‘ชะนี’ นักปลูกป่าแห่งเขาใหญ่

ชะนีไทยจะช่วยโลกได้อย่างไร นักวิทยาศาสตร์เปิดแปลงวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพถาวรมอสิงโต หาคำตอบในป่าใหญ่

“...ผัวๆๆ ผัวๆๆๆ...” เสียงของชะนีหนุ่มโสดที่ร้องโซโล่อย่างเป็นจังหวะ ราวกับกำลังประกาศว่าผมพร้อมแล้วที่จะสละโสด เข้าประตูวิวาห์กับชะนีสาวสักตัว หรือจะเป็นเสียงร้องของสัตว์ป่านานาชนิด ที่สอดประสานบรรเลงในยามเช้าตรู่ของทุกวัน เสมือนเสียงนาฬิกาปลุกจากธรรมชาติที่หาซื้อไม่ได้ที่ไหน นอกจากที่นี่ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดที่อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ เพียง 174 กิโลเมตรโดยประมาณ

นอกจากคำที่มักให้เรียกแทนผู้หญิงว่า ‘ชะนี’ แล้ว จะมีใครรู้หรือไม่ว่า ชะนี คือนักปลูกป่าตัวยงที่ช่วยสร้างสมดุลให้ผืนป่า

จากรายงานสถานการณ์ป่าไม้ปี 2560-2561 ของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร พื้นที่ป่าไม้ประเทศไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ค่อนข้างคงที่ และล่าสุดเมื่อปี 2560 จากการแปลภาพถ่ายดาวเทียม โดยกรมป่าไม้และคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าอยู่ร้อยละ 31.58 ซึ่งเท่ากับปี 2559 แม้พื้นที่จะค่อนข้างทรงตัว แต่ด้วยจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นนั้น ทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรที่เพิ่มขึ้นตาม ทั้งการสร้างที่อยู่อาศัย การทำเกษตรกรรมเพื่อยังชีพ นำไปสู่การบุกรุกพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น รวมทั้งอุปสงค์-อุปทานในความต้องการใช้ไม้ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมผลิตกระดาษ เฟอร์นิเจอร์ และพลังงาน 

กิจกรรมเหล่านี้เป็นการเพิ่มอุณหภูมิความร้อนในชั้นบรรยากาศ ส่งผลกระทบต่อพรรณไม้ป่าเป็นลูกโซ่ พืชออกผลไม่ตรงตามฤดูกาลหรือบางชนิดลดจำนวนลง ทั้งหมดส่งผลโดยตรงต่อสัตว์กินพืช เมื่อแหล่งอาหารหมด พวกมันก็จะย้ายถิ่นไปยังที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ จากพื้นที่ป่าอาจกลายเป็นที่รกร้าง หรือมีผู้เข้ามาแสวงหาประโยชน์จากการล่มสลายของระบบนิเวศ

สอดคล้องกับการศึกษาและวิจัยที่ยาวนานร่วม 20 ปีเศษ ของ 'แปลงวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพถาวรมอสิงโต' บนพื้นที่ 190 ไร่ ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ โดยทีมวิจัยที่มี อนุตตรา ณ ถลาง ผู้ช่วยนักวิจัยอาวุโส สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นผู้นำหญิงแกร่ง พร้อมลูกทีมหญิงอีก 3 ชีวิต ศึกษาความหลากหลากหลายทางชีวภาพป่าในระยะยาว ซึ่งได้เฝ้าติดตามพฤติกรรมของชะนีมายาวนาน ทำให้รู้ถึงรูปแบบการใช้ชีวิตในสังคมของชะนี พฤติกรรมการกิน การส่งเสียงร้อง รวมถึงความสัมพันธ์ของพืชและสัตว์ที่พึ่งพาอาศัยกัน ซึ่งแม้ว่าสัตว์ป่าจะเป็นนักล่าพืชเพื่อการดำรงอยู่ แต่ในขณะเดียวกันพวกมันก็เป็นนักปลูกป่าที่พาเมล็ดพันธุ์ไปเติบโตยังที่ต่างๆ ด้วย

เดินป่าตามหาชะนี

นักวิจัยได้ให้ข้อมูลของชะนีไว้อย่างน่าสนใจ นอกจากข้อมูลพื้นฐานบ่งบอกลักษณะของชะนีที่ว่า เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเช่นเดียวกับวานร (Ape) แต่เป็นชนิดที่เล็กที่สุด ไม่มีหาง อกกว้าง แขนยาว หน้าแบน ชะนียังมีลักษณะการใช้ชีวิต ที่มักจะชอบเฉิดฉายอยู่บนยอดสูงของกิ่งไม้ การกิน อยู่ หลับ นอนของมันล้วนใช้พื้นที่อันน้อยนิดบนต้นไม้ทั้งสิ้น มันเดินทางจากต้นไม้ต้นหนึ่งไปยังอีกต้นทางเรือนยอดไม้ ด้วยกายกรรมระดับเทพยากที่จะเลียนแบบ แขนสองข้างของมันแข็งแรงพอที่จะห้อยโหนพาตัวเองไปยังจุดหมายได้ ซึ่งเป็นลักษณะการเคลื่อนที่เฉพาะของชะนี รวมทั้งอาหารที่เหล่าชะนีโปรดปรานมากที่สุดก็คือ ผลไม้ โดยเฉพาะเงาะป่า 

นอกจากนี้พวกมันยังอาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเล็กๆ มีสมาชิก 4-6 ตัว ซึ่งที่นี่มีส่วนใหญ่เป็น ‘ชะนีมือขาว’ อาศัยอยู่ 2 กลุ่มด้วยกัน คือ กลุ่มเอ 2 ตัว กับ เอ อัลฟ่า อีก 3 ตัว ที่เพิ่งย้ายเข้ามาอยู่ใหม่ และมีอาณาเขตเป็นของตัวเอง เสียงร้องที่แสดงถึงความเกรี้ยวกราดและการเคลื่อนไหวที่รวดเร็วของชะนีสองกลุ่มจึงเป็นการประกาศอาณาเขตที่เมื่ออีกกลุ่มย่างก้าวเข้ามาในเขตหวงห้ามแล้ว ก็จะเกิดการปะทะกันซึ่งๆ หน้าอย่างไม่ปรานี จนกว่าฝ่ายผู้บุกรุกจะถอยห่างออกไป เป็นอันจบสิ้นภารกิจพิชิตเขตแดน

ในขณะเดียวกันสิ่งที่พบจากการเฝ้าติดตามพฤติกรรมชะนีของทีมวิจัยนั้น อนุตตรา เล่าว่า “ชะนีเป็นสัตว์ที่มีบทบาทสำคัญต่อระบบนิเวศในป่าเขาใหญ่อย่างมาก ในฐานะผู้กระจายเมล็ดพันธุ์พืช เพราะพฤติกรรมการกินอาหารของชะนีจะกลืนผลไม้ไปพร้อมกันกับเมล็ด เมื่อชะนีเดินทางไปตามจุดต่างๆ ในอาณาเขต จะพาเมล็ดพืชเหล่านั้นไปด้วย และขับถ่ายออกมา ซึ่งชะนีอาศัยอยู่บนต้นไม้สูง มูลที่ขับถ่ายออกมาจะกระจัดกระจายไปทั่วแปลง ไม่มีการกระจุกรวมกัน”

และจากการติดตามศึกษามูลชะนีเพื่อศึกษาพืชอาหารและพฤติกรรมการหาอาหารของชะนีก็พบว่า ในการขับถ่ายแต่ละครั้งจะพบเมล็ดพืชหลายชนิด โดยผลไม้ที่ชะนีชื่นชอบ คือ เงาะป่า โดยในปี 2550 ที่ต้นเงาะป่าออกผลดก ทีมวิจัยสามารถนับเมล็ดเงาะป่าในมูลชะนีมากกว่า 3,000 เมล็ด แต่ในยามที่ขาดแคลนผลไม้พบว่าชะนีจะกินผลไทรและเถาวัลย์แทน โดยในปี 2551 และ 2552 พบเมล็ดเถาวัลย์ในมูลชะนีมากกว่า 4,000 เมล็ด มูลของชะนีสำหรับนักวิจัยจึงเสมือนทองคำ ที่พร้อมงอยเงยเป็นเมล็ดพันธุ์ และเติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงา ทั้งยังเป็นแหล่งอาหารชั้นดีของสัตว์ป่า

ชะนีมือขาว1

ส่วนของแปลงวิจัยมอสิงโตนั้น อนุตตรา เล่าว่า เริ่มจาก ดร.วรเรณ บรอคเคลแมน นักวิชาการด้านนิเวศวิทยาชาวอเมริกา เป็นผู้ริเริ่มต้องการจะศึกษาพฤติกรรมสังคมของสัตว์ที่ใกล้เคียงกับมนุษย์ และเป็นสัตว์ที่กินผลไม้ ซึ่งช่วยในการกระจายเมล็ดได้ดี นั้นก็คือ ‘ชะนี’ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการเรียนรู้ระบบนิเวศของป่า ท่ามกลางการผันแปลของสภาพภูมิอากาศ

“เริ่มตามดูการกินของชะนีและแหล่งอาหารของมัน ซึ่งเราก็พบว่านอกจากชะนีจะเป็นผู้กระจายเมล็ดแล้ว สัตว์ป่าชนิดอื่น อย่างกวาง ช้าง หมี นกเงือก ฯลฯ ก็มีส่วนในการช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์ที่แตกต่างกันออกไป เช่น ช้างจะสามารถกินผลไม้ที่เมล็ดใหญ่และพาเมล็ดนั้นไปไกลเป็นกิโลๆ จากนั้นจึงศึกษาต่อได้อีกว่าพืชชนิดนั้น จะมีสัตว์ชนิดไหนมีมาช่วยกระจายเมล็ดได้บ้าง แล้วพืชแบบนี้จะชอบลักษณะที่อยู่แบบไหน” นักวิจัย สวทช. กล่าว

ขั้นตอนการทำงานของแปลงวิจัยมอสิงโตฯ หลังจากที่มีโจทย์เดียวกันว่าจะศึกษาครอบครัวชะนีแล้ว สิ่งแรกที่ต้องดูก่อนคือหน้าตาพื้นที่ที่เขาอาศัยอยู่นั้นเป็นอย่างไร วัดอาณาเขตของเขา วางศูนย์กลางของแปลง เริ่มทำรังวัดซึ่งก็คล้ายกับรางวัดถนน จะมีกล้องคอยบันทึกความเคลื่อนไหวเก็บเป็นข้อมูลประกอบการวิจัย และทุกๆ 20 เมตร จะต้องวางหมุดที่เป็นพิกัดไว้ ในการกำหนดเบอร์ของต้นไม้ เพื่อให้ทราบว่าชะนีจะเข้ากินพืชที่ต้นไหนบ้าง และตามดูพฤติกรรมการกินของชะนีอย่างสม่ำเสมอ\

ชะนีมือขาว(เครดิตภาพ_กุลพัฒน์ ศรลัมพ์)1

แล้วนิเวศวิทยาป่า ศึกษากันอย่างไร อนุตตรา อธิบายว่า “คงต้องเริ่มจากการมีโจทย์ที่สนใจจะศึกษา เช่นเดียวกับหลักการศึกษาในทางวิทยาศาสตร์เบื้องต้น อย่างของเราเริ่มจากความสงสัยว่าชะนีรู้ได้อย่างไรว่าอาหารอยู่ที่ไหน แล้วออกหากินตอนไหน เพราะฉะนั้นเมื่อเราอยากจะรู้ จึงต้องศึกษาอย่างละเอียดว่าในพื้นที่ที่เป็นบ้านของชะนีนั้น มีต้นไม้อะไรบ้าง มีสปีชีร์อะไรบ้าง มีกี่ต้น ชนิดพันธุ์ใดมีมากมีน้อยกว่ากัน จึงเป็นที่มาของการทำให้ครอบคลุมทั้งพื้นที่ แล้วก็เริ่มศึกษาว่าเราจะใช้วิธีวิจัยอย่างไร ซึ่งนอกจากการสนับสนุนของโครงการบีอาร์ที (BRT) ยังได้ความร่วมมือจากต่างประเทศ โดยการเข้าร่วมเป็นเครือข่ายแปลงวิจัยพลวัตป่าขนาดใหญ่ทั่วโลกของ Center for Tropical Forest Science (CTFS) หน่วยงานหนึ่งในสถาบันสมิธโซเนียน ประเทศสหรัฐอเมริกา”

นอกจากนี้ Big Data ก็มีส่วนช่วยสำคัญในการศึกษา วิเคราะห์ และประเมินผล ในการสร้างสมดุลของระบบนิเวศ เพราะนิเวศวิทยามีความซับซ้อน ถ้าเราทำกันทีละเรื่องๆ ต่อให้ร้อยปีก็ไม่ครอบคลุม ฉะนั้นถ้ามี big data จะสามารถทำได้หลายๆ เรื่อง และวิเคราะห์ คาดการณ์ได้อย่างง่าย ทำให้ประเมินผลกระทบต่างๆ ได้อย่างรอบด้าน

“จากการศึกษาพลวัตป่าแปลงวิจัยมอสิงโต ด้วยสภาพอากาศและสิ่งมีชีวิตที่เปลี่ยนไป สัตว์ป่ามีความสำคัญในการสะสมคาร์บอนในป่า ซึ่งมีการวิเคราะห์ข้อมูลแบบจำลองคอมพิวเตอร์ สร้างปัจจัยจำลองการสูญพันธุ์ของสัตว์ป่าร่วมกับทีมวิจัยเยอรมันนี ซึ่งจากโมเดลผลที่ได้คือ การสะสมคาร์บอนในป่าลดลงอย่างรวดเร็ว ป่าที่สมบูรณ์แต่ไม่มีสัตว์ป่าช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์ขนาดใหญ่ มีศักยภาพการสะสมคาร์บอนน้อยกว่าป่าที่มีสัตว์ป่า เพราะต้นไม้ที่สัตว์ป่าช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์ มักเป็นต้นไม้ที่ความหนาแน่นของเนื้อไม้สูง สะสมคาร์บอนได้มาก เช่น เช่น เงาะป่า มังคุดป่า ต้นตำหยาวผลตุ่ม ต้นขี้อ้าย ซึ่งการลดลงของคาร์บอนไม่เป็นผลดีต่อการเกิดภาวะโลกร้อน” นักวิจัย เล่าถึงความสำคัญของสัตว์ป่าในระบบนิเวศ

ความร่วมมือของทีมวิจัยกับนักวิจัยฝรั่งเศสในการศึกษา ตรวจวัดประเมินการสะสมคาร์บอนในป่าแปลงมอสิงโต และป่าฟื้นตัวบริเวณใกล้เคียง ด้วยเทคโนโลยีการรับรู้ระยะไกลชนิด LiDAR อาศัยหลักการยิงเลเซอร์ไปยังวัตถุ โดยติดเซนเซอร์ตรวจบนเครื่องบิน ทำให้สามารถสร้างภาพสามมิติของป่า และได้ค่าความสูงของต้นไม้ ช่วยให้การประเมินมีความแม่นยำมากขึ้น เบื้องต้นผลการศึกษาการสะสมคาร์บอนในป่า พบว่า ป่าในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่บางส่วนเป็นพื้นที่แผ้วถางมาก่อน ซึ่งป่าบริเวณนี้ที่เริ่มมีการฟื้นตัว มีการสะสมคาร์บอนได้มากในอัตราที่รวดเร็วกว่าป่ารุ่นเก่าอย่างมาก เพราะมีความต้องการใช้คาร์บอนไดออกไซด์ในการสังเคราะห์แสงสูง 

ซึ่งนี่คือข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่า การปลูกป่าและการฟื้นฟูป่าเป็นหนทางลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดภาวะโลกร้อนได้

“เราดึงคาร์บอนที่สะสมอยู่ในอากาศมาสะสมไว้ในดิน เป็นแร่ธาตุอยู่ในดิน ซึ่งก็จะมีผลต่อการเติบโตของสิ่งมีชีวิต และช่วยในเรื่องลดโลกร้อน ลดก๊าซเรือนกระจก เพราะการมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศมากๆ จะเกิดเป็นก๊าซเรือนกระจก ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น แต่ถ้าเรามีป่าจะสามารถดึงเอาคาร์บอนจากคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศลงมาสะสมยังพื้นดิน แปรเปลี่ยนเป็นแร่ธาตุที่เป็นอาหารของพืชต่อไป และที่สำคัญจะขาดผู้กระจายเมล็ดพันธุ์อย่างสัตว์ป่าไปไม่ได้เลย” อนุตตรา กล่าวทิ้งท้าย

กิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ล้วนสร้างผลกระทบ ทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อสิ่งมีชีวิตอื่นในธรรมชาติ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วก็จะย้อนกลับมาที่ตัวมนุษย์เอง ถึงเวลาที่เราจะต้องตระหนักถึงผลกระทบให้มากขึ้น ธรรมชาติสร้างทรัพยากร มนุษย์เป็นผู้นำมาใช้ และขณะเดียวกันก็อาจเป็นผู้ทำลายโดยไม่รู้ตัว 

จะดีกว่าไหมถ้าเราจะเป็นผู้สร้างสมดุลให้ธรรมชาติบ้าง อย่างเช่นชะนีกลุ่มนี้ที่ได้ชื่อว่าเป็นนักปลูกป่าแห่งเขาใหญ่