ซาลาม...เตหะราน สัมผัสมนตราเปอร์เซีย

ซาลาม...เตหะราน  สัมผัสมนตราเปอร์เซีย

ท่องแดนอารยธรรมเก่าแก่ที่เปี่ยมไปด้วยสีสัน ชื่นชมอัญมณีล้ำค่าและอัธยาศัยไมตรีของคนอิหร่าน

ดีใจที่มีโอกาสไปเยือนสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน ในช่วงรอยต่อของการเวลา ด้วยอยู่ในช่วงเดินหน้าฟื้นฟูพัฒนาประเทศทุกๆ ด้าน นักเดินทางอย่างเราพบว่าชาวอิหร่านนั้นเปี่ยมมิตรไมตรี ให้การต้อนรับผู้ไปเยือนด้วยรอยยิ้ม ศิลปวัฒนธรรมก็งามล้ำวิจิตร มีอัตลักษณ์เก่าแก่เลอค่า เหมือนได้ย้อนเวลากลับไป 4,000 ปี ทั้งบ้านเมืองก็ดูทันสมัย สมเป็นมหานครใหญ่ เป็นทริปที่สุดประทับใจ ไม่มีวันลืมจริงๆ

บ้านเมืองในอิหร่าน โดยเฉพาะเมืองหลวงเตหะราน เต็มเปี่ยมไปด้วยสีสัน ไม่ใช่เพียงเพราะสถาปัตยกรรมและภูมิประเทศอันสวยงาม หากแต่ผู้มาเยือนจะประทับใจกับอัธยาศัยไมตรีของชาวอิหร่าน พร้อมรอยยิ้มที่มีให้เห็นตลอดเส้นทาง

วัฒนธรรมอิหร่านมีความหลายหลากแต่ก็ผสมผสานกันอย่างลงตัว ระหว่างยุคก่อนอิสลามและยุคอิสลาม มีความโดดเด่นในตะวันออกกลางและในเอเชียกลาง เจริญรุ่งเรืองมายาวนานกว่าสองพันปี โดยเฉพาะยุคแซสซานิด ช่วงปี ค.ศ. 224-651 ถือเป็นหนึ่งในจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ของเปอร์เซีย ซึ่งเป็นจักรวรรดิสุดท้ายก่อนการเข้ามาของศาสนาอิสลาม

ยุคนี้นี่เองที่เกิดการผสมผสานกันระหว่างวัฒนธรรมเปอร์เซีย โรมัน อินเดีย และจีน เข้าไว้ด้วยกัน มีอิทธิพลต่อทั้งยุโรปตะวันตกและแอฟริกา ก่อให้เกิดศิลปะยุคกลางทั้งในเอเชียและแอฟริกาและได้ถูกยกยอดให้เป็นวัฒนธรรมอิสลาม จุดกำเนิดแหล่งเรียนรู้แบบอิสลามที่มีวิทยาการมากมายหลายแขนง เช่น ภาษาศาสตร์, วรรณคดี ,นิติศาสตร์, ปรัชญา, การแพทย์ ,สถาปัตยกรรม และวิทยาศาสตร์ ฯลฯ ในที่สุด ความเจริญรุ่งเรืองทางวัฒนธรรมอิสลามในเปอร์เซีย ได้ขยายเผยแพร่ไปสู่โลกมุสลิมทั่วไป

3 (3)

พระราชวังโกเลสตาน The Golestan Palace

กรุงเตหะราน เมืองหลวงของอิหร่าน เต็มไปด้วยแหล่งท่องเที่ยวมากมายทั้งที่สะท้อนถึงความเจริญรุ่งเรืองในอดีต และความเจริญก้าวหน้าในปัจจุบัน หนึ่งในสถานที่ซึ่งคุณไม่ควรพลาดก็คือ พระราชวังโกเลสตาน หรือพระราชวังดอกไม้ เป็นพระราชวังโบราณตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซาฟาวิด และได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ในสมัยราชวงศ์คาจาร์ เป็นพระราชวังมีความกว้างขวาง สวยงามตระการตา หรูหรา มลังเมลืองยิ่งนัก ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อปี ค.ศ. 2013

ภายในบริเวณพระราชวังมีอาคารทั้งสิ้น 17 แห่ง ประกอบด้วยพระราชวัง, พิพิธภัณฑ์ และตำหนักต่างๆ สร้างขึ้นในรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบโบราณ และคลาสสิกแบบยุโรป รายล้อมด้วยสวนดอกไม้ อาคารแต่ละแห่งนั้น ก็ประดับประดาด้วยข้าวของเครื่องใช้งามระยิบระยับ ทั้งทรงคุณค่าและมีมูลค่า

จุดที่นักท่องเที่ยวนิยมมาถ่ายภาพกันมาก็คือ ‘บัลลังก์หินอ่อน’ (The Marble Throne) สร้างจากหินอ่อนสีเหลืองนวล ในปี ค.ศ.1806 ซึ่งแสดงถึงความมั่งคั่ง และความเป็นหนึ่งของอาณาจักรเปอร์เซีย

ปัจจุบัน พระราชวังโกเลสตาน ยังคงใช้เป็นสถานที่รับรองบุคคลสำคัญอย่างเป็นทางการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแขกบ้านแขกเมืองมาจากต่างประเทศ

พิพิธภัณฑ์พระราชวัง Sa’ad Abad Palace

ในเตะหะราน เป็นสถานที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์พระราชวังที่เรียกวา Sa’ad Abad Palace ถ้ามาเที่ยวชมที่นี่ ควรเผื่อเวลาไว้สัก 3-4 ชั่วโมง เพราะเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีเนื้อที่ถึง 410 เฮกตาร์ ประกอบด้วยพระราชวังที่สวยงามถึง 7 แห่งด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระราชวังขาว และพระราชวังเขียว

6

พระราชวังขาว เป็นอาคาร 2 ชั้นสไตล์ยุโรป เคยเป็นที่ประทับของ ชาร์ ปาห์ลาวี กษัตริย์องค์สุดท้ายของอิหร่าน เป็นที่เก็บสะสมของมีค่ามากมาย ห้องด้านบนในวังแห่งนี้ เคยเป็นสถานที่จัดประชุม ‘เตหะราน คอนเฟอเรนซ์’  สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อปี ค.ศ. 1943

8 (1)

ส่วนพระราชวังเขียว เป็นสถาปัตยกรรมแบบยุโรปสร้างโดยใช้หินอ่อนสีเขียว เก็บรวบรวมงานแกะสลักฝาผนัง งานแก้วกระจก เครื่องประดับ พรมเปอร์เซีย ภาพจิตกรรม งานประติมากรรม เฟอร์นิเจอร์ และเครื่องใช้ในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ของฝรั่งเศส ภายในประดับด้วยสถาปัตยกรรมกระจกที่งดงามตระการตาอย่างยิ่ง สำหรับนักท่องเที่ยวอาจจะผิดหวังเล็กน้อย เพราะทางการอิหร่านไม่อนุญาตให้ถ่ายรูปภายใน

 พิพิธภัณฑ์อัญมณีแห่งชาติ National Jewelry Museum

อีกหนึ่งไฮไลท์ที่ต้องห้ามพลาดสำหรับคนรักเพชรพลอย คือ พิพิธภัณฑ์อัญมณีแห่งชาติ (National Jewelry Museum) ตั้งอยู่ในห้องนิรภัยของธนาคารชาติอิหร่าน กลางกรุงเตหะราน ว่ากันว่าเป็นคลังสมบัติเลอค่า ด้วยมีอัญมณีจำนวนมากที่สุดและอลังการที่สุดในพื้นพิภพ

แน่นอนว่า อัญมณีที่นักท่องเที่ยวใฝ่ฝันอยากชมมากที่สุด คือ ‘เพชรสีชมพู’ ที่มีขนาดใหญ่และหายากมากที่สุดในโลก มีน้ำหนักถึง 182 กะรัต แถมตัวเรือนประดับเพชรยังห้อมล้อมด้วยเพชรเม็ดเล็กๆ อีกมาก และ ‘บัลลังก์นกยูง’ อันลือชื่อและล้ำค่า เป็นสถานที่รวบรวมอัญมณีจากทุกยุคทุกสมัยของกษัตริย์ทุกราชวงศ์ในอาณาจักรเปอร์เซีย จนกระทั่งกลายมาเป็นประเทศอิหร่านในปัจจุบัน

บัลลังก์นกยูง ( The Peacock Throne หรือ Sun Throne) เดิมนั้นบัลลังก์อันวิจิตรตระการตานี้มีชื่อว่า บัลลังก์สุริยา ซึ่งมีเรื่องเล่าถึงความเป็นมาและเป็นไปของบัลลังก์ทองที่ยืดยาวมากๆ เป็นสิ่งที่มิอาจละเลยให้ผ่านไปได้

ตามประวัตินั้น บัลลังก์นกยูงสร้างขึ้นในสมัย จักรพรรดิชาห์ จาหัน (Shah Jahan) แห่งอาณาจักรโมกุล (คนเดียวกับที่สร้างทัชมาฮาล) ในต้นศตวรรษที่ 17 ตั้งอยู่ในป้อมแดง กรุงเดลฮี เมืองหลวงอินเดียในสมัยนั้น เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงอำนาจปกครองอาณาจักรโมกุลอันยิ่งใหญ่

ต่อมากษัตริย์ ชาห์ นาเดอร์ จากเปอร์เซีย ตัดสินใจบุกอินเดีย กรีฑาทัพมาถึงลุ่มน้ำสินธุ ตีกรุงเดลฮี ภายใต้การนำของกษัตริย์ มูฮัมหมัด ชาห์ แห่งราชวงศ์โมกุล แตกพ่ายไปในปี ค.ศ.1739 ภายใต้ยุทธการ ‘Battle of Karnal’  จึงขนเอาทรัพย์สมบัติมีค่าไปเป็นอันมาก รวมทั้ง ราชบัลลังก์นกยูง ซึ่งทำด้วยทองและเพชรนิลจินดาอันหาค่ามิได้ รวมไปถึงโคตรเพชรบันลือโลกอย่าง เพชรสีชมพู Darya –i- Nour Diamond (ทะเลแห่งแสง) , เพชร Noor-ul-Ain (ดวงตาแห่งแสง) และ เพชร Koh-i-Noor Diamond (ขุนเขาแห่งแสง) นำกลับไปยังอาณาจักรเปอร์เซียด้วย

9_1 ซ้าย 'บัลลังก์นกยูง' ขวา 'เพชรสีชมพู'

สาเหตุที่ได้ชื่อว่า บัลลังก์นกยูง นั้น เพราะการออกแบบให้มีนกยูงตัวผู้ 2 ตัว รำแพนหางอยู่ด้านบนตัวบัลลังก์ทอง ฝังด้วยไพลิน ทับทิม มรกต ไข่มุก และอัญมณีอื่นๆ เพื่อเป็นตัวแทนแห่งสีของราชบัลลังก์โมกุล หลังจากมีชัยชนะต่ออาณาจักรโมกุลแล้ว ชาห์ นาเดอร์ แห่งเปอร์เซีย ได้ขึ้นนั่งบัลลังก์นกยูงตัวนี้ ห้อมล้อมด้วยเหล่าขุนศึกและข้าราชบริหาร แสดงถึงอำนาจของอาณาจักรเปอร์เซียที่มีเหนือราชวงศ์โมกุล

ทว่า บัลลังก์นกยูง จากราชวงศ์โมกุล หาได้เดินทางไปถึงอาณาจักรเปอร์เซียไม่ ตามประวัติบอกว่า บัลลังก์เกิดสูญหายระหว่างทาง และไม่ปรากฎร่องรอยอีกเลยจนถึงทุกวันนี้ จะด้วยอะไรก็แล้วแต่ ขณะที่วิกีพีเดียให้ข้อมูลว่า บัลลังก์ทองถูกแยกชิ้นส่วนออกเป็นชิ้นๆ เป็นไปได้ว่าอาจเกิดความเสียหายระหว่างการขนส่ง ตัวบัลลังก์ด้านล่างอาจมีการแปลงสภาพให้เป็นบัลลังก์ใหม่ของชาห์แห่งเปอร์เซีย ภายใต้ชื่อ...บัลลังก์สุริยัน

ในหนังสือ ‘Treasury of National Jewels ...Witnesses of History’ ของธนาคารชาติอิหร่าน เขียนเอาไว้ว่า บัลลังก์สุริยัน  สร้างในสมัย ฟาตห์ อาลี ชาห์ แห่งราชวงศ์กอญัร (ค.ศ.1772-1834) และตั้งชื่อว่า Peacock Throne  ตามชื่อสนมคนโปรดของ ฟาตห์ อาลี ชาห์ ที่ชื่อ ‘Tavous khanoom’ ที่มีการเรียกขานอีกชื่อว่า Lady Peacock  (Tavous เป็นภาษาเปอร์เซีย แปลว่า นกยูง)

ต่อมา บัลลังก์นี้ ผ่านการปรับปรุง-ตกแต่ง-เพิ่มเติมหลายครั้งในสมัยชาห์อิหร่านในยุคต่อๆ มา จนกลายเป็นบัลลังก์ตามรูปแบบที่เห็นกันในปัจจุบัน พร้อมยืนยันว่า ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับ ‘บัลลังก์นกยูงเดิม ของราชวงศ์โมกุลแต่ประการใดทั้งสิ้น

ส่วนมวลมหาเพชรนิลจินดาที่ประดับประดาบนตัวบัลลังก์นกยูงเดิมนั้น ก็ถูกกระจายแยกย้ายกันไปตามสถานที่ต่างๆ บ้างก็เป็นยอดเพชรประดับมงกุฎของกษัตริย์เปอร์เซีย บ้างก็ตกไปอยู่ในมือของอาณาจักรออตโตมันเติร์ก บ้างก็กลับไปคืนสู่อินเดียภายใต้จักรวรรดิซิกข์ บ้างก็เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลไปถึงเกาะบริเทนโน่นแน่ะ

อย่างที่ทราบกัน Darya –i- Nour หรือ เพชรสีชมพู ว่ากันว่า ตกทอดต่อมาถึงราชวงศ์กษัตริย์อิหร่าน กลายเป็นสมบัติในท้องพระคลังของประเทศอิหร่านยุคปัจจุบัน

ในหนังสือ Treasury of National Jewels ของธนาคารแห่งชาติอิหร่าน ยังระบุอีกว่า เพชรสีชมพู เป็นเพชรเม็ดหนึ่งที่ประดับอยู่ในมงกุฎของ พระเจ้าไซรัสมหาราช (600 หรือ 576 - 530 ก่อนคริสตกาล) ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญเพชรในอดีตเชื่อว่า เพชร Darya –i- Nour กับ เพชร Noor-ul-Ain (ดวงตาแห่งแสง) น่าจะเป็นเพชรเม็ดเดียวกัน ก่อนถูกแยกออกเป็น 2 ส่วน โดยเพชรดวงตาแห่งแสงนั้น ถูกนำไปประดับในมงกุฎรัดเกล้าให้กับ ฟาราห์ ปาห์ลาวี มเหสีของพระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี แห่งอิหร่าน ปัจจุบันตั้งแสดงในห้องนิรภัยของธนาคารชาติอิหร่านนั่นเอง

ส่วน เพชร Koh-i-Noor ว่ากันว่า ตกไปอยู่ในมือของ บริษัทอีสต์อินเดีย ของอังกฤษ หลังจากอาณาจักรซิกข์ แห่งอินเดียเหนือ เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในสงครามอังกฤษ-ซิกข์ ครั้งที่สอง จนในที่สุดยอดเพชรในตำนานเม็ดนี้ ตกอยู่ในความครอบครองของ ควีนวิคตอเรีย และต่อมากลายไปเป็นเพชรประดับมงกุฎราชินีแห่งราชวงศ์อังกฤษ ในปัจจุบัน ถูกเก็บรักษาและจัดแสดงที่หอคอยแห่งลอนดอน ...มีข่าวหลายครั้งว่าคนอินเดียทวงคืน แต่รัฐบาลอังกฤษปฏิเสธที่จะส่งกลับ

2 (4)

ทริปนี้เรามีโอกาสขึ้นไปชมวิวกลางคืนหอคอย Milad Tower และหอคอย Azadi Tower ด้วย โดยหอคอยมิลาด มีความสูง 435 เมตร สูงสุดเป็นอันดับ 6 ของโลกในขณะนี้ เป็นศูนย์กลางโทรคมนาคมต่างๆ ภายในมีร้านอาหาร ร้านค้าต่างๆมากมาย เป็นอีกหนึ่งจุดชมวิวเมืองหลวงของอิหร่าน ส่วน Azadi Tower เดิมชื่อ ‘The Gate of Cyrus เป็นหอคอยหินอ่อนขาว สูง 45 เมตร เป็นจุดที่มีการชุมนุมของประชาชนจนนำไปสู่การปฏิวัติใหญ่เมื่อปี ค.ศ. 1979 ถือเป็นแลนด์มาร์กสำคัญของกรุงเตหะราน ทั้งยังเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ จุดชมวิว แหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์และอารยธรรมเปอร์เซียโบราณและอิหร่านยุคปัจจุบัน

ในสายตาของนักเดินทางคนไทยคนหนึ่ง ไม่ผิดนักหากจะพูดว่า....อิหร่านเป็นเสมือนมงกุฎเพชรที่ซ่อนอยู่ภายใต้ผืนพรมแห่งอดีตอาณาจักรเปอร์เซีย นอกจากรุ่มรวยมรดกวัฒนธรรม งามล้ำสถาปัตยกรรม ผู้คนก็เปี่ยมมิตรไมตรี อาหารก็อร่อยเลิศรสอีกต่างหาก

 +++++

11

รู้ไว้ก่อนไปอิหร่าน

อิหร่าน หรือ เปอร์เซีย มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน เป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมหลากหลายและมีกลุ่มชาติพันธุ์และภาษาต่างๆ มากมาย โดยกลุ่มวัฒนธรรมที่ใหญ่ที่สุดคือ เปอร์เซีย

ลักษณะภูมิประเทศของอิหร่านมากกว่าร้อยละ 95 เป็นที่สูงในลักษณะของเทือกเขาสูงและที่ราบสูง เทือกเขาสูงที่ปรากฏในอิหร่านมี 2 เทือกเขาคือ เทือกเขาเอลบูร์ซทางตอนเหนือ วางตัวขนานกับชายฝั่งทะเลแคสเปียน และเทือกเขาแซกรอส วางตัวขนานกับอ่าวเปอร์เซีย เทือกเขาทั้งสองวางตัวแยกออกมาจากอาร์มีเนียนนอต ขณะที่ที่ราบสูงจะอยู่ตอนกลางของประเทศเป็นที่ราบผืนใหญ่ครอบคลุมพื้นเกือบทั้งประเทศต่อเนื่องเข้าไปถึงอัฟกานิสถานและปากีสถาน ส่วนภูมิประเทศชายฝั่งจะปรากฏอยู่ 2 บริเวณคือ ตอนเหนือเป็นชายฝั่งทะเลแคสเปียน ส่วนด้านตะวันตกเฉียงใต้และด้านใต้เป็นชายฝั่งราบของทะเลบริเวณอ่าวเปอร์เซีย

เตหะราน เป็นเมืองหลวงของประเทศอิหร่าน เป็นเมืองศูนย์กลางอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของประเทศ และเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในแถบประเทศตะวันออกกลาง คำว่า ‘เตหะราน’ ในภาษาเปอร์เซีย แปลว่า ‘อ้อมเขาอันอบอุ่น’ ซึ่งหมายถึงชาวเมืองที่อาศัยอยู่อย่างสงบและมีสันติสุขภูมิภาคนี้

สกุลเงินทางการของอิหร่านเรียกว่า เงินเรียล (Iranian Rial) อิงกับสกุลเงินโบราณคือ โตมัน (Toman)  ตอนไปชอปปิงระวังจะสับสนนะครับ ต้องเช็คให้ดีก่อนว่าราคาสินค้าอย่าง พรมเปอร์เซีย หรือ งานคราฟท์ของที่ระลึกต่างๆ ตรงหน้าติดป้ายเป็นเงินเรียลหรือโตมัน โดย 1 โตมัน ก็มีมูลค่าประมาณ 10 เรียล (1,300 เรียล เท่ากับ 1 บาทไทย) ก่อนไปเที่ยวอิหร่าน ศึกษาไว้สักนิดครับ

อิหร่านไม่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขาย และห้ามนำเข้าประเทศด้วย แต่แทบทุกร้านจะมีเบียร์ Non- alcohol ไว้บริการลูกค้า อ้อ...เกือบลืมแน่ะครับ อันนี้สำคัญมาก ใครชอบทำท่า ‘กดไลค์’ ต้องระวังนะครับ เพราะไกด์นำทัวร์บอกว่า การยกหัวแม่โป้งให้ หมายถึง ‘คำด่า’ ตรงข้ามกันเลยใช่ไหมครับ

คนไทยเราเริ่มไปเที่ยวที่อิหร่านกันมากขึ้น เพราะเห็นว่าไม่ได้อันตรายอย่างที่หลายคนเข้าใจ ผมเดินทางไปท่องเที่ยวประเทศอิหร่านมา 5 วัน ประทับใจในหลายๆ ด้าน ที่นั่นสะดวกสบาย ถ้าไม่ไปละเมิดระเบียบของบ้านเมืองเขา แต่ที่ต้องระวังที่สุด ก็เห็นจะเห็นตอนข้ามถนนในเมืองใหญ่ๆ เรียกว่าตื่นเต้นสุดๆ กันเลยทีเดียว เพราะคนขับรถที่นั่น ไม่ค่อยแตะเบรกกัน และถ้าไปเที่ยวในเตหะราน ต้องเผื่อเวลาไว้ด้วย เพราะรถที่นั่นติดหนึบไม่แพ้กรุงเทพฯ แต่ประการใด

12

คนอิหร่านมักจะทักทายนักท่องเที่ยวต่างประเทศด้วยรอยยิ้มและคำทักทายทั้งภาษาเปอร์เซียและอังกฤษ บางคนเคยมาเมืองไทย ก็เอ่ยเลยว่า ‘ซาหวัดดี’ ช่างน่ารักจริงๆ

น่าเสียดายมากที่ สายการบินไทยได้ปิดเที่ยวบินตรงกรุงเทพฯ-เตหะราน ไปเมื่อต้นเดือนมีนาคม 2561 หลังจากเริ่มกลับมาเปิดทำการบินตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.59 ที่ผ่านมา เนื่องจากจำนวนผู้โดยสารไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ส่งผลให้ขาดทุนอย่างต่อเนื่อง

การเดินทางไปอิหร่านนั้น ก่อนลงเครื่องบิน สุภาพสตรีควรนำผ้ามาคลุมผม (ฮิญาบ) ให้เรียบร้อยตามระเบียบของอิหร่าน ขอให้คลุมผมจากศีรษะลงมาถึงคอเป็นใช้ได้ ใส่เสื้อแขนยาวถึงข้อมือ ไม่เปิดอก ใส่รองเท้าผ้าใบปิดเท้าไว้ การปฏิบัติตามกฎกติกาของสังคมนั้นๆ ถือเป็นการให้เกียรติเจ้าของประเทศและคนที่นั่น น่าจะลงตัวที่สุด

อากาศที่นั่นร้อนช่วงกลางปี บางวันสูงถึง 40 องศาเซลเซียสทีเดียว ช่วงที่ผมไปคือต้นตุลาคม อากาศค่อนข้างเย็นสบาย ในช่วงเช้าตรู่และหัวค่ำ อุณหภูมิประมาณ 15 องศา กลางวันก็ไม่ร้อน

อิหร่านยุคสมัยนี้ ไปไม่ยุ่งยากอย่างที่คิด ยิ่งตอนนี้กำลังเปิดประตูต้อนรับนักท่องเที่ยว แต่ระยะแรกๆ อาจขลุกขลักอยู่บ้างในเรื่องระบบการทำงานทั้งที่สนามบินและระบบขนส่ง เชื่อว่าคงจะมีการปรับปรุงพัฒนาระบบให้ดีขึ้นไปเรื่อยๆ