From site To School จากรั้วสังกะสีสู่โรงเรียน

From site To School จากรั้วสังกะสีสู่โรงเรียน

โอกาสทางการศึกษาของเด็กๆ ในแคมป์คนงานก่อสร้าง แรงงานข้ามชาติที่หลั่งไหลมาตามกระแสเศรษฐกิจ ชีวิตของเขาจะเป็นอย่างไร

การขยายตัวของเมืองที่เต็มไปด้วยสิ่งปลูกสร้าง ไม่เพียงทำให้กรุงเทพกลายเป็นเมืองคอนกรีตที่แออัดไปด้วยตึกรามบ้านช่อง แต่เบื้องหลังโครงสร้างอันแข็งแรงนั้นคือ ชีวิตที่เต็มไปด้วยความเปราะบางของแรงงานต่างชาติ และลูกหลานของพวกเขา

2

-1-

ตัวเลขกลมๆ ของเด็กที่อาศัยอยู่ตามแคมป์ก่อสร้างในประเทศไทย ประเมินว่าน่าจะไม่ต่ำกว่า 60,000 คน ในจำนวนนี้ รายงานระบุว่า มีเด็ก 90 เปอร์เซนต์ที่ไม่ได้เรียนหนังสือ และมากถึง 93 เปอร์เซนต์ ต้องเผชิญกับปัญหาความรุนแรงในครอบครัว

แม้ว่าตามระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการปี พ.ศ. 2548 จะระบุว่า เด็กทุกคนต้องได้เรียนจนถึงระดับสูงสุด และในปี 2559 มีประกาศ คสช.ว่า การศึกษาขั้นต่ำสุดคือ 15 ปี (ตั้งแต่ระดับอนุบาล ถึงชั้นม.6) รัฐอุดหนุนให้เรียนฟรี แต่สำหรับเด็กกลุ่มนี้จะติดปัญหาตรงที่ยังไม่มีเลข 13 หลัก เนื่องจากพ่อแม่เป็นแรงงานต่างชาติ จึงไม่สามารถใช้งบประมาณสนับสนุนจากระทรวงการคลัง ด้วยเหตุนี้ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการจึงกำหนดเลขให้เด็กข้ามชาติด้วยการใส่ G ขึ้นต้นต่อด้วยเลข 12 ตัว กลายเป็นเลข 13 หลัก ซึ่งทำให้เด็กๆ สามารถเข้ารับการศึกษาในโรงเรียนได้

 “สมัยก่อนเด็กเกิดในไทย พ่อแม่เป็นแรงงานต่างชาติ เด็กจะไม่ได้สัญชาติไทย 10 ปีก่อนถือว่าเข้าเมืองผิดกฎหมาย ทำให้พ่อแม่กลัว โรงเรียนก็กลัวที่จะรับ แต่ตอนนี้มีประกาศกระทรวงมหาดไทยออกแล้วเป็นกฎกระทรวงเมื่อ 3 ปีก่อน ฝากบอกครูอาจารย์ด้วยว่าเด็กไม่ผิดกฎหมายแล้ว เด็กที่เกิดในประเทศไทยให้อยู่ในประเทศไทยได้และให้กลับเมื่อพ่อแม่กลับ” สุรพงษ์ กองจันทึก อนุกรรมการประสานงานและติดตามการดำเนินงานการกำหนดลักษณะบุคคลในสถานศึกษากระทรวงศึกษาธิการ กล่าว

นอกจากนี้ ตามอนุสัญญาสิทธิเด็กข้อที่ 7 ปี 2553 ยังระบุว่า เด็กทุกคนต้องได้รับการแจ้งเกิด ไม่ว่าพ่อแม่เข้าเมืองผิดกฎหมาย หรือพ่อแม่ไม่มีเลขประจำตัวก็ตาม โดยโรงพยาบาลจะออกใบรับรองการเกิดเพื่อให้เจ้าบ้านเอาไปแจ้งเกิดที่อำเภออีกครั้งหนึ่ง

“สำหรับโรงเรียน ถ้าเด็กไม่มีหลักฐานอะไรเลย ให้โรงเรียนรับก่อน พ่อแม่กรอกไม่ได้ ให้ครูกรอกแล้วก็รับเลย ส่วนเรื่องหลักฐานค่อยไปหาตามมา พยายามให้เด็กทุกคนมีเลขที่เป็นจริง ตามเงื่อนไขของกระทรวงมหาดไทย พอได้เลขจริงมาก็แก้ตัว G ออกใส่เลขพวกนี้ไป” สุรพงษ์ กล่าวถึงข้อเท็จจริงตามกฎหมาย

ทว่าในทางปฏิบัติยังคงมีเด็กอีกมากที่ถูกปฏิเสธจากโรงเรียน รวมไปถึงความไม่เข้าใจของผู้ปกครองที่เกรงว่าจะถูกจับดำเนินคดี หรือมาจากเหตุผลความจำเป็นในสภาพการทำงานที่ต้องย้ายสถานที่บ่อยครั้ง ทำให้เด็กที่อาศัยในไซท์งานก่อสร้างจำนวนไม่น้อยไม่ได้รับการศึกษาอย่างเหมาะสม

3  

-2-

“ผมมีลูก 3 คน อายุ 3 ขวบ, 6 ขวบ, 11 ขวบ ผู้ชายหมดเลย บ้านเดิมอยู่ที่กัมพูชา ผมพยายามพาไปสมัครที่โรงเรียนแต่เขายังไม่ยอมรับ เขาบอกว่าถ้าเด็กเกิดที่นี่เขารับได้ ถ้าเด็กเกิดที่โน่นไม่มีเอกสารอะไร เขารับไม่ได้ ลูกก็เสียใจ ลูกมันอยากเรียน จนมาเจอกับคุณครูที่เขามาที่นี่แล้วช่วยให้ไปเรียนได้ ดีมากเลยครับ เราก็หาทางให้มันเรียนไปเรื่อยๆ” ทรงพล คนงานก่อสร้างวัย 30 ปีของอารียาพร็อพเพอร์ตี้ บอกถึงข้อจำกัดที่เกิดขึ้น และโอกาสที่ได้รับจากกลุ่มคนที่เขารู้จักในนาม ‘ครู LPN’

LPN (Labour Protection Network ) หรือ มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนงาน เป็นองค์กรที่สนับสนุนสิทธิทางการศึกษาของเด็กข้ามชาติและสิทธิแรงงานในกลุ่มแรงงานเยาวชนข้ามชาติ ได้เข้ามาทำงานร่วมกับภาคธุรกิจ ตั้งแต่ปี 2553-2554 เพื่อยกระดับการแก้ไขปัญหาเรื่องแรงงานเด็ก ส่งเสริมเด็กเข้าเรียนในโรงเรียนของรัฐบาลไทย

“ในกลุ่มคนงานก่อสร้าง มูลนิธิทำงานเกี่ยวกับเด็กโดยตรง เป็นพาร์ทเนอร์กับองค์กรระหว่างประเทศ ทำเรื่องการป้องกันการใช้แรงงานเด็กมา 15 ปี เป็นการทำงานเชิงรุกอย่างเข้มข้น เข้าไปเจอเด็กในพื้นที่ ในชุมชน เราทำหลายกิจกรรม เป็นโมบายเอ็ดดูเคชั่นในชุมชน มีศูนย์เลิร์นนิ่งเซ็นเตอร์ในสำนักงาน เป็นศูนย์เตรียมความพร้อมในโรงเรียนให้กับเด็กจนได้อยู่ในโรงเรียน จำนวนเด็กที่มูลนิธิ LPN ได้มีส่วนร่วมส่งเสริมรวมๆ แล้วไม่ต่ำกว่า 15,000 คน” สมพงษ์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน กล่าว

อย่างไรก็ดี การทำงานเพื่อลดปัญหาการขาดการศึกษาของกลุ่มเด็กในแคมป์ก่อสร้างจะเป็นไปได้ยากหากไม่ได้รับความร่วมมือกับเจ้าของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่ผ่านมา LPN ได้รับการติดต่อจาก บริษัท อารียา พร็อพเพอร์ตี้ ให้เข้ามาช่วยเหลือจัดทำศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็กในสถานที่ก่อสร้าง ซึ่งทำไปแล้ว 6 พื้นที่ อาทิ ไทรน้อย มีนบุรี บางบัวทอง รังสิต บางนา และหทัยราษฎร์ โดยทาง LPN ได้จัดหาครูที่มีความพร้อมเข้าไปสอนเด็กๆ ที่ศูนย์ฯ และกลายเป็นตัวอย่างความร่วมมือที่ประสบความสำเร็จอย่างน่าพอใจ

“โมเดลของเรากับอารียาได้พัฒนาขึ้นมาเป็น Happy Work Place เป็น Home Happy ทุกคนมีความสุข ทำงานด้วยความรักจริงๆ เพราะทำงานกับเด็กต้องใช้ความอดทน ใช้ความใส่ใจ” สมพงษ์ กล่าวและว่า แม้กฎหมายจะกำหนดให้สถานประกอบการที่มีคนงาน 200 คนขึ้นไปต้องมีศูนย์อนุบาลเด็กเล็ก แต่ส่วนใหญ่มักไม่ได้ปฏิบัติตามนั้น

ปัจจุบันศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็กในสถานที่ก่อสร้างของอารียาพร็อพเพอร์ตี้มีอยู่ 2 แห่ง คือที่บางนาและไทรน้อย โดยที่อารียาฯบางนา มีเด็กในศูนย์ฯจำนวน 5 คน มีครู 2 คน คนหนึ่งสอนเด็กเล็ก 2-4 ปี อีกคนสอนเด็กโต 5-7 ปี

“เราสอนเรื่องสุขอนามัย ล้างมือ เข้าแถว กิจกรรมงานศิลปะ สอนเขียนหนังสือนิดหน่อย สอนบัตรคำ ไม่ได้เรียนจริงจัง ถ้าเป็นเด็กโตจะเน้นภาษาเพราะว่าจะต้องส่งไปเข้าโรงเรียน สอน ก.ไก่ ข.ไข่ บวกลบเลข ABC ประสมคำ ถ้าพูดแล้วเด็กไม่เข้าใจก็ใช้รูปภาพช่วย ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาหลัก เด็กที่มาที่ศูนย์มีทั้งเกิดที่นี่ แล้วก็ตามพ่อแม่มา มีเด็กกัมพูชา พม่า ไทย จริงๆ รับอายุ 5 ขวบ แต่ถ้าพ่อแม่ไว้วางใจก็ให้ลูกมาอยู่ในศูนย์ได้ จนเด็กมีความพร้อมแล้วก็ส่งเข้าโรงเรียน การศึกษาขั้นบังคับชั้น ป.1”

อย่างที่โรงเรียนปลัดเปรียง ไม่ไกลจากศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็กที่อารียาฯบางนาเท่าไรนัก ทางมูลนิธิฯได้ส่งเด็กมาเรียนแล้วกว่า 10 คน

“เด็กกัมพูชาที่มาค่อนข้างกล้าแสดงออก มีจิตอาสาที่ดี ชอบช่วยเหลือครู ชาติไหนก็แล้วแต่ที่มาอยู่ในโรงเรียนนี้ เราถือว่าเป็นนักเรียน ไม่ได้แบ่งว่า นี่พม่า นี่เขมร โรงเรียนเรามีตั้งแต่ชั้นอนุบาล 1ถึง ป.6 ตอนนี้มีนักเรียน 180 คน ส่วนมากจะเป็นลูกแรงงานข้ามชาติแล้วก็แรงงานไทย ซึ่งในโรงเรียนจะเน้นให้พูดภาษาไทย ช่วง 2-3 ปีหลังผมเริ่มสงสัยว่าทำไมเด็ก 12-13 ปียังเรียนอยู่ ป.1 นั่นเพราะเขาตามพ่อแม่ไปทำงานแล้วกลับมาเรียน” อาจารย์สุรวุฒิ รอดสุด ครูผู้ชำนาญการ โรงเรียนปลัดเปรียง กล่าวเพิ่มเติมว่า เด็กบางคนที่พูดภาษาไทยไม่ได้ แต่ทางโรงเรียนจะรับไว้แล้วใช้ภาษามือช่วยในการเรียนการสอน

“นักเรียนที่เข้ามา ไม่ว่าจะเป็น พม่า เขมร ไทยใหญ่ เมื่อเข้ามาอยู่ที่โรงเรียน เราถือเป็นนักเรียนปลัดเปรียง ดูแลเสมอภาคหมด เข้ามาแล้วจะไปฝากที่ ป. 1 ก่อน พออ่านออกเขียนได้ค่อยย้ายมาป.3 ดูตามความสามารถของเด็ก บางทีอายุเยอะ อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ก็มี ปีที่แล้วโรงเรียนเราสอบเข้าราชวินิตบางแก้วได้ 5 คนแล้วก็มีนักเรียนไทยใหญ่ ตอนนี้อายุ 17 ปี เรียนอยู่ที่โรงเรียนราชดำริ ชั้น ม.1”

  22

-3-

นับตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา อารียาพร็อพเพอร์ตี้ตั้งศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็กในสถานที่ก่อสร้างมาแล้ว 6 ศูนย์ มีเด็กทั้งสิ้น 156 คน โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนงาน LPN ซึ่งไม่เพียงจัดหาครูมาสอน ยังดูแลในเรื่องกิจวัตรประจำวัน ทำทะเบียนบันทึกการตรวจร่างกาย ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง ดูเรื่องการทำทารุณกรรม การสื่อสาร และเตรียมความพร้อมเพื่อส่งเข้าสู่โรงเรียนต่อไป

“มีเด็กๆ ได้เข้าโรงเรียนไปแล้ว 41 คน เป็นเด็กจากศูนย์ไทรน้อย โรงเรียนวัดคลองขวาง 30 คน โรงเรียนคลองปลัดเปรียง 11 คน ฟีดแบคของครูที่สอนบอกว่าเด็กตั้งใจเรียนมาก คงเพราะได้โอกาส และครูที่ศูนย์ก็เตรียมเด็กไว้เป็นอย่างดี ส่วนใหญ่คนงานจะบอกว่า เขาไม่ต้องห่วงไม่ต้องกังวลเลยว่าลูกจะอันตราย ไม่ต้องกังวลใจในการทำงาน ลูกเองก็ได้รับความรู้เพิ่มขึ้น ไม่อยากย้ายไปที่ไหน กลัวลูกไม่ได้เรียน อยากทำงานอยู่ที่นี่ คุณภาพชีวิตดีขึ้น แฮปปี้ทั้งคนงาน ทั้งเด็ก แล้วก็อารียา เราก็ยังเดินต่อ ในปีนี้นโยบายเรามุ่งเน้นให้โอกาสเด็กๆ ได้เข้าเรียนในระบบให้ได้ 100เปอร์เซ็นต์ และส่งเสริมเรื่องกิจกรรมพิเศษให้กับเด็กๆ เหมือนเดิม” ดร.ทวีรัก กลิ่นสุคนธ์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมประสิทธิภาพเพื่อความยั่งยืน บจก.อารียา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด กล่าว

 สำหรับโครงการที่บางนาใช้ชื่อว่า ศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็กในสถานที่ก่อสร้าง Child Friebdly Space มีแนวคิดในเรื่อง‘ความสุขที่ยั่งยืน’ Sustainable Happiness ซึ่ง ดร.ทวีรัก ยืนยันว่าการลงทุนเพื่อดูแลคุณภาพชีวิตของคนงานเหล่านี้ ตอบโจทย์และรีเทิร์นกลับมายังบริษัท

“สุขแรกคือ ดูแลที่พักคนงานให้ได้มาตรฐาน ทำพื้นที่ให้น่าอยู่ สอง ดูแลบุตรหลานคนงานให้มีความสุขทั้งกายและใจ ให้เขาหมดกังวล ไปทำงานได้อย่างสบายใจ สาม ถ้าเขาอยากจะอยู่กับเรานานๆ ก็มีโอกาสพัฒนาฝีมือแรงงานให้กับเราได้

ที่นี่คือศูนย์ฝึกอบรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ทำให้เราได้งานฝีมือ ได้บ้านที่มีคุณภาพ สามารถลดต้นทุนการก่อสร้าง บางคนอาจจะนึกไม่ถึง ถ้าคนงานเรามีฝีมือ เราก็ไม่ต้องคอยทำงานซ้ำ หรือแก้ปัญหางานไม่เรียบร้อย เปลืองของ เปลืองแรง ถ้าแรงงานดีมีฝีมือแล้วทำทีเดียวจบ เราได้งานคุณภาพ QC ตรวจแล้วผ่านเลย ลดการทำงานซ้ำซ้อน นี่คือต้นทุนที่เราลดได้ เป็นความคุ้มค่าในการทำโครงการนี้อย่างจริงจัง”

เช่นเดียวกับเสียงสะท้อนของครอบครัวแรงงานที่รู้สึกมีความสุขมากขึ้น เมื่อลูกตัวน้อยของพวกเขาได้รับการดูแลอย่างดี “เราให้ลูกมาอยู่ในศูนย์ ไม่ต้องเสียตังค์ รู้สึกทำงานได้สบาย ไม่กลัว ที่อื่นมาชวนก็ไม่ไป อยากให้ลูกเรียนหนังสือ แล้วเราก็อยากทำงานในเมืองไทยอีกนานๆ” สรม คุณพ่อวัย 37 ปี กล่าว

อย่างไรก็ดี แม้ว่านับตั้งแต่ปี 2547-2560 จะมีเด็กข้ามชาติเข้าถึงการศึกษาในระบบประเทศไทยจำนวน 4,519 คน และได้รับความรู้ด้านสิทธิแรงงาน ทักษะการใช้ชีวิตและอยู่ร่วมในสังคมไทยจำนวน 13,000 คน แต่ในพื้นที่โครงการก่อสร้างต่างๆ ยังคงมีเด็กอีกมากที่ไม่ได้รับการเหลียวแล พวกเขายังขาดแคลนปัจจัยพื้นฐาน และที่สำคัญคือโอกาสทางการศึกษา ที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้

ความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจเอกชนซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ องค์กรที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงภาครัฐ จึงไม่เพียงลดปัญหาที่อยู่หลังฉากความเติบโตของเมือง แต่ยังสร้างความหวังและโอกาสให้กับเด็กๆ ที่ด้อยโอกาสเหล่านี้

ถือเป็นโมเดลดีๆ ที่จะช่วยพัฒนาสังคมไทยโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง...