TRANS-I-AM องคาพยพจัดแถมที่ไม่เคยต้องการ

TRANS-I-AM  องคาพยพจัดแถมที่ไม่เคยต้องการ

ละครเวทีแนว Road Movie ว่าด้วยการเดินทางตามหาตัวตนของ Transgender ก่อนตัดสินใจแปลงเพศ

ละครเวทีเรื่อง Trans-I-Am เป็นผลงานลำดับที่สองของกลุ่มละครน้องใหม่ Qrious Theatre เปิดการแสดงไปเมื่อวันศุกร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมแสงอรุณ ถนนสาทร  ซึ่งถ้าใครเคยได้ดูงานภาพยนตร์ต้นฉบับเรื่อง Transamerica (2005) ที่เขียนบทและกำกับโดย Duncan Tucker มาก่อน ก็คงพอจะระลึกได้ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ มิได้เป็นเพียงต้นแบบเชิงแรงบันดาลใจ

         ทว่าละครยังอาศัยทั้งเค้าโครงและรายละเอียดของบทช่วงต่าง ๆ มาสร้างทำใหม่โดยเปลี่ยนบริบทตัวละครและฉากหลังจากสหรัฐอเมริกามาเป็นเรื่องราวแบบไทย ๆ จากหนังแนว Road Movie เดินทางตัดข้ามประเทศจากมหานครนิวยอร์คไปยังลอสแอนเจลิส จึงกลายมาเป็นละครแห่งการเดินทางจากภูเก็ต ไล่มายังชุมพร จนถึงกรุงเทพมหานคร

_DSC4223-2 (1)

   ภาพถ่ายโดย ศุภนิมิต สุขอินทร์

   

    Trans-I-Am เป็นผลงานการกำกับร่วมระหว่างนักการละคร อภิรักษ์ ชัยปัญหา และผู้กำกับภาพยนตร์ข้ามเพศ ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ เจ้าของผลงาน Insects in the Backyard (2553) ที่เคยถูกแบน ซึ่งหันมาลองทำงานละครเวทีแบบเต็มตัวครั้งแรก และควบทั้งตำแหน่งผู้กำกับและนักแสดงนำ

            เนื้อหาเรื่องราวของ Trans-I-Am ได้เล่าถึง ตั๊ก-มยุรี สตรีข้ามเพศวัยกลางคนผู้มีคุณมยุรา เศวตศิลา เป็นไอดอล กำลังจะได้รับการผ่าตัดแปลงเพศเสียทีหลังจากที่อึดอัดกับอวัยวะไม่พึงประสงค์มาเป็นเวลานาน โดยเธอต้องได้รับใบรับรองจากจิตแพทย์ว่านี่เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องซึ่งเธอจะไม่เสียใจในภายหลัง แต่จู่ ๆ เธอก็ได้รับโทรศัพท์จาก ท็อป เด็กวัยรุ่นติดยาที่ขอให้บิดามาช่วยประกันตัวจากเรือนจำที่ภูเก็ต เธอจึงต้องเดินทางไปช่วยเหลือ ท็อป ก่อนจะเรียนรู้ว่าเธอมีทายาทจากความสัมพันธ์อันไม่ตั้งใจกับเพื่อนสาวคนสนิทในอดีต และ ท็อป ก็คือบุตรชายแท้ ๆ ของเธอ ผู้ไม่ระแคะระคายเลยว่า ตั๊ก เป็นพ่อแท้ ๆ ของเขา  ตั๊ก จึงต้องสวมรอยเป็นเจ้าหน้าที่ดูแลสวัสดิภาพเด็กและเยาวชน พา ท็อป เดินทางกลับไปส่งญาติ อันเป็นจุดเริ่มต้นของการทำความรู้จัก และเรียนรู้ปูมหลังของกันและกันระหว่างตัวละครบิดาข้ามเพศและบุตรชาย ที่ต่างฝ่ายต่างมีสิ่งที่ต้องเก็บงำระหว่างการเดินทางไกลไปด้วยกันในครั้งนี้

_DSC4647-2 (1)

ภาพถ่ายโดย ศุภนิมิต สุขอินทร์

            ผู้กำกับ ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ รับบทนำเป็น ตั๊ก อันเป็นแนวถนัดของเธอ ใกล้เคียงกับบทบาทบิดาข้ามเพศในภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard ซึ่งทั้ง Trans-I-Am และ Insects in the Backyard ก็ล้วนเล่าถึงตัวละครข้ามเพศกับบทบาทการเป็นบุพการี ที่ดูจะเป็นประเด็นหลักที่ผู้กำกับ ธัญญ์วาริน สนใจเล่าเป็นพิเศษ ซึ่งทั้งบทหนังและบทละครจะค่อย ๆ แย้มพรายอดีตของตัวละครนำ และค่อย ๆ แนะนำเพื่อนฝูงญาติมิตรของเธอ ให้คนดูค่อย ๆ รับรู้ว่าเธอต้องผ่านเจออะไรมาบ้าง กว่าจะมั่นใจว่าตัวเธอเองต้องการเป็นอะไร และเธอจะต้องแลกด้วยการหันหลังให้กับสิ่งใดอย่างเจ็บปวด

            ซึ่งถึงแม้เนื้อหาเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่าง ตั๊ก และ ท็อป จะมีความตึงเครียดจริงจังอย่างงานดรามาสะเทือนหัวใจ แต่การแสดง Trans-I-Am ก็รู้จักหยอดใส่มุกตลกและความสนุกครื้นเครงไม่ให้คนดูต้องเคร่งเครียดจนเกินไปนัก ด้วยสีสันของตัวละครประกอบหลากหลายซึ่งสลับกันเข้ามาชูรสชูโรงอย่างจัดจ้านแพรวพราว ไม่ว่าจะเป็นเหล่าจิตแพทย์ต่างบุคลิก ฮิปปี้หนุ่มเจ้าอุดมการณ์ คุณหมอข้ามเพศ Gloria ผู้นิยมการปาร์ตี้กับผองเพื่อนรักทางเลือก บรรดาญาติ ๆ ของ ท็อป และครอบครัวสุดอลเวงของ ตั๊ก เอง 

_DSC4719-2 (1)

ภาพถ่ายโดย ศุภนิมิต สุขอินทร์

           ในส่วนของเวทีก็จัดกันง่าย ๆ เป็นยกพื้นรูปกากบาท ให้คนดูสามารถนั่งชมได้โดยรอบ เพื่อสะท้อนทางแยกในชีวิตที่ตัวละครต้องตัดสินใจอยู่ตลอดเวลา ซึ่งก็เป็นลักษณะที่เปิดโอกาสให้ตัวละคร สลับกันเข้า ๆ ออก ๆ จากทั้งสี่มุมด้านได้อย่างลื่นไหลและฉับไว ถือเป็นการใช้ประโยชน์จากพื้นที่เล็ก ๆ ง่าย ๆ ได้อย่างสร้างสรรค์และมีประสิทธิภาพ  การติดตามเรื่องราวใน Trans-I-Am จึงได้รสชาติที่ทั้งจัดจ้านและหลากหลายตามสไตล์ Trans โดยมีปมความสัมพันธ์ระหว่าง ตั๊ก และ ท็อป เป็นหัวใจสำคัญ อันจะนำไปสู่บทสรุปที่ซาบซึ้งชวนสะเทือนหัวใจ

            อย่างไรก็ดี การแสดงของ ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ในรอบบ่ายของวันที่ 2 มิถุนายน ดูจะมีอาการประดิษฐ์โดยเฉพาะในฉากตลกทั้งหลาย ซึ่งเธอต้องใช้ความพยายามจนการแสดงแลดูไม่เป็นธรรมชาติ  ความประดิษฐ์เหล่านี้ทำให้ตัวละครต้องดูขาดเสน่ห์อันสำคัญจำเป็นไปโดยปริยาย และทำให้ตัวละคร ตั๊ก ต้องกลายเป็นกะเทยวัยทองที่ยังมีความ ‘ป้า’ ส่งผลให้ช่วงเวลาแห่งความโรแมนติกกับหนุ่มหล่อชาวสวนของละครดูไม่น่าเชื่อเอาเสียเลย  

            เสน่ห์ที่ว่านี้ไม่จำเป็นต้องมาจากรูปร่างหน้าตา ทว่านักแสดงสามารถสร้างคาแรกเตอร์ให้มีบุคลิกบางอย่างที่สามารถ ‘สะกด’ และมัดใจตัวละครฝ่ายชายได้ ไม่ว่าจะเป็นธาตุแท้แห่งความเป็นมารดา หรือนิสัยห่วงหาอาทรชอบดูแลผู้อื่นอยู่ร่ำไป ทว่า ธัญญ์วาริน ยังไม่สามารถทำให้ผู้ชมตระหนักได้ว่า ชายคนรักของเธอหลงใหลในตัวตั๊กด้วยคุณสมบัติไหน

           ในขณะที่การแสดงส่วนดราม่ากับตัวละครท็อป  ธัญญ์วารินเองกลับรับมือได้อย่างดี โดยเฉพาะเมื่อเธอได้รับแรงหนุนอย่างวิเศษผ่านการแสดงของนักแสดงหนุ่ม ธีรภัทร โลหนันท์ ผู้รับบทเป็น ท็อป ที่สามารถถ่ายทอดอารมณ์ขบถอันน่าเห็นใจ บ่งบอกถึงความอ่อนไหวภายใต้ท่าทีอันแข็งกร้าวและต้องระแวงระวังตัวอยู่ตลอดเวลาได้อย่างน่าเชื่อเสียทุก ๆ ฉาก ๆ ทุก ๆ ตอนเลยจริง ๆ

_DSC4736-2 (1)

ภาพถ่ายโดย ศุภนิมิต สุขอินทร์

          นับเป็นการแสดงที่มีมิติลุ่มลึกและน่าประทับใจยิ่งกว่าที่ Kevin Zegers เล่นไว้ในหนังต้นฉบับเสียอีก ซึ่งก็ช่วยให้เนื้อหาส่วนที่เป็นหัวใจของละครยังมีพลังและสร้างความสะเทือนใจจนไม่อาจกลั้นน้ำตาไว้ได้ โดยเฉพาะในฉากที่ทั้งคู่ต้องเปิดใจต่อกัน

            โดยภาพรวมแล้วละครเวทีเรื่อง Trans-I-Am จึงไม่ใช่ละครที่ชูป้ายรณรงค์ให้ผู้คนหันมาเข้าอกเข้าใจหัวอกกลุ่มคน Transgender ในแบบธรรมดา ๆ  ทว่ามันสามารถตีแผ่มิติความเป็นมนุษย์ปุถุชนของตัวละคร สะท้อนแง่มุมการใช้ชีวิตที่เลยพ้นไปจากบทบาททางเพศ สู่การเรียนรู้และเข้าใจกันและกัน 

           และต่อให้ผู้ชมที่เคยชมภาพยนตร์ต้นฉบับ Transamerica จนรับรู้เรื่องราวล่วงหน้ามาแบบหมดเปลือกแล้ว ก็ยังสามารถบันเทิงไปกับละครเรื่องนี้ได้ เมื่อนักแสดงชุดใหม่ ได้ตีความตัวละครและเหตุการณ์เดิมเหล่านี้แตกต่างออกไป และไม่ใช่เพียงแค่เปลี่ยนสัญชาติตัวงานจากอเมริกันมาเป็นแบบไทย ทว่ายังสะท้อนเหลี่ยมมุมของตัวละครใหม่ ๆ ซึ่งสามารถหยิบมาถ่ายทอดได้อย่างไม่รู้จบ

            ละคร Trans-I-Am เปิดการแสดงไปจนถึงวันอาทิตย์ที่ 9 มิถุนายน ศกนี้