ขยะแฟชั่น.. 'สวย' ไม่สนโลก

ขยะแฟชั่น.. 'สวย' ไม่สนโลก

อนาคตของโลกรกๆ ที่เราช่วยกันสร้าง ภายใต้คำพูดปลอบใจ "...ของมันต้องมี"

 

4 ทศวรรษ นับตั้งแต่วันสิ่งแวดล้อมโลกถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี 2515 ต้องยอมรับว่าหลายปีมานี้กระแสรักโลกดูเหมือนจะเริ่ม ‘จุดติด’ ไม่ว่าจะเป็นการลดการใช้พลาสติก การแยกขยะ หรือไลฟ์สไตล์ที่ลดการสร้างขยะ ขณะที่ก็ต้องทำใจด้วยเหมือนกันว่า โลกอีกหลายๆ ด้านยังหมุนไปในอัตราเร่งที่สวนทางกัน โดยเฉพาะ ‘โลกแฟชั่น’

Fast fashion คือโจทย์ใหญ่ของเรื่องนี้ที่เริ่มถูกชี้นิ้วว่า เป็นต้นตอหนึ่งของการใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือยในเมืองใหญ่ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย

Fast Fashion หรืออุตสาหกรรมการผลิตและจำหน่ายเสื้อผ้า ที่เน้นการขายในปริมาณมาก ราคาถูก ตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ที่เปลี่ยนสไตล์ตามกระแสนิยม เติบโตอย่างก้าวกระโดดด้วยแรงส่งของการตลาดออนไลน์และธุรกิจอีคอมเมิร์ซ

ถ้าคุณเป็นสายแฟชั่นหรือขาช้อปมือวาง ลองนึกดูว่าทุกวันนี้คอลเลคชั่นเสื้อผ้าของแบรนด์ต่างๆ เปลี่ยนเร็วแค่ไหน ไม่ต้องรอซีซั่นหรือฤดูกาลมากำหนดเหมือนเมื่อก่อน แทบทุกสัปดาห์สินค้าใหม่ๆ ก็ออกมาวางโชว์กระตุ้นต่อมซื้อกันแล้ว และง่ายกว่านั้น เพียงแค่ไถนิ้วไปตามหน้าจอสมาร์ทโฟน เสื้อผ้าหลายหลายรูปแบบทั้งตลาดบน-ตลาดล่าง ก็เรียงรายมาให้ซื้อแบบถี่ๆ

ผลการสำรวจโดยบริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจ McKinsey & Company ระบุว่า ปริมาณเสื้อผ้าที่ซื้อโดยผู้บริโภคทั่วโลกเพิ่มขึ้นถึง 60% ในระหว่างปี 2543 - 2557

การเติบโตของ Fast Fashion นี้ทำให้แบรนด์สินค้าเสื้อผ้าในอุตสาหกรรมดังกล่าว เช่น Zara, Forever 21 และ Topshop เติบโตอย่างรวดเร็ว แบรนด์ดังอย่าง H&M มีมูลค่าในตลาดปัจจุบันมากกว่าแบรนด์หรูหราอย่าง Channel ถึงสองเท่า

ประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียมียอดขายของแบรนด์ Fast fashion เติบโตมากกว่า 100 เปอร์เซน ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

เหตุผลก็มาจากชนชั้นกลางที่มีจำนวนและกำลังซื้อเพิ่มขึ้น บวกกับความสำเร็จในการทำการตลาดของบริษัทแฟชั่นผ่านโซเชียลมีเดียนั่นเอง

แล้วมันสร้างปัญหายังไงกับโลก (ใครบางคนบ่นในใจ) ...ก็ของมันต้องมี ต้องใช้ ต้องใส่?!?

นักอนุรักษ์ยืนยันเสียงแข็งว่า ‘แฟชั่น’ เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ใช้ทรัพยากรเข้มข้นมากที่สุด ทั้งในรูปแบบทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรมนุษย์

ยกตัวอย่างเช่น วัตถุดิบยอดนิยมในอุตสาหกรรมนี้ซึ่งมีราคาถูก นั่นก็คือ ใยสังเคราะห์โพลีเอสเตอร์ มีผลต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมีนัยสำคัญ

มีการระบุว่า การผลิตโพลีเอสเตอร์ในภาพรวมทั่วโลกปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าฝ้ายถึงสองเท่า โดยปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวม 706,000 ล้านกิโลกรัมในปี 2558 หรือเทียบเท่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโรงไฟฟ้าถ่านหิน 185 โรงในหนึ่งปี

แต่ที่ร้ายกว่านั้น ก็คือพฤติกรรมของผู้บริโภค Fast fashion นั่นแหละ!

ไม่ใช่แค่...ของมันต้องมี แต่ของที่มี...มันต้องอินเทรนด์ด้วย นำมาซึ่งความถี่ในการ ‘ซื้อ’ และความบ่อยในการโละของเก่า ‘ทิ้ง’

สำนักข่าว Greennews รายงานว่าในเดือนธันวาคม 2560 บริษัทวิจัยการตลาด YouGov เผยแพร่งานวิจัยการบริโภคสินค้า Fast Fashion ในกลุ่มประชากรไทยผ่านการสำรวจ 1,137 ตัวอย่าง พบว่าคนไทยวัยผู้ใหญ่ 8 ใน 10 คนหรือ 77 เปอร์เซนต์ โละทิ้งเสื้อผ้าในช่วงเวลา 12 เดือนก่อนหน้าการสำรวจ

ประชากรกลุ่มมิลเลนเนียล ที่เกิดในช่วงหลังทศวรรษ 2520-2540 ซื้อเสื้อผ้าใหม่มากกว่าเจเนอเรชั่นก่อน การสำรวจพบว่าภายใน 1 ปี

มิลเลนเนียลไทยซื้อเสื้อผ้าใหม่เป็นจำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่งของเสื้อผ้าที่ตนมีอยู่เดิม ความเบื่อและความต้องการเปลี่ยนสไตล์การแต่งตัวเป็นเหตุผลหลักในการโละทิ้งเสื้อผ้า ซึ่งกลุ่มตัวอย่าง 62 เปอร์เซนต์โละทิ้งเสื้อผ้าด้วยการบริจาค, 20 เปอร์เซนต์ รีไซเคิล, 17 เปอร์เซนต์ ขายออนไลน์ และ 7 เปอร์เซนต์ ทิ้งลงถังขยะ

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการทิ้งเสื้อผ้าในระดับภูมิภาค YouGov ระบุว่าผู้บริโภคไทย 17 เปอร์เซนต์ทิ้งเสื้อผ้าที่ใช้เพียงครั้งเดียวมากกว่า 3 ชิ้นภายในเวลาหนึ่งปีก่อนการสำรวจ ขณะที่ผู้บริโภคชาวฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย 20 กว่าเปอร์เซนต์ ไม่เคยทิ้งเสื้อผ้าเลยในระยะเวลาเดียวกัน

ขณะที่ การทิ้งเสื้อผ้า ให้ผลลัพธ์เป็นขยะ รวมถึง ‘ขยะพิษ’ จากกระบวนการเคมีในการผลิต ที่อาจจะปนเปื้อนในดินหรือแหล่งน้ำ การบริจาคเสื้อผ้าซึ่งบางคนอาจมองเห็นเป็นการทำบุญก็ไม่ได้ดีไปกว่ากัน

จากการสำรวจของ ‘จุดประกาย’ ในบทความเรื่อง ‘แฟชั่นล้ำ ขยะล้น’ (8 ต.ค.59) พบว่า เสื้อผ้าบริจาคจำนวนมากไม่สามารถนำไปใช้ต่อได้ เพราะด้วยการผลิตที่เน้นปริมาณทำให้เสื่อมสภาพในเวลาอันรวดเร็ว หลายมูลนิธิที่ทำหน้าที่รับบริจาคจึงไม่ต่างจากที่ทิ้งขยะเสื้อผ้าของคนในเมืองที่่ยากจะกำจัด

หลายคนมองไปที่การรีไซเคิล ซึ่งก็มีหลายประเทศเริ่มทำแล้ว แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่อาจตามทันปริมาณขยะเสื้อผ้าที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าในช่วงที่ผ่านมา

ความตื่นตัว(ก่อน)ในเรื่องนี้ ทำให้หลายประเทศในแถบยุโรปให้ความสำคัญกับการใช้ซ้ำ (Reuse) โดยใช้วิธีการสร้างแรงจูงใจให้ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรม จาก ‘เบื่อแล้วทิ้ง’ มาเป็นการซ่อมแซมหรือดัดแปลงให้สามารถกลับมาใช้ได้อีกครั้ง

แต่ก็นั่นแหละ...แฟชั่นก็คือแฟชั่น ปัญหายังอยู่ที่ว่า...ของมันต้องมี เสื้อผ้ามันต้องทันเทรนด์

สุดท้ายโจทย์ใหญ่ๆ จึงกลายเป็นการต่อสู้กันระหว่าง กระแส ‘รักโลก’ กับ ‘รักสวยรักงาม’ ซึ่งดูไปแล้ว...คงคัดง้างกันอีกนาน

++++++++++++++++

คอลัมน์ : สมรู้ | ร่วมคิด

เซคชั่นจุดประกาย กรุงเทพธุรกิจ

6 มิถุนายน 2562