ศรัทธาพุทธที่ศรีลังกา  

ศรัทธาพุทธที่ศรีลังกา   

ประเทศเล็กๆ ที่งดงามด้วยศิลปะ วัฒนธรรม และพุทธศาสนา รวมถึงผู้คนที่มีจิตใจเอื้ออารี

 

เมื่อพูดถึง ศรีลังกา ประเทศเล็กๆ ที่มีสภาพเป็นเกาะในมหาสมุทรอินเดีย คุณนึกถึงอะไรบ้าง...

“ศรัทธาชาวพุทธ ที่มีวัฒนธรรม มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว”

“ผู้คนที่ดูคล้ายๆ คนอินเดีย ผิวดำ คิ้วเข้ม ไว้หนวด ดูดุๆ ”

“ชาซีลอนรสเข้ม ใส่นมนิดๆ อร่อยจริงๆ ”

“ประเทศที่มีพระเขี้ยวแก้วขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า อยากไปกราบสักการะสักครั้ง”

ที่กล่าวมา ยังไม่หมดแค่นั้น ต้องมาสัมผัสด้วยตัวเอง โดยเฉพาะผู้คนผิวดำๆ ดูดุๆ แต่จิตใจงดงาม ไม่น่ากลัวอย่างที่หลายคนคิด

 

. 2_3 ...............

 

ศรีลังกา เป็นเกาะในมหาสมุทรอินเดีย ห่างจากตอนใต้ของอินเดียแค่ 80 กิโลเมตร สามารถปลูกชาได้ดี มีชื่อเสียงจากชาซีลอน มีเครื่องเทศที่รสชาติดีมาก พริกไทยรสเผ็ดร้อนไม่เหมือนที่ไหนในโลก  อบเชย และโกโก้ ฯลฯ

 

ประเทศนี้มีศิลปะวัฒนธรรมใกล้เคียงกับอินเดีย ไม่เว้นแม้กระทั่งรูปร่างหน้าตาคนศรีลังกาที่ละม้ายคล้ายคนอินเดีย แต่สามารถแยกแยะได้ว่าชนชาติไหน เพราะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว 

 

ไม่ว่าหญิงหรือชายศรีลังกา ส่วนใหญ่มีน้ำใจเป็นมิตรกับผู้คน เป็นชาวพุทธที่มีศรัทธาเข้มแข็ง นับถือพุทธศาสนาสายเถรวาท 

 

ทุกมุมของโคลัมโบ เมืองหลวงที่มีโอกาสเดินเที่ยว จะมีพระพุทธรูปประดิษฐานไว้ให้ชาวศรีลังกากราบไหว้สักการะและสวดมนตร์ภาวนา

 

แม้ที่นั่นจะมีสภาพอากาศร้อนชื้นเหมือนเมืองไทย แต่ไม่อบอ้าวเท่าบ้านเรา เนื่องจากตั้งอยู่เหนือเส้นศูนย์สูตร ทำให้อุณหภูมิไม่เปลี่ยนแปลงมากประมาณ 27 องศาเซลเซียส

 

ครั้นที่มาร์โคโปโล แล่นเรือผ่านประเทศเล็กๆ แห่งนี้ เขาเรียกดินแดนแถบนี้ว่า ซีแลน ดินแดนที่มีความงดงามดั่งแดนสวรรค์ ส่วนชาวจีนเรียกศรีลังกาว่า ดินแดนแห่งอัญมณี เนื่องจากเป็นประเทศที่มีอัญมณีเนื้อดี ส่วนชาวโปรตุเกสที่เข้ามาติดต่อค้าขายเครื่องเทศ เรียกพวกเขาว่า Ceilao และเมื่อครั้งที่อังกฤษเข้ามาปกครอง เปลี่ยนชื่อเป็นซีลอน

 

และคนอังกฤษนี่แหละที่เห็นว่า ภูมิประเทศแถบนี้เหมาะแก่การปลูกชา จึงนำเทคโนโลยีมาเผยแพร่แก่คนศรีลังกา คนอังกฤษจึงรู้ดีว่าชาที่ปลูกในศรีลังกาดีมาก ทำให้ชาซีลอนเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

 

-1-

IMG_7322 (2) ว่ากันว่า ศรีลังกาไม่ได้มีแค่วัดวาอาราม ยังมีแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ และมีเทศกาลต่างๆ ให้คนทั่วโลกมาสัมผัสเที่ยวชม เมื่อไม่นานนี้เอง สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา พาไปดูวัดวาอาราม เพราะเห็นว่าคนไทยคงชอบเที่ยววัดเหมือนคนศรีลังกา

 

ประเทศของเขามีแหล่งท่องเที่ยวมรดกโลกที่ถูกกำหนดโดยองค์การยูเนสโกอยู่ 7 แห่ง มีประวัติศาสตร์ ศิลปะวัฒนธรรมที่มีอายุเก่าแก่กว่าสองพันปี และครั้งนี้เราได้ไปชมพระราชวังบนเขาสิกิริยา ในเมืองแคนดี้ หนึ่งในมรดกโลก ซึ่งมีความมหัศจรรย์ไม่เหมือนที่ใดในโลก และจะเล่าให้ฟังในโอกาสต่อไป

 

น่าเสียดายว่า ไม่มีโอกาสชมนครศักดิ์สิทธิ์แห่งอนุราธปุระ เนื่องจากเวลาจำกัด มรดกอีกแห่งทางภาคเหนือตอนกลางห่างจากโคลัมโบกว่า 200 กิโลเมตร สร้างเมื่อศตวรรษที่ 4 ก่อนคริสต์ศักราช พร้อมๆ กับการนำพุทธศาสนาเข้ามาในศรีลังกา ทำให้เมืองนี้เป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้พุทธศาสนา จึงเป็นยุคทองแห่งประวัติศาสตร์ศรีลังกา มีการสร้างพระสถูปเจดีย์ขนาดใหญ่เทียบได้กับปิรามิดอียิปต์ และยังมีแหล่งมรดกโลกอื่นๆ อีก ส่วนมรดกโลกแห่งที่ 7 เป็นแหล่งธรรมชาติที่ค้นพบนอกลุ่มแม่น้ำอะเมซอน เนื่องจากมีความหลากหลายทางชีวภาพ

 

 เหมือนเช่นที่กล่าวมา ที่นี่เป็นเมืองพุทธที่มีศรัทธาเข้มแข็ง เวลาคนศรีลังกาไปวัด ก็จะไปนั่งสวดมนต์ภาวนา

พุทธศาสนาเข้ามาเผยแพร่ในศรีลังกายาวนานกว่าสองพันปี เคยมีการบันทึกไว้ว่า พระพุทธเจ้าเคยเสด็จไปลังกาทวีปถึง 3 ครั้ง  ลังกาทวีปเป็นชื่อที่เรียกสมัยอาณานิคม กระทั่งปีพ.ศ. 2517 มีการใช้ชื่อนี้บ้างในบางโอกาส ส่วนชื่อเป็นทางการคนทั้งโลกเรียกว่า  ศรีลังกา ปัจจุบันศรีลังกามีพุทธศาสนา 3 นิกายคือ สยามวงศ์หรือลังกาวงศ์ ,อมรปุรนิกาย และรามัญนิกาย

 

หลายประเทศในแถบเอเชียต่างเคยเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ  ศรีลังกา ก็เช่นกัน เคยเป็นเมืองขึ้นอังกฤษ คนประเทศนี้จึงรับวัฒนธรรมบางอย่างจากอังกฤษ พวกเขาได้รับเอกราชเมื่อปีพ.ศ. 2491 และปกครองด้วยระบบสาธารณรัฐประชาธิปไตย เคยมีปัญหาการสู้รบระหว่างรัฐบาลกับกบฏแบ่งแยกดินแดนพยัคฆ์ทมิฬอีแลม ซึ่งมีข้อตกลงหยุดยิงปี พ.ศ. 2545

 

 

 -2-

IMG_7709 ทั้งไทยและศรีลังกาต่างนับถือพุทธ ซึ่งเป็นศาสนาหลักประจำชาติ 

ชาวพุทธไทยที่มีความศรัทธาในพุทธศาสนาก็อยากมาสักการะพระเขี้ยวแก้ว(พระทันตธาตุของพระพุทธเจ้าที่ชาวศรีลังกา ถือว่าเป็นสมบัติล้ำค่าที่วัดพระเขี้ยวแก้ว หรือวัดศรีทัลฒามัลลิกาววิหาร ซึ่งเป็นวัดสายเถรวาท (สยามวงศ์) ในเมืองแคนดี้

 

ครั้งนี้เรามีโอกาสเที่ยวโคลัมโบก่อนจะไปเมืองแคนดี้ และแหล่งท่องเที่ยวเด็ดๆ ต้องเมืองแคนดี้ 

ถ้าแวะเมืองโคลัมโบ ต้องลองดื่มชาร้อนๆ ในร้านเล็กๆ จะได้บรรยากาศแบบศรีลังกา และขอบอกก่อนว่า ชานมที่นั่นหวานมาก 

 

วัดแรกที่มาเยือนชื่อวัดคงคาราม นิกายสยามวงศ์ สร้างเมื่อปีพ.ศ. 2428 หากเดินเข้าไปก็จะรู้ว่า เป็นศิลปะผสมผสานระหว่างศรีลังกา ไทย อินเดีย และจีน  มีครบทุกอย่างที่หลายคนอยากเห็น วัดไม่ใหญ่มาก แต่มีความหลากหลาย มีต้นพระศรีมหาโพธิ์ขนาดใหญ่ที่ร่มรื่น คนศรีลังกาจะดูแลต้นพระศรีมหาโพธิ์อย่างดี ไม่มีการตัดกิ่งก้านสาขา ปล่อยให้เติบโตตามธรรมชาติจะยื่นไปทิศไหนก็ไม่ตัด ไม่ว่าจะยื่นเข้าอาคารก็ตาม เนื่องจากคนศรีลังกานับถือมาก เพราะเป็นหน่อพระศรีมหาโพธิ์ หน่อที่ 2 ในพุทธกาลที่นำมาปลูกในศรีลังกา จึงมีอายุเก่าแก่กว่าพระศรีมหาโพธิ์ในอินเดีย และเท่าที่เห็นคนศรีลังกาก็ไม่นิยมตัดต้นไม้เหมือนคนไทย เมื่อพัฒนาบ้านเมือง ณ จุดใด ก็ต้องตัดต้นไม้ให้โล่งเตียน

 

ส่วนอีกวัดที่มีโอกาสมาเยือนและเก่าแก่มากคือ  วัดกัลยาณี มีอายุกว่าสองพันปี มีภาพจิตรกรรมและพระพุทธรูปที่งดงามในวัด มีต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่ชาวศรีลังกามานั่งสวดมนตร์รอบๆ  ทุกวัน

 

ว่ากันว่าวัดแห่งนี้เคยถูกทำลายหลายครั้ง และมีการบูรณปฏิสังขรณ์มาตลอด เป็นอีกวัดที่เห็นศรัทธามหาชนชาวศรีลังกา ซึ่งพวกเขาไม่ได้มีพิธีรีรองมากมายเวลาเข้าวัด ขอเพียงหามุมเงียบๆ นั่งภาวนาสวดมนต์ให้จิตใจสงบ

 

 

-3-

อีกไม่นานเกินรอ คนไทยจะสามารถท่องเที่ยวในศรีลังกาโดยไม่ต้องขอวีซ่า ซึ่งทางการท่องเที่ยวแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา กำลังดำเนินการเรื่องนี้ แต่ก็ต้องรอข้อตกลงการท่องเที่ยวระหว่างรัฐบาลไทยกับศรีลังกา ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้นการท่องเที่ยวในศรีลังกาก็จะง่ายขึ้น 

 

เนื่องจากแต่ละปีที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวไทยเข้ามาศรีลังกาแค่ปีละ 9,000 คน ล่าสุดจึงมีการร่วมมือกับททท.ทั้งสองประเทศ เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

 

และที่พลาดไม่ได้เลยถือเป็นงานยิ่งใหญ่ของคนศรีลังกา ก็คือ เทศกาลเประเฮระที่เมืองแคนดี้ ช่วงปลายเดือนกรกฎาคมถึงต้นสิงหาคมนี้ เป็นเทศกาลที่มีมาตั้งแต่ศตวรรษที่สามก่อนคริสต์ศักราช แม้รูปแบบจะเปลี่ยนไปบ้าง แต่ยังยึดแนวทางแบบเดิม มีขบวนแห่แหนเอสละ มีการนำพระธาตุเขี้ยวแก้วออกมาแห่ให้ประชาชนสักการะ มีการประดับไฟอย่างงดงาม มีขบวนช้าง ขบวนกลอง และนักระบำพื้นเมืองออกมาเต้นตลอดงาน

ดูรายละเอียดที่ www.srilanka.travel 

IMG_7376 ................

 

(((ชาดีๆ ต้องซีลอน)))

 

 ว่ากันว่า ศรีลังกาปลูกและผลิตชาคุณภาพดี ที่นักท่องเที่ยวจำนวนมากต้องซื้อกลับบ้านและยังเป็นประเทศที่ส่งชาออกเป็นอันดับต้นๆ ของโลกนอกจากคุณภาพดียังราคาไม่แพง

 

เนื่องจากเมืองนี้อยู่บนที่ราบสูงจากระดับน้ำทะเล และอยู่กลางภูเขาสูง อากาศร้อนชื้น เหมาะสำหรับการปลูกชา ทำให้เมืองแคนดี้เป็นแหล่งผลิตชาที่ดีของศรีลังกา เมืองนี้ห่างจากโคลัมโบกว่าร้อยกิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 3-4 ชั่วโมง

 

เมืองแคนดี้ ปลูกชามาตั้งแต่ปีค.ศ. 1870หลังจากมีปัญหาต้นกาแฟเกิดโรคระบาด คนศรีลังกาจึงหันมาทำไร่ชาแทน โดยได้รับคำแนะนำจากคนอินเดีย แรกๆ ใช้ชื่อว่า ชาศรีลังกา จนกระทั่งฝรั่งเข้ามาประเทศนี้ พวกเขาเรียกชาเหล่านี้ว่า ชาซีลอน

 

โดยปกติแล้วชาจะถูกนำมาปลูกในเขตร้อน และกึ่งร้อนในแถบเอเชีย

ในศรีลังกา การปลูกชาแต่ละพื้นที่จะมีคุณภาพและราคาต่างกัน มีทั้งชาใบ ชาผง และชาซอง และยังมีการผสมผสานกับพืชสมุนไพร แต่งกลิ่น แต่งรส ทำให้ชาที่นี่มีคุณภาพ หลายเกรด โดยชาในประเทศนี้จะมีการควบคุมมาตรฐานภายใต้คณะกรรมการชาแห่งชาติ

 

ถ้าใครมีโอกาสไปท่องเที่ยวตามไร่ชาที่ได้มาตรฐาน นอกจากผู้เชี่ยวชาญจะเล่าถึงวิธีการปลูก การเก็บ การบดและรสชาติต่างๆ ของชาแล้ว ยังให้ทดลองดื่มชาอย่างชาขาว White Tea หรือ Silver Tips เป็นชาที่มีราคาแพง แต่สามารถซื้อหาที่ศรีลังกาในราคาไม่สูงมาก

 

ชาขาวเป็นชาที่เก็บจากใบอ่อนที่เพิ่งแตกและใบตูมน้อยๆ ที่กำลังแทงยอดผลิบาน จะเลือกเก็บช่อที่อ่อนที่สุด และเป็นชาที่ไม่ผ่านกระบวนการหมัก ทำแบบธรรมชาติ โดยใช้ไอน้ำแทน ใบชาจึงมีสีซีดกว่าชาชนิดอื่นๆ

 

กลิ่นชาชนิดนี้จึงอ่อนกว่าชาชนิดอื่นๆ ถ้าไม่ใช่นักดื่มชา จะรู้สึกเหมือนไม่มีรสชาติ จึงมีข้อแนะนำว่า เวลาดื่มชาขาว ไม่ควรใส่นมและน้ำตาล เนื่องจากมีสารแอนติออกซิเดนซ์สูง กาแฟอีนต่ำ มีสรรพคุณที่ดีอยู่แล้ว

ส่วนคนที่นิยมดื่มชาเขียว ชาชนิดนี้ก็มีกระบวนการผลิตที่ละเมียดละไมจากยอดอ่อน และก้านใบอ่อนๆ นำมาผึ่งให้อ่อนตัว จากนั้นอบและคั่วหมาดๆ ซึ่งมีคุณภาพและสรรพคุณที่ดีเช่นกัน แต่ชาขาวจะมีคุณภาพดีกว่า

ชาทั้งสองชนิดที่กล่าวมา จะไม่ผ่านกระบวนการผลิตเหมือนชาทั่วไปที่ใช้การหมัก โดยการตากแห้งและอบด้วยความร้อนสูง จนกระทั่งใบชามีสีน้ำตาลเข้มจัด มีรสขมฝาดๆ

ปกติแล้วชาซีลอนจะมีสีเข้ม เหมาะสำหรับดื่มกับนมหรือมะนาว น้ำชาไม่ขุ่นเมื่อใส่น้ำแข็งลงไป จึงดื่มได้ทั้งชาร้อนและเย็น