มองมุมใหม่ใน...กระดาษไหว้เจ้า

มองมุมใหม่ใน...กระดาษไหว้เจ้า

ถนนเจริญกรุง เป็นถนนสายแรกของประเทศไทย สร้างสมัยรัชกาลที่ 4 ในปี พ.ศ.2404 ต่อด้วยถนนบำรุงเมือง-เฟื่องนคร ส่วนถนนเยาวราชหรือ “ถนนมังกร” สร้างในรัชสมัยรัชกาลที่ 5

 

        ถนนสายเก่าใจกลางเมืองที่สะสมความรุ่งเรืองและรุ่มรวยทางวัฒนธรรมของคนหลายเชื้อชาติ ในอีกไม่นานก็จะมีรถไฟฟ้าตัดผ่าน แม้ว่าตึกเก่ากับวิถีชุมชนจะไม่หายไปไหน หากกลุ่มอาคารสถาปัตยกรรม วัฒนธรรม และชุมชนในย่านเยาวราช-เจริญกรุง เพิ่งหยิบยกมาเป็นหัวข้อที่เชื่อมโยงสู่ งานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ต้นแบบ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ในย่านเยาวราช-เจริญกรุง โดย ผศ.ดร.วีรวัฒน์ สิริเวสมาศ รองคณบดี คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ภายใต้โครงการ การพัฒนาเมืองวัฒนธรรมอัจฉริยะ : กรณีศึกษาย่านเยาวราช-เจริญกรุง

ผศ.ดร.วีรวัฒน์ สิริเวสมาศ

         ผศ.ดร.วีรวัฒน์ สิริเวสมาศ

       ทำไมต้องเป็นย่านเก่า เยาวราช-เจริญกรุง ดร.วีรวัฒน์ อธิบายว่า

      “จากเดิมโจทย์แรกกำหนดพื้นที่บริเวณรอบเกาะรัตนโกสินทร์ แต่เราพบว่าพื้นที่นี้มีผู้ทำวิจัยไปมากแล้วทั้งในแง่ประวัติศาสตร์และโบราณคดี เราเลยเลือกพื้นที่รอบนอกออกมาอีก การวิจัยนี้ต้องการศึกษาถึงความเชื่อมโยงระหว่างศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ย่านเมืองเก่า วิถีชีวิตชุมชน ที่รวมไปถึงการเกิดขึ้นของรถไฟฟ้าใต้ดิน ที่จะนำซึ่งการเปลี่ยนแปลงในมิติของการท่องเที่ยว และจะปรับตัวรับมือกันอย่างไร”

          เมื่อกำหนดเป้าหมายแล้วก็เข้าไปศึกษาวิจัยว่าควรทำอะไรบ้าง ลงพื้นที่สำรวจ สอบถาม ความต้องการของชุมชน โดยมีจุดประสงค์เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่น และวิเคราะห์ถึงศักยภาพของผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับการพัฒนายกระดับ ต่อด้วยการออกแบบพัฒนาและสร้างต้นแบบผลิตภัณฑ์ เพื่อเป็นแบบอย่างแนวทางในการผลิตแก่ชุมชน

DSC_0940rere

          “เจริญกรุงเป็นเส้นทางรถรางสายแรกด้วย ปัจจุบันโลกเปลี่ยนไปแล้ว เกิดเส้นทางรถไฟใต้ดินส่วนต่อจากหัวลำโพงเข้าเมืองไป จะเกิดสถานีวัดมังกร, สามยอด, สนามไชย ที่ไปผ่ากลางเมือง ลักษณะนี้ถ้าดูจากต่างประเทศ อิตาลี ฝรั่งเศส ก็เกิดการทับซ้อนกันในเมืองทั้งในเชิงประวัติศาสตร์กับเมืองใหม่ ทำอย่างไรให้ยังอยู่ กลมกลืนกันได้ไม่ถูกทำลาย ไม่ถูกเปลี่ยนแปลง ผมเคยไปเที่ยวกรุงโรม นั่งรถเข้าไปคุณลุงคนหนึ่งมาบอกว่า เดี๋ยวเราจะเข้าโรมจะได้เห็นการตัดเซ็คชั่นของงานสถาปัตย์ ตั้งแต่ยุคปัจจุบันจนถึงสองพันปีก่อน ตั้งแต่ยุคบาโร้ค เรเนซองส์ ยุคกลาง จนถึงยุคโรมัน บางอาคารก็ผสมหลายยุคสมัยจะเห็นว่าคนในยุโรปเขาเก็บสตอรี่ (story) บางอย่างไว้ ผมคิดว่าสิ่งนี้กำลังเกิดขึ้นกับเราแล้ว เช่น สมัยเรียนหนังสือบ้านผมอยู่สีลม ไปเรียนศิลปากร ผมนั่งรถผ่าเมืองเข้าไป มาถึงเวิ้งนาครเขษม มาสี่พระยา เจริญกรุง สีลม สาทร เห็นเซ็คชั่นของเมืองที่ถูกตัดผ่าน แม้เมืองไทยจะมีอายุแค่ 200 ปี แต่เราก็เห็นความแตกต่างของเมือง”

DSC_8026

DSC_8648          

          ถนนทุกเส้นมีความหมาย การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่กำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อมีรถไฟฟ้าตัดผ่าน

     “ผังเมืองเปลี่ยนแล้ว เราจึงเลือก 2-3 พื้นที่เพื่อลงสำรวจ เช่น ชุมชนเลื่อนฤทธิ์, ชุมชนคลองถม, ชุมชนเจริญไชย และชุมชนวังแดง บริเวณนี้เดิมเป็นพื้นที่ของเจ้าขุนมูลนาย เป็นที่ดินของทรัพย์สินฯ ของเอกชนบ้าง ถนนเจริญกรุงกับเยาวราช เป็นเส้นคู่ขนานกันออกไปถนนทรงวาด ไปแม่น้ำ บริเวณนี้เกิดพหุวัฒนธรรม มีชาวขอม จาม เขมร แขก จีน อยู่แถวนี้หมด เช่น สมัยก่อนชาวจีนเข้ามาใช้แรงงาน มาทำงานก่อสร้าง มีชุมชนบ้านครัวเป็นมุสลิม ชุมชนบ้านบาตร ที่เขาบอกว่าเป็นชาวอยุธยาเป็นไทยโบราณเลย เมื่ออยู่กันก็เบลนด์กันไป เกิดความหลากหลาย เมื่อเราได้ข้อมูลทางวัฒนธรรมและสถาปัตยกรรม เราก็ได้ข้อมูลเช่น ชุมชนนี้ทำเรื่องผ้า ชุมชนนี้ทำกระดาษ อีกที่ทำโลหะ ตีเหล็ก ทำขายส่งอาหาร เป็นต้น ทำให้งานวิจัยเรามีข้อมูลโดยไม่ต้องเริ่มจากศูนย์”

DSC_8867

      เมื่อชี้เป้าชัดเจนแล้ว คณะวิจัยลงพื้นที่ ตั้งโจทย์ใหม่ว่าจะเข้าไปพัฒนา ผลิตภัณฑ์กระดาษ โดยเอากระดาษในชุมชนมาทำของที่ระลึก (souvenir)

     “พอเข้าไปหัวหน้าชุมชนบอกอาจารย์อย่ามาเลย มีคนเข้ามาทำเยอะแล้ว ปรากฏว่าเราไปเจอปัญหาอื่น เช่น บางชุมชนอยู่บนพื้นที่ของเจ้าขุนมูลนาย เกิดการต่อสู้เรื่องที่อยู่ คืออยู่มาเป็นร้อยปีแต่ไม่ได้เป็นเจ้าของพื้นที่ เช่นที่เวิ้งนาครเขษม”

    ปัจจุบัน บางชุมชนรวมตัวกันตั้งคณะกรรมการต่อสู้กับรถไฟฟ้าบ้าง เจ้าของที่ดินบ้าง

     “เมื่อเจอปัญหาที่คุยยากแล้ว ผมเลยตั้งโจทย์ใหม่ ถามเขาว่าปัญหาของที่นี่มีอะไร เพราะเรื่องนั้นเป็นมิติของชุมชนแล้ว อย่างผมบอกจะมาทำงานกระดาษ เขาบอกไม่ได้เลย เพราะกระดาษเอาไว้ไหว้เจ้า ซื้อแล้วต้องเอาไปเผา จะเอามาพับโน่นพับนี่ไม่ยอม นักท่องเที่ยวจะซื้อกลับบ้านเขาไม่ขาย เขามีความเชื่อ ผมบอกว่าจีนสมัยใหม่เขาไม่ถือ แต่เขายืนยันว่าไม่ได้ เป็นความเชื่อของชุมชน ดังนั้นเราก็เลยหาวิธีอื่น”

โคมไฟรูปปลา

       เมื่อกระดาษไหว้เจ้านำมาพัฒนาต่อยอดไม่ได้ คณะนักวิจัยเริ่มสำรวจงานกระดาษอื่น ๆ

      “เราคิดถึงเทศกาลไหว้พระจันทร์ แต่ก่อนเขาจะตกแต่งซุ้มด้วยโคมไฟกระดาษ ทำจากกระดาษแก้วสี ๆ ข้างในใส่เทียน สมัยนี้ไม่ค่อยเห็นกันแล้ว ในเชิงการศึกษาคือรีโพรดักต์ ดังนั้นโปรเจ็คแรกคือโคมไฟกระดาษรูปกระต่าย เครื่องบิน สไตล์ยุค 60-70 เด็ก ๆ เรียก “เตงลั้ง” เอามาจุดเทียนวิ่งเล่นกัน ทำให้งานกลางคืนมีสีสัน สนุกสนาน”

โคมไฟกระดาษแก้ว

    โคมไฟกระดาษแก้ว

     จากโคมไฟกระดาษแก้ว และข้อห้ามไม่ให้ใช้กระดาษไหว้เจ้า ทำให้ความคิดแตกยอดออกเป็นงานศิลปะพับกระดาษ

      “โคมไฟกระดาษแก้วของเก่ามีเครื่องบิน ปลา กระต่าย เราก็ทำเพิ่ม เปลี่ยนจากเทียนเป็นหลอดแอลอีดี และเปลี่ยนจากวัสดุไม้ไผ่เป็นลวดและพลาสติก เพราะชุมชนบอกว่าเขาอยากจะทำขาย ผมก็ทำโปรโตไทป์ (ต้นแบบ) ขั้นตอนต่อไปคือหาผู้ผลิตระดับแมส ผลิตอย่างไร ขายเท่าไหร่ ให้ชุมชนเขาคิดกันเอง

เครื่องแขวนโป๊ยเซียน-10

       เครื่องแขวนโป๊ยเซียน

       เมื่อกระดาษไหว้เจ้าห้ามใช้ ผมก็บอกเขาว่า เมื่อไหร่ที่รถไฟฟ้าเปิดจะมีนักท่องเที่ยวหลายหมื่นคนไหลเข้ามาในพื้นที่นี้ แน่นอนกลุ่มคนใช้รถไฟฟ้าไม่ใช่คนที่จะมาซื้อกระดาษเงินกระดาษทอง ชุมชนนี้เขาขายกระดาษเป็นสต็อกมาร์เก็ต คือไม่กลัวว่าจะขายไม่ได้ เพราะถึงเทศกาลที่นครสวรรค์และภูเก็ตจะมาซื้อกันเป็นตัน ๆ อาเฮียอาเจ้ก็อยู่สบาย แต่ผมบอกว่าเมื่อมีนักท่องเที่ยวมากขึ้น เป็นไปได้มั้ยถ้าเรามาคิดผลิตกระดาษที่ชุมชนเป็นคนผลิตและมีเรื่องราวเชื่อมโยงกัน ต่างชาติเข้ามาพับแล้วซื้อกลับได้ โดยชุดแรกมาจากคอนเซปต์ดอกไม้มงคล 8 ดอกของจีน เช่น โป๊ยเซียน, เบญจมาศ ผมก็ได้นักศึกษา ป.โท วิริน เชาวนะ ที่เก่งพับกระดาษมาก มาช่วยพัฒนาโดยนำกระดาษห่อของขวัญ เพราะกระดาษไหว้เจ้าใช้ไม่ได้ และอีกอย่างกระดาษคุณภาพไม่ดีนัก และมีสารตะกั่วด้วย”

ก่งประยุกต์3

      ก่งประยุกต์

       สรุปได้เช่นนี้ ชาวชุมชนก็อนุมัติ โดย วิริน นักพับกระดาษ ออกสำรวจหากระดาษห่อของขวัญหลากหลาย ทั้งสีสันและลวดลาย นำไปดีไซน์วิธีพับให้เป็นแพทเทิร์น จัดอบรมให้ชุมชน ตั้งแต่วิธีตัดกระดาษ วิธีพับ

     “วันที่จัดอบรมเผอิญมีฝรั่งเข้ามา เขาก็มาพับกระดาษกัน เบี้ยวไปบ้างไม่สวยบ้างไม่เป็นไร พับเสร็จเอากลับบ้านได้ ชุมชนแฮปปี้ ต่อด้วยการจัดอบรมให้กับชุมชน ให้เป็นทางเลือกและเกิดเป็นเอกลักษณ์เฉพาะจากพื้นที่ในชุมชนนั้น”

ก่งประยุกต์

       โคมไฟดัดแปลงจากก่งประยุกต์

        งานพับกระดาษแฮนด์เมด มีวิธีพับไม่ยากจนเกินไปนัก ทำให้เกิดรูปทรง 3 มิติ เมื่อจับคู่สีสวยงวามแล้วก็เป็น “งานกระดาษประดิษฐ์” เป็นศิลปหัตถกรรมที่แสดงเอกลักษณ์ของชุมชนเจริญไชย และในด้านวัฒนธรรมของคนไทยเชื้อสายจีน ได้แก่ เครื่องแขวน แรงบันดาลใจจาก “อ่วงมึ้ง” (ม่าน) และ “ก่ง” (โคม) และมีการลดขนาดเป็นชิ้นเล็กจึงมีลักษณะคล้ายเครื่องรางพู่ห้อยของจีน ซึ่งสอดคล้องกับความหมายมงคลของดอกไม้ เช่น เครื่องแขวนเบญจมาศ ดอกไม้มงคลสื่อถึงความโชคดี มีชีวิตราบรื่น อายุยืน เครื่องแขวนโป๊ยเซียน จากความเชื่อว่าเมื่อปลูกแล้วออกดอกครบ 8 ดอกจะโชคดี ก่งประยุกต์ เป็นการออกแบบที่แสดงออกถึงความเป็นไทย-จีน มาจากโคมไฟที่ใช้ในเทศกาลไหว้พระจันทร์ และมีองค์ประกอบเป็นลักษณะงานดอกไม้ไทยนำมาตกแต่ง เช่น อุบะและเครื่องแขวนดอกไม้สดของไทย

ก่งประยุกต์2

      ลายดอกเบญจมาศ

       “เราคิดต้นแบบ สร้าง และสอนให้ชุมชนทำ ทีนี้นักท่องเที่ยวจะซื้อกลับบ้านไปก็ไม่มีใครว่า...

DSCF4503

ลายราชพฤกษ์

  ลีลาวดี    

      เครื่องประดับเงินลายดอกลีลาวดี

      จากศิลปะพับกระดาษ ต่อยอดมาเป็น เครื่องประดับเงินรูปดอกไม้ แรงบันดาลใจจากดอกไม้มงคล และดอกไม้ประจำชาติอาเซี่ยน เช่น ดอกลำดวน ดอกจำปี ดอกลีลาวดี ดอกราชพฤกษ์ ฯลฯ สร้างสรรค์ให้เกิดเครื่องประดับดีไซน์แปลกใหม่ ผลิตงานต้นแบบแล้วก็นำไปจัดนิทรรศการให้ชุมชนศึกษาต่อ เพื่อแสดงถึงความเป็นไปได้ในการทำผลิตภัณฑ์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว

ชิ้นงานวิถีเยาวราช

     ชิ้นงาน "วิถีเยาวราช" แรงบันดาลใจจากประตูเหล็กในย่านชุมชน

      “อีกชิ้นงานหนึ่งเป็นประติมากรรมของนักศึกษาชื่อ คมสัน เพ็ชรสิทธิ์ ชุด วิถีเยาวราช สร้างสรรค์ด้วยข้อมูลชุมชนย่านเยาวราช เป็นงานวิจัยที่ลงสำรวจพื้นที่เหมือนกัน อย่างคณะสถาปัตย์จะนำแคแรกเตอร์ของตึกรามบ้านช่องมาสร้างเป็นงานศิลปะเพื่อเชื่อมโยงถึงชุมชน เป็นประตูเหล็กแล้วทับซ้อนด้วยสีของอะคริลิค ซึ่งล้อกับป้ายโฆษณาภาษาจีนในชุมชุน ฟังก์ชั่นเป็นงานศิลปะในพื้นที่สาธารณะ เอาไปตั้งโชว์หรือใช้เป็นเก้าอี้ เป็นฉากได้”

      ปีหน้า ดร.วีรวัฒน์ บอกว่าจะมีเฟสที่สองขยายความต่อจากงานวิจัยผลิตภัณฑ์ต้นแบบ ซึ่งจะสร้างสุขให้กับชุมชนและชาวโลก

      “เมื่อเราเก็บข้อมูลได้พอต่อไปก็เป็นเรื่องของคนกับสิ่งแวดล้อม มีมิติอื่น ๆ ที่จะเข้ามาทำอีก เช่น มองไปถึงวิธีสร้างเตาเผากระดาษไหว้เจ้า ให้ลดควัน หรือพัฒนาคุณภาพให้ดีขึ้น นอกจากการรณรงค์พัฒนากระดาษที่ไร้สารตะกั่ว ต่อไปก็อาจสร้างโมเดลใหม่ เช่น จุดธูปจุดเทียน เมื่อก่อนจุดกันยี่สิบดอก ตอนนี้อาจสร้างพิธีกรรมใหม่เหลือจุดดอกเดียว หรือเคยเผากระดาษทั้งตะกร้าอาจเหลือแผ่นสองแผ่น และเป็นกระดาษคุณภาพ”

    งานวิจัยกินได้ ขายได้ อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม ดูแลชุมชน และมีส่วนร่วมรักษ์โลก...