สถานการณ์ SME ไตรมาส 3/2564 ดีขึ้นต่อเนื่อง ขยายตัว 0.2%

สถานการณ์ SME ไตรมาส 3/2564 ดีขึ้นต่อเนื่อง ขยายตัว 0.2%

สสว. เผยสถานการณ์ SME ไตรมาส 3 ปี 2564 สัญญาณดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจาก GDP SME ขยายตัวร้อยละ 0.2 หรือมีมูลค่า 1,356,720 ล้านบาท ผลจากโครงการคนละครึ่งเฟส 3 และปัจจัยเสริมการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้น

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ SMEs ในไตรมาส 3/2564 (ก.ค.-ก.ย.) พบว่า GDP SME ยังคงขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาส 2/2564 (เม.ย.-มิ.ย.) ที่ผ่านมา คิดเป็น 0.2% หรือมีมูลค่ารวม 1,356,720 ล้านบาท โดยคิดเป็นสัดส่วน 34.5% ของ GDP รวมของประเทศ

เมื่อพิจารณา GDP ตามขนาดวิสาหกิจ พบว่า วิสาหกิจรายย่อย (Micro) มีการขยายตัวสูงสุดคือ 8.0% รองลงมาคือ วิสาหกิจขนาดกลาง (Medium) 2.2% ส่วนวิสาหกิจขนาดย่อม (Small) หดตัวลง 3.8%

“การฟื้นตัวของ SME ที่เริ่มมาตั้งแต่ไตรมาส 2 และต่อเนื่องมาถึงไตรมาส 3 นี้ มีผลสำคัญมาจากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐคือโครงการคนละครึ่งเฟส 3 ที่กลับมาดำเนินการอีกครั้งในไตรมาสนี้จนถึงสิ้นปี 2564

นอกจากนี้ยังมาจากความสามารถในการปรับตัวของผู้ประกอบการโดยเฉพาะในกลุ่มขนาดกลาง และมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคส่งออกที่กลับมาเติบโต รวมถึงมาตรการต่างๆ ของภาครัฐที่ให้ความช่วยเหลือ SME ได้เริ่มส่งผลอย่างต่อเนื่อง” ผอ.สสว. กล่าว  

เมื่อพิจารณาถึงตัวเลข SME ทั่วประเทศ ปัจจุบันมีจำนวน 3,176,055 ราย เป็นกลุ่มวิสาหกิจรายย่อย (Micro) มากที่สุดคิดเป็น 85.47% รองลงมาคือวิสาหกิจขนาดย่อม (Small) คิดเป็น 13.18% และวิสาหกิจขนาดกลาง (Medium) คิดเป็น1.35%

ทั้งนี้ SME ยังคงเป็นกลไกขับเคลื่อนที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจประเทศ แต่จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบให้ขีดความสามารถของ SME ลดลง รัฐบาลจึงได้ออกมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยพลิกฟื้นหรือฟื้นฟูรวมทั้งสร้างโอกาสใหม่ๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ

โดยมีมาตรการสำคัญที่ สสว. ร่วมกับกรมบัญชีกลาง สนับสนุนให้ SME เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ซึ่งดำเนินการตั้งแต่ปลายปี 2563 และเริ่มส่งผลตั้งแต่ต้นปี 2564 เป็นต้นมา

นอกจากนี้ สสว. ได้พัฒนาระบบขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ SME เพื่อการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ  www.thaismegp.com เพื่อเป็นช่องทางหลักให้ SME ที่ต้องการเข้าถึงตลาดภาครัฐ ได้รับสิทธิประโยชน์ที่ช่วยให้สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการอื่นๆ ได้มากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการ SME อย่างต่อเนื่อง

โดยมีผู้ขึ้นทะเบียนในระบบรวม 115,200 ราย มีรายการสินค้าและบริการ รวม 898,000 รายการ (ข้อมูล ณ วันที่ 17 ธันวาคม 2564) ที่สำคัญผู้ประกอบที่ขึ้นทะเบียน ได้รับการจัดซื้อจัดจ้างจากหน่วยงานภาครัฐคิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 551,306 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2564) 

ขณะเดียวกัน สสว. ได้พัฒนาระบบทะเบียนสมาชิก สสว. เพื่อเป็นช่องทางในการเชื่อมต่อกับผู้ประกอบการ SME ทั่วประเทศ ให้ได้รับข้อมูล องค์ความรู้ สิทธิประโยชน์ต่างๆ รวมถึงโอกาสที่จะได้รับการพัฒนาจาก สสว. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีผู้ประกอบการ SME ขึ้นทะเบียนในระบบนี้ไม่น้อยกว่า 1,500,000 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 16 ธันวาคม 2564) 

ส่วนการดำเนินโครงการในปี 2564 ที่ผ่านมา เพื่อให้ความช่วยเหลือส่งเสริมผู้ประกอบการ SME ภายใต้ยุทธศาสตร์การสร้างสังคมผู้ประกอบการให้เติบโตและก้าวสู่สากล สสว. ได้ทำการพัฒนาผู้ประกอบการ ด้วยการส่งเสริมการเริ่มต้นธุรกิจ การพัฒนาผู้ประกอบการรายย่อย (Micro) ให้ประกอบธุรกิจอย่างมืออาชีพ และพัฒนาวิสาหกิจขนาดย่อม (Small) ให้ก้าวสู่ธุรกิจสมัยใหม่

โดยมีผู้ประกอบการได้รับการพัฒนารวมทั้งสิ้น 25,578 ราย สนับสนุนให้ SME เข้าถึงบริการทั้ง Online และ Offline รวมจำนวนไม่น้อยกว่า 206,557 ราย

นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาและยกระดับระบบสนับสนุนและเชื่อมโยงระบบนิเวศเพื่อการประกอบธุรกิจ โดยดำเนินโครงการนำร่อง One ID ด้วยการพัฒนาระบบ Single Sign One เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการ SME สามารถเข้าถึงการส่งเสริม สนับสนุนของหน่วยงานภาครัฐได้โดยสะดวก รวดเร็ว และทั่วถึงต่อไป