เส้นทางรัฐบุรุษ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

เส้นทางรัฐบุรุษ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

ประวัติชีวิตและบุคลิกอันโดดเด่นของอดีตนายกรัฐมนตรีคนที 16 ของเมืองไทยในยุคที่ถูกขนานนามว่า ‘ประชาธิปไตยครึ่งใบ’

นับเป็นความสูญเสียครั้งสำคัญ เมื่อ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ บุคคลที่มีบทบาทอย่างสูงยิ่งทั้งในแวดวงการทหารและในทางการเมือง ได้ถึงแก่อสัญกรรม เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

โอกาสนี้ ‘จุดประกาย’ เรียบเรียงประวัติของท่าน โดยอ้างอิงวิทยานิพนธ์เรื่อง ‘การเมืองไทยสมัย พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ (พ.ศ. 2523-2531)’ ของ รุ่งรัตน์ เพชรมณี ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต (รัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. 2545 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า บทบาทอันโดดเด่นของพลเอกเปรมที่ทำให้สามารถบริหารประเทศได้ยาวนานถึง 8 ปี คือ ‘การถ่วงดุลอำนาจ’

“บทบาทในฐานะผู้นำของ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เริ่มตั้งแต่เข้าสู่อำนาจทางการเมืองได้รับการสนับสนุนจากทั้งทหาร พรรคการเมือง และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่เอื้อประโยชน์ให้ ภายหลังได้ดำรงตำแหน่งแล้ว สิ่งสำคัญคือ การถ่วงดุลในกระบวนการอำนาจทางทหาร และพรรคการเมือง”

ประกอบกับบุคลิกส่วนตัว ที่สามารถประสานประโยชน์ของกลุ่มต่างๆ และแก้ปัญหาวิกฤติในห้วงเวลาต่างๆ ได้ โดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจ ทำให้ได้รับการยอมรับจากหลายฝ่าย

“ตัวเลขอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงมากจากร้อยละ 4.8 ปี 2523 เป็น ร้อยละ 13.2 ในปี 2531 เป็นการเจริญเติบโตที่ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับความสามารถในการเลือกใช้คนให้เหมาะสมกับงานของรัฐบาลพลเอกเปรม”

แต่แม้พลเอกเปรมจะสามารถแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจได้ ปัญหาการเมืองยังคงเป็นปัญหาเรื้องรังตลอดมา และแม้จะถูกเรียกว่าเป็นช่วงของ ‘ประชาธิปไตยครึ่งใบ’ แต่ตลอดเวลาที่ดำรงตำแหน่งในเวลา 8 ปี พลเอกเปรมก็มีส่วนสำคัญในการทำให้การเมืองไทยพัฒนาขึ้น

 

จากนายแพทย์สู่นายทหาร

พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีคนที่ 16 เกิดเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2463 จบการศึกษาจากโรงเรียนมหาวชิราวุธ สงขลา ก่อนเข้าสู่กรุงเทพฯ ในวัยเด็กนั้นเมื่อพ่อแม่ไปวัดในวันพระก็ได้นำ ด.ช.เปรม ไปด้วยและก็จะนำเอาคำเทศน์นั้นมาเล่าให้ฟังอยู่เสมอ ทำให้ได้รู้เห็นความดีความชั่ว นอกจากนี้จากการที่มีฐานะยากจนทำให้ ด.ช.เปรม มีนิสัยประหยัด มัธยัสถ์ (มูลนิธิรัฐบุรุษ, 2538)

ในวัยเด็กท่านได้รับการศึกษาระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย จากนั้นจึงเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนนายร้อยทหารบก ด้านเทคนิคทหารบก ซึ่งเปลี่ยนแปลงจากความตั้งใจเดิมที่ต้องการเป็นแพทย์ แต่สถานะทางบ้านไม่พร้อม โดยสำเร็จการศึกษาหลักสูตรพิเศษ โรงเรียนเทคนิคทหารบก (โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า) และได้รับตำแหน่งเป็นผู้บังคับหมวดประจบกองรถรบ ตั้งแต่มีสภาพเป็นนักเรียนนายร้อย คือ เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2484 เนื่องจากเกิดกรณีพิพาทอินโดจีน ระหว่างรัฐบาลฝรั่งเศสขึ้น ทำให้นักเรียนนายร้อยรุ่นนี้รับการศึกษาเพียง 3 ปี ซึ่งไม่ครบตามหลักสูตรที่กำหนดไว้ 4 ปี และได้รับพระราชทานยศว่าที่ร้อยตรี เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2484

ขณะกำลังปฏิบัติการรบอยู่ที่ปอยเปต อีก 6 เดือนต่อมาจึงรับพระราชทานยศร้อยตรี และได้กลับไปใช้ชีวิตในสนามรบอีกครั้ง ในสงครามมหาเอเชียบูรพา โดยคราวนี้ต้องอยู่ปฏิบัติภารกิจนานถึง 4 ปี ยังได้รับการคัดเลือกให้ไปศึกษาในโรงเรียนยานเกราะของกองทัพบกสหรัฐอเมริกา ที่ฟอร์ทน๊อคซ์อีกด้วย เมื่อจบการศึกษาวิชาทหารจากกองทัพบกสหรัฐอเมริกา ทางราชการได้บรรจุให้ท่านเป็นอาจารย์แผนกวิชายุทธวิธี กองการศึกษาโรงเรียนยานเกราะ และได้รับมอบความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งผู้บังคับกองพันทหารม้าที่ 5 กรมทหารม้าที่ 2 เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2497 ขณะดำรงยศพันโท โดยยังคงทำหน้าที่อาจารย์ในขณะเดียวกันด้วย

พันโท เปรม ในเวลานั้น ใช้ชีวิตผูกพันอยู่กับทหารม้า จนได้รับตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการโรงเรียนทหารม้ายานเกราะ ศูนย์การทหารม้า เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2501 จุดนี้เองที่ทำให้ท่านเป็นที่รู้จักของผู้ใต้บังคับบัญชามากขึ้น เนื่องจากนิสัยที่ซื่อสัตย์และซื่อตรงของท่าน โดยท่านมักจะกล่าวไว้เสมอๆ ว่า “เรื่องของราชการก็ให้เป็นเรื่องของราชการ ในเรื่องส่วนตัวท่านก็มีปัญญาทำของท่านเองได้” (ชีวิตและผลงานพลเอกเปรม, 2538)

 

การเมืองนำการทหาร

เมื่อก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดในเหล่าทหารม้า ดำรงยศพลตรี เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2511 และดำรงตำแหน่งรองแม่ทัพภาคที่ 2 เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2516 และได้เลื่อนขึ้นดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 2 ในปีต่อมาพร้อมกับได้รับพระราชทานยศพลโท ในช่วงเวลานี้พลเอกเปรมได้มีโอกาสเข้าไปแก้ไขปัญหาสงครามระหว่างคนไทยกันเองจนสามารถใช้งาน ‘การเมืองนำการทหาร’ ได้สำเร็จและได้ขยายไปสู่คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 เรื่องนโยบายการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ส่งผลให้สงครามเมืองยุติลงอย่างเด็ดขาดในปีพุทธศักราช 2525

หลังจากที่พลเอกเปรมได้รับการแต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพภาคที่สองใน พ.ศ. 2517 ได้แสดงความสามารถในการปราบคอมมิวนิสต์ในเขตภาคอีสาน จนเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง โดยก่อนหน้านี้สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ในเขตภาคอีสานได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐบาลได้ทุ่มเทการปฏิบัติส่วนใหญ่ด้วยมาตรการทางทหารเกือบทั้งสิ้น แต่การปฏิบัติทางด้านการเมืองนั้นส่วนใหญ่แทบไม่มีการกระทำ ตรงข้ามกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ ซึ่งใช้ทั้งงานด้านการเมืองและลายทางทหารควบคู่กันไป ด้วยเหตุนี้ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ แม่ทัพภาคที่สอง จึงได้ร่วมกับเสนาธิการกองทัพบกเปลี่ยนยุทธวิธีในการปราบปรามคอมมิวนิสต์ใหม่โดยใช้การเมืองเป็นหลักและการทหารสนับสนุน

จากความสำเร็จในการปราบปรามคอมมิวนิสต์ในภาคอีสาน ทำให้พลเอกเปรมมีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับในความสามารถอย่างกว้างขวางจากประชาชนในวงการต่างๆ

 

นายกรัฐมนตรีคนที่ 16

หลังก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก เมื่อ พ.ศ. 2521 อำนาจและบารมีของพลเอกเปรมยิ่งสูงเด่นมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 2 ในวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2522 พลเอกเปรมจึงถูกดึงให้เข้าร่วมคณะรัฐมนตรี ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพราะอย่างน้อยก็เป็นบุคคลที่สามารถประกันเสถียรภาพของรัฐบาลได้ในระดับหนึ่ง

ในระยะต่อมา แม้พลเอกเกรียงศักดิ์ถูกโจมตีจากสื่อมวลชนและประชาชนโดยทั่วไปอย่างรุนแรง เนื่องจากความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ อันเนื่องมาจากราคาน้ำมันในตลาดโลกสูงขึ้น จนดูเหมือนว่าเกียรติภูมิของพลเอกเกรียงศักดิ์จะตกต่ำลงไปกว่าเดิม แต่พลเอกเปรมในฐานะผู้บัญชาการทหารบกและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กลับประสบความสำเร็จในการดำเนินนโยบายปราบคอมมิวนิสต์โดยใช้การเมืองนำทหาร และยิ่งพลเอกเกรียงศักดิ์มีข่วอื้อฉาวกรณีการประมูลการผลิตสุราแม่โขงและท่อส่งแก๊ส

ภาพของพลเอกเปรมที่เป็นคนซื่อสัตย์ ก็ยิ่งสูงเด่นมากยิ่งขึ้นจนมีการพูดในเชิงเปรียบเทียบว่า พลเอกเปรม คือ ‘คนดีศรีอยุธยา’ หรือ ‘อัศวินม้าขาว’

ดังนั้นเมื่อพลเอกเกรียงศักดิ์ถูกกดดันจากกลุ่มพลังต่างๆ จนต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ก็ได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสมาชิก และนายทหารให้เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน ภายใต้การสนับสนุนจากกองทัพและพรรคการเมืองอย่างท่วมท้น คณะรัฐบาลของพลเอกเปรมมีการปรับปรุงคณะอยู่หลายครั้ง ตั้งแต่เปรม 1-เปรม 5 ซึ่งเป็นรัฐบาลชุดสุดท้ายที่มีท่านเป็นหัวหน้าคณะ

นับว่าเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีการทำงานยาวนานที่สุด ผ่านปัญหามามากมาย ภายหลังจากที่ลงจากตำแหน่งผู้นำประเทศ ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นองคมนตรี พร้อมกับที่คณะรัฐบาลชุดต่อมาทูลขอพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้ท่านเป็น ‘รัฐบุรุษ’

20190526134845147

 

'เข้มแข็ง' ถูกที่ 'ประนีประนอม' ถูกเวลา

ในวิทยานิพนธ์เล่มนี้ได้วิเคราะห์ลักษณะนิสัยของพลเอกเปรมไว้ว่า เมื่อพิจารณาจากเหตุการณ์ต่างๆ แล้วท่านเป็นบุคคลที่ไว้ใจคน รับฟังที่ปรึกษา แต่ก็ตรวจสอบข้อมูลละเอียดทุกด้าน และที่สำคัญ เมื่อใครทำงานให้แล้วจะสบายใจเพราะท่านจะเป็น ‘แบ็ก’ ที่เหนียวแน่นสำหรับคนทำงาน เช่น ในกรณีการลดค่าเงินบาทในปี 2527 เนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศตกต่ำเนื่องจากประสบปัญหาขาดดุลการค้าและบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลจึงออกมาตรการที่สำคัญคือ จัดสินเชื่อให้แก่ภาคเศรษฐกิจที่สำคัญ จนกระทั่งถึงการลดค่าเงินบาทเป็นอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อ 1 ดอลลาร์อเมริกันสูงขึ้นเป็น 27 บาทนั้น ซึ่งพลเอกอาทิตย์ (ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น) ได้ออกมาคัดค้าน แต่พลเอกเปรมยืนยันว่าเป็นสิ่งที่ต้องทำ

ช่วงเวลานี้เองที่ชี้ให้เห็นถึงการทำงานของ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งก่อนที่จะตัดสินใจการลดค่าเงินบาทนั้นมีเบื้องหลังที่สำคัญคือ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ซึ่งขณะนั้นเป็นคณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ได้ยื่นเรื่องเสนอให้พลเอกเปรม หรือเรียกว่า ‘ป๋า’ ให้พิจารณาว่า และกล่าวว่าควรจะลดค่าเงินบาทเนื่องจากช่วงนั้น (ปลายสิงหาคม พ.ศ.2526) “สถานะการเงินการคลัง เราหิ้วไปไม่ไหวแล้วเพราะเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ก็ไม่มีทีท่าจะหยุดการขึ้นราคาแต่ประการใด ไม่มีทางเลือกต้องลดค่าเงินบาท” แต่ก็ต้องเลื่อนไปอีกหลังจากนั้นก็มีการซักถามข้อข้องใจอีกหลายประการกับรัฐมนตรีคลัง (สมหมาย ฮุนตระกูล) และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (นายกำจร สถิรกุล) กับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องหลายรอบเพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหลายฝ่าย อีกทั้งต้องทำเป็นความลับ

จนเมื่อพลเอกเปรมซักถามถึงผลดี-ผลเสียต่างๆ รอบด้านจนแน่ใจแล้วจึงอนุมัติ ในเรื่องนี้นั้นหลังจากที่ประกาศลดค่าเงินแล้ว ผู้นำเหล่าทัพต่างก็มีหนังสือด่วนมากมาถึงนายกรัฐมนตรีโดยเฉพาะพลเอกอาทิตย์ ถึงกับออกมาวิจารณ์ผ่านทางสถานีโทรทัศน์ แสดงความไม่พอใจ แต่ดังที่กล่าวมาแล้ว เมื่อพลเอกเปรมคิดอย่างรอบคอบและตัดสินใจกระทำสิ่งใดแล้วก็จะรับผิดชอบในการกระทำนั้นพร้อมกับลูกน้องเสมอ แม้จะมีคนหรือสื่อมวลชนต่างๆ กล่าวโจมตีเรื่องการลดค่าเงินบาทนี้อย่างมาก ท่านก็อดทนต่อคำวิจารณ์และไม่ไขว้เขวลังเลในสิ่งที่ได้ทำลงไปแล้ว

บทบาทอีกเรื่องหนึ่งคือ วิกฤตการณ์รัฐธรรมนูญในช่วงปี พ.ศ.2524-2526 แม้รัฐบาลชุดนี้จะสามารถบริหารงานมาได้ด้วยดี ซึ่งนับว่าพลเอกเปรมเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกภายใต้การเมืองระบบรัฐสภาที่สามารถบริหารประเทศในระบบพรรคการเมืองมาจนครบวาระในการดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ แต่ปัญหาส่วนใหญ่ยังเป็นการขัดแย้งกันในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั่นเอง

ซึ่งในที่สุดเพื่อให้การเลือกตั้งทั่วไปเป็นไปตามความต้องการของกลุ่มผู้นำกองทัพ ในวันที่ 19 มีนาคม 2526 รัฐบาลได้ตราพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร และกำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 18 เมษายน 2526 ก่อนวันครบกำหนด 4 ปี ตามบทเฉพาะกาลเพียง 3 วัน การเลือกตั้งครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่า พลเอกเปรมต้องประนีประนอมระหว่างทหารและพรรคการเมืองโดยการยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งแบบเดิมและเป็นการตัดสินใจที่ทั้งสองฝ่ายรับได้ 

บทบาทในฐานะผู้นำภายใต้สถานการณ์การเมืองขณะนั้น จึงโดดเด่นอย่างยิ่งด้วยบุคลิกเฉพาะตัวของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ที่มีความ เข้มแข็งเด็ดขาด’ ในบางเรื่อง และ ประนีประนอม’ ในบางเรื่อง