ส่องสถานการณ์ ‘แบนพลาสติก’ ทั่วโลก

ส่องสถานการณ์ ‘แบนพลาสติก’ ทั่วโลก

รู้หรือไม่..ประเทศไหนประกาศห้ามใช้ถุงพลาสติกที่ของโลก...ชวนมาส่องนโยบายลดขยะพลาสติกที่ประสบความสำเร็จของหลายประเทศเพื่อเป็นแนวทางให้กับประเทศไทยกัน

ถือเป็นข่าวดีรับวันปลอดถุงพลาสติกสากล หรือ International Plastic Bag Free Day ซึ่งตรงกับวันที่ 3 กรกฎาคมของทุกปี เมื่อห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เกตในเครือ เดอะ มอลล์ กรุ๊ป ประกาศงดแจกถุงพลาสติกฟรีอีกต่อไป โดยลูกค้าที่ประสงค์จะรับต้องจ่ายค่าถุงพลาสติกเองใบละ 1 บาท

 

ก่อนหน้านี้ กลุ่มค้าปลีกเซ็นทรัลก็ได้จัดแคมเปญ เซ็นทรัล เลิฟ ดิ เอิร์ธ ‘เซย์ โน ทู พลาสติก แบ็กส์’ มอบคะแนนเดอะวันการ์ดเพิ่มให้เป็นพิเศษสำหรับลูกค้าที่ไม่รับถุงพลาสติกไปแล้ว โดยตั้งเป้าเอาไว้ว่าในปี 2562 จะลดปริมาณถุงพลาสติกได้มากกว่า 150 ล้านใบ

 

ขณะที่ทาง 7-eleven เผยตัวเลขว่า ตั้งแต่ทำแคมเปญไม่รับถุงเปลี่ยนเป็นเงินบริจาค 20 สตางค์เพื่อช่วยโรงพยาบาล 77 จังหวัด ที่เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ถึงวันนี้สามารถลดถุง 500 ล้านถุง เปลี่ยนเป็นเงินบริจาคได้ 100 ล้านบาทแล้ว

 

เหล่านี้คือความเคลื่อนไหวบางส่วนเพื่อลดจำนวนการใช้ถุงพลาสติกในบ้านเรา ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องน่ายินดี แต่ก็ยังมีความล่าช้ากว่าหลายประเทศที่รณรงค์เรื่องนี้มาเป็นเวลานานแล้ว วันนี้เลยจะมาชวนไปตรวจสอบสถานการณ์แบนพลาสติกทั่วโลกว่ามีความคืบหน้าไปถึงไหนแล้ว

  20190607091937936

1.ใช้แค่ 12 นาที แต่อยู่ต่อไปอีก 500 ปี

 พลาสติกเป็นวัสดุที่เพิ่งจะมาได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในช่วง 50 ปีมานี้เอง โดยการผลิตพลาสติกได้พุ่งขึ้นพรวดพราดจาก 15 ล้านตันในปี 1964 มาเป็น 311 ล้านตันในปี 2014 แล้วจากนั้นก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะความสะดวกสบายในการใช้งาน

 

ข้อมูลจากเว็บไซต์ conservingnow.com ระบุว่าทุกปีจะมีการใช้ถุงพลาสติกราว 500,000 ล้าน – 1 ล้านล้านใบทั่วโลก ซึ่งเท่ากับมีการใช้มากถึง 1 ล้านใบต่อนาที โดยคนเราจะใช้ถุงพลาสติกกันโดยเฉลี่ยแค่ 12 นาที ส่วนอัตราการรีไซเคิลถุงพลาสติกนั้นมีเพียงแค่ 1 ใบ ต่อจำนวนถุง 200 ใบที่เราใช้

 

ส่วนข้อมูลจากเว็บไซต์ biologicaldiversity.org ระบุว่าต้องใช้เวลาถึง 500 ปี หรือกว่านั้น กว่าถุงพลาสติกที่กลายเป็นขยะทับถมจะถูกย่อยสลายจนหมด

 

2.บังกลาเทศ - ชาติแรกที่แบนถุงพลาสติก

 เชื่อหรือไม่ว่าประเทศที่ประกาศห้ามใช้ถุงพลาสติกเป็นแห่งแรกของโลกไม่ใช่ประเทศพัฒนาแล้วที่ถูกมองว่าประชาชนมีจิตสำนึกค่อนข้างดีในเรื่องนี้ แต่กลับกลายเป็นประเทศกำลังพัฒนาในแถบเอเชียอย่าง บังกลาเทศ ที่ประกาศห้ามใช้มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2002 หลังจากพบว่าถุงพลาสติกเข้าไปอุดตันท่อระบายน้ำจนทำให้เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในประเทศขึ้น

 

3.เคนยา – บทลงโทษเข้มสุด

 ประเทศที่มีบทลงโทษผู้ฝ่าฝืนกฎหมายห้ามใช้ถุงพลาสติกรุนแรงที่สุดในโลก คือ เคนยา ด้วยบทลงโทษจำคุก 4 ปี หรือปรับสูงสุด 40,000 ดอลลาร์สหรัฐ (กว่า 1.2 ล้านบาท) ประเทศเคนยาประกาศใช้กฎหมายนี้ในเดือนเมษายน ค.ศ. 2017 โดยผู้ผลิต ผู้ขาย หรือแม้แต่ผู้ที่ใช้ถุงพลาสติกก็เสี่ยงจะถูกเล่นงานด้วยบทลงโทษนี้เหมือนกัน

 

ทั้งนี้ หนังสือพิมพ์เดอะ การ์เดียน รายงานว่านับถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2018 (หลังจากบังคับใช้กฎหมายได้ราว 10 เดือน) มีชาวเคนยาราว 50 คน ถูกจับอันสืบเนื่องมาจากกฎหมายห้ามใช้ถุงพลาสติกนี้

 

4.มี 127 ประเทศห้ามใช้ถุงพลาสติก

 ข้อมูลล่าสุดจากรายงานของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) และสถาบันทรัพยากรโลก (WRI) พบว่า มีเพียง 127 ประเทศทั่วโลก จาก 192 ประเทศที่ทำการสำรวจ มีการออกกฎหมายควบคุมการใช้ การผลิต การขาย และการกำจัดถุงพลาสติก (ข้อมูลนี้นับถึงเดือนกรกฎาคม 2018)

 

ผลสำรวจยังพบว่ามี 27 ประเทศ ที่มีนโยบายห้ามพลาสติกใช้แล้วทิ้งอย่าง จาน ช้อนส้อม ถ้วย หลอด และบรรจุภัณฑ์พลาสติก มี 30 ประเทศ คิดค่าใช้จ่ายกับผู้บริโภคที่ต้องการใช้ถุงพลาสติก แล้วก็มี 27 ประเทศที่เรียกเก็บภาษีจากการผลิตถุงพลาสติกโดยเฉพาะ

20190619220314197  

5.พลาสติก 79% กลายเป็นขยะ

พลาสติกใช้แล้วทิ้งมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีก็คือทำให้เกิดการปฏิวัติครั้งใหญ่ในทางการค้า ผู้บริโภคได้รับความสะดวก แล้วยังทำให้สุขอนามัยของคนดีขึ้นด้วย ทว่า ความสะดวกสบายนี้ต้องแลกมาด้วยการที่ชายหาด ตลอดจนพื้นดินต้องเต็มไปด้วยขยะพลาสติกที่ทับถมกันอยู่นานหลายร้อยปี

 

ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่าพลาสติกที่ถูกผลิตขึ้นมาตั้งแต่แรก จนถึงตอนนี้ได้กลายเป็นขยะสะสมอยู่ในสภาพแวดล้อมมากถึง 79% แล้วมีพลาสติกที่ถูกนำไปรีไซเคิลเพียง 9% เท่านั้น

 

6.ระบบนิเวศน์ทางทะเลคือผู้รับเคราะห์

80% ของขยะพลาสติกที่ใช้กันอยู่บนผืนดินจะไหลไปรวมอยู่ในมหาสมุทร ดังนั้น เป้าหมายหลักในการลดขยะพลาสติกก็คือเพื่อป้องกันอันตรายที่มีต่อระบบนิเวศน์ทางทะเลเป็นสำคัญ เพราะถุงพลาสติก หลอดดูด และไมโครพลาสติกจะไปสะสมกันเป็น ‘แพขยะ’ ผืนใหญ่มหาศาลในมหาสมุทร โดยแพขยะผืนใหญ่สุดมีชื่อเรียกว่า ‘แพขยะใหญ่แปซิฟิก’ หรือ Great Pacific Garbage Patch ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็น 2 เท่าของรัฐเทกซัส ที่มีขนาดใกล้เคียงกับประเทศไทยเลยทีเดียว

20190610145312374

 7.วาฬ - เสี่ยงตายสุด

 ในบรรดาสัตว์ทะเลที่ได้รับผลกระทบจากขยะพลาสติกนั้น ‘วาฬ’ ยักษ์ใหญ่ใจดีแห่งท้องสมุทร เป็นสัตว์ที่ได้รับความเสี่ยงมากที่สุด เพราะวาฬ (รวมไปถึงสัตว์นำชนิดอื่น) จะสับสน ไม่สามารถแยกพลาสติกออกจากอาหารที่พวกมันบริโภคได้จึงกินเข้าไป และทำให้เสียชีวิต

 

ล่าสุด ในบ้านเราก็เพิ่งมีข่าวเศร้า วาฬนำร่องครีบสั้น ความยาว 4.5 เมตร มาเกยตื้นบริเวณ คลองนาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา แล้วเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน ซึ่งผลการผ่าชันสูตรซากพบว่าในกระเพาะอาหารของวาฬตัวนี้มีถุงพลาสติกมากถึง 85 ชิ้น น้ำหนักรวมกันทั้งสิ้น 8 กิโลกรัม

 

8.‘มลพิษสีขาว’ ในจีน

 ประเทศจีนประสบปัญหาเรื่องขยะจากถุงพลาสติกขั้นรุนแรงจนมีคำศัพท์ว่า “มลพิษสีขาว” ขึ้นมาเรียกแทนขยะพลาสติก ตามมาด้วยการออกกฎหมายห้ามใช้ถุงพลาสติกเด็ดขาดในปี ค.ศ. 2008 ซึ่งนับตั้งแต่นั้นมา ขยะถุงพลาสติกก็ลดจำนวนลงร่วม 60%-80% หรือคิดเป็นจำนวนราว 40,000 ล้านใบ

 

9.ต้องเก็บเงินถึงได้ผล

 ผลสำรวจที่ทำขึ้นในหลายประเทศพบว่านโยบายสร้างแรงจูงใจให้คนไม่ใช้ถุงพลาสติก เช่น ให้คะแนนสะสม หรือลดเงินให้นั้น ไม่ส่งผลต่อการลดจำนวนการใช้ถุงพลาสติกโดยมีนัยสำคัญ แต่การบังคับใช้นโยบายที่เด็ดขาดอย่าง งดแจกถุงพลาสติกแล้วเรียกเก็บเงินค่าถุงไปเลยนั้นจะได้ผลกว่า ที่สำคัญคือ การห้ามใช้ยังทำให้จำนวนถุงพลาสติกในสิ่งแวดล้อมลดลงเป็นอย่างมากด้วย

 

ยกตัวอย่าง เมืองซาน โฮเซ รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐฯ ได้ห้ามใช้ถุงพลาสติกในปี ค.ศ. 2012 และนับจากนั้นก็พบว่ามีถุงพลาสติกไปอุดตันอยู่ตามท่อน้ำต่าง ๆ ลดลงถึง 89% ตามแม่น้ำลำธารลดลงไป 60% ส่วนขยะพลาสติกตามบ้านเรือนก็ลดลงไป 59%

 

ส่วนในเมืองซีแอตเติล หลังจากที่มีการแบนถุงพลาสติกได้ 5 ปี ก็พบว่าจำนวนขยะถุงพลาสติกตามบ้านเรือนลดลง 48% ขยะถุงพลาสติกในเชิงพาณิชน์นั้นลดลงไป 76% ส่วนจำนวนถุงพลาสติกที่ทับถมกันบนพื้นดินนั้นลดลงฮวบฮาบจาก 262 ตันในปี 010 มาอยู่ที่ 136 ตัน ในปี 2014

 

ข้ามไปที่เกาะอังกฤษ การใช้ถุงพลาสติกก็ลดลงไปถึงเกือบ 90% หลังจากที่มีการเรียกเก็บค่าถุงพลาสติกใบละ 5 เพนนี ในปี 2015 เช่นเดียวกับที่ไอร์แลนด์ การเรียกเก็บภาษีถุงพลาสติกก็ทำให้จำนวนการใช้ถุงพลาสติกลงไปมากถึง 90% เหมือนกัน ที่ประเทศโปรตุเกสนั้นลดลงไป 85%

 

ส่วนเดนมาร์ก ซึ่งเป็นประเทศที่มีอัตราการใช้ถุงพลาสติกต่ำสุดในยุโรป คือ โดยเฉลี่ยแล้วใช้กันแค่คนละ 4 ใบ ต่อปีเท่านั้น

  20190620133600106

9.แบนได้เมื่อพร้อม

 อย่างไรก็ตาม ถึงแม้การประกาศกฎหมายห้ามใช้เลยจะเป็นวิธีลดการใช้ถุงพลาสติกได้มากที่สุด แต่ก็ย่อมมีผลลัพธ์ที่ไม่ถึงประสงค์ตามมาด้วยเช่นกัน โดยที่เคนยานั้น หลังจากที่ทางการประกาศกฎหมายห้ามใช้ถุงพลาสติก พร้อมบทลงโทษที่เข้มงวดออกมา ปรากฎว่าได้มี ‘กลุ่มพ่อค้ามืดขายถุงพลาสติก’ ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด รวมไปถึงการลักลอบนำเข้าถุงพลาสติกจากประเทศเพื่อนบ้านอย่าง อูกันด้า และแทนซาเนีย เข้ามาใช้แทน

 

ส่วนที่รัฐมหาราษฏระในอินเดีย การที่ทางการออกมาประกาศห้ามพลาสติกใช้แล้วทิ้งอย่างปัจจุบันทันด่วนในปี 2018 ก่อให้เกิดเสียงคัดค้านตามมาทั้งจากผู้ค้ารายย่อย รวมไปถึงบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่อย่าง เป๊ปซี่ และโคคา-โคลา ส่งผลให้รัฐบาลท้องถิ่นต้องออกมาประกาศยกเลิกกฎหมายในท้ายที่สุด

 

นั่นเท่ากับว่าการที่จะจูงใจคนให้เลิกใช้ถุงพลาสติกได้นั้นเป็นเรื่องที่ต้องใช้ทั้งไม้อ่อน และไม้แข็ง ควบคู่ไปกับการศึกษาจิตวิทยาผู้บริโภค และพฤติกรรมของคนในประเทศให้อย่างถ่องแท้ถึงจะสำเร็จผล