2019 ‘เกรียน’ ครอง(การ)เมือง

2019 ‘เกรียน’ ครอง(การ)เมือง

ในประเด็นที่หลากหลาย ความคิดเห็นย่อมหลายหลาก แต่ถ้าใช้ความรู้สึกมากกว่าข้อเท็จจริงหรือเหตุผล คนนั้นอาจเรียกว่า “เกรียน!”

บนโลกออนไลน์ที่มีทั้งเรื่องราวตรงไปตรงมาและประเด็นเชิงซ้อน มีประโยคเชิงแซะทำนองว่า “ไม่ว่าเรื่องอะไร คนไทยก็ดราม่าได้หมด” จะหมูหมากาไก่หรือเรื่องใครเป็นใครตาย ประชากรที่ถูกเรียกขานว่า ‘ชาวเน็ต’ ก็พร้อมจะแสดงความคิดเห็น บางคนพิมพ์ด้วยข้อมูล บางคนพิมพ์ด้วยเหตุผล บางคนพิมพ์ด้วยอารมณ์ และหลายคนพิมพ์ด้วยความเกรียน

คำว่า ‘เกรียน’ เพิ่งถูกบัญญัติมาได้ไม่นาน แต่ก็นานพอที่จะถูกใช้แทนกลุ่มคนที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว ก่อกวน ไร้เหตุผล หรือคิดว่าตัวเองเป็นศูนย์กลางของสังคมอินเทอร์เน็ต ซึ่งมีที่มาจากลักษณะของคนเล่นเกมออนไลน์เกมหนึ่ง ส่วนมากเป็นเยาวชนที่ยังขาดพร่องวุฒิภาวะ จนเกิดคำเรียกซึ่งมีความหมายเชิงดูหมิ่นดูแคลนว่า ‘เกรียน’ โดยที่บางคนเชื่อว่ามาจากทรงผมสั้นเกรียนของเด็กนักเรียน ต่อมาคำนี้กลายเป็นคำแสลงใช้เรียกกลุ่มคนที่มีพฤติกรรมทำนองเดียวกันแม้จะไม่ใช่เด็กหรือคนเล่นเกมก็ตาม

 

  • ทำเกรียนเหมือนเรียนมา

ถึงเกรียนจะรุกไปทุกหย่อมหญ้า แต่กับแวดวงที่เกรียนกันเด่นชัดที่สุดคงหนีไม่พ้นเรื่องการเมือง เพราะการเมืองมีทั้งเรื่องเหตุผล ความรู้สึก ฝักฝ่าย และผลประโยชน์มากมาย ที่สำคัญการเมืองเกี่ยวพันกับวิถีชีวิตทุกคนไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ทุกคนจึงมีความคิดเห็นอยู่ในใจ อาจเก็บงำไว้บ้าง แสดงออกมาบ้าง ซึ่งการแสดงออกหลายครั้งก็เข้าข่ายเกรียน

สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ ผู้ประสบกับสถาน (การณ์) เกรียน จนต้องเขียนหนังสือชื่อว่า ‘Troll Way – ทางสายเกรียน’ เมื่อปี 2558 เคยกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่ใช้อารมณ์เหนือเหตุผลมานานมากแล้ว ซึ่งสาเหตุสำคัญของปัญหานี้คือระบบการศึกษา แม้จะฟังดูไม่ดีที่โทษระบบการศึกษาตลอด แต่เธอเห็นว่าเป็นปัจจัยสำคัญ เพราะในโรงเรียนส่วนมากไม่ค่อยสอนให้เด็กใช้เหตุผล ซึ่งการที่เจ้าตัวไปเรียนที่สหรัฐอเมริกาตั้งแต่อายุ 14 ปี ทำให้ได้เห็นความแตกต่างชัดเจน

“คนมักพูดว่าคนเป็นอย่างไร ระบบการศึกษาก็เป็นอย่างนั้นแหละ เราไม่มีทางได้ระบบการศึกษาที่ดีไปกว่าวัฒนธรรมเรา ก็คล้ายๆ เรื่องนักการเมืองเหมือนกัน คนมักพูดว่าเราเป็นแบบนี้ก็ได้ ส.ส.แบบนี้ จะได้ใครวิเศษจากไหน ในเมื่อเราก็เป็นคนแบบนี้กัน

คนในสังคมไทยไม่รู้จักตั้งคำถามเท่าที่ควร วัฒนธรรมการใช้เหตุผล การถกเถียง เป็นวัฒนธรรมที่สมัยใหม่พอสมควร เป็นวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ เพราะเกิดจากจุดตั้งต้นคือไม่เชื่อใครง่ายๆ ก่อน ใครพูดอะไรมาก็ต้องคิดว่ามันจริงหรือไม่จริง แต่พอเราเป็นสังคมแบบเฮโลกันตามเพื่อนฝูง ไปไหนไปด้วยโดยไม่คิดว่าจะมีอะไรสลักสำคัญ พอเราไม่ซีเรียสกับประเด็นและรักพวกพ้อง จึงทำให้ไปไม่ถึงจุดที่มีแรงขับตั้งคำถามเท่าไร เพราะคิดว่าไม่เป็นไรหรอก หรือเราอาจไม่อยากทะเลาะกับเพื่อน สังคมเป็นประมาณนี้อยู่จึงไม่เกิดวัฒนธรรมถกเถียงหรือใช้เหตุผลกัน”

ท่ามกลางความขาดแคลนการตั้งคำถามที่ต้องต่อท้ายด้วยคำว่า ‘อย่างสร้างสรรค์’ กลับมีบางคนพยายามเกรียนทั้งที่ตั้งใจและรู้เท่าไม่ถึงการณ์ สฤณีเผชิญหน้ากับนักเลงคีย์บอร์ดสุดเกรียนมานักต่อนัก กระทั่งแกร่งกล้าเพราะว่าเข้าใจคนกลุ่มนี้มากขึ้น

“ความเกรียนอาจเป็นเพราะสถานการณ์ด้วย เพราะช่วงที่ถกเถียงกันเยอะถล่มทลายคงเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับทัศนคติทางการเมือง กลายเป็นเป้าทันที คนไม่ต้องเดาไงว่าคิดแบบนี้ คนที่ไม่เห็นด้วยก็ด่า คนที่เห็นด้วยก็ให้กำลังใจ แต่คนที่ให้กำลังใจก็ให้กำลังใจแล้วไปเลย แต่พวกที่ด่าก็ถล่มทลายต่อเนื่อง พยายามจะให้เปลี่ยนใจให้ได้ (หัวเราะ) ทีนี้พอเขารู้ว่าเราคงไม่เปลี่ยนใจหรอกก็พอ บางคนก็เริ่มเข้าใจว่าทำไมเราคิดแบบนั้นก็เลยหายไป หรืออาจจะเบื่อแล้ว”

ซึ่งในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ใช้อินเทอร์เน็ตมากในแต่ละวันอาจต้องเสริมทักษะเรื่องตรรกะให้มากขึ้น มิเช่นนั้นสังคมที่เหตุผลกระท่อนกระแท่นทุกวันนี้อาจพังทลายสักวันหนึ่งก็ได้ นักวิชาการอิสระคนนี้แนะว่าควรฝึกการใช้เหตุผล การคิดเชิงวิเคราะห์ เช่น เวลาอ่านอะไรอย่างหนึ่งอาจไม่ต้องรู้เรื่องนั้นก็ได้ แต่ต้องแยกได้ก่อนว่าส่วนไหนเป็นเรื่องข้อเท็จจริงที่ตรวจสอบได้ ส่วนไหนเป็นเรื่องความคิดเห็น

“คือเราต้องเข้าใจตรรกะแบบง่ายๆ เช่น ไอ้นี่พูดย้อนแย้งกันไหม หรือฟังใครพูดทำไมตอนต้นพูดอย่างตอนท้ายพูดอีกอย่าง ไม่เป็นเหตุเป็นผลกันเลย หรือพูดอย่างหนึ่งแล้วเหตุผลไม่สอดคล้องกันเลย นี่เป็นทักษะพื้นฐานซึ่งถ้าฝึกได้สมัยเด็กก็จะดี แต่ถ้าเป็นเรื่องข้อเท็จจริงไม่ต้องมาเถียงกัน สมมติเราจะบอกว่าพระอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออก มันไม่ควรจะมาเถียงกัน ทุกเรื่องในสังคมเป็นแบบนี้หมด”

66043812_2373201562738642_1913182852606853120_o

 

  • เกรียนตัวร้ายกับนายแอดมิน

เมื่อโลกออนไลน์กลายเป็นสนามประลองทั้งความคิดและความเกรียน ผู้ดูแลเว็บไซต์หรือเฟซบุ๊คแฟนเพจคืออีกตัวละครที่ต้องรับมือกับ ‘ตัวป่วน’ ยิ่งเป็นเพจข่าวสารที่แตะเรื่องการเมืองอยู่เนืองๆ แอดมินต้องทำงานกันหนักพอตัว อาทิ พงษ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ บรรณาธิการข่าว The MATTER และเป็นหนึ่งในแอดมินเพจ ELECT ซึ่งจับเรื่องการเมืองโดยตรง เปิดเผยว่า ตั้งแต่ทำหน้าที่นี้มาได้เจอกับตัวป่วนพอสมควร แต่นับว่าไม่มากมายเกินรับมือ ซึ่งก็นับว่าโชคดีที่แฟนเพจหลายคนช่วยเป็นกองกำลังกำราบความเกรียน

“คนที่เข้ามาป่วนส่วนมากจะโดนคนในคอมเมนต์นี่แหละ ignore ออกไป หรือไม่ก็ตอบโต้ ส่วนแอดมินถ้าเจอคอมเมนต์ที่ไม่ได้เกี่ยวกับเนื้อหาของโพสต์เลย ส่วนมากเราก็จะปล่อยผ่านไป แต่ถ้ามาพิมพ์หยาบคาย ใช้ hate speech หรือตั้งใจด่าอะไรที่มันสุ่มเสี่ยงเกินในเรื่องข้อกฎหมาย ก็จะกด hide ซ่อนไว้ เราไม่ค่อยใช้วิธีการลบ เคยลบแค่กรณีเดียวคือเอารูปคนตายมาโพสต์”

เหตุผลที่พงษ์พิพัฒน์ไม่ใช้วิธีการลบเพราะเพจต้นสังกัดของเขามีแนวทางว่าส่งเสริม free speech ใครอยากพิมพ์อะไรก็ได้ แต่ต้องรับผิดชอบสิ่งที่พิมพ์ด้วย เพียงแต่บางอย่างที่แสดงความคิดกันออกมาไม่เกี่ยวข้องกับหัวข้อสนทนา ไม่เกี่ยวกับเนื้อหาข่าวนั้นๆ แค่กดซ่อนไม่ให้รบกวนการสนทนาที่มีประโยชน์ก็เพียงพอแล้ว

ส่วนความเข้มข้นของคอมเมนต์ป่วนเมืองจะมาหนักข้อในช่วงไม่กี่เดือนมานี้

“ตั้งแต่ช่วงปีก่อนคอมเมนต์ทำนองนี้ใน The MATTER จะมีประมาณหนึ่ง แต่พอเป็นช่วงก่อนและหลังเลือกตั้งคอมเมนต์ก็จะเดือด ซึ่งเข้าใจว่าเดือดทุกที่แหละ น่าจะเป็นเพราะอารมณ์คนด้วยครับ กองเชียร์แต่ละฝ่ายก็ออกมาแสดงออก เขาก็คงไปรบกันในทุกพื้นที่ครับ ทั้ง on ground และ online ซึ่งคนกลุ่มนี้เป็นความสุ่มเสี่ยงถ้าเขามาโพสต์อะไรที่เสี่ยงจะผิดกฎหมาย เพราะของไทยเคยมีกรณีที่แอดมินโดนศาลตัดสินจำคุกเพราะปล่อยให้มีคอมเมนต์ที่ผิดกฎหมายอยู่ในแพลตฟอร์มของตัวเองนานเกินไป แต่เราก็จะดูว่าถ้าไม่น่าเกลียดจนเกินไปเราจะไม่ลบเด็ดขาด”

ขณะที่นักเกรียนยังเดินหน้าเกรียนไม่หยุดยั้ง ทีมแอดมินก็ต้องวางแผนสู้ อย่างทีม The MATTER ที่มีจำนวนแอดมินไม่มากนักราว 5-6 คน ก็ช่วยกันสอดส่องดูแลให้หลุดน้อยที่สุด แต่สี่ตีนยังรู้พลาดนักปราชญ์ยังรู้พลั้ง บางคอมเมนต์เกรียนเลยยังได้ว่ายเวียนในบางโพสต์

“ยอมรับว่ามีหลุดบ้าง แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือคนนั้นก็โดนรุมด่า ซึ่งไม่ได้เกิดปัญหาต่อตัวเพจโดยตรง เหมือนเป็นมาตรการทางสังคมที่ลงโทษเขา แต่ก็เป็นเรื่องน่าเสียดายที่แทนที่จะเกิดบทสนทนาที่น่าสนใจต่อท้ายข่าวนั้นหรือบทความนั้น กลายเป็นคอมเมนต์ที่ไปเทด่าคนนั้น บทสนทนาเลยโดนบิดไปกลายเป็นคนมาทะเลาะกัน”

ในทางกลับกัน กับคนที่โพสต์หรือคอมเมนต์ตำหนิเพจ แอดมินกลับปล่อย ไม่ซ่อน ยิ่งเป็นทำนองติเพื่อก่อเขายิ่งชอบ แต่ที่สุดแล้วก็ยังมีจำพวกตั้งใจป่วน ด่ากราดไม่เกี่ยวกับหัวข้อ ซึ่งเท่าที่ผ่านมาตัวป่วนก็มาในหลายรูปแบบ พงษ์พิพัฒน์เล่าว่าบางช่วงจะเป็นหน้าเดิมๆ ที่เข้ามา คนหลังบ้านทำได้แต่เฝ้าระวังพร้อมกับลูกศรเมาส์จ่อรออยู่ที่ปุ่ม hide หรืออย่างง่ายสุด...ทำความเข้าใจคือนิพพาน

นอกจากนี้เขาเล่าถึงสิ่งที่น่าสนใจคือกับเพจ ELECT ซึ่งเกี่ยวกับการเมืองโดยตรงกลับไม่ถูกเกรียนถล่ม

“ELECT ไม่ค่อยโดนคอมเมนต์ประมาณนี้มาก เพราะ ELECT ใช้ข้อมูล ใส่ความเห็นน้อย พอเป็นตัวข้อมูลปุ๊บ คนจะไปเถียงกับข้อมูลได้ยาก คอมเมนต์ในเชิงป่วนเชิงเชียร์ข้างใดข้างหนึ่งหรือโจมตีข้างใดข้างหนึ่งโดยเฉพาะจะไม่ค่อยมี”

64538669_2373201572738641_135885266232541184_o

 

  • พรบ.คอมฯ เกรียนยอมแล้ว!

ถึงความคิดเห็นแบบเกรียนๆ บางครั้งจะขำๆ สำหรับบางคน แต่มีไม่น้อยที่กลายเป็นการก่อกวน ด้านคนที่รับมือก็มีมาตรการณ์แตกต่างกันไป หนักบ้างเบาบ้าง ให้สังคมจัดการบ้าง แต่ถึงที่สุดแล้วหากความเกรียนนั้นล้ำเส้น อาจถูกกฎหมายเล่นงาน

ในมุมของนักกฎหมาย เรื่องเกรียนบนโลกออนไลน์ไม่ใช่ธรรมดา ด้วยบทลงโทษที่หนักหนาทำให้ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 นับว่าโหด!

“เมื่อก่อนที่ยังไม่มี พรบ.คอมพิวเตอร์ เวลาเขาจะเล่นงานกันหรือดำเนินคดี เขาจะใช้เรื่องหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา แต่ก็ยอมความกันได้ เพียงแต่อัตราโทษจะสูงกว่าปกติ หมิ่นประมาทปกติอัตราโทษสมมติ 1 ปี หมิ่นประมาทด้วยโฆษณาอัตราโทษอาจจะ 2 ปี แต่ความผิดในหมวดหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญายอมความได้หมด แต่ถ้าแตะเป็นความผิดพรบ.คอมพิวเตอร์จะเน้นเรื่องความมั่นคงเป็นหลัก ที่เขาจะดำเนินคดีกับนักเลงคีย์บอร์ด คือ มาตรา 14 (1) ผู้ใดกระทำความผิดโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมื่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งจุดมุ่งหวังของพรบ.คอมพิวเตอร์คือยอมความไม่ได้นะ อัตราโทษจะรุนแรงต่อนักเลงคีย์บอร์ด” ธรัช วรวงศ์รัตนา หัวหน้าสำนักงานกฎหมาย อธิบายถึงเรื่องนี้

ส่วนเรื่องการตามตัวผู้กระทำผิด เขาบอกว่าในโลกออนไลน์ซึ่งเป็นโลกสมมติ ส่วนมากใช่ชื่อปลอม แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจเสาะหาบุคคลที่แท้จริงได้จาก IP ทำให้ติดเรื่องของระยะเวลา นอกเสียจากโจ่งแจ้งอย่างเฟซบุ๊คที่ใช้ชื่อนามสกุลจริง นอกจากคนโพสต์จะผิดเต็มๆ คนแชร์ คนไลค์ ก็ติดร่างแหเช่นกันตามพรบ.คอม

“ปัจจุบันเรื่องการเมืองกลายเป็นการเลือกฝ่าย เรารักใครเราก็เชียร์คนนั้น แต่การที่เราไปเชียร์ เราไม่สามารถตรวจสอบได้หรอกว่าข้อมูลนั้นเป็นจริงเป็นเท็จ และยิ่งถ้าเราไม่ใช่คนที่โพสต์ก็ต้องตรวจสอบมากหน่อย ไม่อย่างนั้นจะเดือดร้อนไปด้วย แต่ถ้าเราเป็นคนโพสต์เองความผิดความผิดจะหนักเลย ส่วนมากจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับหลักแสน แต่ถ้าประมวลกฎหมายอาญาทั่วไปปรับหลักพันหลักหมื่นเอง แถมยอมความได้ เพราะฉะนั้นคนที่จะทำก็ต้องระวัง รวมถึงมีบางมาตราเกี่ยวกับข้อมูล ถ้ากรณีศาลมีคำสั่งพิพากษาให้ทำลายข้อมูล คนที่เก็บไว้ก็ต้องทำลายด้วยนะ ไม่งั้นมีความผิดอีก ซึ่งกระบวนการยุติธรรมถ้าสืบได้ว่าข้อมูลนี้ไหล จะดูได้ว่า IP นั้นๆ เคาะไปไหน ก็ไล่คนเลย เพียงแต่ความผิดนี้ต้องใช้เวลาสืบสวนสอบสวนค่อนข้างมาก”

ทั้งรุนแรง ทั้งค่อนข้างกว้าง มีโอกาสมากที่กฎหมายนี้จะถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง จะเกรียนจะป่วนอาจต้องทบทวนกันหนักหน่อย นักกฎหมายคนนี้แสดงความคิดเห็นว่ากว่าจะพิสูจน์ว่าจริงหรือเท็จ ผู้เสียหายถูกทำให้เสียชื่อเสียงไปแล้ว หากเป็นนักการเมืองจะโดนแบบนี้กันหมด ยังไม่ไปถึงเรื่องกระบวนการทางคดีแต่ ‘เครื่องมือทางการเมือง’ เกิดขึ้นเรียบร้อย

เมื่อเป็นเช่นนี้นักเกรียนที่ค่อนข้างเซียนจะใช้วิธีเข้าไว ออกไว แต่จะลืมไม่ได้ว่ามีฝ่ายตรงข้ามเสมอ ฝ่ายที่จ้องเล่นงานมีอยู่ นักแคปในตำนานมีจริง

“แต่ก็ใช่ว่าจะทำให้เกรียนหรือนักเลงคีย์บอร์ดลดลง แต่น่าจะปรามมากกว่า อาจทำให้คนคิดมากขึ้น ต้องแยกว่ามีคนที่เป็นแบบนี้โดยพื้นฐาน เขาก็ไม่กลัว เขาก็มีเทคนิคของเขา เช่น เข้าเร็วออกเร็ว อ้างอิงคนอื่น ฯลฯ ส่วนคนที่ไม่อยากโดนไปด้วยก็ต้องทบทวนตัวเองว่ามีอคติหรือเปล่า การกระทำความผิดพรบ.คอมพิวเตอร์ขึ้นอยู่กับทัศนคติของเรา หนึ่งเราเห็นแล้วชอบหรือไม่ชอบ ที่เหลือสติเราจับทันไหม ถ้าเราผิดด้วยความเอนเอียง แล้วมีคนมาเฮ เราจะยิ่งรู้สึกว่าคิดถูก ถ้าเรารู้สึกว่าคิดถูกเมื่อไรมีโอกาสผิดแล้ว”

  หากไตร่ตรองสักหน่อยจะตระหนักว่าตั้งแต่ความหมายของคำว่าเกรียนก็ไปในทางลบอยู่แล้ว กับเสียงสะท้อนและมาตรการที่ใช้กำราบ ก็น่าจะตอกย้ำได้บ้างว่าเกรียนไม่เท่ เกรียนไม่เทพ ยิ่งกับเรื่องสุ่มเสี่ยงอาจได้ไปเกรียนในตาราง