คลังเล็งคลอดมาตรการภาษีหนุนสตาร์ทอัพในไทย

คลังเล็งคลอดมาตรการภาษีหนุนสตาร์ทอัพในไทย

คลังเตรียมออกมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนสตาร์ทอัพในไทย โดยอาจลดหรือยกเว้นภาษีให้กับ Venture Capital ทั้งที่จัดตั้งโดยคนไทยหรือต่างชาติที่เข้ามาร่วมทุนกับสตาร์ทอัพ​

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเปิดเผยว่ากระทรวงการคลังกำลังอยู่ระหว่างพิจารณามาตรการภาษี เพื่อสนับสนุนการเติบโตของสตาร์ทอัพในประเทศไทย โดยอาจลดหรือยกเว้นภาษีให้กับ Venture Capital ทั้งที่จัดตั้งโดยคนไทยหรือต่างชาติที่เข้ามาร่วมทุนกับสตาร์ทอัพ

“เมื่อต้นเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา คณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ที่มีนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธุ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน ได้มีมติให้ใช้มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนสตาร์ทอัพในไทย ซึ่งกระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพากร จะไปพิจารณามาตรการภาษีในรายละเอียดต่อไป”

เขากล่าวว่า มาตรการสนับสนุน จะเป็นการลดหรือยกเว้นภาษีเงินได้  ( Income Tax) ให้กับ Venture Capital ที่เข้ามาลงทุนถือหุ้นในสตาร์ทอัพของคนไทย  ไม่ว่าจะเป็น Venture Capital ที่จัดตั้งโดยคนไทยหรือ Venture Cap ที่มาจากต่างประเทศก็ตาม  ซึ่งเมื่อเข้ามาลงทุนในสตาร์ทอัพแล้วมีกำไร ต้องการขายหุ้นออกไป ก็จะได้รับการลดหรือยกเว้นภาษีเงินได้  ซึ่งตามปกติจะต้องเสียให้กับกรมสรรพากร

ทั้งนี้ ในรอบปี 2564 กระทรวงการคลังได้พยายามผลักดันมาตรการภาษีต่างๆ ทั้งเพื่อส่งเสริมหรือสนับสนุนธุรกิจในประเทศ และรวมถึง การออกภาษีตัวใหม่ๆ เพื่อความเป็นธรรมในระบบภาษีและเพิ่มรายได้ให้กับรัฐบาล

โดยในปี 2564 กรมสรรพากรได้เริ่มจัดเก็บภาษี e-service ที่เริ่มจัดเก็บตั้งแต่เดือนก.ย.ที่ผ่านมานี้ ซึ่งเป็นการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 7% จากยอดขายของดิจิทัลแพลทฟอร์มจากต่างประเทศที่มาให้บริการแก่ลูกค้าในประเทศ และเกิดรายได้ในประเทศ จะต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับกรมสรรพากร

ปัจจุบันมีดิจิทัล แพลทฟอร์ม ออนไลน์ มากกว่า 100 รายที่เข้ามาจดทะเบียนเป็นผู้เสียภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว ซึ่งผลการจัดเก็บที่ผ่านมาพบว่าสามารถทำได้เกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้  ซึ่งการจัดเก็บภาษีดังกล่าว จะสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ประกอบการภายในประเทศที่ต้องมีภาระเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

ขณะที่ ก่อนหน้านั้นธุรกิจที่ขายบริการทางออนไลน์ เช่น การขายโฆษณา หรือการให้บริการความบันเทิงต่างๆ ไม่มีภาระภาษีมูลค่าเพิ่ม นอกจากนั้น การจัดเก็บภาษี e-service ยังสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในโลกธุรกิจที่มีการค้าบนโลกออนไลน์มากขึ้น ซึ่งในหลายประเทศก็จัดเก็บภาษีตัวนี้เช่นกัน

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การปฏิรูปภาษีของประเทศมีความจำเป็นเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับรัฐบาล ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลมีการลดภาษีเงินได้นิติบุคคล และบุคคลธรรมดา รวมทั้ง ยังคงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 7 % ต่ออีกสองปี

ขณะที่ รัฐบาลมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 ที่รัฐบาลต้องออก พ.ร.ก.เงินกู้พิเศษ รวม 1.5 ล้านล้านบาทนอกเหนือจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อใช้เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ ทำให้ภาระหนี้ต่อจีดีพีของรัฐบาลเกินกว่ากรอบที่ตั้งไว้ที่ไม่เกิน 60 % ของจีดีพี จนทำให้รัฐบาลต้องประกาศขยายกรอบภาระหนี้สาธารณะต่อจีดีพีเป็น ไม่เกิน 70 %

ขณะที่ รายได้ของรัฐบาล ตามรายจ่ายไม่ทัน ทำให้รัฐบาลมีภาระการขาดดุลงบประมาณมาโดยตลอด ยิ่งในช่วงโควิดรายได้รัฐบาล จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมายมาก โดยในปีงบประมาณปี 2564 ที่เพิ่งสิ้นสุดไปเมื่อเดือนก.ย.ที่ผ่านมานี้  รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 2.369 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 3.07 แสนล้านบาท หรือต่ำกว่าเป้าหมาย 11.5 % และต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 0.7%