‘กระดังงาตานี’ เปลี่ยนน้ำตาเป็นพลัง

‘กระดังงาตานี’ เปลี่ยนน้ำตาเป็นพลัง

โครงการเล็กๆ ของหญิงหม้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ไม่ยอมให้ตัวเองไร้ค่าและสิ้นหวัง

“3 ปีที่เก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน ร้องไห้แทบทุกวัน ทำใจไม่ได้เลย ไม่กล้าเปิดไฟ เพราะกลัวว่าถ้าเขาเห็นว่ามีคนอยู่จะมายิงเราอีก ทั้งๆ ที่ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าคนที่ยิงสามีเราเป็นใคร” รัตนา ดือแระซอ สตรีผู้สูญเสีย วัย 61 ปีย้อนความรู้สึกหลังสามีถูกลอบยิงบริเวณตลาดเก่าจะบังติกอร์ จังหวัดปัตตานี เมื่อปี 2548

ไม่ต่างจากหญิงหม้ายอีกหลายชีวิตที่ต้องเสียคนรักไปภายใต้สถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ต่อเนื่องมากว่าทศวรรษ มีรายงานว่าในจำนวนเหตุการณ์ความรุนแรงนับหมื่นครั้ง ปรากฎตัวเลขของหญิงหม้าย นับตั้งแต่ปี 2549 – 2554 จำนวนถึง 2,480 คน และมีเด็กกำพร้าอีก 4,833 คน พวกเขาเหล่านี้แม้ไม่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต แต่ก็ต้องอยู่ต่อไปแบบ ‘ตายทั้งเป็น’

รัตนาบอกว่า หลังสูญเสียสามี ชีวิตก็แทบจะไปต่อไม่ได้ กระทั่งเริ่มมีหน่วยงานต่างๆ เข้ามา แนะนำให้ไปศึกษาดูงาน “ตอนนั้นเห็นคนพิการที่เขาไม่มีมือไม่มีเท้า แต่เขามีอาชีพ เราก็มานั่งคิดว่า กลับไปเราจะไม่นั่งเสียใจแล้ว ถ้าเสียใจ คือเรามองแต่อดีต เราจะเดินไปข้างหน้าไม่ได้ หลังจากนั้นทางม.อ.ปัตตานี (มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์) ซึ่งเขามีศูนย์วิชาการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบชายแดนใต้ เชิญให้ไปประชุม อาจารย์ก็แนะนำว่ามีโครงการกิจกรรมทางเลือกของอาจารย์ปิยะ (กิจถารร) ก็เลยลองเสนอโครงการไป”

นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้หญิงหม้ายคนนี้ลุกขึ้นมาสู้อีกครั้ง เพื่อเปลี่ยนน้ำตาให้เป็นพลัง

 

หญิงหม้าย_๑๙๐๕๓๐_0008

 

5,000 บาท กองทุนเปลี่ยนชีวิต

โครงการที่รัตนากล่าวถึงนั้น เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ความรุนแรงที่เริ่มปะทุขึ้นตั้งแต่ปี 2547 โดยมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า โครงการทุนสนับสนุนวิจัยกิจกรรมทางเลือกเพื่อเด็ก สตรี และผู้นำศาสนาในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสี่อำเภอตอนล่างของจังหวัดสงขลา ‘เฮาะตีกอ’ โครงการของเรา โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ดำเนินการในพื้นที่ 9 อำเภอ (สายบุรี เมือง ยะรัง จ.ปัตตานี) (ตากใบ บาเจาะ ระแงะ จ.นราธิวาส) (เบตง บันนังสตา รามัน จ. ยะลา)

“เราพบปัญหาว่าภายใต้ความรุนแรงแบบนี้ถ้าเราทำงานวิจัยมาตรฐานเดิม ชาวบ้านก็คงไม่มีสิทธิที่จะได้ประโยชน์จากงานวิจัย ก็เลยมาช่วยกันคิดว่าจะทำอะไร ทีนี้คำว่าวิจัยมันมี 2 คำ action กับ research งั้นเอา action ก่อน คือปฏิบัติการแล้วค่อยทำวิจัยตามหลังไป” ผศ.ปิยะ กิจถาวร ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวถึงที่มา และว่าทุนวิจัยนี้ดำเนินการภายใต้แนวคิดหลัก 3 ประการ คือ

หนึ่ง เฮาะกีตอ แปลว่า “เราเป็นเจ้าของร่วมกัน” สอง “ร่วมกันทำความดี ไม่ใช่ต่างคนต่างทำความดี นำมาสู่สันติสุขและสันติภาพ” สาม “ร่วมกันฟื้นฟูความสัมพันธ์ในชุมชน” โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือ เด็กกำพร้า หญิงหม้าย และผู้นำศาสนา

“อันนี้จากคำแนะนำของชาวบ้านนะครับ เด็กกำพร้า เราไม่ได้ขีดเส้นว่าจากเหตุการณ์นะ เด็กกำพร้าทั้งหมด เพราะในหลักการอิสลาม เด็กกำพร้าคือแสงสว่างในบ้าน และการทำงานกับเด็กกำพร้า ชุมชนจะยอมรับหมดเลย ถือว่าได้บุญ มีพลังในการร่วมแรงร่วมใจกันสูงมาก

กลุ่มที่สองคือ หญิงหม้าย สมัยนั้นชาวบ้านไม่อยากให้เรียกว่าหญิงหม้ายนะ เขาใช้คำว่า ‘สตรีผู้สูญเสีย’ เพราะพอเกิดเหตุการณ์ปี 2547 มีความรุนแรงมีความสูญเสียเกิดขึ้น ผลกระทบที่แรงที่สุดไม่ใช่ระเบิดนะ แต่คือครอบครัว ลูกต้องกำพร้าพ่อ แม่บ้านส่วนใหญ่ไม่ได้ทำงานก็ต้องดิ้นรนทุกอย่าง

กลุ่มที่สาม คือผู้นำศาสนา ทั้งพุทธและมุสลิม เพราะภายใต้สถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ผู้นำศาสนาถูกตีตราว่าบ่มเพาะสารพัดอย่าง ทำให้เขาไม่สามารถขยับตัว ไม่สามารถใช้พลังของศาสนามาเป็นเครื่องมือในการสร้างสันติภาพได้ เขาถูกเบียดขับหรือว่ากดเอาไว้ด้วยความไม่รู้ และอคติของทุกฝ่าย”

หลังจากกำหนดกลุ่มเป้าหมายแล้ว วิธีวิจัยก็ถูกปรับเพื่อให้สะดวกและเกิดประโยชน์กับชาวบ้านอย่างแท้จริง “โครงการก็เป็นกระดาษแผ่นเดียว เราให้ชาวบ้านเขียนด้วยลายมือ โดยมีหลักง่ายๆ คือ อย่าทำคนเดียว อย่าคิดคนเดียวต้องช่วยกันคิด มันจะสร้างกระบวนการกลุ่มขึ้นมา และเป็นที่รับรู้ในชุมชน พอเห็นตรงกันแล้วค่อยเสนอเป็นโครงการขึ้นมา โดยเราตั้งชาวบ้านเป็นกรรมการจังหวัด ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ให้เขากลั่นกรองกันเอง เพราะเขาจะรู้ความจริงที่สุด สุดท้ายชาวบ้านนั่นแหละเป็นคนตัดสินว่าจะให้โครงการไหนหรือไม่ให้โครงการไหน”

ผศ.ปิยะ อธิบายต่อว่า สำหรับโครงการที่ผ่านการอนุมัติจะได้รับเงินจำนวน 5,000 บาท เป็นทุนประเดิม ซึ่งถือว่าน้อยมาก แต่ด้วยความเชื่อว่า เงินเป็นแค่สารตั้งต้นที่ทำให้เกิดการระดมความคิดและทุนทางสังคมที่มีอยู่ จึงมั่นใจว่าแต่ละโครงการจะสามารถดำเนินกิจกรรมตามที่ตั้งใจได้

“เราเน้นว่ากิจกรรมนั้นต้องมาจากความต้องการของชาวบ้าน เป็นกิจกรรมที่เปิดกว้าง หรือกิจกรรมที่ทำแล้วคนในชุมชนมีความรักความสามัคคีและมีความสุข ได้แก้ปัญหาของตนเอง และมีการสรุปบทเรียนทุกระยะเพื่อสร้างการเรียนรู้ร่วมกันของทุกฝ่าย”

ที่ผ่านมามีกิจกรรมที่ดำเนินการไปแล้วทั้งสิ้น 44 โครงการ ทำให้เกิดข้อค้นพบว่า การจะฟื้นความมั่นใจของชุมชนให้กลับมาอีกครั้ง จำเป็นต้องเปิดโอกาสให้ชุมชนได้ทำกิจกรรมร่วมกันบนฐานความต้องการที่แท้จริง สอดคล้องกับวิถีชีวิตและบริบทของแต่ละพื้นที่

 “ไม่ใช่แค่การให้เงิน 5,000 บาท แก่ชาวบ้านไปทำกิจกรรม แต่เป็นการให้ โอกาสชาวบ้านในหลายๆ พื้นที่ได้มาพบปะ พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ถามไถ่เรื่องทุกข์สุข รับรู้ปัญหา ตลอดจนเยียวยาจิตใจให้แก่ผู้ที่กำลังตกอยู่ในความทุกข์โศก ซึ่งสิ่งที่ปรากฎชัดเจนที่สุด คือคำพูดจากปากชาวบ้านที่มานำเสนอผลการดำเนินงานของตัวเอง ที่บอกว่า...ทำให้รู้สึกเหมือนไม่ถูกทอดทิ้ง” คอยรูซามัน มะ ผู้รับผิดชอบโครงการ ‘สตรีผู้สูญเสียหัวหน้าครอบครัวละศีลอดร่วมกัน’ ชี้ถึงคุณค่าทางจิตใจที่เหนือกว่าจำนวนเงินมากมายนัก

หญิงหม้าย_๑๙๐๕๓๐_0003

 

มะกรูดหวาน สานพลังชุมชน

จากแม่บ้านโดยสถานภาพและแม่ค้าโดยอาชีพ รัตนา เป็นอีกคนหนึ่งที่ใช้กิจกรรมทางเลือกนี้ในการพลิกวิกฤติของชีวิตให้กลายมาเป็นโอกาส ไม่ใช่แค่ตัวเองแต่ยังรวมถึงคนในชุมชนด้วย

“เริ่มแรกก็ไม่ได้คิดจะทำอะไรแบบนี้นะ แต่เพื่อให้ลืมเหตุการณ์ที่แฟนถูกยิงในวันนั้น ก็เลยเข้ามาทำโครงการกับอาจารย์ ตอนนั้นประมาณปี 2551 ยังไม่ได้เย็บผ้า ก็มาดูในชุมชนว่ามีอะไรที่พอจะต่อยอดได้ และเราจะตอบแทนชุมชนยังไง ชุมชนนี้มีภูมิปัญญาท้องถิ่นคือทำกระด้งทำจักสาน ก็เลยเอาตัวนี้มาทำเป็นผลิตภัณฑ์จากก้านมะพร้าว”

เดิมทีรัตนาตั้งใจจะใช้ชื่อกลุ่มว่า ‘กระดังงาตานี’ ด้วยเหตุผลว่า ดอกกระดังงาเปรียบเหมือนผู้หญิง เวลาลมมา แม้ลมจะแรงก็สามารถยืนด้วยตัวเองได้ แต่หลังจากได้พูดคุยกับผู้นำท้องถิ่นและสตรีในหมู่บ้าน หลายคนที่ไม่ได้เป็นหม้ายรู้สึกขัดเขิน โต๊ะอิหม่ามจึงแนะนำให้ใช้ชื่อชุมชน ซึ่งภาษาท้องถิ่นแปลว่า ‘โคกมะกรูด’ เป็นที่มาของชื่อกลุ่ม ‘มะกรูดหวาน’ ต.บาราเฮาะ อ.เมือง จ.ปัตตานี

จากเงินขวัญถุง 5,000 บาท กลุ่มมะกรูดหวานได้ทดลองผลิตสินค้าหลากหลายรูปแบบ เริ่มต้นจากจักสาน ก่อนจะมาลงตัวที่งานเย็บผ้า ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ค่อนข้างหลากหลาย อาทิ เสื้อผ้า กระเป๋า หมวก พวงกุญแจ สายคล้องบัตร ทั้งหมดเป็นผลงานแฮนด์เมดจากสมาชิกหลัก 7 คน ทั้งสตรีหม้ายและผู้สูงอายุ 

หญิงหม้าย_๑๙๐๕๓๐_0006

"ตอนนี้ก็มีออร์เดอร์มาเรื่อยๆ เราไม่มีหน้าร้าน แต่จะเอาสินค้าไปวางขายตามงานต่างๆ ที่เขาเชิญไปร่วมประชุมหรือไปออกร้าน คนทั่วไปสามารถเข้าไปดูสินค้าและสั่งซื้อได้ในเฟซบุ๊คของกลุ่ม และทางไลน์  รายได้ของกลุ่มโดยเฉลี่ย บางเดือนก็อาจถึงหลักแสน บางเดือนก็เป็นหลักหมื่น ใครทำเท่าไหร่ก็จัดสรรเงินกันไปตามที่ตกลงไว้"

รัตนา บอกว่านี่คือวิธีเยียวยาจิตใจที่ดีที่สุด เพราะนอกจากจะทำให้ครอบครัวมีรายได้เพิ่ม ได้ทำกิจกรรมร่วมกับคนในชุมชน ชุมชนให้การยอมรับ ยังได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับคนอื่นๆ ทั้งที่มีประสบการณ์ใกล้เคียงกันและที่อาจจะไม่เคยรู้จักกันมาก่อนเลย

ไม่ต่างจากความรู้สึกของ ปรียานุช อีซอ วัย 60 ปี สมาชิกอีกคนของกลุ่มมะกรูดหวาน “การได้มารวมกลุ่มทำให้ความรู้สึกดีขึ้นมาก มีความสุข แล้วก็สนุกกับชิ้นงานที่เราผลิตออกมา ถึงเราเป็นแม่หม้าย ไม่ใช่แค่เดินสวยงาม เราเป็นแม่หม้ายที่สร้างอาชีพ แล้วอีกอย่างหนึ่งเรามีความรู้ตรงนี้ก็อยากจะถ่ายทอดให้กับคนรุ่นใหม่ด้วย”

ตอนนี้นอกจากจะชักชวนผู้หญิงผู้สูญเสียและผู้สูงอายุคนอื่นๆ ให้เข้ามามีส่วนร่วมแล้ว คนรุ่นใหม่ก็เป็นเป้าหมายที่ทางกลุ่มอยากให้เข้ามามีบทบาทสานต่อแนวคิด และต่อยอดการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้หลากหลายและตอบโจทย์มากขึ้น ซึ่งพวกเธอมองว่าหากสถานการณ์ความรุนแรงยังคงอยู่ ผู้หญิงต้องตั้งหลักให้ได้

“เมื่อก่อนเคยพูดกับตัวเองว่า ให้เราเป็นคนสุดท้ายนะที่สูญเสียแบบนี้ แล้วก็ไม่อยากให้เกิดการสูญเสียอีก แต่ว่าเหตุการณ์ตอนนี้มัน... รู้สึกไม่ปลอดภัย" รัตนา เก็บบางถ้อยคำไว้ในใจ และแม้จะไม่เคยยินดีกับคำว่า ‘หญิงหม้าย’ แต่ถึงวันนี้เธอก็รู้สึกมั่นคงขึ้นมากกับสถานภาพจำยอม เพราะสิ่งที่ทำอยู่ทำให้รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า

ผศ. ปิยะ มองจากมุมของนักวิชาการที่ได้ร่วมขับเคลื่อนกิจกรรมกับกลุ่มสตรีมาตั้งแต่ปี 2551 ว่า นอกเหนือจากการเปลี่ยนแปลงในระดับตัวบุคคลที่เห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นความมั่นใจในตัวเอง หรือกระบวนการคิดที่เป็นระบบ ความสัมพันธ์ภายในชุมชนก็ถือเป็นความสำเร็จอย่างหนึ่งของโครงการ

“กลุ่มหญิงหม้าย เราพบว่าเขาเดินได้ในลักษณะของการต้องดิ้นรนเพื่อมีรายได้ อย่างน้อยก็เพื่อเลี้ยงดูครอบครัว เราให้เขาทำเป็นเครือข่ายแลกเปลี่ยนกันไป ขับเคลื่อนกันไป ที่สำคัญอันหนึ่งที่พบจากการทำงานก็คือว่า เขาได้ปรับทุกข์กัน ได้พูดคุยกัน ได้ช่วยเหลือกัน เขาไม่รู้สึกว่าถูกทิ้ง มันสร้างโอกาส สร้างความสัมพันธ์ภายในชุมชน”

ซึ่ง ผศ.ปิยะ ย้ำว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือ ความหวาดระแวง และการทำลายสายสัมพันธ์ในแนวราบ ระหว่างคนในครอบครัว ระหว่างชุมชนกับชุมชน ดังนั้นสิ่งที่จะเยียวยาความบอบช้ำจากสถานการณ์ได้ดีที่สุด หรือการรักษาความสัมพันธ์ฐานรากนี้ไว้

ถึงวันนี้ แม้ว่าโครงการทุนสนับสนุนวิจัยกิจกรรมทางเลือกฯ จะสิ้นสุดลงแล้ว แต่ผลของการจุดประกายความหวังให้กับคนในชุมชนยังคงเป็นแสงสว่างเล็กๆ ที่นำทางพวกเขาท่ามกลางสถานการณ์ที่ยังคงคุกรุ่น

“เหมือนเราอยู่ในที่มืด สักวันต้องมีวันสว่าง ในที่สุดต้องมาเจอทางออก” รัตนา ส่งผ่านกำลังใจไปถึงหญิงหม้ายและใครอีกหลายคนที่ต้องเผชิญกับความสูญเสีย