เล่าวิทยาศาสตร์ ผ่าน 104 หนังสั้นผลงานเยาวชน

เล่าวิทยาศาสตร์ ผ่าน 104 หนังสั้นผลงานเยาวชน

เมื่อปรากฎการณ์วิทยาศาสตร์ ถูกอธิบายเป็นภาพยนตร์ฝีมือนักศึกษา

หนังสั้นยังเป็นสื่อที่คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจ โดยเฉพาะการนำเรื่องสนุกๆอย่างวิทยาศาสตร์เข้ามาใช้เป็นพล็อตเรื่อง และนั่นเป็นที่มาของโครงการประกวดภาพยนตร์สั้นวิทยาศาสตร์ ปีที่ 4 (Short Science Film#4) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักเรียน นักศึกษาและประชาชนสนใจเรื่องวิทยาศาสตร์ผ่านกลไกการสร้างภาพยนตร์

สำหรับการกิจกรรมพัฒนาทักษะการผลิตสื่อในครั้งนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์ – 15 พฤษภาคม 2562  แบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย อุดมศึกษาและประชาชนทั่วไป ซึ่งมีผู้สนใจร่วมส่งผลงานจำนวน 104 ทีม

รูปที่ 6

     กรรณิการ์  เฉิน  รองผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) เปิดเผยว่า ได้รับความสนใจจากนักเรียน นักศึกษาและประชาชนทั่วไปมากขึ้น ภาพยนตร์หลายเรื่องสามารถนำเสนอเรื่องราววิทยาศาสตร์ได้อย่างน่าสนใจเหมาะสมกับยุคปัจจุบัน  เช่น ภาวะโลกร้อน , AI ( Artificial Intelligence ) หรือ ปัญญาประดิษฐ์  และสิ่งต่างๆที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน

  “ความพิเศษของภาพยนตร์ที่ส่งเข้าประกวดนั้น นอกจากความคิดสร้างสรรค์ที่น่าสนใจแล้ว ผู้เข้าร่วมโครงการ ฯ และผู้ชมภาพยนตร์จะได้รับมุมมองใหม่ๆ รับรู้เรื่องราววิทยาศาสตร์พร้อมทั้งตระหนักและช่วยกันแก้ไขสิ่งต่างๆที่เกี่ยวข้องกับทุกคนให้วิทยาศาสตร์มีความก้าวหน้าและเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง    ผู้เข้าประกวดทุกทีมได้นำความรู้พื้นฐานและมุมมองทางวิทยาศาสตร์ถ่ายทอดออกมาเป็นภาพยนตร์สั้นวิทยาศาสตร์ได้อย่างสนุกสนานชวนติดตามทุกประเภท”

พิภพ พานิชภักดิ์ รองผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (Thai PBS )  กล่าวว่า วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องใกล้ตัวและมีประโยชน์อย่างมาก การประกวดครั้งนี้มีผู้ให้ความสนใจร่วมโครงการ ฯจากทุกภูมิภาคของประเทศ ซึ่งผลงานมีคุณภาพดี ความคิดสร้างสรรค์แปลกใหม่และนำเสนอได้น่าสนใจ  แสดงถึงสามารถสร้างในการสื่อสารวิทยาศาสตร์ผ่านการทำภาพยนตร์สั้นได้ดี  ถือเป็นเครื่องมือการถ่ายทอดเผยแพร่เรื่องราว ความรู้ จินตนาการแห่งความเป็นวิทยาศาสตร์ได้อย่างน่าชื่นชม   

สำหรับผลการประกวดภาพยนตร์สั้นวิทยาศาสตร์ ปีที่ 4 (Short Science Film #4) “Science Around Us วิทยาศาสตร์รอบตัว” สรุปได้ ดังนี้

ประเภทมัธยมศึกษาตอนปลาย (เทียบเท่า) รางวัลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ยอดเยี่ยมเงินรางวัลมูลค่า 30,000  บาทเรื่อง ป่าอาถรรพ์ทีม 5 Days Team โรงเรียนมัธยมวิภาวดี จังหวัดสุราษฎร์ธานี,รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง   เงินรางวัล 20,000  บาท  เรื่อง Endeavor ทีม SatitKaset Studio จาก โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ  ,รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง  เงินรางวัล 10,000  บาท เรื่อง Space me I am bipolar  ทีม Astral โรงเรียนแก่นนครวิทยาลัย จังหวัดขอนแก่น และรางวัลชมเชย เงินรางวัล  5,000   บาท   เรื่อง Aspectual Intelligence ทีม  Revorin โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยกรุงเทพ ฯ

ประเภทอุดมศึกษา(เทียบเท่า) รางวัลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ยอดเยี่ยมเงินรางวัล 50,000  บาท เรื่อง เปรี๊ยะ ทีมดีแล้วแต่ขออีกเทค   มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ,รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง  เงินรางวัล 20,000  บาท เรื่อง ถนอม  ทีมต้มส้มไก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และรางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง   เงินรางวัล 10,000  บาท  เรื่องLight   ทีมบ้านหลิ่งห้า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ประเภทประชาชนทั่วไป  รางวัลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ยอดเยี่ยมเงินรางวัล 100,000  บาท เรื่อง เอ้ก อี เอ้ก เอ้ก   ทีมราหูฟิล์ม ,รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง เงินรางวัล 40,000  บาท เรื่อง  Can Man Project ทีม 239 Studio และรางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง  เงินรางวัล 20,000  บาท เรื่อง  The Pinnacle ทีม NPS                 

ทางด้านกลุ่มนักเรียนจากทีม 5 Days Team  โรงเรียนมัธยมวิภาวดี ผู้คว้ารางวัลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ยอดเยี่ยมประเภทมัธยมศึกษาตอนปลาย (เทียบเท่า)  โดยภาพยนตร์สั้นเรื่องนี้ มีแรงบันดาลใจมาจากป่าชุมชนในอำเภอวิภาวดี จังหวัดสุราษฏร์ธานี  และนำเรื่องภาวะโลกร้อนมาสร้างเป็นเรื่องราวผสมผสานระหว่างความเชื่อของคนในชุมชนและภาวะความเป็นจริง จากนั้น ใช้เวลารวบรวมข้อมูลคิดโครงเรื่อง 1เดือน เมื่อส่งเรื่องย่อของภาพยนตร์ป่าอาถรรพ์เข้าประกวด ได้รับการคัดเลือกผ่านเข้าสู่รอบ 10 ทีมสุดท้าย จึงได้เข้าร่วมแคมป์เพื่อเรียนรู้การผลิตและถ่ายทำภาพยนตร์เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทำให้ได้ความรู้เพิ่มเติมมากมายสามารถนำกลับไปทำการผลิต โดยใช้เวลาถ่ายทำประมาณ 2 สัปดาห์ เน้นการดำเนินเรื่องให้น่าติดตามและให้ความรู้เรื่องราวภาวะโลกร้อนที่เกี่ยวข้องกับชุมชนในมุมของวิทยาศาสตร์เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงปัญหาโลกร้อน สามารถแก้ไขอย่างถูกวิธี

พิชญะ ฉวีเกษมงาม นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะผู้กำกับหนังสั้น “เปรี๊ยะ”ที่ได้รับรางวัลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ยอดเยี่ยมประเภทอุดมศึกษา เปิดเผยว่าเรื่องได้นำเรื่องไฟฟ้าสถิตย์ที่ทุกคนรู้จักกันดีมาเป็นพล็อต โดยการเล่าเรื่องแบบง่ายๆ ชวนติดตาม ซึ่งการได้รับรางวัลครั้งนี้กลายเป็นแรงบันดาลให้กับทีมงานในการส่งผลงานเข้าประกวดในเวทีต่างๆ ต่อไป

อย่างไรก็ตาม การดึงหนังสั้นเข้ามาเป็นสื่อปรับใช้กับวิทยาศาสตร์นั้น ทำให้คนสนใจในวิทยาศาสตร์มากขึ้น แม้ในสังคมเราจะมีอาชีพที่ชัดเจน เช่น หมอ นักวิทยาศาสตร์ เป็นต้น แต่ในความเป็นจริงทุกคนอาจไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์มืออาชีพ แต่ทุกคนมีความเป็นนักวิทยาศาสตร์เล็กๆ ในตัวได้  เพราะวิทยาศาสตร์ คือกระบวนการหนึ่งที่ต้องหาคำตอบในสิ่งที่เราอยากรู้ ถ้าหากไม่ใช้กระบวนการนี้อาจทำให้เราอยู่กับที่ ไม่มีพัฒนาการอื่นต่อ

ณรงค์ เสประโคน จากทีมราหูฟิล์มที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ประเภทประชาชนทั่วไป ในผลงานชื่อ 8E88 (เอ้ก อี เอ้ก เอ้ก) กล่าวรู้สึกยินดีและภูมิใจอย่างมากกับรางวัลความสำเร็จครั้งนี้  ก่อนหน้านี้ทีมราหูฟิล์มเคยส่งผลงานเข้าประกวดมาแล้ว  ซึ่งแม้ปีที่ผ่านมาผลงานภาพยนตร์เป็นแนว Sci fi แต่ทีมราหูฟิล์มก็ยังยึดแนวคิดเดิมมาเป็นแรงบันดาลใจสร้างสรรค์ผลงานต่อ โดยเน้นเรื่องของสิ่งรอบตัวง่ายๆ อย่างเรื่องของการทำไข่ไก่สุกให้กลับมาเป็นไข่ดิบได้ ซึ่งเป็นเรื่องน่าแปลก และรู้สึกว่าการที่เข้าร่วมโครงการไม่ใช่แค่ได้รางวัลเท่านั้น แต่ได้รับประสบการณ์ดีๆ และมีมุมมองต่อเรื่องวิทยาศาสตร์เปลี่ยนไป จากเดิมที่เคยคิดว่าเป็นเรื่องยาก ไกลตัว กลายมาเป็นเรื่องง่าย

ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถชมผลงานภาพยนตร์สั้นวิทยาศาสตร์ได้ทางเฟซบุ๊ก : Short Science Film ปีที่ 4  และทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ซึ่งมีกำหนดออกอากาศเดือนสิงหาคมนี้