เช็คมาตรการ กทม.รับมือฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐานในกรุงเทพฯ 7-9 ธ.ค.นี้

เช็คมาตรการ กทม.รับมือฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐานในกรุงเทพฯ 7-9 ธ.ค.นี้

กทม.เปิดคลินิกมลพิษทางอากาศ เกาะติดสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 เตือนแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นระหว่างวันที่ 7-9 ธ.ค.และวันที่ 12 ธ.ค.นี้

วันที่ 7 ธ.ค. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า สำหรับสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ขณะนี้สำนักสิ่งแวดล้อม ได้ร่วมมือกับหน่วยงานใกล้เคียง อาทิ กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมอนามัย กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงคมนาคม กระทรวงพลังงาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ เพื่อติดตามสถานการณ์และเตรียมพร้อมมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ตามแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปี 2565 ภายใต้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” 

พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า ทั้งนี้ กทม.ได้ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี และเพื่อเป็นการรองรับสถานการณ์ฝุ่นละอองที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในระหว่างวันที่ 7-9 ธ.ค.2564 และวันที่ 12 ธ.ค.นี้ ตามที่กรมควบคุมมลพิษ ได้แจ้งเตือนในการควบคุมการปล่อยมลพิษทางอากาศจากแหล่งกำเนิดหลักในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยมีมาตรการ ดังนี้

1.เข้มงวดการตรวจจับและห้ามใช้รถยนต์ควันดำทุกประเภท 

2.กำชับหน่วยงานในสังกัดกทม. ตรวจสอบและบำรุงรักษาเครื่องยนต์ เพื่อไม่ให้ปล่อยมลพิษเกินมาตรฐานกำหนด 

3.รณรงค์ให้ประชาชนลดการเผาในที่โล่ง 

4.ประชาชนสามารถติดตามข้อมูลทราบผ่านช่องทางต่างๆ ได้แก่เว็บไซต์ www.bangkokairquality.com  www.air4bangkok.com www.prbangkok.com เฟซบุ๊ค : กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร เพจเฟซบุ๊ค : สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร และ กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์ และแอพพลิเคชัน : AirBKK  

พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ จะมีจอแสดงผลบริเวณสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ และจอแสดงผลแบบเคลื่อนที่ ทั้งนี้ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่ศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศในกรุงเทพมหานคร วันจันทร์-ศุกร์ โทร. 0 2530 2954 และ 0 2530 2951 ระหว่างเวลา 08.30-18.30 น. ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ โทร. 08 5806 7776 และ 08 6364 4407 อย่างไรก็ตามปัจจุบันสถานการณ์ฝุ่นมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จึงได้เพิ่มการรายงานข้อมูลเป็น 3 รอบเวลา ได้แก่เวลา 07.00 น. เวลา 12.00 น. และเวลา 15.00 น. เพื่อแจ้งเตือนประชาชนให้หลีกเลี่ยง งดการทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายกลางแจ้ง พร้อมแนะนำการปฏิบัติตนหากจำเป็นต้องออกไปกลางแจ้ง 

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวอีกว่า ขณะที่สำนักการแพทย์ ได้เตรียมพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยวินิจฉัยและให้การรักษาที่ถูกต้องตามแนวทางการรักษาโรค จัดเตรียมยา เวชภัณฑ์ เตรียมหน้ากากอนามัยเพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชน พร้อมรายงานสถิติผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ฝุ่นละออง ติดตามสถานการณ์ฝุ่นละออง เพื่อปฏิบัติการออกช่วยเหลือผู้ป่วยยามจำเป็น หากมีการรายงานค่าฝุ่นในพื้นที่ระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ จะมีมาตรการ ดังนี้

1.ฉีดพ่นละอองน้ำจากสปริงเกอร์บนชั้นดาดฟ้าของตึก ที่ได้ดำเนินการติดตั้งไว้แล้ว เพื่อลดภาวะฝุ่นละอองในบริเวณพื้นที่โรงพยาบาล 

2.เปิดศูนย์ปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขกรณีฝุ่นละออง PM 2.5 เกิน 75 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) เกิน 3 วัน 

3.สั่งการให้โรงพยาบาลในสังกัด กทม.เปิดคลินิกมลพิษทางอากาศที่โรงพยาบาลตากสิน โทร. 0 2437 0123 (วันจันทร์ เวลา08.00-12.00 น.) โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โทร. 0 2289 7198 (วันพุธ เวลา 13.00-15.00 น.) และโรงพยาบาลกลางโทร.0 2225 1354 (วันพฤหัสบดี เวลา 13.00-15.30 น.) เพื่อให้คำปรึกษาแก่ประชาชน ให้บริการตรวจรักษาลดความรุนแรงของอาการที่เกิดจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก

พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า ในส่วนของสำนักอนามัย ได้จัดทำแผนรองรับผลกระทบจากสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 เกินค่ามาตรฐานที่กำหนด 3 ช่วงแบ่งเป็น

ระยะที่ 1 ค่า PM 2.5 อยู่ในระดับ 0-50 มคก./ลบ.ม. มีมาตรการดังนี้

1.จัดเตรียมเวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ในการป้องกันฝุ่น PM2.5 

2.ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบในเรื่องความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับฝุ่น PM10 PM2.5 ผลกระทบสุขภาพจากค่าฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐาน วิธีป้องกันตนเอง รวมถึงการเฝ้าระวังติดตามเป็นพิเศษในกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง เด็ก ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด และหญิงตั้งครรภ์ 

ระยะที่ 2 ค่า PM2.5 อยู่ในระดับ 51-90 มคก./ลบ.ม. มีมาตรการดังนี้

1.ให้ความรู้และเฝ้าระวังแก่กลุ่มเสี่ยงและประชาชนทั่วไป แต่หากค่า PM 2.5 อยู่ระดับ 76 มคก./ลบ.ม.ขึ้นไปติดต่อกันเกิน 3 วัน ให้ออกหน่วยบริการเชิงรุก สนับสนุนเวชภัณฑ์และให้คำปรึกษาแก่ผู้ได้รับผลกระทบและกลุ่มเสี่ยงให้มากขึ้น 

ระยะที่ 3 ค่า PM2.5 อยู่ในระดับมากกว่า 91 มคก./ลบ.ม. มีมาตรการดังนี้

1.ให้ความรู้และเฝ้าระวังแก่ประชาชนกลุ่มเสี่ยงให้อยู่ภายในที่อยู่อาศัย ไม่ควรออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้ง แจกหน้ากากอนามัย 

2.จัดทำ Worst case scenario เพื่อรองรับสถานการณ์วิกฤตที่อาจเกิดขึ้น

พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวด้วยว่า สำหรับการรณรงค์วิธีป้องกันตนเองจากฝุ่นละออง PM2.5 ได้แก่ ลดระยะเวลาในการทำกิจกรรมกลางแจ้ง สวมหน้ากากอนามัยที่ป้องกันฝุ่น PM2.5 สวมแว่นตา เสื้อแขนยาวขายาว เนื่องจากฝุ่นจะทำให้เกิดการระคายเคืองตาและผิวหนังได้ และดื่มน้ำให้มากๆ เพื่อบรรเทาอาการระคายเคืองคอ แสบคอ ตลอดจนการเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อรองรับการให้บริการประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากปัญหาฝุ่น PM 2.5 กลุ่มเสี่ยงที่ต้องดูแลเป็นพิเศษมี 2 กลุ่มใหญ่ ที่ต้องป้องกันตนเองจากฝุ่นละอองอย่างเหมาะสมและทันเวลา ได้แก่ กลุ่มเปราะบาง เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์และกลุ่มที่มีโรคประจำตัว เมื่อได้รับฝุ่นจะเสี่ยงมีอาการรุนแรงได้ เช่น ผู้ป่วยภูมิแพ้ ผู้ป่วยโรคปอดเรื้อรัง ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจผู้ป่วยโรคตาอักเสบ