คลังชี้คริปโทเคอร์เรนซีอาจกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงิน​

คลังชี้คริปโทเคอร์เรนซีอาจกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงิน​

คลังชี้คริปโทเคอร์เรนซีอาจกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินและภาพรวมเศรษฐกิจประเทศ แนะผู้ใช้ระมัดระวัง เหตุผันผวนสูงเสี่ยงจากถูกโจรกรรมทางไซเบอร์และถูกใช้เป็นเครื่องมือการฟอกเงิน ไม่เหมาะเป็นสื่อกลางชำระค่าสินค้าและบริการ​

นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)ระบุถึงทิศทางของคริปโทเคอร์เรนซีต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทย โดยระบุว่า คริปโทเคอร์เรนซี (cryptocurrency) ถูกสร้างขึ้นเพื่อลดการรวมศูนย์ของระบบการชำระเงินผ่านสถาบันการเงิน ให้สามารถกระจายไปยังผู้ใช้ในเครือข่ายสกุลเงินนั้นๆ ได้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสะดวกในการทำธุรกรรมทางการเงิน และในอนาคตหากมีการใช้ทดแทนเงินบาทในวงกว้างอาจจะก่อให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจที่มากขึ้น และอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนและเสถียรภาพของระบบการเงินหรือระบบเศรษฐกิจของประเทศได้

ทั้งนี้ ด้วยจุดเด่นในการทำธุรกรรมที่รวดเร็ว ต้นทุนต่ำ และปลอดภัยจากการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนติดตามการเคลื่อนไหวของเงินแม้ไม่มีตัวกลาง และสามารถป้องกันการปลอมแปลงได้

อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางส่วนใหญ่ ซึ่งรวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทยยังไม่รับรองให้คริปโทเคอร์เรนซีที่เอกชนสร้างขึ้นมาสามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย เนื่องจาก มีความผันผวนสูงจากการใช้เพื่อเก็งกำไร และมีความเสี่ยงจากการสูญเสียมูลค่าหากถูกโจรกรรมทางไซเบอร์ และการถูกใช้เป็นเครื่องมือของการฟอกเงิน จึงอาจไม่เหมาะสำหรับการนำมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ

ทั้งนี้ ปัจจุบันการใช้คริปโทเคอร์เรนซียังไม่สร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบการเงิน คนไทยจำนวนมากยังมั่นใจในการใช้สกุลเงินบาท ในขณะเดียวกัน การพัฒนาของสินทรัพย์ดิจิทัลถือเป็นนวัตกรรมทางการเงินที่สำคัญที่จะช่วยต่อยอดการพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการชำระเงินในการสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ดังนั้น รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้มีการติดตามและกำกับดูแลการดำเนินการเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างใกล้ชิด ควบคู่กับการให้ความรู้แก่ประชาชน

เขากล่าวด้วยว่า ปัจจุบันพ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ได้กำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นหน่วยงานกำกับดูแลการประกอบธุรกิจ Digital Asset ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นผู้รักษาการ โดยจะกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจในตลาดรอง

ทั้งนี้ ผู้ประกอบธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล ที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัล และผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัลจะต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (คณะกรรมการ ก.ล.ต.)เพื่อกำกับดูแลความเรียบร้อย และรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศหรือเพื่อพิทักษ์ประโยชน์ของประชาชน

โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะเป็นผู้อนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล อนุญาตให้เลิกประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เพิกถอนการอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล และอาจสั่งให้ต้องปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของลูกค้าด้วยก็ได้

นอกจากนี้ ยังกำหนดเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลตามความจำเป็น และประกาศห้ามหรือสั่งระงับการดำเนินกิจการบางส่วนหรือทั้งหมดของผู้ประกอบการเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล ทั้งนี้ แนวทางต่างๆ จะดำเนินการโดยมีข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ก.ล.ต.

นอกจากนี้ กรมสรรพากร ได้กำหนดให้ผู้ที่ได้กำไรจากการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ถือเป็นผู้มีเงินได้ตามข้อกฎหมายจะต้องยื่นเสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายในอัตรา15%และต้องนำเงินได้ดังกล่าวมาคำนวณรวมกับเงินได้อื่นๆ เพื่อยื่นแบบเสียภาษีบุคคลธรรมดาประจำปี