'กะเหรี่ยงฤาษี 4.0' ไอซีทีเพื่อชุมชนชายขอบ

'กะเหรี่ยงฤาษี 4.0' ไอซีทีเพื่อชุมชนชายขอบ

ชีวิตที่เปลี่ยนไปของชาวเลตองคุ เมื่อหมู่บ้านติดชายแดนไม่ใช่แค่น้ำไหลไฟสว่างแต่ยังมีไวไฟให้ใช้ฟรี

เส้นทางนั้นแทบจะไม่อาจเรียกได้ว่า ‘ถนน’ รถยนต์ขับเคลื่อนสี่ล้อค่อยๆ ฝ่าความทุลักทุเลที่ขนาบข้างด้วยภูเขา ป่าไม้และลำธาร ไปจนถึงปลายทางที่เคยถูกกล่าวขานว่าเป็น ‘ดินแดนลี้ลับ’ ชุมชนเล็กๆ ติดชายแดนแห่งนี้คือที่ซึ่งผู้คนส่วนใหญ่ยังคงใช้ชีวิตตามแบบวัฒนธรรมดั้งเดิมในนาม ‘กะเหรี่ยงฤาษี’

เลตองคุ คือชื่อของหมู่บ้านสุดชายแดนไทย-เมียนมา ในตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ห่างจากตัวอำเภออุ้มผาง 100 กว่ากิโลเมตร แต่ต้องใช้เวลาครึ่งค่อนวันในการไปถึง ชุมชนแห่งนี้แม้ว่าจะมีประวัติความเป็นมายาวนาน และมีประชากรหลายร้อยครัวเรือน แต่มีโรงเรียนเพียงหนึ่งแห่ง คือ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านเลตองคุ ซึ่งเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2533 ปัจจุบันจัดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับก่อนประถมศึกษา จนถึงระดับประถมศึกษา มีนักเรียนทั้งในและนอกพื้นที่จำนวน 365 คน

“หมู่บ้านเรานับถือฤาษี ผู้ชายจะมีหัวจุก การแต่งกายก็ไม่เหมือนที่อื่น ต้องใส่เสื้อแขนยาวผ่าอก ไม่ใส่กางเกงใน เสื้อชั้นใน การอยู่การกินก็แตกต่าง เราไม่กินสัตว์เลี้ยง ไม่ว่าจะหมูหรือไก่ แต่กินสัตว์ที่ล่า และต้องเป็นสัตว์เล็กอย่างกระรอก ไก่ป่า สมัยก่อนชาวบ้านไม่นิยมส่งลูกหลานมาเรียน แต่เราชอบอยากเรียนหนังสือ อยากรู้ภาษา ก็เลยได้มาเรียน มาอยู่กับตชด. จนได้เป็นครูที่นี่” หล่าเซ่อ วินัย ชนะก้องไพร คุณครูชาวกะเหรี่ยง เล่าถึงความแตกต่างทางวัฒนธรรม

ทุกเช้าเด็กผู้หญิงในชุดเชวา (ชุดยาวสีขาวของกะเหรี่ยง) และเด็กผู้ชายนุ่งผ้าโสร่งกับเสื้อแขนยาวผ่าอกติดกระดุม จะมารวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรมหน้าเสาธง ก่อนจะแยกย้ายเข้าห้องเรียน สโรชา อินสุข ครูผู้สอนวิชาภาษาอังกฤษ บอกว่าโดยสภาพของห้องเรียนภายในจะค่อนข้างทึบ ที่ผ่านมามีปัญหาคือแสงสว่างไม่ค่อยเพียงพอแม้ในตอนกลางวัน ส่วนตอนกลางคืนในอดีตจะไม่สามารถทำกิจกรรมอะไรได้เลย เพราะทั้งหมู่บ้านไม่มีไฟฟ้าใช้

“ลำบากค่ะ เมื่อเด็กไม่มีไฟฟ้าใช้ การเรียนการสอนก็จะจัดแค่ช่วงกลางวัน พอกลางคืนก็หยุด เด็กก็จะไม่ได้อ่านหนังสือตอนเย็น ไม่ได้ทบทวนตำรา ไม่ได้เขียนหนังสือหรือว่าทำการบ้านมาก เพราะว่าเขาไม่มีไฟฟ้าในการดำรงชีวิต เลยทำให้เป็นปัญหาว่าเมื่อสอนไปแล้วเด็กไม่ได้ทบทวน เด็กไม่เข้าใจในส่วนนั้นก็กลับมาถามอีก ครูก็สอนวนๆ ไม่ได้เคลื่อนไปไหน ส่วนด้านคอมพิวเตอร์ต้องยอมรับว่าโรงเรียนเราตั้งอยู่บนเขาสูง ไม่ได้รับเรื่องเทคโนโลยีเข้ามา เด็กไม่มีความรู้พื้นฐานเลยว่ามันคืออะไร โทรทัศน์ก็เพิ่งเข้ามาไม่เกิน 10 ปี ยิ่งเป็นคอมพิวเตอร์นี่ไม่ต้องพูดถึงเลย เขาไม่เคยเห็น”

เลตองคุ_๑๙๐๔๑๑_0024

 

ไอซีทีเพื่อคนชายขอบ

ท่ามกลางความห่างไกลที่กลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเรียนรู้ นับเป็นโอกาสอันดีที่โรงเรียนตชด.บ้านเลตองคุ ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งใน ‘โครงการไอซีทีเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับชุมชนชายขอบในพื้นที่โครงการตามพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี’ ภายใต้การดำเนินการของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ซึ่งประกอบด้วย ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา ‘แม่ฟ้าหลวง’ (ศศช.) จำนวน 8 แห่ง, โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน 11 แห่ง และโรงเรียนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 1 แห่ง รวม 20 แห่ง

ดร.กิตติ วงศ์ถาวราวัฒน์ หัวหน้าโครงการฯ เล่าถึงความเป็นมาว่า เนคเทคดำเนินโครงการเกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อชุมชนชนบทมานานกว่า 10 ปีแล้ว โดยมี ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ (อดีตผู้อำนวยการ สวทช. และผู้อำนวยการเนคเทคคนแรก) คอยให้คำปรึกษา

“ศ.ดร.ไพรัช ได้ให้แนวคิดว่า ด้วย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงติดตามการดำเนินงานในท้องถิ่นทุรกันดารในหลายพื้นที่ ดังนั้นจะมีวิธีใดบ้างที่ช่วยให้พระองค์ท่านประชุมติดตามงานแบบ Teleconference ทางไกลได้โดยไม่ต้องลงพื้นที่ เพื่อลดภาระงานของพระองค์ท่าน ซึ่งนั่นทำให้เราได้เริ่มศึกษา

กระทั่งมีโอกาสลงพื้นที่ทดลองที่บ้านแสนคำลือ อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ครั้งนั้นเมื่อเข้าไปได้เห็นว่าคนที่นี่เดินทางลำบากมาก ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีอินเทอร์เน็ต ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ที่จะติดต่อกับโลกภายนอกได้อย่างสะดวก ขาดโอกาสในหลายๆ อย่าง ทำให้เริ่มซึมซับเข้าใจว่า นี่คือสภาพของชุมชนชายขอบจริงๆ เป็นพื้นที่ทรงงานของพระองค์ท่าน ทำให้มีความรู้สึกข้างในลึกๆ และมีความตั้งใจว่าเมื่อมีโอกาส คงจะทำอะไรบางอย่างที่จะทำให้คนชายชอบได้รับการดูแลที่ดีขึ้น หรือทำให้คำว่า ชุมชนชายขอบ เป็นที่รับรู้ของสังคมภายนอกที่จะหันมาสนใจแก้ไขปัญหาในพื้นที่เหล่านี้”

ภายใต้คำสำคัญ คือ ‘ความยั่งยืน’ การดำเนินโครงการไอซีทีเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับชุมชนชายขอบฯ ในแต่ละพื้นที่มีการติดตั้งระบบที่ประกอบด้วย 3 ระบบสำคัญคือ 1.ระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ เนื่องจากพื้นที่อยู่ห่างไกลไม่มีสายส่งของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 2. ระบบอินเทอร์เน็ตและการสื่อสาร คือสัญญาณมือถือ และอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และ 3. ระบบที่เกี่ยวกับการเรียนการสอน เช่น คอมพิวเตอร์ในโรงเรียน เป็นต้น

เลตองคุ_๑๙๐๔๑๑_0034

สำหรับโรงเรียนตชด.บ้านเลตองคุ ถึงวันนี้ระบบต่างๆ ได้ถูกใช้งานมากว่า 1 ปี หลายสิ่งหลายอย่างค่อยๆ เปลี่ยนไป ไฟฟ้านำมาซึ่งโอกาสในการเรียนรู้ให้กับเด็กๆ สัญญาณอินเตอร์เน็ตได้เชื่อมโยงคนในและนอกชุมชนให้ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น ต่อแต่นี้...พวกเขาคงไม่ต้องถูกตัดขาดจากโลกภายนอกอีกต่อไป

 

แสงสว่างแห่งโอกาส

คืนนั้น หลังจากที่แสงอาทิตย์ลับขอบฟ้าไปแล้ว อาคารที่เคยเป็นโรงอาหารในตอนกลางวัน ถูกใช้เป็นสถานที่อ่านหนังสือของเด็กบ้านไกลซึ่งพักนอนในโรงเรียนทั้ง 32 คน ถ้าเป็นเมื่อก่อน เทียนเล่มใหญ่จะถูกจุดขึ้นเพื่อให้เด็กๆ ได้อาศัยแสงเพียงเล็กน้อยในการทบทวนบทเรียน แต่หลังจากระบบไฟฟ้าเริ่มเสถียร แสงสว่างจากไฟนีออนทำให้เด็กๆ ได้ใช้เวลามากขึ้นในการอ่านหนังสือรวมไปถึงการทำกิจกรรมต่างๆ

“ทุกวันนี้ถือเป็นกิจวัตรประจำวัน หลังจากรับประทานอาหารเสร็จ นักเรียนก็จะมารวมกันเพื่อทบทวนบทเรียนในแต่ละวัน ตั้งแต่ 6 โมงครึ่งถึง 2 ทุ่ม หลังจากนั้นก็สวดมนต์ แล้วเข้านอน” จ่าสิบตำรวจ ส่งเสริม มาลีศรีไสว ครูอีกคนของโรงเรียนตชด.บ้านเลตองคุ บอก พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าผลการเรียนของเด็กบ้านไกลจะดีกว่าเด็กในหมู่บ้าน อาจเป็นเพราะได้อยู่ใกล้ชิดครูและได้ทบทวนบทเรียน

เลตองคุ_๑๙๐๔๑๑_0028

ไม่เพียงแสงสว่างที่สร้างโอกาสให้เด็กๆ ครูสโรชาบอกว่า การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตคือการเปิดโลกกว้าง ไม่เฉพาะแต่กับนักเรียน แต่ยังรวมถึงตัวครูเองที่สามารถทำการสอนได้ดียิ่งขึ้น

“อย่างวิชาภาษาอังกฤษ เด็กๆ จะได้ฟังสำเนียงจากเจ้าของภาษาและได้ฝึกพูดตาม เวลาเราสอนให้เขารู้จักวัฒนธรรมต่างชาติ เขาอาจนึกไม่ออก เพราะไม่เคยเห็น ไม่เคยได้ยิน ไม่เคยสัมผัส เราก็จะให้เขาเข้าไปดูในอินเทอร์เน็ต ดูว่ามันเป็นอย่างไร นอกจากนี้ในบางวิชาซึ่งไม่มีครูที่จบมาโดยตรงก็จะให้เด็กได้เรียนผ่านคอมพิวเตอร์”

ที่สำคัญการเปิดรับข้อมูลความรู้ใหม่ๆ อยู่เสมอ ยังช่วยให้ครูได้พัฒนาตัวเองเพื่อที่จะนำความรู้มาสอนเด็กนักเรียนด้วย

“สำหรับอาชีพครูมันสำคัญมาก เพราะความรู้มันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ถ้าเราไม่มีโทรทัศน์ ไม่มีอะไรที่ติดต่อสื่อสารได้เลย บางครั้งก็ทำให้เราตามไม่ทัน แต่พอเนคเทคเข้ามาอย่างน้อยมีอินเทอร์เน็ตก็เสิร์ชหาข้อมูล รับฟังข่าวได้ เราต้องพัฒนาตัวเองตลอดเวลา การเป็นครูความรู้เราต้องใหม่ตลอด ยิ่งช่วงไหนจะทำอะไร ประเทศชาติมีการเปลี่ยนแปลงอะไรก็ติดตามดูไว้ สำคัญที่สุดคือเนื้อหาการสอนต้องพัฒนา อย่างตำราทำมาดีแต่เนื้อหามันเก่า ก็ต้องมีการอัปเดตเวลาจะสอนเด็กด้วย”

ขณะที่อีกด้านหนึ่ง ครูเสริมกล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาได้ใช้ข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตมาสื่อสารให้กับนักเรียนอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็น สถานการณ์บ้านเมือง ภัยธรรมชาติต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อชุมชน หรือโรคภัยไข้เจ็บที่ต้องเฝ้าระวัง 

“บางเรื่องที่จำเป็นเกี่ยวกับเหตุการณ์ความปลอดภัยเราต้องบอก เพื่อเด็กจะได้เตรียมตัวรับมือ โดยเฉพาะไข้หวัด ฤดูกาลเปลี่ยนแปลง มีโรคอะไรเข้ามาบ้าง เราอยู่ตามชายแดนจะป้องกันอย่างไร”

 

คุณภาพชีวิตที่ดีกว่า

ดูเหมือนว่าไม่ใช่แค่เรื่องการศึกษาเท่านั้น แต่ระบบไฟฟ้าและสัญญาณอินเทอร์เน็ตได้พัฒนาคุณภาพชีวิตของคนที่นี่ไปไม่น้อย โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพ ในยามเจ็บไข้ได้ป่วย แต่เดิมหากจะเดินทางออกไปยังโรงพยาบาลอุ้มผางต้องใช้เวลาครึ่งค่อนวัน ยิ่งในช่วงฤดูฝนที่ถนนถูกตัดขาด การนำผู้ป่วยออกนอกพื้นที่แทบเป็นไปไม่ได้เลย แต่ทุกวันนี้หากเกิดกรณีฉุกเฉิน ชาวบ้านสามารถแจ้งให้เจ้าหน้าที่สุขศาลาประสานงานเพื่อขอรับความช่วยเหลือจากภายนอกได้อย่างทันท่วงที

“เจ้าหน้าที่ของสุขศาลาจะมาอาศัยสัญญาณอินเทอร์เน็ตของโรงเรียนติดต่อทางไลน์เพื่อขอรถจากโรงพยาบาล ส่วนมากเราจะขอจากโรงพยาบาลอุ้มผางเพราะอยู่ใกล้ ทางโน้นเขามีทุกอย่างพร้อมหมด แต่ถ้าเป็นหน้าฝนพอประสานงานเสร็จเราจะใช้วิธีพาผู้ป่วยค่อยๆ เดินทางออกไปแล้วแต่ว่าจะมาเจอกันตรงไหนระหว่างทาง เพราะไม่สามารถกำหนดได้ว่าใครจะถึงก่อน ถ้ารออาจจะเสี่ยงกับชีวิตคนป่วย”

นี่คือความยากลำบากเพียงส่วนหนึ่งที่ชาวบ้านเลตองคุต้องเผชิญตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา และแม้ว่าการสื่อสารที่สะดวกรวดเร็วมากขึ้นจะบรรเทาเบาบางความทุกข์ของพวกเขาไปได้บ้าง แต่อีกด้านก็นำมาซึ่งความกังวลต่อการเปลี่ยนแปลงอันอาจจะเกิดขึ้นกับประเพณีวัฒนธรรมที่เคยยึดถือกันมาหลายชั่วอายุคน

“ถามว่ากลัววัฒนธรรมของเราจะเปลี่ยนไปมั้ย ก็กลัว แต่จะทำยังไงได้มันก็เป็นไปตามความเจริญที่เข้ามา มันก็ต้องเปลี่ยน แต่เราก็พยายามใช้สิ่งเหล่านี้เพื่อการศึกษาโดยเฉพาะ ส่วนมากจะปล่อยพาสเวิร์ดให้เฉพาะเด็กป.6 เรียนเสร็จปุ๊บจะเปลี่ยนพาสเวิร์ดเลย เพื่อแก้ปัญหาไม่ให้เด็กเอาไปใช้เล่นอย่างอื่น" ครูวินัย ตอบในฐานะลูกหลานชาวเลตองคุ

เลตองคุ_๑๙๐๔๑๑_0002

เช่นเดียวกับทางโรงเรียนที่ไม่ได้มองข้ามความสำคัญของการรักษาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของกะเหรี่ยงฤาษี ทุกเช้าเด็กๆ จะต้องท่องคำปฏิญาณซึ่งเปรียบเสมือนการให้สัญญาว่าจะปฏิบัติตนตามวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการไม่รับประทานเนื้อสัตว์ การไม่เล่นการพนัน ไม่เสพยาเสพติด และอื่นๆ

“หมู่บ้านนี้เขามีวัฒนธรรมฤาษีที่เด่น เพราะฉะนั้นเรามาอยู่ในพื้นที่แถวนี้เราควรอนุรักษ์สิ่งที่เขามีไว้ เพื่อให้ตกทอดไปสู่รุ่นลูกหลาน สิ่งที่เขากำหนดไว้เป็นสิ่งที่ดีงาม เราสนับสนุน” ครูเสริม ให้เหตุผลถึงการนำประเพณีวัฒนธรรมมาผสมผสานในการเรียนการสอน

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าเมื่อโลกใบเล็กถูกเปิดออก การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ยากจะหลีกเลี่ยง แต่การเลือกรับข้อมูลที่มาพร้อมกับการสื่อสารทันสมัยคือสิ่งที่คุณครูและผู้เกี่ยวข้องตระหนักดีถึงหน้าที่ในการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กๆ ซึ่งในที่สุดทุกคนต่างคาดหวังว่า การได้เรียนรู้สิ่งใหม่และก้าวไปพร้อมกับโลกจะทำให้เยาวชนบ้านเลตองคุและชุมชนใกล้เคียงมีคุณภาพชีวิตที่ดีบนรากฐานทางวัฒนธรรมที่แข็งแรง

วันนี้ในห้องเรียนเล็กๆ กลางหมู่บ้านที่เกือบจะถูกตัดขาดจากโลกภายนอก คุณครูคนใหม่ปรากฎตัวบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ พวกเขาไม่เพียงถ่ายทอดเรื่องราวที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน แต่ยังส่งผ่านแรงบันดาลใจไม่รู้จบ

“ผมมองว่าบางครั้งเราต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งทีดีกว่า สิ่งที่หมู่บ้านมีดีก็ต้องรักษาไว้ แต่ถ้าข้างนอกมีนวัตกรรมที่ดีเราก็จะรับไว้ ก็คือของเก่าก็อย่าไปลืม ของใหม่ก็นำมาใช้เพื่อจะได้พัฒนาให้เท่าทันเหตุการณ์ข้างนอก” ครูเสริม กล่าวทิ้งท้าย

ในค่ำคืนที่มีดวงไฟยังคงสว่างไสว เด็กๆ ฝึกอ่านเขียนภาษากะเหรี่ยงไปพร้อมๆ กับภาษาอังกฤษที่ไม่คุ้นเคย บางคนหยิบโจทย์เลขขึ้นมาคิดคำนวณ บางคนวาดรูปเล่นอย่างสบายใจ ทว่าสิ่งหนึ่งที่ไม่เคยขาดหายไปก็คือรอยยิ้มและเสียงหัวเราะที่ไร้การปรุงแต่ง