"รัฐบาล"ลุยแก้หนี้ 8กลุ่ม ยุบยอดหนี้ครู กู้ดอกไม่เกิน5% พักชำระหนี้ ตร.

"รัฐบาล"ลุยแก้หนี้ 8กลุ่ม ยุบยอดหนี้ครู กู้ดอกไม่เกิน5% พักชำระหนี้ ตร.

"โฆษกรัฐบาล" เผย "นายกฯ" เร่งแก้หนี้ 8 กลุ่ม ตั้งเป้าหมายปี 65 ปีแห่งการแก้หนี้ครัวเรือน ปรับโครงสร้างลูกหนี้สถาบันการเงิน ยุบยอดหนี้ครู โดยใช้ทรัพย์สิน-รายได้อนาคต ดอกเบี้ยเงินกู้ไม่เกิน5% พักชำระให้ ตร. ตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ย ลดคดีเข้าสู่ศาล

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้โพสต์ผ่านเพจ "ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Cha-o-cha" ย้ำความมุ่งมั่นของนายกรัฐมนตรี ผลักดันให้ปี 2565 นี้ เป็น “ปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน” ให้สำเร็จให้ได้  ซึ่งนายกรัฐมนตรียอมรับว่า วิกฤตโควิด-19 ซ้ำเติมให้ปัญหา"ปัญหาหนี้สินครัวเรือน"  มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น แต่ นายกรัฐมนตรีจะเดินหน้าทุกวิถีทาง เพื่อช่วยบรรเทาภาระและความเดือดร้อนของทุกกลุ่มลูกหนี้  ล่าสุดได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อ 21 ธันวาคม 64  ผลักดันร่างพ.ร.บ. กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....   เข้าสู่รัฐสภาพิจารณา  โดยหวังจะได้รับความร่วมมือสมาชิกรัฐสภา ผ่านร่าง พ.ร.บ. โดยเร็ว ซึ่งจะส่งผลต่อการแก้หนี้นักเรียนนักศึกษาและผู้คำ้ประกันกว่า 5 ล้านคนด้วย

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังการถึงความก้าวหน้าของคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เป็นประธาน ในการดำเนินการตามข้อสั่งการของพล.อ.ประยุทธ์ ครอบคลุม 8 กลุ่มหนี้ ได้แก่ 

1.การแก้ปัญหาหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา  (กยศ.)  ปฏิรูปรูปแบบการชำระหนี้ อาทิการปรับปรุงรูปแบบการจ่ายชำระหนี้คืน จาก “รายปี” เป็น “รายเดือน” เป็นชำระคืนค่างวดแบบเฉลี่ย “เท่ากันทุกเดือน” ขยายระยะเวลาการผ่อนชำระจาก 15 ปี เป็น 25 ปี  การเริ่มชำระหนี้ ให้ผูกกับ “การมีงานทำ” ปรับปรุงลำดับการตัดชำระหนี้ โดยนำไปตัด “เงินต้น” ก่อน แล้วจึงนำมาตัด “ดอกเบี้ย” ปรับลดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ เหลือ 2% ต่อปี ยกเลิกผู้ค้ำประกันตั้งแต่ปีการศึกษา พ.ศ. 2564 เป็นต้น

2.การกำหนดให้การไกล่เกลี่ยและการปรับโครงสร้างหนี้เป็นวาระของประเทศ ผ่านกลไกธนาคารแห่งประเทศไทย และสถาบันการเงินของรัฐ  โดย ธปท. จะออกประกาศเรื่อง “การปรับปรุงโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจอย่างยั่งยืน” เพื่อช่วยให้ SFIs สามารถปรับโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกหนี้ได้โดยไม่มีข้อกังวลเกี่ยวกับการถูกลงโทษตามกฎหมาย ประกาศของ ธปท. และข้อตกลงดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป

3.การแก้ปัญหาหนี้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์  เช่น การประกาศกรอบอัตราค่าใช้จ่ายในการทวงถามหนี้ที่ช่วยคุ้มครองลูกหนี้ ไม่ให้ถูกเรียกเก็บเงินในการทวงถามหนี้เกินความจำเป็น โดยอัตราค่าทวงถามหนี้กรณีทั่วไปรวมจำนำทะเบียน ให้คิดไม่เกิน 50 บาทต่อรอบการทวงถามกรณีค้างชำระ 1 งวด และคิดไม่เกิน 100 บาทต่อรอบการทวงถาม กรณีค้างชำระมากกว่า 1 งวด คิดอัตราค่าทวงถามหนี้สำหรับปฏิบัติการลงพื้นที่ติดตามถามหนี้ สำหรับสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ไม่เกิน 400 บาทต่อรอบการทวงถาม  กำหนดค่างวดที่ถึงกำหนดชำระที่ต่ำกว่า 1,000 บาท ไม่ให้มีการเก็บค่าทวงถามหนี้ 

4.การแก้ปัญหาหนี้สินข้าราชการโดยเฉพาะข้าราชการครูและข้าราชการตำรวจ อาทิ การยุบยอดหนี้โดยใช้ทรัพย์สินและรายได้ในอนาคตของครู การปรับดอกเบี้ยเงินกู้ให้ลดลงเหลือไม่เกิน 5% เพื่อให้สอดคล้องกับสินเชื่อหักเงินเดือนข้าราชการที่มีความเสี่ยงต่ำ   การปรับลดค่าธรรมเนียมทำประกันชีวิตและการค้ำประกันโดยบุคคลที่ไม่จำเป็น การยกระดับระบบการตัดเงินเดือนของข้าราชการให้มีประสิทธิภาพและเป็นธรรมมากขึ้น 

การแก้ไขปัญหาหนี้ตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ขอความร่วมมือไปยังสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจเพื่อช่วยเหลือข้าราชการที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ในการพักชำระหนี้เงินต้น การปรับลดอัตราการถือหุ้นรายเดือน การจัดทำโครงการปล่อยเงินกู้ระยะสั้นดอกเบี้ยต่ำเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายให้กับสมาชิกในครอบครัว และการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับสมาชิกที่มีหนี้เงินกู้

หน่วยงานต้นสังกัดเร่งปรับปรุงและยกระดับระบบการตัดเงินเดือนเพื่อชำระหนี้ อาทิ กำหนดยอดเงินที่ข้าราชการสามารถกู้ได้โดยไม่เกินศักยภาพในการชำระคืนจากเงินเดือน กำหนดกติกาว่าหลังหักชำระหนี้ ข้าราชการต้องเหลือเงินเดือนไม่ต่ำกว่า 30% เพื่อป้องกันการกู้ยืมนอกระบบ  

5.การปรับลดและทบทวนโครงสร้างและเพดานอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม และการออกมาตรการคุ้มครองสิทธิ์ของลูกหนี้ ล่าสุดกระทรวงการคลังได้ปรับลดเพดานเงินกู้สินเชื่อ PICO Finance ลงจาก 36% เหลือ 33% สำหรับลูกหนี้ที่วางหลักประกัน  ล่าสุด  16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 ธปท. ได้ออกมาตรการแก้ไขหนี้สินระยะยาวเพิ่มเติม ด้วยการสนับสนุนการรีไฟแนนซ์(Refinance) และการรวมหนี้ (Debt Consolidation) เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีประวัติการชำระหนี้ดี หรือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 สามารถนำหลักประกันของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่มีอยู่มาใช้ประโยชน์ในการช่วยลดภาระดอกเบี้ยและค่างวดในระยะยาวนอกจากนี้  ธปท. ลดข้อจำกัดการทำ รีไฟแนนซ์ (Refinance) หนี้ เพื่อส่งเสริมการแข่งขันของสถาบันการเงินในการรวมหนี้ให้กับลูกหนี้ควบคู่ไปด้วย 

6.การแก้ปัญหาหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล มีการจัดตั้ง “คลินิกแก้หนี้” เพื่อเป็นplatform กลางในการแก้ไขปัญหาหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่ปกติมักมีเจ้าหนี้หลายราย ที่ผ่านมาช่วยเหลือแก้หนี้หลายหมื่นบัญชี ธปท. ยังจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลออนไลน์ ได้ช่วยประชาชนรายย่อยมากกว่าสองแสนราย 

7.การแก้ปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของประชาชนรายย่อยและSMEs ผ่านโครงการ soft loan และสินเชื่อฟื้นฟูของ ธปท. ซึ่งมี SMEs จำนวนแสนกว่ารายได้รับความช่วยเหลือ

8.การปรับปรุงขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรม มีการจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางธุรกิจและการเงิน (Thai Business Mediation Center: TBMC) เพื่อเป็นกลไกช่วยไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางธุรกิจและการเงิน และลดคดีที่เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาล โดยเน้นไกล่เกลี่ยข้อพิพาทผ่านระบบออนไลน์ (Online Dispute Resolution: ODR) เป็นหลัก ซึ่งประชาชนสามารถยื่นคำร้องด้วยตนเองหรือผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์

นายธนกร กล่าวต่อว่า  นายกรัฐมนตรี มองว่า กับดักหนี้ครัวเรือน (Debt Trap)  ถือเป็นหนึ่งในปัญหาเชิงโครงสร้างที่สำคัญของประเทศที่จำเป็นต้องแก้ไข และยังเป็นเศรษฐกิจฐานรากที่มีความสำคัญ ซึ่งหากฐานะทางการเงินของครัวเรือนเปราะบางย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสังคมภาพรวม นายกฯ มีความตั้งใจช่วยลูกหนี้รายย่อย หนี้ครีวเรือน ลดปลดหนี้ ด้วยการเน้นออกแบบมาตรการมาเฉพาะรายกลุ่ม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการชำระหนื้  ซึ่งนายกฯ ขอเป็นกำลังใจ เชื่อมั่นว่าทุกรายอยากลด ปลด หนี้ ขอเพียงให้มีความตั้งใจจริง มีวินัย และมีการวางแผนในการชำระคืนหนี้ที่ดี ไม่ก่อหนื้ใหม่  มั่นใจว่าจะประสบความสำเร็จในการปลดหนี้อย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นการคืนความสุขที่แท้จริง