หลบร้อนไปเหล่ ‘หลาม’

หลบร้อนไปเหล่ ‘หลาม’

ร้อนขนาดนี้...จะมีอะไรดีไปกว่าการดำดิ่งลงไปใต้ผิวน้ำ ชมโลกใต้ทะเลแสนสวยแล้วสบตากับนักล่าใจดี

ห่างจากบางสะพานไปราว 25 องศาตะวันออก ณ ปลายยอดเกาะเซบู ประเทศฟิลิปปินส์ เรือบังก้าลำน้อยเทียบคอยเราอยู่ที่ ‘ท่ามายา’ ท่าเรือเก่าแก่ดั้งเดิม อากาศอันสุดแสนจะแปรปรวน ทำให้เราเปียกปอนตั้งแต่ยังไม่ลงเรือ ทั้งละอองฝนที่ร่วงหล่นลงมาเสริมด้วยระลอกคลื่นลูกย่อมแต่มาถี่ยิบ

ไม่กี่อึดใจ เรายักย้ายถ่ายเทร่างสู่เรือลำใหญ่กว่า แต่ยังคงเรียก ‘บังก้า’ เหมือนเดิม ด้วยลักษณะเฉพาะตัวที่มีแขนไม้ไผ่ยื่นออกไปประคองลำเรือไม่ให้เอียงเกินระดับจนอาจก่อให้เกิดเหตุไม่พึงประสงค์ เจ้าแขนประคองนี้เองที่ทำให้เรือลำจิ๋วที่โดยสารมาเมื่อสักครู่ หันหัวสู้คลื่นออกมาได้

ฝ่าลมฝ่าฝนไปอีกครึ่งชั่วโมง ฟ้าเริ่มสดใส ก้มมองทะลุลงน้ำทะเลสีเขียวเข้มลงไปเห็นแนวปะการังทอดยาว แม้จะยังไม่ใช่แนวน้ำตื้น และเมื่อเรือทอดสมอดับเครื่อง แสงแดดสีทองก็ส่องทะลุลงมาอย่างเหมาะเจาะ ต้อนรับเราสู่ เกาะมาลาปาสกัว

 

น้ำใสกิ๊ง เห็นแนวปะการังชัดเจนแม้น้ำลึกนับ 10 ม.

 

ในอ้อมกอดของแนวปะการัง

บนพื้นที่ราว 2 ตารางกิโลเมตร มีที่ราบตอนใต้และปลายแหลมทางตะวันตกเฉียงเหนือ ที่เหลือเป็นเนินเขาสูงต่ำ ซึ่งดูเหมือนไม่มีอะไรน่าสนใจ แต่หากมองกลับลงไปในทะเล จะเห็นแนวปะการังกว้างใหญ่โอบล้อมทั้งเกาะไว้จนสุดขอบเหวทะเล

ที่จริงแล้วชื่อ ‘มาลาปาสกัว’ ออกจะไม่เป็นมงคลสักเท่าไร ที่มาตามคำเล่าขานนั้น เดิมชาวท้องถิ่นเรียกเกาะแห่งนี้ว่า ‘โล-กอน’ (Logon) กระทั่งคริสต์มาสหนึ่งในศตวรรษที่ 15 ชาวสเปนผู้อับโชคล่องเรือผ่านมาเจออากาศเลวร้ายจนต้องติดอยู่ที่เกาะรกร้างแห่งนี้ หมดโอกาสฉลองกับญาติมิตร จึงตั้งชื่อเป็นภาษาสเปนว่า Mala Pascua ซึ่งหมายถึง วันอีสเตอร์อันแสนเลวร้าย (Bad Easter)

ช่วงปี 80 มาลาปาสกัวยังคงมีเพียงหมู่บ้านชาวประมงเล็กๆ จนเริ่มมีนักสำรวจใต้น้ำเดินทางมาถึง จุดดำน้ำมากมายเริ่มเป็นที่รู้จัก ก่อนที่นักสำรวจจะได้ข้อมูลจากชาวประมงว่า น่าจะมีกองหินใต้น้ำขนาดใหญ่อยู่ห่างไปไม่ไกล เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นแหล่งที่มีปลาชุกชุม และเคยมีผู้พบเห็น ฉลามรูปร่างประหลาดแบบที่ไม่เคยเจอในบริเวณอื่น โดดขึ้นลอยสูงจากผิวน้ำได้อย่างดุดัน และเมื่อทำการลงสำรวจจึงพบที่ราบสูงใต้น้ำขนาดใหญ่ สมบูรณ์ด้วยปะการังนานาชนิด สัตว์น้ำน้อยใหญ่ รวมทั้งฉลามปริศนาที่ว่านั่นด้วย

7ตากลมโต ผิวหนังสะท้อนแสงในบางมุม1

 

นักล่าลึกลับสายพันธุ์โบราณ

14 เมตรจากผิวน้ำ คือ ความลึกต่ำสุดเฉลี่ยของ Monad Shoal กองหินใต้น้ำขนาดใหญ่สุดลูกหูลูกตา คนท้องถิ่นเองเชื่อว่าพื้นที่น่าจะใหญ่กว่ามาลาปาสกัวทั้งเกาะด้วยซ้ำ หากจะเทียบให้ง่ายขึ้น ก็คงคล้ายภูเขาหัวตัดอย่างภูกระดึง หรือจะมองเป็นภาพกว้างกว่านั้นก็คือ มีการยกตัวของแผ่นดินคล้ายภาคอีสานบ้านเฮานั่นเอง แต่ที่ต่างกันอย่างชัดเจนคือความลึกจากริมขอบที่ราบสูงที่ค่อยๆ ลดหลั่นลงไปเป็นขั้นผาแคบๆ จาก 14 ม. เป็น 20 ม. เป็น 30 ม. ฯลฯ ก่อนจะทิ้งดิ่งลงไปเป็นหลายร้อยเมตรเลยทีเดียว และกองหินตื้นนี้ก็มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมจนเกิดเป็นระบบนิเวศน์แนวปะการังขึ้น แล้วฉลามมาทำอะไรที่นี่?

มีปะการังก็ต้องมีฝูงปลา ฉลามต้องมาหากินสิ!

...ผิด!! ตรงกันข้าม!!! ฉลามเอาอาหารมาให้ฝูงปลาเล็กปลาน้อยกินต่างหาก!?! แล้วก็ไม่ใช่ฉลามธรรมดา แต่เป็นเจ้า ‘ฉลามหางยาว’ นักล่าปริศนาแห่งท้องทะเลเสียด้วย

ฉลามหางยาว เป็นหนึ่งในตระกูลฉลามที่มีข้อมูลการวิจัยน้อยที่สุด ด้วยพฤติกรรม จึงทำให้การติดตามตัวยากลำบาก แต่สำหรับที่ Monad Shoal พวกมันมาที่นี่ทุกวัน ไม่ได้มาเพื่อหาอาหาร แต่มาทำ ‘สปาปลา’

4วกกลับเข้ากองหิน

ในแต่ละวัน ฉลามหางยาวจะว่ายน้ำวนเวียนใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ ส่วนปรสิตก็ลอยตัวปะปนอยู่ในกระแสน้ำ บ้างก็เกาะอยู่กับอาหารของฉลาม เมื่อสบโอกาส ปรสิตจะย้ายเข้าอาศัยยังบ้านใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม ขณะเดียวกันระบบร่างกายของฉลามก็จะสร้างเซลล์ผิวหนังใหม่ขึ้นทดแทนเซลล์ที่ตายลงตลอดเวลา เซลล์ที่ตายแล้วก็จะถูกขับออกมาอยู่ชั้นนอกสุด

ปลาแนวปะการังบางชนิด อาทิ ปลาขุนทองพยาบาล, ปลาขุนทองเขียนพระอินทร์ ดำรงชีวิตด้วยการตอดกินปรสิตบนผิวหนังปลาใหญ่เป็นอาหาร รวมทั้งเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วด้วย แม้กระทั่งเศษซากในช่องปาก จนถึงของเหลือจากไข่ที่ติดลูกปลาออกมาตอนคลอด

หลังฟ้าสางไม่นาน นักทำความสะอาดทั้งหลายจะตื่นขึ้นพร้อมกระเพาะที่ว่างเปล่า พวกมันลอยตัวสูงขึ้นออกจากกองหินพอประมาณ โชว์ตัวรอเวลาที่ฉลามหางยาวจะมาถึง แต่ในอีกมุมหนึ่งก็เชื่อว่า ฉลามต่างหาก ที่เข้ามาวนเวียนก่อนรอก่อน เพราะฉลามเคลื่อนที่ตลอดเวลาและโฉบเข้ามายังกองหินด้านนอกตั้งแต่ฟ้ายังไม่สาง แต่ไม่ว่าใครจะมาก่อนมาหลัง พฤติกรรมเหล่านั้นทำให้ Monad Shoal เป็นสถานที่เดียวในโลกที่เราสามารถจะไปเจอเจ้าฉลามปริศนานี้ได้ทุกวัน

9ฝูงปลาแมคเคอเรล อ้าปากดักอาหาร

 

อยากดูยาวๆ ต้องตื่นเช้ากว่า

ในเมื่อฉลามเข้ากองหินแต่เช้า ขบวนนักดำน้ำยิ่งต้องไปให้ถึงก่อน เรือมักจะนัดหมายนักดำน้ำราวตีห้าเพื่อแนะนำรายละเอียดการดำเล็กน้อย ก่อนจะทยอยลงเรือซึ่งใช้เวลาเดินทางฝ่าความมืดเฉลี่ยราวครึ่งชั่วโมงแล้วแต่คลื่นลมจะกรุณา และเมื่อฟ้าสาง เราจะมองเห็นเรือนับสิบๆ ลำ มุ่งหน้าไปยังจุดนัดหมายเดียวกันนี้

เรือหนึ่งลำต่อนักดำน้ำตั้งแต่ 6-30 คน เท่ากับว่า จะมีนักดำน้ำหลายร้อยคน ดำดิ่งลงไปซุ่มรอเจ้าฉลามหางยาวพร้อมๆ กัน แค่นึกก็เห็นความวุ่นวายรออยู่แล้ว “คนเป็นกองทัพเกาะอยู่ตามโขดหิน” “ฟองฟอดเต็มผืนน้ำ” แล้วฉลามที่ไหนจะเข้ามาให้เห็น?? 

โชคดีทีี Monad Shoal นั้นกว้างใหญ่กว่าที่คิดนัก รวมทั้งการบริหารจัดการพื้นที่ใต้น้ำร่วมกันของผู้ประกอบการร้านดำน้ำทำได้อย่างดีและมีวินัย บริเวณขอบหน้าผาแต่ละด้าน จะมีการขึงเชือกไว้ให้นักดำน้ำเกาะเพื่อคุกเข่าอยู่กับที่และรอให้ฉลามปรากฏตัวขึ้นเองแบบไม่ต้องไปไล่ตามหา แต่ละร้านก็เลือกมุมที่ห่างกันออกไป ไม่มีพื้นที่ทับซ้อนให้ปวดใจ การถ่ายเทขึ้นลงเรือก็ง่ายตามไปด้วย นับเป็นตัวอย่างการแก้ปัญหาที่น่าเอาเยี่ยงอย่าง

จังหวะดีก็เจอหลายตัวหน่อย แต่น้ำก็ขุ่นไปนิด

ในวันน้ำใส ทัศนวิสัยใต้น้ำดี เราจะเห็นฉลามหางยาวโบกหางเบาๆ ค่อยเคลื่อนตัวเข้ามาสู่กองหิน ก่อนจะเลี้ยววนออกไปแล้วกลับเข้ามาใหม่รอบแล้วรอบเล่า บางจังหวะอาจมาพร้อมกัน 2-3 ตัว ให้เราได้ตื่นตาตื่นใจ แต่ถ้าวันไหนน้ำขุ่น มีตะกอนมาก เราอาจเห็นเพียงเงาตะคุ่มวนเวียนไปมาอยู่นอกกองหิน ซึ่งอาจต้องรอจนดวงอาทิตย์ขึ้นสูงสักหน่อย พอให้แสงได้มุมทะลุผ่านน้ำลงมาช่วยเปิดเงา ซึ่งก็เป็นดาบสองคม เพราะสภาพแสงที่ต่างกันระหว่างชั้นน้ำตื้นกับน้ำลึก รวมทั้งทิศทางแสงที่ต่างกันเมื่อเราหันหน้าไปมาเพื่อมองหาเจ้าตัวใหญ่อาจทำให้เวียนหัวได้ ซึ่งส่งผลให้ประสิทธิภาพการดำน้ำของเราลดลง และเกิดอันตรายได้ 

วิธีที่ง่ายที่สุดคือ คุกเข่าเกาะเชือก มองหาพอเพลินๆ ไม่ต้องเพ่งมาก เพราะอย่างไรเสีย ไกด์ที่พาเรามาจะคอยมองหาให้อยู่แล้ว ูระหว่างที่รอ ลองมองขึ้นไปบนผิวน้ำ ซึ่งมักจะเจอทั้ง กระเบนนก กระเบนราหู เต่า ฝูงหมึก ฯลฯ ว่ายผ่านไปผ่านมาเป็นระยะ รวมทั้งเจ้าฉลามหางยาวเองที่อาจย่องเงียบเข้ามาอยู่ทางข้างหลังโดยที่ไม่มีใครรู้ตัวเหมือนที่กลุ่มของเราโดนมาแล้วก็เป็นได้

5ม้าน้ำแคระ อยู่น้ำลึกราว 20 ม.

กลับเข้าฝั่ง จัดการอาหารเช้า พักผ่อนกันอีกนิดหน่อย ก็เตรียมตัวออกไปดำน้ำตามจุดต่างๆ รอบเกาะที่มีให้เลือกมากมาย แต่อย่างไรก็ตามควรวางแผนและแจ้งไกด์ไว้ล่วงหน้า เพราะบางแห่งอยู่ไกลออกไป ต้องใช้เวลาเดินทางสักหน่อย ร้านดำน้ำอาจต้องเตรียมถังอากาศและเสบียงไปเพื่อการดำต่อเนื่องหลายจุดโดยไม่ต้องวนเรือกลับมาที่เกาะให้เสียเวลาอีก เช่น หากอยากไปลุ้นเจอ ฉลามหัวค้อน ที Kemod Shoal ซึ่งอยู่ทิศทางเดียวกับ Monad Shoal แต่ไกลออกไปอีก ก็ควรรวบไว้วันเดียวกับ เกาะ Kalangaman ซึ่งใช้เวลาเดินทางมาก 

เช่นเดียวกับ เกาะ Gato ที่ไกลออกไปทางเหนือ แปลตรงตัวจากภาษาสเปนเช่นเดิมก็คือ ‘เกาะแมว’ เพราะมองจากแผ่นดินใหญ่มาจะมีลักษณะเหมือนแมวนอนหมอบ ซึ่งเป็นจุดที่ “ต้องไปให้ได้” เพราะสภาพพื้นที่มีความน่าสนใจมาก ลักษณะเป็นเกาะหินสูง ใต้น้ำมีกองหินขนาดใหญ่ และ ‘ถ้ำทะล’ ให้นักดำน้ำเข้าไปผจญภัย ่โพรงถ้ำไม่แคบเกินไปนัก สามารถทิ้งระยะปลอดภัยได้ดี ภายใต้ความมืด มี Skelaton Shirmp ตัวจิ๋วเกาะอยู่มากมาย ก่อนจะทะลุถึงทางออก เป็นที่อาศัยงีบหลับประจำของ ฉลามครีบขาว (White Tip Reef Shark) 3-4 ตัว 

นักดำน้ำกลุ่มแรกของวันจะได้สิทธิ์ย่องเข้าไปสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิดแบบแทบจะถึงตัวกันเลย แต่ถ้าไปช้ากว่า ก็จะเห็นเหล่าฉลามว่ายเวียนไปมาอยู่ปากถ้ำ รอเวลาให้ผู้รบกวนออกไปเสียก่อน ค่อยกลับเข้ามานอนนิ่งเหมือนเดิม 

ภายนอกถ้ำก็น่าสนใจไม่แพ้กัน ด้วยแนวปะการังสีสันสดใส ฝูงปลามากมาย รวมถึงตัวหายากอย่าง Blue Ring Octopus ผู้มีพิษร้าย, ปลากบหลากสีหลายขนาด, โดยเฉพาะ งูทะเล ซึ่งมีการค้นพบว่า ที่นี่เป็นแหล่งผสมพันธุ์ตามธรรมชาติขนาดใหญ่ เราจึงสามารถพบเจ้าเขี้ยวพิษเหล่านี้ได้เรื่อยๆ ไม่วาจะลงดำที่จุดไหนก็ตาม แต่โดยปกติ มันจะหนีเราก่อนอยู่แล้ว ดังนั้นจึงไม่ต้องกังวลมากนัก แค่อย่าพาตัวเราเข้าไปใกล้มันมากเกินไป แต่ถ้าสุดวิสัยต้องรีบแจ้งไกด์เพื่อรีบไปหน่วยพยาบาลให้ทันท่วงที

10งูทะเล ที่มาของชื่อ เกาะกาโต้

 

มืดแล้วก็ยังมีดีให้ดู

แอบงีบยามบ่ายไปหนึ่งตื่น เวลาผ่านไปจนอาทิตย์ใกล้อัสดง แพคอุปกรณ์ลงเรืออีกครั้ง มุ่งหน้ายังฝั่งตะวันตก ณ อ่าวโค้งกว้าง มองขึ้นข้างบนเขามีประภาคารตั้งเด่นเป็นสง่า เรือเข้าจอดเทียบทุ่นลอยเหนือ Light House แนวกองหินขนาดย่อมๆ แต่กินพื้นที่กว้างทั้งอ่าว นอกจากสัตว์น้ำนานาชนิดที่รอให้นักดำน้ำมาค้นหา ที่นี่ยังมี ปลาแมนดาริน ลายจัดจ้านหลบซ่อนอยู่ในหลืบหิน

6แอบดูปลาแมนดารินจับคู่ผสมพันธุ์ได้ทุกหัวค่ำ

เมื่อความมืดมาเยือน ปลาน้อยขนาดไม่กี่เซ็นติเมตรจะเริ่มออกมาเกี้ยวพาราสีกัน โดยตัวผู้ทั้งหลายซึ่งมีกระโดงอยู่บนหัว จะว่ายเวียนโชว์ให้ตัวเมียหนึ่งเดียวได้เลือกคู่ ตัวผู้ที่มีความพร้อมกว่าจะมีสีเข้มกว่าปกติชัดเจน และเมื่อพร้อมจะผสมพันธุ์ ทั้งคู่จะลอยตัวขึ้นจากกองหินพร้อมกัน โดยตัวเมียจะปล่อยไข่ออกมาภายนอก ตัวผู้ก็ปล่อยน้ำเชื้อตามไปผสมในชั่วขณะก่อนจะแยกย้ายกันหลบกลับเข้าแอบในช่องหิน หากมีความพยายามและโชคดีพอ เราอาจได้เห็นการผสมพันธุ์นี้ 2-3 ครั้ง เพราะมีโอกาสที่ตัวเมียจะยังปล่อยไข่ออกมาไม่หมดในครั้งเดียว แต่ปรากฏการณ์ที่ว่ามาจะไม่เกิดขึ้นเลย หากถูกรบกวนด้วยไฟฉายแสงสีขาวหรือเหลืองแบบดั้งเดิม เพราะมันจะไม่ยอมออกมาจากที่ซ่อน จะมีก็แต่แสงสีแดงจางๆ เท่านั้นที่ไม่รบกวนเหล่าหนุ่มสาวในซอกหลืบ

แต่ถ้าวันไหนไม่อยากดำน้ำหนักๆ ต่อเนื่อง การเที่ยวชมเมืองบนเกาะก็สร้างความเพลินเพลินได้ไม่น้อย ด้วยความที่เกาะมีพื้นที่ไม่มากนัก การเดินให้รอบเกาะแบบจริงจังนั้น ใช้เวลาไม่เกินครึ่งวัน แต่ถ้าแวะนู่นแวะนี่ แนะนำให้เช่าจักรยานยนต์ขี่ไปได้ทั่ว แต่ถนนหนทางอาจจะแคบไปซักนิด ต้องอาศัยทักษะมากหน่อย รวมทั้งพื้นบางจุดอาจต้องวิ่งผ่านทรายบ้าง ส่วนสถานที่ที่นิยมไปแวะถ่ายรูปกัน ส่วนใหญ่อยู่ทางทิศตะวันตก ได้แก่ ประภาคาร ที่ทางเข้าอาจคาดไม่ถึงไปสักหน่อย ชายหาดต่างๆ รอบเกาะ เลือกแวะได้ตามความพอใจ 

1ดวงอาทิตย์ตกที่หมู่บ้านชาวประมง

อีกที่ที่ควรไปคือ Guimbitayan หมู่บ้านชาวประมงทางเหนือสุด ซึ่งมีวิถีชีวิตที่ไม่ต่างไปจากบ้านเรา ยังคงเป็นการประมงพื้นบ้านแท้ๆ ไม่ทำลายทรัพยากรที่มีอยู่ให้เสียหายย่อยยับ ร้อยเบ็ดเอง ต่อเรือ ซ่อมเรือเอง สั่งสอนวิทยาการรุ่นสู่รุ่น ทั้งชายหญิงทุกคนช่วยกันทำงานเลี้ยงปากท้อง บางส่วนก็มีโอกาสได้เข้าสู่ระบบการศึกษา มีโรงเรียน มีอนามัยประจำเกาะ บ่อน้ำบาดาลยังคงมีให้เห็นทั่วไป แถมยังเป็นน้ำกร่อยซึ่งต้องมีกระบวนการปรับสภาพก่อนน้ำมาใช้ แต่ก็มีการใช้ความเค็มเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้รวมกับความหวานของวัตถุดิบสดๆ จากทะเลมาประกอบอาหารโดยไม่ต้องอาศัยเครื่องปรุงให้เปลืองเงิน 

ที่ขาดไม่ได้อีกอย่างคือ สนามบาสเกตบอล กีฬายอดฮิตของฟิลิปปินส์ซึ่งมีอยู่หลายสนาม ทั้งแบบมาตรฐานและแบบแขวนกับต้นมะพร้าว เล่นวิ่งไล่แย่งบอลกันฝุ่นตลบ เดินทะลุหมู่บ้านขึ้นไปปลายแหลมที่ซ่อนตัวอยู่ มีพื้นที่ส่วนบุคคลอยู่บนเนินก่อนสุดปลายแหลม และไปจบด้วยหน้าผา ปลายแหลมยื่นออกไปให้ผู้รักความผาดโผนได้กระโดดลงไปสู่ผืนน้ำเบื้องด้วยความสูง 30-40 ม. แต่ปัจจุบันทางขึ้นถูกปิด ไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวขึ้นไปแล้ว จากการสอบถามชาวบ้านได้ความว่า เคยมีคนโดดลงมาแล้วบาดเจ็บ จะห้ามไม่ให้โดดก็คงยาก ปิดเสียเลยจะตัดไฟได้แต่ต้นลม แต่มิวาย เราก็ยังอุตส่าห์ตามไปเห็นนักท่องเที่ยวแอบปีนขึ้นไปบนหน้าผาชันนั้นอยู่ดี แต่มิได้โดดลงมาแต่อย่างใด 

ที่ใจกลางเกาะยังมีตลาดพื้นเมืองให้เลือกซื้อสินค้าราคาประหยัด รวมทั้งอาหารท้องถิ่นให้ลองชิมกัน ส่วนร้านอาหารตามรีสอร์ทก็มีให้เลือกหลากหลายประเภท ชนิดที่เรียกว่า ไม่ต้องกังวลเรื่องของกินกันเลย

ใครอยากเที่ยวดำน้ำแบบแตกต่าง มีให้เลือกหลายมิติ ลองแวะไป ‘มาลาปาสกัว’ รับรองว่าไม่เหมือนที่ใดแน่นอน

...........................................

2เด็กน้อยตกปลากันตั้งแต่ตัวกะเปี๊ยก

 

การเดินทาง

จากกรุงเทพมีทั้งไฟล์ทตรงและไฟล์ทอ้อมไปลงที่สนามบินนานาชาติ Mactan เกาะเซบู ประเทศฟิลิปินส์ จากนั้นสามารถเหมารถ Taxi ที่มีให้เลือกทั้งแบบ Sedan และ Van เพื่อไปยัง Maya port ราคา 3,000 - 5,000 เปโซ หรือแบบไม่เหมาก็คนละ 200 เปโซ แต่อาจต้องรอให้ผู้โดยสารเต็มสักนิดก่อนออก ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง

หรือจะนั่งรถประจำทางจากสนามบินไปลงที่ ห้าง SM City เดินต่ออีกหน่อยไปยัง Cebu North Bus Terminal ขึ้นรถบัสสู่ Maya port (ในเขตเทศบาล Daanbantayan) ราคาถูกกว่า แต่ก็ใช้เวลาทวีคูณ ลองสอบถามอีกครั้งก่อนซื้อตัว เพราะมีรถแบบช้า กับ ช้ากว่า รถโดยสารมีทั้งคืน แต่จากคำบอกเล่า บางคืนก็ไม่มี ดังนั้น เดินทางกลางวันเป็นทางเลือกที่ดีกว่ามาก

เรือข้ามไปเกาะมาลาปาสกัวเป็นเรือแบบ ‘เต็มแล้วออก’ ถ้าอยากให้ออกเร็วขึ้นก็จ่ายเพิ่มในส่วนที่ขาด หรือจะเหมาเลยก็ยังได้ ปัจจุบันใช้ Maya New Port เป็นหลัก ระยะห่างจากที่เก่าพอเดินไหวแต่ได้เหงื่อ เรือเที่ยวแรกเริ่มแต่เช้าตรู่ เที่ยวสุดท้าย 17.00 น. ค่าโดยสาร 100 เปโซ แต่ถ้าเป็นช่วงน้ำลด เรือใหญ่จะเข้าเทียบท่าไม่ได้เพราะติดตื้น ต้องจ่ายอีกคนละ 20 เปโซ เป็นค่าขนสัมภาระ (porter) และค่าต่อเรือเล็กออกไปอีกทอด ใช้เวลาแล่นเรือราว 40 นาที ช้าเร็วกว่านี้แล้วสุดแต่คลื่นลม บนเกาะมีจักรยานยนต์รับจ้างค่าโดยสารไม่แพง ถ้าอยากขี่เองก็ชั่วโมงละ 200 เปโซ

ทั้งหมดที่กล่าวมา หากซื้อแพกเกจทัวร์ล่วงหน้า ก็จะเหลือแค่พาร่างไปถึงสนามบิน Mactan ให้ได้ตามนัดเป็นพอ