อ่าน เขียน เรียนรู้ใน People Space ที่ TK park ศรีสะเกษ

 อ่าน เขียน เรียนรู้ใน People Space ที่ TK park ศรีสะเกษ

ศรีสะเกษ ไม่ได้มีดีแค่กระเทียม หอมแดง ข้าวอินทรีย์ และทุเรียนดินภูเขาไฟ หากมี “ผู้ใหญ่ใจดี” อบจ.ประจำจังหวัด อันมีวิสัยทัศน์ เห็นความสำคัญของการพัฒนาคน พัฒนาการเรียนรู้ และผลักดันให้เกิด อุทยานการเรียนรู้ TK park จ.ศรีสะเกษ

 

20190601_092528rere

          วิชิต ไตรสรณกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ เล่าถึงที่มาของ “TK park ศรีสะเกษ” ว่า

          “เวลาไปประชุมกับส่วนกลาง มักจะได้ยินสมาชิกหยิบยกปัญหาเรื่องการศึกษาอยู่เสมอ พอพูดกันมากเข้าก็เริ่มมีคนถามว่า ทำไมไม่ทำอุทยานการเรียนรู้ ผมก็ไปหาข้อมูล ศึกษาตัวอย่างจากที่เขาทำกัน แล้วกลับมาดูงบประมาณของเราซึ่งมีน้อยมาก เนื่องจากศรีสะเกษเป็นจังหวัดใหญ่ มี 200 กว่าตำบล 2,000 กว่าหมู่บ้าน แต่งบประมาณที่ได้เฉลี่ยตำบลละ 5-6 แสน เราก็กลับมาดูว่าจะจัดการอย่างไรเพราะต้องใช้งบเยอะ แต่เมื่อคิดจะทำแล้วก็เลยมาจัดสรรงบประมาณ ตั้งแต่การเริ่มก่อสร้าง หาพื้นที่ เริ่มแรกเมื่อปี 2555 กว่าจะคุยกัน กว่าจะจัดงบได้ ตั้งไว้ปีละ 10 ล้าน ซึ่งถ้าจะกู้เงินมาก็จะเป็นภาระของ อบจ. เราเลยตัดสินใจว่าค่อย ๆ ทำไป จนเสร็จใช้งบก่อสร้างและอุปกรณ์ 64 ล้านบาท ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากทีเค.ปาร์ค”

          สถานที่สร้างทีเค.ปาร์ค ศรีสะเกษ อยู่ในตัวเมือง ย่านสถานศึกษา

          “เดิมเป็นสนามบาสเก่าของศูนย์กีฬาจังหวัด เป็นอาคาร 4 ชั้น อยู่ใจกลางเมือง ทำให้เข้าถึงง่าย เดินทางสะดวก อยู่ในย่านที่แวดล้อมด้วยโรงเรียนหลายแห่ง พอเย็นมาเด็กจะมารอรถหน้าโรงยิม ช่วงบ่ายที่ไม่มีชั่วโมงเรียนก็จะมาอยู่กันแถวนี้ วันเสาร์อาทิตย์ผู้ปกครองก็พาเด็กมา ห่อข้าวมากินด้วย เหมือนรับเลี้ยงเด็กเลย มีคนดูแล ผู้ปกครองถือว่าเป็นเซฟตี้โซน เอาเด็กมาฝาก มีแอร์ ไวไฟฟรี ต่อคอมฯ ได้"

ความร่วมมือ1

        วิชิต ไตรสรณกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ และ กิตติรัตน์ ปิติพานิช  รองผอ.TK park

        ในฐานะพี่เลี้ยง กิตติรัตน์ ปิติพานิช รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ และผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ เสริมว่า

       “ศรีสะเกษเป็นเมืองรองที่มีความสำคัญในเชิงประวัติศาสตร์และเศรษฐกิจของภาคอีสานตอนล่าง มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม TK park จึงสนับสนุนให้เกิด อุทยานการเรียนรู้ศรีสะเกษ หรือ Sisaket Knowledge Park (SSK PARK) เป็นอุทยานการเรียนรู้ระดับจังหวัดแห่งที่ 26 เพื่อใช้ในการพัฒนาบุคลากรในชุมชนให้มีนิสัยรักการอ่านและการเรียนรู้

20190601_113746rere

       TK park ก่อตั้งมา 14 ปี เมื่อนับรวม TK park ระดับย่อยด้วยตามจังหวัดต่าง ๆ มีกว่า 250 แห่ง คือระดับตำบล ชุมชน และโรงเรียน เวลาไปเปิดสาขาต่างจังหวัดเราจะทำสาระท้องถิ่นไว้ด้วย เล่าเรื่องเอกลักษณ์ในแต่ละแห่งผ่านนิทาน ผ่านสื่อต่าง ๆ มีนิทานพื้นบ้าน ทำเป็นหนังสือการ์ตูนภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ผนวกเข้าไปกับสื่อท้องถิ่นเพื่อ customize ในแต่ละพื้นที่ ตอนนี้ระดับจังหวัดมี 26 แห่ง ตั้งเป้าไว้ว่าจะเปิดปีละแห่ง ปรากฏว่าบางปีเปิดมากกว่าหนึ่งแห่ง เช่น ล่าสุดจังหวัดนราธิวาส และที่นี่เปิดเป็น full scale แห่งแรกในอีสานตอนล่าง เราเป็นพี่เลี้ยงจัดอบรมพนักงานซึ่งแต่ละที่เขาใช้คนในท้องถิ่น เราเป็นโค้ชให้ ระบบจัดการต่าง ๆ มาจากทีเค และเรามีสื่อเติมให้เขาอยู่เรื่อยแต่เขาก็ต้องช่วยตัวเองด้วย เช่นการจัดการพื้นที่และจัดสรรงบประมาณ  เราให้คอนเซปต์โครงสร้างการบริหารจัดการ แต่การบริหารกับการออกแบบพื้นที่เราอยากให้คนในพื้นที่เขาจัดการเอง แต่ความเหมือนที่เป็นแบรนดิ้งของ TK park ได้แก่ รวงผึ้ง และสีแดง”

พื้นที่เรียนรู้ทั้งครอบครัวrere

พื้นที่เรียนรู้ที่ SSK      

       ส่วนการวัดผลสำเร็จนั้น ผู้บริหาร TK park บอกว่า

      “เรามีการสอบถามตลอดเวลา จัดเวิร์คชอป และกิจกรรมแลกเปลี่ยนการเรียนรู้กับเครือข่าย เช่น สวทช. สสส. ฯลฯ รวมถึงเครือข่ายระดับจังหวัด เราทำร่วมกับส่วนราชการต่าง ๆ ด้วยเช่น ทำห้องสมุด เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ในทุกภาคส่วน ในเชิงปริมาณจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เป้าหมายไกลของเราคือมีให้ครบทุกจังหวัด ในระดับตำบลครบแล้วแต่ในระดับจังหวัดต้องค่อย ๆ ไปเพราะเป็นสเกลใหญ่ อย่างศรีสะเกษใช้เวลาเตรียม 4-5 ปี กว่าจะเสร็จ

เรียนรู้

      หน้าที่ของทีเค.ปาร์ค คือ ส่งเสริมการเรียนรู้และเตรียมพร้อมคนในทุกกลุ่มช่วงอายุ ตั้งแต่วัยเด็ก วัยรุ่น คนทำงานจนถึงผู้สูงอายุ ซึ่งต้องการทำสิ่งใหม่ ๆ เหมือนกัน เช่น อยากเรียนรู้เรื่องคอมพิวเตอร์, โซเชียลมีเดีย หรืออาจไปขายของหลังเกษียณ เรียนอีคอมเมิร์ซ เราก็จะผนวกข้อมูลเหล่านี้ให้ด้วย แต่กิจกรรมของแต่ละพื้นที่อาจมีมากน้อยไม่เท่ากัน เช่นบางทีมีเด็กนักเรียนเยอะ เช่นศรีสะเกษ มีนักเรียนราว 3 หมื่นกว่าคน ก็อาจมีกิจกรรมสำหรับเด็กมากหน่อย แต่ก็จะจัดกิจกรรมสำหรับกลุ่มประชาชนทั่วไปด้วย หน้าที่ของเราก็ต้องสร้างต้นแบบของกิจกรรม และเอาความรู้ไปบอกกล่าว เราเป็นโค้ชให้เขาตลอดเวลา”

      และเมื่อโลกหมุนเร็วขึ้น ความรู้ด้านสื่อดิจิทัลก็ต้องตามให้ทัน

      “เราติดต่อกันทางออนไลน์ให้เขาไปหาเราง่ายขึ้นและเราก็เข้าถึงเขาง่าย เป็นแผนระยะยาว ส่วนระยะสั้นเราพัฒนาในเชิงคุณภาพ สร้างออนไลน์แพลทฟอร์มเสริมความแข็งแรง ยกตัวอย่างเพิ่มอุปกรณ์ในการตรวจสุขภาพ จัดนิทรรศการ ทำบอร์ดเกม กิจกรรมหนูน้อยเล่านิทาน ฯลฯ

     เราพยายามเอาตัวเองเข้าไปสอดแทรกในชีวิตประจำวันของผู้คนมากขึ้น ง่ายที่สุดคือ “ออนไลน์ ไลบรารี” แต่ตัวหนังสือจะไม่เหมือนกันในแต่ละที่ เช่น ที่นี่เน้นเรื่องอาชีพ อีกที่เน้นความรู้สำหรับเด็ก ๆ เราออกแบบมาเฉพาะให้เหมาะกับแต่ละพื้นที่”

ห้องฉายหนังสารคดีrere

      เพราะการเรียนรู้มีหลายมิติ รอง ผอ. TK park ให้ข้อมูลว่า

      “การอ่าน คิด ทำ อ่านเป็นด่านแรกเพื่อเข้าหาองค์ความรู้ จากเป้าหมายของเราคือลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าหาองค์ความรู้ ซึ่งปัจจุบันคนต่างจังหวัดสามารถลดได้จริง ๆ ไม่ต้องเข้าไปถึงกรุงเทพ บางที่ดีกว่ากรุงเทพเสียอีก เช่น TK park ที่ฉะเชิงเทรา เป็นศูนย์กลางของชุมชนด้วย ผู้สูงอายุก็มาจัดกิจกรรม จัดงาน ต่าง ๆ งานแต่งงานก็มี บางที่เขาใช้พื้นที่สร้างรายได้ เช่น เปิดห้องประชุมให้เช่า เรายินดี อยากให้เขาเข้ามา บางคนอาจไม่รู้เช่น มางานแต่งงานแล้วมาเห็นห้องสมุด ต่อมาเขาก็มาใช้ได้ ที่บุรีรัมย์แบ่งเป็นพื้นที่ทำพาสปอร์ตด้วย เราอยากให้เป็นพื้นที่ people space ของประชาชนจริง ๆ เข้ามาหาความรู้ มานั่งทำงาน ไม่ใช่เรื่องง่ายของสังคมไทยที่จะมาเข้าห้องสมุด”

รู้จักจังหวัดต่าง ๆrere

หนังสือจังหวัดต่าง ๆrere    

หนังสือรู้จักจังหวัดต่าง ๆ 1rere      

         น่าดีใจว่าจากการสำรวจล่าสุดเรื่อง “การอ่าน” คนไทยอ่านหนังสือมากขึ้น

      “เราทำสำรวจร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า คนไทยอ่านเพิ่มขึ้นมากจากสองปีก่อน จาก 60 นาที เป็น 80 นาที ต่อวัน การสำรวจนี้ใช้เวลาถึง 2 ปี วัดจากเด็กอายุ 6 ปี ขึ้นไป     นับออนไลน์ด้วยแต่ไม่นับพวก     แชทนะครับ”

    ถ้าที่บ้านไม่ค่อยมีหนังสือ หรืออยากหาพื้นที่ทำงาน คิด อ่าน เขียน อย่างอิสระ อุทยานการเรียนรู้ สัญลักษณ์รวงผึ้งที่เด็ก ๆ ไปนั่งอ่านหนังสืออย่างเพลินอารมณ์ ผู้ใหญ่ก็หามุมสงบทำงาน หรือร่วมกิจกรรมกับลูก ๆ เติมเต็มช่องว่างระหว่างวัยแห่งการเรียนรู้ร่วมกัน

     อบจ.ผู้ใหญ่ใจดีแห่งศรีสะเกษ ตบท้ายว่า

     “ต่างจังหวัดไม่ได้มีห้างสรรพสินค้าใหญ่โต เขาก็มักมาใช้พื้นที่แบบนี้ วันเสาร์อาทิตย์คนจะมาทั้งครอบครัว วันธรรมดามาจะเห็นเป็นทะเลกระเป๋า-รองเท้า เด็ก ๆ นั่งกันเต็ม...

     ตอนนี้ยังเปิดไม่ครบ คิดว่าอยากมีร้านกาแฟด้วย และยังขาดพวกหนังสือ ส่วนใหญ่ของ TK park ให้มา ผมบอกไปยังคณาจารย์และนักวิจัยว่า ถ้ามีงานวิจัยก็นำมาไว้ให้ศึกษาสืบค้นได้ หรือภูมิปัญญา ปราชญ์ชาวบ้าน น่าจะทำเก็บไว้ หรือเก็บเป็นไฟล์วิดีโอ ศรีสะเกษมีความหลากหลายของชุมชนและวัฒนธรรม เรามี 4 ชนเผ่า มีการรำผีฟ้า แต่ละเผ่าเรียกไม่เหมือนกัน เช่น รำแม่มด รำละมุด น่าจะเก็บไว้ รูปแบบเป็นยังไง ที่มาที่ไป ปัจจุบันก็ยังมีการรำผีฟ้าอยู่เวลามีคนไม่สบาย

มุมวาดภาพระบายสี rere

      ความรู้เหล่านี้ยังขาดอีกเยอะ แต่วันนี้ถือว่าเราประสบความสำเร็จจากที่ตั้งใจเอาไว้ อย่างน้อยในชีวิตการทำงานเราได้สร้างให้ศรีสะเกษ อาจมองไม่เห็นประโยชน์ในรูปเงินทอง แต่เป็นการใช้งบประมาณมาทุ่มให้กับเด็ก ให้กับการศึกษา ผมคิดว่ามันคุ้มค่า...”

  หมายเหตุ : อุทยานการเรียนรู้ศรีสะเกษ (SSK Park) เป็นแหล่งการเรียนรู้หลากหลายรูปแบบ เป็นศูนย์กลางให้ประชาชนทุกคนเข้ามาเรียนรู้ และค้นคว้าเรื่องราวใหม่ ๆ เป็นที่พบปะแลกเปลี่ยนความคิดและประสบการณ์ โดยรวบรวมภูมิปัญญาท้องถิ่น องค์ความรู้ปราชญ์ชาวบ้าน และความรู้ต่าง ๆ ที่มีอยู่อย่างกระจัดกระจายในชุมชน ให้ประชาชนสามารถเข้ามาศึกษาและสืบค้น

          SSK Park  อยู่ในอาคาร 4 ชั้น ชั้นล่างเป็นห้องเด็ก ชั้นที่สองประกอบด้วยห้องประชุม ห้องสมุดมีชีวิต โซนคอมพิวเตอร์ ชั้นบนเป็นห้องเธียเตอร์ จัดฉายภาพยนตร์เพื่อการเรียนรู้ ห้องเอนกประสงค์ และลานสานฝัน บนพื้นที่สนามหญ้าชั้นล่าง ที่เปิดกว้างสำหรับกิจกรรมสร้างสรรค์ต่าง ๆ

          สถานที่ตั้ง ถนนวันลูกเสือ ต.เมืองใต้ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ 33000 เปิดบริการเวลา 10.00 – 18.00 น. วันอังคาร-วันอาทิตย์ ปิดทุกวันจันทร์ มีบริการยืมหนังสือและอินเตอร์เนท (ชั่วโมงถัดไป 10 บาท) สอบถามโทร.045 969 969 FB:/ SSK Park  อีเมล: [email protected]