มองโลกสวยด้วย ‘โยคะตา’

มองโลกสวยด้วย ‘โยคะตา’

การรวมศาสตร์ตะวันออกเพื่อฟื้นฟูดวงตา วิถีธรรมชาติที่จะช่วยถนอมสายตาคนยุคดิจิทัล

ดวงตาไม่ใช่แค่หน้าต่างของหัวใจ แต่ยังเป็นศูนย์รวมของประสาทการมองเห็น แต่ทุกวันนี้ผู้คนในสังคมดิจิทัลดูเหมือนจะใช้ดวงตากันจนเกินกำลัง ข้อมูลจาก DIGITAL 2019: GLOBAL INTERNET USE ACCELERATES ระบุว่าคนไทยใช้งานอินเตอร์เน็ตนานเกิน 9 ชั่วโมงต่อวัน และนั่นเป็นเหตุผลว่า ทำไมจึงพบผู้มีปัญหาสายตามากขึ้น ซึ่งหลายคนก็อาจเคยมีอาการเล็กๆ น้อยๆ เช่น แสบตา ตาแห้ง ปวดกระบอกตา ไปจนถึงความผิดปกติที่เกี่ยวกับการมองเห็นอื่นๆ แต่แทนที่จะต้องรอให้หนักหนาสาหัส ลองมาทำความรู้จักกับศาสตร์ที่ถูกเรียกว่า ‘โยคะตา’ จากผู้เชี่ยวชาญด้านการฟื้นฟูดวงตาด้วยวิถีธรรมชาติ อุราภา วัฒนะโชติ มาหาคำตอบกันว่า มีวิธีใดบ้างที่จะดูแลสายตาให้ดีขึ้นได้โดยไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยี

  • เริ่มต้นจากอินเดีย

“ตอนนั้นไปเรียนจักระนั่งสมาธิรักษาโรค ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับตา ที่เมืองสุรัต ประเทศอินเดีย คนที่มาเรียนด้วยคือ อาจารย์อมาร์จิต สวาอิน เรานั่งอยู่หลังห้องมองไม่เห็น สายตาสั้น 175 เอียง 150 ระหว่างที่หยิบแว่นมาใส่ อาจารย์ก็ทักว่าใส่แว่นทำไมตาสั้นนิดเดียว เขาทำให้เราตาดีได้นะ เราก็สนใจทันที ตอนนั้นคุณแม่ซึ่งเป็นจักษุแพทย์ไปด้วย นั่งรถตุ๊กๆ อินเดียไปกับอาจารย์ที่เมืองแถวคุชราต ตอนแรกที่เห็นตกใจเป็นตึกแถวสองชั้น เดินขึ้นไปคนเยอะมาก 50 คนอยู่รวมกันในห้องเดียว ทำบริหารกันใหญ่ มีทั้งเด็กผู้ใหญ่ เราก็อยากรู้ว่าเขาจะทำให้เราตาดีได้อย่างไรโดยไม่ได้ทำเลสิก" อุราภา เล่าถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้รู้จักกับศาสตร์การดูแลดวงตาด้วยวิถีธรรมชาติ

“ลำดับแรก อาจารย์อมาร์จิตก็วัดสายตาแล้วให้ไปบริหารตาตามฐานต่างๆ คุณแม่ก็เดินตามไปทุกสถานีเลย เสร็จแล้วก็มาตรวจ ช่วงที่อยู่อินเดีย 3 อาทิตย์ พอเรียนโยคะสมาธิเสร็จก็ไปบริหารตาต่อทุกวัน วันแรกทำเสร็จ อาจารย์จะมานั่งพูดคุย ให้ดื่มน้ำมะขามป้อม มีคนหนึ่งจอตาเสื่อม เขาก็ให้กินน้ำมะขามป้อม ทั้งๆ ที่รู้อยู่แล้วว่าโรคนี้อาจจะไม่หาย แม่ก็สนใจว่าเขาคุยอะไรกัน โชคดีที่อาจารย์ยินดีพูดคุยกับเราด้วย เราก็คิดในใจว่าอยากให้คนที่เรารู้จักได้ทำบ้างเพราะสายตาเราดีขึ้นจริงๆ ขากลับอาจารย์ก็ยึดแว่นเราไป บอกว่าฉันยึดแว่นยู ไม่ต้องใส่แล้ว เราก็ไม่เคยใส่แว่นอีกเลย”

4

อุราภา เรียนจบปริญญาตรีและโทจากสถาบัน AIT สหรัฐอเมริกา คุณพ่อเป็นแพทย์ คุณแม่เป็นจักษุแพทย์ จึงมีโอกาสติดตามคุณแม่ออกหน่วยผ่าตัดต้อกระจกให้กับคนยากจนอยู่เสมอ ซึมซับความรู้สึกอยากช่วยเหลือผู้คน ต่อมาได้ไปเรียนศาสตร์ด้านเซไตยกับอาจารย์ชาวญี่ปุ่น-สวีเดน ชื่อ‘คาเซมารุ’ ที่เกาะฮีโร่ ฮาวาย เรียนรู้การจัดระเบียบร่างกาย ยืดเหยียดเหมือนโยคะแบบญี่ปุ่น นั่งสมาธิ เข้าใจเรื่องจิตวิญญาณ จากนั้นจึงได้รู้จักกับ ‘ชี่’ พลังชีวิต อบรมต่อเนื่องเป็นปี ทำให้สนใจเรื่องสุขภาพที่เน้นเรื่องจิตใจเป็นหลัก ก่อนที่จะมาเรียนด้านจักระสมาธิรักษาโรคที่อินเดียแล้วได้พบกับอาจารย์อมาร์จิต

6

 ความตื่นเต้นหลังกลับจากอินเดียโดยไม่ต้องสวมแว่นตา ทำให้เธอจัดสัมมนาแล้วเชิญอาจารย์อมาร์จิตมาให้ความรู้ “อาจารย์เป็นคนสมถะ เป็นโยคี อายุประมาณ 60 ปี เราอยากให้คนไทยได้ทำบ้างก็จัดสัมมนา เอาเงินเก็บซื้อตั๋วเครื่องบินให้อาจารย์บินมาเลย คุณแม่เห็นว่าเราเอาจริงก็สนับสนุนให้ใช้คลินิกเขา เราก็เกณฑ์คนรู้จักมาทำก่อน อาจารย์เอาที่วัดสายตามา แล้วตอนทำประคบตาก็เปิดเพลงอินเดียให้ฟังไปด้วย ทุกคนฝึกกันอย่างสนุกสนาน จากนั้นจัดอีกหลายที่ โรงพยาบาลเชียงราย, โรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน” ก่อนที่จะเปิดคลินิกอย่างเป็นจริงเป็นจัง (ศูนย์ Natural Joy Vision @ DS Clinic) โดยคนแรกที่เข้ามาก็คือ เด็กญี่ปุ่นวัย 6 ขวบ มีปัญหาสายตาสั้น

"ที่คลินิกขั้นแรกต้องวัดค่าตาจากคอมพิวเตอร์ก่อนว่าเท่าไร เราจะโชคดีกว่าอาจารย์อมาร์จิต เพราะคุณแม่สนับสนุนซื้อเครื่องมือให้ แต่อาจารย์ไม่มีเครื่องมืออะไรเลย ถ้าย้อนกลับไปร้อยปีที่เมืองที่อาจารย์อยู่จะมีอาศรมดูแลดวงตา ปัจจุบันก็ยังมี แต่มีแค่ลูกบอล ล้างตา แล้วก็ส่องพระอาทิตย์ เป็นเบสิกที่ทำกันมาร้อยปี ส่วนอาจารย์อมาร์จิตเป็นนักฟิสิกส์ คิดค้นประยุกต์วิธี Exercise แต่พอไปนำเสนอในอาศรมเขาก็ห้าม ทีนี้พอคนที่มาหาเขาตาดีกลับไปมากกว่าอาศรมอื่นๆ ก็เลยออกมาข้างนอกดีกว่า ออกมาได้ไม่ถึงปี เราก็ได้ไปรู้จักเขา” อุราภา เล่ารายละเอียดของอาจารย์อมาร์จิตให้ฟัง

  

2

 

  • ศาสตร์เพื่อสายตา

ด้วยพื้นฐานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ ผสมผสานกับความรู้จากการไปอบรมมาหลายแขนง ทำให้อุราภาประยุกต์รวม 3 ศาสตร์ เซไตย, ชี่กง, โยคะ ไว้ด้วยกัน ออกมาเป็น 12 แบบฝึกเน้นการฟื้นฟูดวงตาด้วยการฟื้นฟู 4 ผสาน คือ ดวงตา, จิตใจ, สมอง, ร่างกาย

‘เซไตย’ คือศาสตร์ญี่ปุ่นในการจัดระเบียบร่างกายและจิตใจให้สมดุล มีหลักการว่าสมองกับตาทำงานเป็นหนึ่งเดียวกัน เมื่อสมองทำงานหนักจนเมื่อยล้า กะโหลกศีรษะหนักจะเคลื่อนลงดึงขั้วประสาทให้เลื่อนลงทำให้เกิดอาการมึน เรามักจะเห็นแพทย์จะใช้ไฟฉายส่องดูรูม่านตาของคนป่วยที่นอนสลบเพื่อตรวจเช็คว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ หากรูม่านตาไม่มีการตอบสนองกับแสงไฟแสดงว่าคนๆ นั้นสมองตายหรือสมองหยุดทำงานแล้ว

ส่วน ‘ชี่กง’ คือส่วนหนึ่งของศิลปะการต่อสู้จากประเทศจีนกว่า 2,000 ปี เป็นการฝึกพลัง วิธีปฏิบัติ ดึง ‘ชี่’ พลังชีวิตภายในร่างกายมาใช้ เพื่อรักษาสุขภาพ ฝึกฝนร่างกาย จิตใจ สุดท้าย ‘โยคะ’ คือการฝึกปรับลมหายใจ เพิ่มสมรรถภาพของปอดและหัวใจให้เลือดหมุนเวียน ลำเลียงเลือดและออกซิเจนสู่สมองได้ดีขึ้น

3

วิธีการของอุราภาจึงถูกออกแบบให้เป็นการฟื้นฟู eye mine brain body “สถานีแรกคือ คอ บ่า ไหล่ ต้องคลาย เรามีเครื่องกระตุ้นชี่ มีเรื่องตา มีให้ฝึกสมอง ก่อนอื่นเราจะวัดสายตาตามปกติ 6 เมตรมาตรฐานก่อน แล้วลองใส่แว่นกับไม่ใส่แว่น พอฝึกไปเรื่อยๆ จะมีการตรวจเป็นระยะๆ จริงๆ 3-4 ครั้งก็เริ่มเห็นผลแล้ว แต่มันยังอยู่ในช่วงกราฟทะยาน บางคนได้ผลพลอยได้ ทำแล้วหลับสบาย ที่น่าสังเกตคือ ค่าสายตาเท่าเดิม แต่การมองเห็นจะดีขึ้น วัดคุณภาพการมองเห็นจะดีขึ้น เคยมีคนสายตาสั้นมาก 2,800 มาทำที่นี่แล้วปัจจุบันเหลือ 800 กับ 500”

กลไกของการมองเห็น เกิดจากการทำงานของ 3 ส่วนเชื่อมโยงกัน คือ ดวงตา จิตใจ และสมอง (Eye-Mimd-Brain) เมื่อแสงตกกระทบวัตถุสะท้อนมาที่กระจกตา, เลนส์ตา, จอตา ก็ส่งภาพไปยังสมอง เพื่อแปลภาพและส่งต่อจิตใจเพื่อแปลความหมาย ดวงตายึดโยงด้วยกล้ามเนื้อ Ciliary Muscle ทำงานร่วมกับเลนส์ตา มีการยืดตัว, หดตัว, เกร็งตัว เพื่อปรับโฟกัสให้มองในระยะต่างๆ ชัดเจน หากเลนส์ตาไม่สามารถปรับได้จะเกิดความผิดปกติทางสายตา อย่างการมองระยะใกล้ กล้ามเนื้อจะเกร็งตัวให้เส้นเอ็นยึดเลนส์ตา Zonule ผ่อนคลาย เลนส์ตาจะหนาขึ้น แต่ถ้ามองระยะไกล กล้ามเนื้อจะยืดตัวให้เส้นเอ็นยึดเลนส์ตาตึง เลนส์ตาจะยุบตัวลงหรือบางลง เป็นการเพ่งชัด (Accommodation) ในระยะที่แตกต่างกัน

ในทางการแพทย์ กล้ามเนื้อซีเลียรี่เคลื่อนไหวด้วยการกระตุ้นของประสาทอัตโนมัติส่วนกลาง อยู่นอกเหนืออำนาจจิตใจ เหมือนกล้ามเนื้อหัวใจ กล้ามเนื้อกระเพาะอาหาร เมื่อเกิดสายตาสั้นหรือยาวเราจึงคิดว่าไม่สามารถแก้ไขได้เนื่องจากเราควบคุมกล้ามเนื้อซีเลียรี่ไม่ได้นั่นเอง

ในเวลาต่อมา มีการวิจัยยืนยันว่า กล้ามเนื้อซีเลียรี่อยู่ภายใต้การควบคุมของสมองส่วน Cerebrum ทำหน้าที่รับรู้ปฏิกิริยาต่างๆ ของร่างกาย หมายความว่าถ้าเราฝึกฝนหรือบริหารกล้ามเนื้อซีเลียรี่ให้คลายตัวผ่านกระบวนการรับรู้ของซีรีบรัมได้แล้ว สายตาที่ผิดปกติก็จะสามารถดีขึ้นได้ และหากฝึกกล้ามเนื้อตามัดอื่นๆ ร่วมด้วยก็จะช่วยปรับโฟกัสเลนส์ตาให้ดีขึ้นได้

5

“ความเข้าใจในหลักการของการเพ่งหรือการปรับเลนส์ตาในระยะต่างๆ เพื่อความคมชัดที่ดวงตาด้วยประสาทอัตโนมัติ จึงเป็นแก่นของการฟื้นฟูดวงตาแบบวิถีธรรมชาติ หากเราสามารถฝึกกล้ามเนื้อตาทุกมัด โดยเฉพาะกล้ามเนื้อซีเลียรี่ไม่ให้มีความตึงเครียด ให้ผ่อนคลาย เลือดก็จะไหลเวียนได้ดี ออกซิเจนไปเลี้ยงตาได้ทั่วถึง ดวงตาสามารถเคลื่อนไหวไปยังจุดที่ต้องการมองเห็นได้ เป็นการเพิ่มขอบเขตการมองให้กว้างขึ้น เลนส์ตาก็ยืดหยุ่นขึ้น ปรับโฟกัสได้ดีขึ้น การมองเห็นก็ชัดขึ้น”

สำหรับอุราภา เธอได้รวบรวมความรู้เกี่ยวกับการฟื้นฟูบำบัดดวงตาออกมาเป็นหนังสือชื่อว่า ‘สายตาดีด้วยวิธีมหัศจรรย์’ ตีพิมพ์ครั้งที่ 8 ได้รับการแปลเป็นภาษาจีนและภาษาเกาหลี

ถือเป็นศาสตร์ทางเลือกหนึ่งในการดูแลดวงตาที่ทำได้ทุกเพศทุกวัย เมื่อร่างกายต้องการการออกกำลังกาย ดวงตาของเราก็เช่นเดียวกัน

 

 

1

  • เทคนิคถนอมดวงตา

เราจะรู้ได้อย่างไรว่าดวงตาของเราอ่อนล้า วิธีเช็คง่ายๆ คือ ชูนิ้วขึ้นมาแล้วเพ่งมองที่นิ้วของเรา ถ้ามองนานๆ แล้วรู้สึกไม่ไหว (กรณีคนสูงวัยมองใกล้ที่ 20 เซนติเมตรแล้วรู้สึกไม่ไหว) นั่นแสดงว่าเริ่มมีอาการเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อตา เพื่อไม่ให้สายตาเสื่อมก่อนวัยลองใช้วิธีการเหล่านี้ดู

  1. ไม่ควรใช้สายตาเกิน 45 นาที ใช้แค่ 20-30 นาทีแล้วหยุดพัก ละสายตาไปมองไกลๆ 20 ฟุต หรือ 6 เมตร เพื่อคลายกล้ามเนื้อตา
  2. ท่านั่ง ควรนั่งหลังตรง เท้าวางราบ ไม่ควรอ่านหรือดูสมาร์ทโฟนในที่มืด หรือเคลื่อนไหวไปมา
  3. ถ้านั่งทำอะไรนานๆ สายตากล้ามเนื้อเลนส์ตาจะป่อง ต้องคอยเตือนตัวเองให้หยุดพักเป็นระยะๆ กระพริบตา 1-2 ครั้งทุก 10 วินาทีเพื่อทำความสะอาดและช่วยหล่อลื่นดวงตาให้ชุ่มชื่นอยู่เสมอ
  4. นวดเบ้าตาบริเวณกล้ามเนื้อรอบดวงตา (อย่ากดบนดวงตาและข้างในดวงตา) ใช้นิ้วกลางกดบริเวณหัวตา คลึงเป็นวงกลมตามเข็มนาฬิกา วนรอบกระบอกตา 2-3 ครั้ง แล้วกลับมากดและเน้นที่หัวตาอีกครั้ง โดยนวดจากหัวคิ้วทั้งสองข้าง คลึงวนๆ ไปทางหางตาและด้านล่างกระบอกตานับเป็น 1 รอบ ทำติดต่อกัน 5 ครั้ง
  5. ทำ Plaming ประคบตา โดยประกบฝ่ามือ ถูให้เกิดความร้อนแล้วนำไปประคบที่ตาทั้งสองข้าง ทำมือเป็นสามเหลี่ยมเว้นช่องให้หายใจ จากนั้นลืมตาในมือตนเอง 1 นาที นับ 1-60 แล้วปิดตาในมือ 5-20 นาที
  6. กินอาหารผักผลไม้บำรุงสายสายตา บร๊อคโคลี่ ปวยเล้ง สปิแนช ตำลึง น้ำมะขามป้อม ฯลฯ