ฉบับเต็ม! ข้อโต้แย้ง-คำวินิจฉัย “ศาล รธน.” ไฉน 5 “กปปส.” ต้องพ้น ส.ส.

ฉบับเต็ม! ข้อโต้แย้ง-คำวินิจฉัย “ศาล รธน.” ไฉน 5 “กปปส.” ต้องพ้น ส.ส.

ส.ส. จะต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างซื่อสัตย์สุจริต ปราศจากเหตุมัวหมองในการปฏิบัติหน้าที่ต่อส่วนรวม ไม่เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ต่อสภา หาก ส.ส.ผู้ใดกระทำผิดจนศาลมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง อันต้องด้วยลักษณะต้องห้ามของบุคคลผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งในวันเลือกตั้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2564 ศาลรัฐธรรมนูญ ออกนั่งบัลลังก์วินิจฉัย เรื่องที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่า สมาชิกภาพ ส.ส. ของ 5 อดีตแกนนำ กปปส. ได้แก่

  1. นายชุมพล จุลใส ส.ส.ชุมพร พรรคประชาธิปัตย์
  2. นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ
  3. นายอิสสระ สมชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์
  4. นายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์
  5. นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ

เป็นผู้ถูกร้องที่ 1-5 สิ้นสุดลงหรือไม่ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (4) (6) และมาตรา 96 (2) จากการถูกศาลอาญาพิพากษาจำคุก และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ในคดีการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2564 และถูกคุมขังระหว่างรออุทธรณ์ฎีการะหว่างวันที่ 24-26 ก.พ. 2564

โดยนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ นายอิสสระ สมชัย และนายถาวร เสนเนียม มาฟังคำวินิจฉัยด้วยตัวเอง ส่วนนายณัฏฐพล และนายชุมพล ส่งทนายความผู้รับมอบอำนาจมาฟัง 

ทั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยให้ผู้ถูกร้องทั้ง 5 ราย พ้นสมาชิกภาพ ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (4) (6) และมาตรา 96 (2) ไปแล้ว

อ่านข่าว: “5 กปปส.” พ้นเก้าอี้ ส.ส.! ศาล รธน.ชี้ไม่อยู่ฐานะไว้วางใจในความสุจริตได้

อย่างไรก็ดีระหว่างการอ่านคำวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านข้อโต้แย้งจากทางฝั่งผู้ถูกร้อง พร้อมกับความเห็นในการวินิจฉัยคดีจากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญด้วย

กรุงเทพธุรกิจ สรุปให้ทราบ ดังนี้

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำร้อง คำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา และเอกสารประกอบกันแล้วเห็นว่า คดีเป็นปัญหาข้อกฎหมาย และมีพยานหลักฐานเพียงพอจะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยวิธีการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง โดยกำหนดประเด็นพิจารณาวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพ ส.ส. ของผู้ถูกร้องทั้ง 5 สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (4) (6) และมาตรา 96 (2) หรือไม่ นับแต่เมื่อใด

พิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 101 บัญญัติว่า สมาชิกภาพ ส.ส. สิ้นสุดลงเมื่อใด (6) มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98

มาตรา 98 บัญญัติว่า บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้เป็นบุคคลต้องห้าม มิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. (4) เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 96 (1) (2) (4) และ (6) โดยต้องคำพิพากษาให้จำคุก และถูกคุมขังตามหมายของศาล

มาตรา 96 บัญญัติว่า ผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ ในวันเลือกตั้งเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง (2) อยู่ระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่

  • ยึดตัวบทชัดเจน ไม่อาจตีความเป็นอย่างอื่นได้

ข้อเท็จจริงตามคำร้อง คำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา และเอกสารประกอบ ปรากฏว่า ผู้ถูกร้องที่ 1, 4 เป็น ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ผู้ถูกร้องที่ 2, 3, 5 เป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ต่อมาเมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2564  ศาลอาญาพิพากษาลงโทษจำคุกว่า ผู้ถูกร้องที่ 1, 3, 5 ผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, 117 วรรคหนึ่ง, 215 วรรคสอง, 216, 358, 365 (2) (3), 362, 364 และมีความผิดตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. พ.ศ. 2550 มาตรา 76, 152 วรรคหนึ่ง โดยถูกพิพากษาจำคุกไม่รอลงอาญา และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนด 5 ปี ส่วนผู้ถูกร้องที่ 2, 4 ผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, 117 วรรคหนึ่ง, 215 วรรคสอง, 216, 358, 365 (2) (3), 362, 364 ถูกพิพากษาจำคุกไม่รอลงอาญา หลังจากนั้นผู้ถูกร้องทั้ง 5 ได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาขออุทธรณ์ โดยศาลอาญาส่งเรื่องให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาสั่ง และออกหมายจำคุกระหว่างอุทธรณ์ฎีกา ส่งผู้ถูกร้องทั้ง 5 ไปขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ต่อมาเมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2564 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ฎีกา ศาลอาญาจึงมีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวเมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2564

ศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า การที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้นำลักษณะต้องห้ามของบุคคลมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ตามมาตรา 98 มาเป็นเหตุแห่งการสิ้นสุดสมาชิกภาพ ส.ส. ตามมาตรา 101 เนื่องจากการดำรงตำแหน่ง ส.ส. เป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ ส.ส. ต้องได้รับการกลั่นกรองคุณสมบัติเบื้องต้น และลักษณะต้องห้ามเพื่อเป็นหลักประกันว่า บุคคลต้องมีความประพฤติ คุณสมบัติ มีความน่าเชื่อถือต่อสาธารณชน ปฏิบัติหน้าที่ซื่อสัตย์สุจริต ปราศจากเหตุมัวหมอง เพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม ไม่เสื่อมเสียแก่เกียรติและศักดิ์ศรีของสภาผู้แทนราษฎร จึงต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

ทั้งนี้รัฐธรรมนูญ มาตรา 96 (2) และมาตรา 98 (6) บัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจน ไม่อาจตีความเป็นอย่างอื่นได้ว่า สมาชิกภาพ ส.ส. ต้องสิ้นสุดลงเมื่อต้องคำพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ให้จำคุก หรือถูกคุมขังโดยหมายของศาลโดยคดีไม่ถึงที่สุด

  • ศาล รธน.ไม่เคยรับรองม็อบ หากทำผิดอาญา-กม.อื่น

ข้อโต้แย้งว่า การกระทำผิดทางอาญาของผู้ถูกร้องที่ 1, 3, 4, 5 มาจากการชุมนุมเพื่อแสดงออกทางความเห็นทางการเมือง ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเคยรับรองว่า การชุมนุมเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ดังปรากฏในคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญหลายคำสั่งนั้น

เห็นว่า คำสั่งที่กล่าวอ้าง เป็นกรณีศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัย แม้ปรากฏถ้อยคำว่า การชุมนุมเป็นการแสดงออกเพื่อแสดงความคิดเห็นทางการเมือง อันเป็นสิทธิอันชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญ แต่หากการกระทำนั้นเป็นความผิดทางอาญา หรือกฎหมายอื่น เป็นเรื่องที่ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาต้องดำเนินการตามกฎหมาย เป็นกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมิได้รับรองการกระทำซึ่งเป็นความผิดทางอาญา หรือกฎหมายอื่นไว้ตามที่ผู้ถูกร้องกล่าวอ้าง ข้อโต้แย้งนี้ฟังไม่ขึ้น

  • คำสั่งคุมขังส่งตัวเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯชอบด้วยกฎหมาย

ข้อโต้แย้งว่า คำสั่งศาลอาญาในการปล่อยตัวชั่วคราวไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และตามระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมฯ และกรณีศาลออกหมายจำคุกระหว่างอุทธรณ์ฎีกา ส่งตัวไปคุมขังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ไม่ใช่การคุมขังตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (6) นั้น

เห็นว่า การที่ศาลอาญาไม่ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ถูกร้องทั้ง 5 เพื่อส่งศาลอุทธรณ์พิจารณาคำสั่ง เป็นการใช้ดุลพินิจของศาล เป็นการดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เมื่อศาลอุทธรณ์ยังไม่มีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราว ศาลอาญาต้องออกหมายจำคุกตามผลของคำพิพากษา และส่งตัวผู้ถูกร้องทั้ง 5 ไปขังเพื่อรอฟังคำสั่งศาลอุทธรณ์ เป็นการพิจารณาคดีในขอบเขตของศาลยุติธรรม ดังนั้นการคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จึงเป็นการคุมขังตามมาตรา 98 (6) ข้อโต้แย้งนี้ฟังไม่ขึ้น

ส่วนข้อโต้แย้งว่า เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (6) บัญญัติให้การคุมขังในหมายศาล หมายถึงการสิ้นสุดสมาชิกภาพ ส.ส. นั้น ต้องเป็นการคุมขังจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้นั้น ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า มาตรา 98 (6) มิได้กำหนดเงื่อนไขเช่นนั้น ข้อโต้แย้งนี้ฟังไม่ขึ้น

  • เอกสิทธิ์คุ้มครอง ส.ส.ไม่ครอบคลุมคำพิพากษาศาล

ข้อโต้แย้งว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 125 วรรคสี่ ให้ความคุ้มครอง ส.ส. ในระหว่างสมัยประชุมสภาฯ การที่ศาลอาญาอ่านคำพิพากษา ออกหมายคุมขังระหว่างรอคำสั่งอุทธรณ์ ขัดขวาง ส.ส. ในการมารประชุมสภาฯนั้น

เห็นว่า ความคุ้มกันสมาชิกรัฐสภาเป็นสถานะพิเศษตามรัฐธรรมนูญ บัญญัติเพื่อให้ ส.ส. มาปฏิบัติหน้าที่สมัยประชุมได้ปกติ ไม่อาจจับ คุมขัง หรือเรียกไปสอบสวนในคดีอาญา หรือการพิจารณาคดีที่ไม่ขัดต่อการที่ ส.ส. มาประชุมสภาฯ แม้ข้อเท็จจริงมี พ.ร.ฎ.เปิดสมัยประชุมสภาฯ เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2563 และมี พ.ร.ฎ.ปิดสมัยประชุมสภาฯ เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2564 และศาลอาญาอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2564 และคุมขังผู้ถูกร้องทั้ง 5 ระหว่างอุทธรณ์เมื่อวันที่ 24-26 ก.พ. 2564 โดยอยู่ระหว่างสมัยประชุมสภาฯก็ตาม

แต่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1 (8) ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 บัญญัติให้การพิจารณาคดี หมายความว่าการพิจารณาในศาลก่อนมีคำพิพากษา คำสั่ง หรือการตัดสินชี้ขาด ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 82 วรรคสอง บัญญัติว่า การอ่านคำพิพากษาในศาลโดยเปิดเผย หรือภายใน 3 วันนับแต่เสร็จคดี หรือมีเหตุสมควรให้เลื่อนไปอ่านวันอื่นได้

ดังนั้นการอ่านคำพิพากษา และการคุมขัง จึงไม่ใช่กระบวนพิจารณาก่อนศาลชี้ขาด แต่เป็นกระบวนการหลังศาลชี้ขาด ไม่อยู่ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 125 วรรคสี่ เมื่อผู้ถูกร้องทั้ง 5 ถูกพิพากษาจำคุก และถูกคุมขัง แม้เป็นหมายระหว่างอุทธรณ์ฎีกา แต่มาตรา 98 (6) บัญญัติลักษณะต้องห้าม ส.ส. โดยไม่ได้บัญญัติว่า กรณีคำพิพากษาถึงที่สุด แสดงว่ารัฐธรรมนูญ มาตรา 125 วรรคสี่ คุ้มครอง ส.ส. เฉพาะกรณีคดีอยู่ระหว่างการพิจารณา แต่กรณีพิจารณาเสร็จสิ้นถึงขั้นตอนการอ่านคำพิพากษา ย่อมไม่อาจอ้างการคุ้มครองได้ ศาลอาญาจึงอ่านคำพิพากษาโดยไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 125 วรรคสี่ ข้อโต้แย้งนี้ฟังไม่ขึ้น

  • ระหว่างดำรงตำแหน่งก็โดนด้วย

ข้อโต้แย้งว่ารัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (4) (6) บัญญัติเหตุสิ้นสุดสมาชิกภาพ ส.ส. เพื่อควบคุมคุณสมบัติก่อนการเลือกตั้งเท่านั้น ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 101 กำหนดเหตุสิ้นสุดสมาชิกภาพ ส.ส. และมาตรา 98 กำหนดลักษณะต้องห้ามสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. เป็นกรณีรัฐธรรมนูญบัญญัติให้นำลักษณะต้องห้ามผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. มาใช้เป็นเหตุแห่งการสิ้นสุดสมาชิกภาพ ส.ส. ดังนั้นหาก ส.ส. มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (4) (6) ระหว่างดำรงตำแหน่ง ส.ส. ย่อมเป็นเหตุให้สมาชิกภาพ ส.ส. สิ้นสุดลงระหว่างการดำรงตำแหน่งได้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) มิใช่เป็นเพียงลักษณะต้องห้ามใช้สิทธิก่อนสมัครรับเลือกตั้งเท่านั้น ข้อโต้แย้งนี้ฟังไม่ขึ้น

  • ต้องคำพิพากษาถือว่าไม่อาจไว้วางใจในความสุจริตได้

ข้อโต้แย้งว่า คดีที่ศาลมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 96 (2) ต้องเป็นกรณีคดีถึงที่สุดแล้วนั้น ศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่า สมาชิกภาพ ส.ส. สิ้นสุดลงเมื่อเป็นบุคคลมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตาม มาตรา 96 (2) บุคคลอยู่ระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ไม่ว่าคดีนั้นถึงที่สุดแล้วหรือไม่ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง 

โดยรัฐธรรมนูญที่ผ่านมามีการเพิ่มความว่า “ไม่ว่าคดีนั้นถึงที่สุดแล้วหรือไม่” สอดคล้องกับหลักการที่ว่า คำพิพากษาศาลย่อมมีผลใช้บังคับได้ จนกว่าศาลสูงจะมีคำพิพากษาเป็นอย่างอื่น เมื่อศาลอาญาเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้ใด ผู้นั้นย่อมมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งโดยพลัน เข้าลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 (4)

การที่รัฐธรรมนูญกำหนดดังกล่าว เนื่องจาก ส.ส. จะต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างซื่อสัตย์สุจริต ปราศจากเหตุมัวหมองในการปฏิบัติหน้าที่ต่อส่วนรวม ไม่เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ต่อสภา หาก ส.ส.ผู้ใดกระทำผิดจนศาลมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง อันต้องด้วยลักษณะต้องห้ามของบุคคลผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งในวันเลือกตั้ง ตามมาตรา 96 (2) แล้ว สมาชิกภาพ ส.ส. ผู้นั้นย่อมไม่อาจอยู่ในฐานะไว้วางใจในความสุจริตได้ ไม่สมควรให้เข้ามามีอำนาจในทางการเมืองอื่นอีกด้วย

ทั้งนี้บทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ กรณีสิ้นสุดสมาชิกภาพ ส.ส. มีการใช้ถ้อยคำแตกต่างกัน แยกได้หลายลักษณะ เช่น กรณีมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (9) (10) (11) เป็นต้น แสดงให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์ว่าสมาชิกภาพ ส.ส. สิ้นสุดลงด้วยเหตุหลายประการ ตามบริบทข้อเท็จจริงที่แตกต่างกัน โดยบทบัญญัติดังกล่าวหาได้ขัดแย้งกันเอง หรือขัดแย้งมาตรา 98 (2) ไม่

ข้อเท็จจริงกรณีนี้เป็นกรณีมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (4) และมาตรา 96 (2) ซึ่งใช้คำว่า “อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ไม่ว่าคดีนั้นถึงที่สุดแล้วหรือไม่” โดยไม่ได้ใช้คำว่า “คำพิพากษาอันถึงที่สุด” บทบัญญัติลายลักษณ์อักษรชัดเจน ไม่อาจตีความเป็นอย่างอื่น หมายความว่า สมาชิกภาพ ส.ส. สิ้นสุดลงเมื่อต้องคำพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง โดยไม่ต้องให้คดีถึงที่สุดแล้ว ข้อโต้แย้งฟังไม่ขึ้น

  • ไม่จำเป็นต้องคดีถึงที่สุด พ้นเก้าอี้ได้

ส่วนข้อโต้แย้งการสิ้นสุดสมาชิกภาพ ส.ส. เนื่องจากมีลักษณะต้องห้าม กรณีต้องคำพิพากษาให้จำคุกตามมาตรา 101 (13) ต้องเป็นกรณีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกนั้น ศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่า รัฐธรรมนูญบัญญัติการสิ้นสุดสมาชิกภาพ ส.ส. โดยใช้ถ้อยคำการต้องคำพิพากษา และการจำคุกแตกต่างกันหลายลักษณะ เช่น มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (6) หรือ (9) เป็นต้น

แสดงให้เห็นว่า รัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์ให้สมาชิกภาพ ส.ส. สิ้นสุดลงได้ด้วยเหตุผลหลายประการ ตามข้อเท็จจริงของผลแห่งคำพิพากษาที่แตกต่างกัน เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้เป็นกรณีมาตรา 98 (6) ใช้คำว่า “ต้องคำพิพากษาให้จำคุก และถูกคุมขังโดยหมายของศาล” โดยไม่มีคำว่า “ถึงที่สุด” จึงมีความหมายนว่า สมาชิกภาพ ส.ส. ต้องสิ้นสุดลง เมื่อต้องคำพิพากษาให้จำคุกเท่านั้น โดยไม่ต้องรอให้คดีถึงที่สุดเสียก่อน 

กรณีผู้ถูกร้องทั้ง 5 ตกอยู่ภายใต้การบังคับของรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (6) อันเป็นเหตุให้สมาชิกภาพ ส.ส. สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) โดยไม่จำเป็นต้องรอให้คดีถึงที่สุดตามรัฐธรรมนูญ 101 (13) ข้อโต้แย้งนี้ฟังไม่ขึ้น