3,515 เส้นทางฝัน ‘แอพพาลาเชียน’

3,515 เส้นทางฝัน ‘แอพพาลาเชียน’

การเดินเท้าสุดทรหดของหญิงแกร่งชาวไทยที่ให้อะไรมากกว่าเส้นชัยและคู่ชีวิต

“ชีวิตยังมีพรุ่งนี้เสมอ” เนื้อร้องท่อนสุดท้ายจากเพลงอกหักของ ตูน บอดี้สแลม ฉายภาพความเจ็บปวดอันงดงามจากประสบการณ์เดินป่าของ ยุ้ย - ปิยะธิดา มานะสถิตพงศ์ หญิงแกร่งวัย 38 ปี บนเส้นทาง Appalachain Trail ในสหรัฐอเมริกา นี่คือ 1 ใน 3 เส้นทางเดินเท้าที่ยาวที่สุดในโลก ยาวถึง 3,515 กิโลเมตร ที่เธอเป็นผู้พิชิตมาแล้ว

ยุ้ยเป็นอดีตสัตวบาลในบริษัทแห่งหนึ่งที่ทำงานกว่า 6 ปี ก่อนจะลาออกโดยมีจุดประสงค์เดียวคือ ‘อิสรภาพ’ ในการใช้ชีวิต เธอกลับภูมิลำเนาที่จังหวัดเชียงใหม่และสร้างร้านขายต้นไม้เล็กๆ เพื่อเริ่มต้นชีวิตอิสระตามที่ใฝ่ฝัน ยุ้ยได้พบกับเจ้าของฉายา ‘แบ็กสแคร็ตเชอร์’ นักเดินป่าอีกฟากหนึ่งของโลกที่กลายมาเป็นคู่ชีวิตในเวลาต่อมา เขายื่นโอกาสที่ท้าทายให้เธอร่วมพิชิตเส้นทางนี้ด้วยกัน และเพราะความที่อยากทำอะไรที่ไม่เคยทำ ผลักให้เธอไปยืนอยู่บนเส้นทางแอพพาลาเชียนเทรลเมื่อปี 2 ที่แล้ว

ด้วยจังหวะชีวิตที่ค่อนข้างลงตัว ร้านต้นไม้ที่อาจไม่ได้สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ แต่ก็พอจะทำให้ใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างไม่ลำบากนัก และคนข้างกายที่พร้อมจะออกไปผจญภัยด้วยกัน การเดินทางครั้งแรกของเธอจึงเริ่มต้นขึ้น

ลืมบอกไปว่า เทรลเนมหรือฉายาในการเดินป่าของเธอ คือ ‘Can Do’ ต่อจากนี้ไปขอเรียกเธอว่าแคนดู

  • ใจก้าวเท้าเดิน

เธอเริ่มเตรียมความพร้อมทั้งร่างกาย ทั้งใจที่มุ่งมั่น และอุปกรณ์เดินป่าที่จำเป็น แน่นอนว่าเรื่องพวกนี้อินเทอร์เน็ตเป็นไกด์ที่ให้ข้อมูลเบื้องต้นได้ดีทีเดียว ทั้งข้อมูล กระเป๋า เต้นท์ เส้นทางเดินป่า ช่วงเวลาที่เหมาะที่สุดในการออกเดินทาง เพื่อเตรียมความพร้อมให้ได้มากที่สุด

กลางเดือนมีนาคมจึงเป็นช่วงที่แคนดูและแบ็กสแคร็ตเชอร์ รวมทั้งนักเดินทางทั่วโลกกว่า 2,000 คน ปักหมุด ณ จุดเริ่มต้น เนื่องจากเป็นช่วงปลายฤดูใบไม้ผลิกำลังจะเข้าสู่ฤดูร้อน อากาศกำลังดี ซึ่งการเดินทางของเธอเป็นแบบ Northbound คือเดินขึ้นไปตามทิศเหนือ เริ่มต้นที่ภูเขาสปริงเกอร์ รัฐจอร์เจีย สิ้นสุดทางเหนือที่เทือกเขาคาทาห์ดิน ในรัฐเมน

ทว่า ระหว่างการเดินทางเธอก็พบว่ามีสิ่งที่ทำให้ดวงตาของเธอเป็นประกายอีกครั้ง ก็คือ กลิ่นอาหารจากเทรลเมจิ เหล่าคนในวงการเดินป่าหรือไม่ก็ชาวบ้านที่มักมาแจกอาหารทำกันสดๆ ร้อนๆ ให้กับ ‘ธรูไฮเกอร์’ หรือ ‘นักเดินป่า’ เมื่อไหร่ที่กลิ่นเนื้อย่างลอยแตะจมูก เมื่อนั้นสปีดเท้าจะทำงานโดยอัตโนมัติ เป็นช่วงเวลาที่เธอเรียกได้เต็มปากว่า ฟินสุดๆ ถ้าเมื่อไหร่ที่รู้ว่าข้างหน้ามีเทรลเมจิเท้าของเธอจะรีบนำทางให้ถึงจุดหมายโดยเร็วที่สุด

การเตรียมเสบียงในการเดินแต่ละรอบอย่างน้อยก็สำหรับ 3-5 วัน ครั้งนั้นที่รัฐเทนเนสซี แคนดูและแบ็กสแคร็ตเชอร์แวะซื้ออาหารแพ็กใส่กระเป๋าพร้อมไปเทรลเหมือนเคย แต่ที่ต่างไปจากเดิมคือพวกเขาเจอกับเทรลเมจิ ซึ่งเขาและเธอไม่รู้มาก่อน

“วันนั้นเราก็ซื้ออาหารและกินมาอย่างเต็มที่ แต่ด้วยความเสียดาย จากแผนที่วางไว้ว่าจะเดินทางอีก 10 กิโลเมตรก็ล่ม เราตัดสินใจไม่ไปต่อ เพื่อจะอยู่กินอาหารมื้อนั้นจนอิ่ม เราเดินทางต่อได้เพียง 2 กิโลเมตรก็ต้องหยุดพักเพราะความอิ่มทำให้เดินต่อไม่ไหว” แคนดู เล่าประสบการณ์ที่ทำให้เธออิ่มจนลืมไม่ลง

ในขณะนั้นเองเธอก็พบกับช่วงเวลาอันเลวร้าย นอกจากความเมื่อยล้าของร่างกายที่เริ่มทำงานอย่างไม่ปราณี และความหิวอยู่ตลอดเวลาบั่นทอนกำลังกายและใจไปพอสมควร

“การเดินป่าทำให้เรากินเท่าไหร่ก็ไม่อิ่ม เพราะเราเดินอยู่ตลอด ด้วยความที่อาหารส่วนใหญ่ที่กินเป็นพวกราเม็ง ขนมปัง มันไม่ได้มีสารอาหารที่ครบถ้วน ไม่ใช่มื้ออาหารอย่างที่เคยกินมา ไม่ใช่ข้าวกับแกงเขียวหวาน” เธอบอกอย่างนั้น

เสบียงระหว่างทางจากผู้ใจดี

เคยมีนักวิจัยกล่าวไว้ว่า การเดินป่าบนแอพพาลาเชียนเทรลเผาผลาญพลังงานในร่างกายพอๆ กับนักกีฬาที่ฝึกซ้อมสำหรับไปแข่งขันโอลิมปิก การเดินเท้าโดยเฉลี่ย 10 ชั่วโมงต่อวัน เผาผลาญพลังงานราว 4,000-5,000 กิโลแคลอรี ซึ่งต่างจากคนทั่วไปที่ใช้พลังงานโดยเฉลี่ยราว 2,000 กิโลแคลอรี

และปัญหาเรื่องเท้า ก็เป็นอีกหนึ่งความเลวร้ายที่ต้องเจอตลอด 6 เดือน เธอเล่าว่า ยิ่งเดินก็ยิ่งรู้สึกเหมือนเดินเท้าเปล่า รองเท้ามันบางลงเรื่อยๆ บางครั้งก็รู้สึกราวกับว่าเท้าสัมผัสกับความหยาบของหินเข้าเต็มๆ อุปสรรคของร่างกายจึงเป็นสิ่งที่น่ากังวลไม่น้อยไปกว่าเรื่องดิน ฟ้า อากาศ

แต่ระหว่างทางก็มักจะมีเรื่องราวดีๆ ที่ช่วยผลักให้เธอไปต่อ ซึ่งเป็นที่มาของวลีในหนังสือ The Appalachain Trail ที่แคนดูเล่าอย่างตรงไปตรงมาว่า ‘บ่าของฉันมีฝันของเธอ’ ตอนนั้นเธอแวะซื้ออาหารที่เมืองแฮมป์ตัน รัฐเทนเนสซี และนั่งกินอาหารที่ร้านฟาสฟู้ดแห่งหนึ่ง พอจะกลับที่พักก็พบว่าเมืองนั้นไม่มีรถประจำทาง แต่แล้วก็มีคุณป้าใจดีอาสาไปส่ง

“พอดีมีป้าคนหนึ่งนั่งรถเข็น ถามว่าพวกยูจะไปไหน เราก็ตอบไปว่าจะไปภูเขาคาทาห์ดิน ป้าแกก็บอกว่า ป้าก็อยากไปนะ แต่ดูสภาพป้า ขายังเดินไม่ได้เลยต้องนั่งรถเข็น ตัั้งแต่วินาทีนั้น เราก็รู้สึกเลยว่า จะต้องไปให้ถึงและแบกความฝันแกไปด้วย มันเหมือนมีคนร่วมดีใจไปกับความสำเร็จของเรา ถึงป้าแกจะพิการแต่แกขับรถได้ และแกไปส่งเราที่โรงแรม” แววตาเธอเป็นประกายเมื่อเล่าถึงความฝันของคุณป้าคนนั้น

  • ยิ่งสูงยิ่งหนาว

เมื่อการเดินบนเส้นทางสายนี้ไม่สามารถเลี่ยงความโหดของสภาพพื้นที่ได้ มีแต่คำว่า “ไปต่อ” กับ “ถอยกลับ” เท่านั้น เธอจึงต้องเจอกับช่วงเวลาที่ฝึกความแข็งแกร่งในตัว นับเป็นช่วงที่หินที่สุด อยู่ระหว่างทางรัฐนิวแอมเชียร์กับรัฐเมน ซึ่งมันไม่มีทางเรียบให้เดินอีกต่อไปแล้ว มองไปมีแต่หินและทางขึ้นลงสลับฟันปลา เดินขึ้นเดินลง 45 องศา แคนดูเล่าว่า ด้วยความเป็นคนเอเชียที่ตัวเล็กและขาสั้น ทำให้เป็นอุปสรรคในการปีนป่ายอยู่พอสมควร แต่ก็มีเพื่อนร่วมทางที่เขายื่นมือมาช่วย บางครั้งถึงขนาดเอามือรองเท้าเพื่อให้เหยียบขึ้นไป นับเป็นช่วงที่โหดและหินมากสำหรับเธอ เรียกว่าวัดใจกันสุดๆ แต่ภายใต้ความโหดก็มักแต้มด้วยความสนุกเสมอ

เดินทางมาถึงรัฐเมน รัฐสุดท้ายที่มีความยาวเพียง 1.5 กิโลเมตร แต่เธอใช้เวลาเดินถึง 4 ชั่วโมง จากที่เคยเดินวันละ 10 กิโลเมตร ด้วยเส้นทางที่เต็มไปด้วยหินและบ่อน้ำ ต้องลอดหิน หาช่องว่างเพื่อเดินไปยังจุดหมายสุดท้ายคือ ภูเขาคาทาห์ดิน หนำซ้ำฝนยังตกอีก แต่ถ้ามองกลับไปตอนนี้เธอบอกว่ามันสนุกและท้าทายมาก เรียกได้ว่า “ยิ่งใกล้ยิ่งยาก”

แคนดูเล่าว่า การเดินทางครั้งนี้ ทำให้เธอเป็นคนที่ใช้ชีวิตง่ายขึ้น กินง่าย อยู่ง่าย มีความสุขได้แบบง่ายๆ ยิ่งเวลาเจอถังขยะ มันเหมือนเจอห้องน้ำเมื่อต้องการปลดทุกข์ แค่ได้ทิ้งขยะเพียงไม่กี่ชิ้นก็ทำให้รู้สึกโล่งได้อย่างไม่น่าเชื่อ เวลาเทรลเมจิมาเลี้ยงอาหาร เวลาเราได้ซักผ้า การได้ทำเรื่องเล็กๆ ที่เคยทำแต่กลับรู้สึกดี

“ไฮไลท์การเดินทางจึงไม่ได้อยู่ที่ปลายทางตอนชูธงว่า ฉันพิชิตเส้นทางกว่า 3000 กิโมเมตรนี้ได้แล้วนะ แต่มันอยู่ที่ระหว่างทางมากกว่า มันคือเรื่องที่ผ่านมาที่เราได้เจอ”

มิตรภาพและความมีน้ำใจของผู้คนที่นั่นเป็นสิ่งที่เธอซาบซึ้ง พวกเขาไม่เอาเปรียบ ไม่ขายของเกินราคา และยังคอยอำนวยความสะดวกให้เหล่าธรูไฮเกอร์ตลอด ทั้งแคมป์ไซต์ให้หลบฝนและอาหารเป็นครั้งคราว 

ย้อนกลับไปเมื่อปี 1930 ช่วงที่อเมริกาเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจ ประชาชนว่างงานราว 25 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งประเทศ รัฐบาลของสหรัฐอเมริกาก็ใช้แอพพาลาเชียนเทรลเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างงานให้ประชาชน โดยใช้งบประมาณจ้างคนในพื้นที่คอยดูแลเส้นทาง สร้างเชลเตอร์หรือแคมป์ไซต์ให้นักเดินป่าได้พักผ่อน เป็นการใช้งบประมาณของภาครัฐสร้างประโยชน์ให้ประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม และสร้างรายได้ให้คนในท้องถิ่น พวกเขาคิดเสมอว่าคนที่เดินทางมาที่นี่เป็นคนนำรายได้มาสู่ชุมชน ควรที่จะดูแลประหนึ่งเป็นแขกของบ้าน

เหล่าธรูไฮเกอร์ผู้พิชิตเส้นชัย

  • อำลาแอพพาลาเชียน

การเดินป่าของเธอมันเหมือนหลักสูตรการใช้ชีวิตฉบับเร่งรัด จำลองให้ดูว่าชีวิตจริงๆ สบายกว่ามาก บางทีก็ยิ้ม บางทีก็หัวเราะ บางทีก็เจ็บปวด แต่สุดท้ายก็ไปถึงจุดหมาย แม้กิจวัตรที่ต้องทำทุกวันจะเป็นลูปเดิมก็จริง แต่ก็ไม่มีอะไรซับซ้อน

“ตื่นมาแพ็กเต้นท์ กินอาหาร เดินต่อ เที่ยงพัก กินขนม เดินต่อ ถึงแคมป์ตั้งเต้นท์ แต่ละวันก็คิดแค่ว่าจะกินอะไรดี จะเดินไปถึงไหน ฝนจะตกไหม ชีวิตจริงมันโหดกว่านี้นะ ความเมื่อยล้าจากการเดินทางมันทำให้เราคิดอะไรได้หลายอย่าง เผชิญหน้าอย่างเดียวไม่พอ เราต้องรู้จักยอมรับสภาพความเป็นจริงด้วย อย่างบางเทรลที่มันยาก เราเองก็ท้อ แต่เทรลมันไม่เปลี่ยน หินมันก็ยังอยู่ที่เดิม ยอมรับเถอะว่ามันหิน แต่ก็ต้องเดินไป เพราะว่าจุดหมายมันอยู่ข้างหน้า” แววตาเด็ดเดี่ยวของแคนดูย้ำถึงความโหดของการเดินทางที่ผ่านมา

ช่วงวันสุดท้ายก่อนจะขึ้นไปบนภูเขาคาทาห์ดิน วันนั้นในแคมป์ไซต์มีเพื่อน 10 คน ที่จะขึ้นไปพร้อมกัน ทุกคนนั่งล้อมวงโดยมีกองไฟให้แสงสว่าง เธอสัมผัสได้ถึงความโรแมนติก ทุกอย่างดูหอมหวานไปหมด

“มันไม่ใช่เรื่องของคนสองคนที่ต้องมานั่งสวีตนะ แต่เป็นการนั่งแชร์ประสบการณ์ ความรู้สึก มันเหมือนงานเลี้ยงอำลา ต่างคนก็ต่างที่มา พอพิชิตเส้นทางได้ เราก็แยกย้ายกัน เพราะฉะนั้นวันสุดท้ายมันจึงเป็นอะไรที่ค่อนข้างพิเศษ เหมือนที่เขาว่ากันว่า เราจะรู้สึกว่าอะไรพิเศษก็ต่อเมื่อกำลังจะต้องกล่าวอำลามัน” เธออมยิ้มให้กับกลิ่นหอมหวานของความสำเร็จที่ฝ่าฟันมา 6 เดือนเต็ม

เธอกลายเป็นคนซึมๆ อยู่หนึ่งเดือน เพราะคิดถึงเทรลและตั้งใจจะกลับไปพบกับความท้าท้ายครั้งใหม่ที่มากขึ้นกว่าเดิม บนเส้นทาง Pacific Crest Trail ระยะทาง 4,270 กิโลเมตร จากเม็กซิโกไปยังแคนาดาเช่นเดียวกับในหนังเรื่อง Wild

“บางทีแผนการเดินทางที่ยืดหยุ่น ทำให้เรามีความสุขมากกว่าการตั้งเป้าที่สูงเกินไป เราเหนื่อยเราก็พัก เราหิวเราก็กิน มันคือการเดินทางของเรา เป้าหมายอาจไม่สำคัญเท่าระหว่างทาง” -CAN DO-

บนเทือกเขาคาทาห์ดิน