว่าตัวเองแปลกกว่าคนอื่นไหมคะ

เราจำภาพลักษณ์ของแต่ละอาชีพตามที่ได้เห็น ได้รับรู้ ถ่ายทอดต่อๆ กันมา ซึ่งในความเป็นจริงทุกอาชีพมีคนที่ไม่เหมือนภาพลักษณ์ตามแบบที่ฝังใจกันอย่างนั้นเต็มไปหมด หมอที่ไม่เหมือนหมอมีตั้งเยอะครับ หมอนักเขียน หมอดารา หมอนักเดินทาง หมอนักผจญภัย หมอนักอนุรักษ์ หมอนักบิน หมอนักกีฬา หมอนักร้อง หมอนักธุรกิจ หมอนักถ่ายภาพ ไม่ได้ใส่แว่นหนา ดูเชยๆ เนิร์ดๆ ส่วนตัวผมเองมองหมอเป็นเพียงอาชีพหนึ่งในสังคมเพื่อประกอบสัมมาชีพ ส่วนชีวิตหลังจากเลิกงานหรือในวันหยุดก็เหมือนคนทั่วไปที่รักชอบอะไรก็ไปทำกิจกรรมนั้น โดยอาจแตกต่างจากภาพลักษณ์ในวิชาชีพ

IMG_0139.2

คุณหมอแบ่งเวลาและจัดสรรชีวิตอย่างไร ที่ผ่านมามีปัญหาหรืออุปสรรคอะไรบ้าง

ผมมองว่าในหนึ่งวันทุกคนมีเวลา 24 ชั่วโมงเท่ากัน นี่คือความยุติธรรมที่มนุษย์ทุกคนทุกชาติได้รับมา ขโมยกันไม่ได้ ย้อนคืนก็ไม่ได้ ประสิทธิภาพที่เรานำมาใช้ขึ้นกับวิธีคิดและการบริหารจัดการของแต่ละคน ผมเป็นคนชอบทำอะไรเยอะแยะไปหมดในแต่ละวัน จึงต้องวางแผนบริหารเวลาให้ดี ทุกวันนี้ก็ยังทำอะไรไม่หมดนะ ยังมีสิ่งที่อยากทำแล้วค้างคาอีกเยอะ

ผมใช้วิธีแยกเวลาออกจากกันเลยคือ ตอนทำงานก็ทุ่มเทกับสิ่งนั้นให้จบ แต่หลังเลิกงานผมไม่ใช่หมอแล้ว จะเป็นอะไรที่ฉีกแนวออกมา ขี่บิ๊กไบค์ ถ่ายภาพหรือไปบินโดรนในสถานที่ต่างๆ ถ้าคนไม่รู้จักกันมาก่อนแทบดูไม่ออกเลยว่าผมเป็นหมอ ผมไม่ชอบเปิดเผยตัว ชอบเป็นคนต่างถิ่นในที่ต่างๆ เราจะได้เห็นอะไรใหม่ๆ เสมอ

สำหรับครอบครัว ผมทำหน้าที่หัวหน้าครอบครัว รับผิดชอบภาระทุกอย่าง ส่วนเรื่องลูกสาวยกให้ภรรยาดูแลเป็นหลัก ส่วนผมเป็นผู้ช่วยที่บางครั้งไม่ได้เลี้ยงลูกเหมือนกันทั้งหมด ถือว่าให้ลูกได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง สุดท้ายก็แล้วแต่ลูกว่าชอบแบบไหน ผมว่าไม่มีวิธีไหนดีที่สุดสำหรับเด็กทุกคน ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนไปตามการเติบโตของเขา แต่ผมไม่เน้นการบังคับ สอนด้วยเหตุผลให้เขาเข้าใจในสิ่งที่เขารับรู้ได้ ไม่ตีแต่ลงโทษได้ถ้าทำผิด โดยจะบอกเหตุของความผิดและผลของการกระทำ หากจะลงโทษ ลูกต้องยอมรับด้วยตัวเองก่อนว่าผิดจริง แล้วให้โอกาสปรับปรุงตัวในคราวต่อไป

ตอนนี้คุณหมอให้ความสำคัญกับเรื่องอะไรมากที่สุดในชีวิต

ผมให้ความสำคัญกับเรื่องความสมดุลในชีวิตมากเป็นลำดับต้นๆ เป็นที่มาของการดำเนินชีวิตอย่างทุกวันนี้ แต่ละวันผมใช้เวลาทำหลายอย่าง เช่น งานหลักคือเป็นหมอตรวจคนไข้ เป็นหัวหน้าครอบครัว เป็นพ่อ งานเกี่ยวกับความชอบในกิจกรรมที่เป็นงานอดิเรกของตัวเองเยอะมาก และไม่ลืมจัดเวลาเพื่องานจิตอาสา มีทั้งบินโดรนถ่ายภาพจิตอาสาทั้งของหน่วยงานราชการ หรือเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว งานออกหน่วยแพทย์อาสา ทั้งหมดผมทำด้วยจิตสำนึกของความเป็นพลเมืองบนผืนแผ่นดินนี้

แม้แต่รายได้จากการทำงานของผมก็มาจากคนไข้ที่มาหาผม พวกเขาจึงเหมือนผู้มีพระคุณที่เลี้ยงดูให้ผมมีอาชีพมาตลอด การตอบแทนคืนสังคมโดยเฉพาะในเชียงของนี้จึงเป็นเรื่องที่ผมจะทำตลอดไป

ผมเชื่อว่าเราสามารถมีความสุขร่วมไปกับความสุขของคนอื่นได้ อย่าไปอิจฉาหรือหมั่นไส้ความสุขของใคร หรือในบางกรณีอาจคิดอีกแนวว่าอย่าไปมีความสุขบนความทุกข์ของคนอื่น และจงหลีกเลี่ยงเข้าไปวุ่นวายกับชีวิตคนอื่นโดยเฉพาะเรื่องลบๆ อย่าไปยุ่งอย่าไปขุดคุ้ย ขอให้มีขอบเขตของตัวเองที่จะไม่รุกล้ำพื้นที่ส่วนตัวของใคร