เปิดชื่อ "เลือดเก่า" ไหลออก "บิ๊กเนม" ลาประชาธิปัตย์ยุค "จุรินทร์"

เปิดชื่อ "เลือดเก่า" ไหลออก "บิ๊กเนม" ลาประชาธิปัตย์ยุค "จุรินทร์"

เจาะไทม์ไลน์ "เลือดเก่าไหลออก" ในยุค "จุรินทร์" เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กับสมาชิกไขก๊อกคนล่าสุด "อภิชัย เตชะอุบล" 

ถึงแม้พรรคประชาธิปัตย์ จะจัดทัพผู้สมัครเตรียมพร้อมการเลือกตั้งใหญ่อย่างเข้มข้น แต่ความเคลื่อนไหวล่าสุด "เอกนัฏ พร้อมพันธุ์" อดีตส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตแกนนำกลุ่ม กปปส. ยื่นหนังสือขอลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ 

โดยมีรายงานว่านายเอกนัฏ เตรียมไปร่วมงาน "พรรครวมไทยสร้างชาติ" ซึ่งเป็นอีกหนึ่งพรรคการเมืองสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี

ขณะที่เดียวกัน "เสี่ยโต" อภิชัย เตชะอุบล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ไปยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ 

กลายเป็น 2 ขุนพลพรรคประชาธิปัตย์คนล่าสุด ที่ตัดสินใจลาออกจากสมาชิกพรรค ตั้งแต่ "จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์" รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คนที่ 8 จากมติประชุมใหญ่วิสามัญพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่ 15 พ.ค.2562 ต่อจาก "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ"

เปิดชื่อ "เลือดเก่า" ไหลออก "บิ๊กเนม" ลาประชาธิปัตย์ยุค "จุรินทร์"

เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ อดีต ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ 

ในทางการเมืองการย้ายเข้าและย้ายออกจากพรรค เป็นเรื่องปกติเกือบทุกยุค เพราะหากย้อนไปถึงการเลือกตั้งทั่วไป 24 มี.ค.2562 ในสมัย "อภิสิทธิ์ " เป็นหัวหน้าพรรค เคยมีกลุ่มกลุ่มอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ในปี 2554 ย้ายออกจากพรรคไปมากถึง 17 คน 

สำหรับสมาชิกพรรคขณะนั้น ย้ายไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐ 9 คน ย้ายไปพรรครวมพลังประชาชาติไทย 7 คน และย้ายไปพรรคท้องถิ่นไทย 1 คน โดยมีพื้นที่เลือกตั้งดังนี้ 

ส.ส.ภาคใต้ 7 คน ทั้งหมดย้ายไปสังกัดพรรครวมพลังประชาชาติไทย ประกอบด้วย จ.นราธิวาส 3 คน คือนายสุรเชษฐ์ แวอาแซ นายรำรีมามะ นายเจะอาหมิง โตะตาหยง , จ.สุราษฎร์ธานี 3 คน คือนายธานี เทือกสุบรรณ นายเชน เทือกสุบรรณ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ , จ.ยะลา 1 คน คือนายอับดุลการิม เต็งกะรีนา

ส.ส.ภาคตะวันออก 5 คน ย้ายไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐ ประกอบด้วย จ.ฉะเชิงเทรา 2 คน คือนายบุญเลิศ ไพรินทร์ พล.ต.ท.พิทักษ์จารุสมบัติ , จ.จันทบุรี 2 คน คือนายธวัชชัย อานามพงษ์ นายยุคล ชนะวัฒน์ปัญญา , จ.ชลบุรี 1 คน คือนายสรวุฒิ เนื่องจำนง

ส.ส.กทม. 3 คน ประกอบด้วย นายชื่นชอบ คงอุดม ย้ายไปพรรคท้องถิ่นไทย , นายพุฒิพงษ์ ปุณณกันต์ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ย้ายไปพรรคพลังประชารัฐ 

ส.ส.ภาคกลาง 2 คน ย้ายไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐ ประกอบด้วย จ.สระบุรี 1 คน คือน.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย , จ.กาญจนบุรี 1 คนคือนายประชา โพธิพิพิธ

มาถึงในยุค "จุรินทร์" เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ ยังมีเคลื่อนไหวจากอดีต ส.ส.ย้ายเข้า-ออกมาเกือบตลอด 3 ปี ประชาธิปัตย์จึงใช้ "โมเดล" วิธีสรรหาผู้สมัคร ส.ส.มาจาก 3 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.ผู้สมัครหน้าใหม่ 2.อดีตผู้สมัครคนเดิมที่ยังทำพื้นที่ และ 3.อดีตผู้สมัครที่ย้ายกลับมาเป็นสมาชิกพรรค ซึ่งอยู่ในแคมเปญ "เลือดใหม่ไหลเข้า เลือดเก่าไหลกลับ" 

โดยมีอดีตสมาชิกคนเก่าย้ายกลับมา อาทิ ยุคล ชนะวัฒน์ปัญญา อดีต ส.ส.จันทบุรี เขต 2 ที่ย้ายจากพรรคพลังประชารัฐ รวมถึง กิตพล เชิดชูกิจกุล ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขตสวนหลวง-ประเวศ และเป็นอดีต ส.ก. 4 สมัย

อย่างไรก็ตามปฏิเสธไม่ได้ว่าระดับจากรายชื่อ "บิ๊กเนม" ที่ "เลือดเก่าไหลออก" ยังเป็นสิ่งสะท้อนไปถึงเสถียรภาพภายในประชาธิปัตย์ในยุค "จุรินทร์" เป็นหัวหน้าพรรคในรอบกว่า 3 ปี โดยพบว่ามีแกนนำคนสำคัญ ได้ลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ไล่เรียงได้ดังนี้

1.กษิต ภิรมย์ อดีต รมว.ต่างประเทศ ในสมัยนายอภิสิทธิเป็นนายกรัฐมนตรี ได้ยื่นใบลาออกความเป็นสมาชิกพรรคเมื่อวันที่ 11 มิ.ย.62 โดยให้เหตุผลว่า พรรคประชาธิปัตย์ถูกขับเคลื่อนไปในทิศทางที่เห็นต่าง หากเป็นสมาชิกพรรคต่อไปไม่ได้จึงตัดสินใจลาออก

2.กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ ได้ลาออกไปเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.62 พร้อมให้เหตุผลทางทวิตเตอร์ว่า “ผมเป็นสมาชิกพรรค ปชป.เมื่อปี พ.ศ.2539 เช้านี้ส่งหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคแล้ว ผมขอขอบคุณพรรคประชาธิปัตย์ที่ให้การสนับสนุนการทำงานทางการเมืองของผมเป็นอย่างดีมาโดยตลอด”

3.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก แกนนำตรวจสอบโครงการรับจำนำข้าวในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ยื่นหนังสือลาออกเมื่อวันที่ 19 พ.ย.62 จากนั้นได้ไปร่วมพรรครวมพลังประชาชาติไทย ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นแกนนำผู้ก่อตั้ง จากนั้นได้ลาออกเพื่อมาตั้งพรรคไทยภักดีในเวลาต่อมา

4.พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค อดีต รมว.ยุติธรรม ยื่นลาออกเมื่อวันที่ 9 ธ.ค.62 พร้อมระบุว่า "ขอบคุณผู้ใหญ่หลายท่านที่เมตตา เป็นตัวอย่างที่ดี ขอบคุณเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ และเจ้าหน้าที่ทุกคน ที่สนับสนุน เป็นกำลังใจเสมอมา ขอบคุณบ้านหลังนี้ที่ให้โอกาสทำงานนานเกือบสามสิบปี" จากนั้นนายพีระพันธุ์ได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษานายกฯ 

5.กรณ์ จาติกวณิช อดีต รมว.คลัง ยื่นลาออกเมื่อวันที่ 15 ม.ค.63 พร้อมระบุเหตุผลว่า "เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ได้ร่วมพิจารณาอนุมัติงบประมาณแผ่นดินจนเสร็จเรียบร้อย จึงคิดว่าผมได้ทำภารกิจที่พรรคได้มอบหมายไว้จนครบถ้วนหมดแล้ว ผมจึงได้ยื่นใบลาออกตามที่ตั้งใจไว้" จากนั้นนายกรณ์ได้ดำเนินการก่อตั้งพรรคกล้า

6.อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีต ส.ส.กทม. ได้ลาออกไปเมื่อวันที่ 16 ม.ค.63 พร้อมเหตุผลว่า "การเมืองที่ผมอยากเห็น คือการเมืองที่กระชับ ชัดเจน รองรับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงของโลก เพื่อนำประเทศเข้าสู่โครงสร้างเศรษฐกิจแบบใหม่ เป็น Startup ทางการเมืองที่จะฉีกกรอบแนวคิดการบริหารราชการแผ่นดินอย่างสร้างสรรค์อยากเห็นคนจริง คนทำงานในหลากหลายอาชีพ มาช่วยกันขับเคลื่อนพลิกโฉมประเทศไทย" จากนั้นนายอรรถวิชช์ ได้ร่วมกับ "กรณ์" ก่อตั้งพรรคกล้า 

7.นพ.ปรีชา มุสิกุล อดีต ส.ส.กำแพงเพชร อดีต รมช.สาธารณสุข ในรัฐบาลม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และ รมช.วิทยาศาสตร์ฯ ในรัฐบาล"ชวน หลีกภัย" ได้ยื่นหนังสือลาออกจากสมาชิกพรรคเมื่อวันที่ 5 ก.พ.63

8.วิฑูรย์ นามบุตร อดีต ส.ส.อุบลราชธานี อดีต รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ยื่นลาออกจากสมาชิกพรรคเมื่อวันที่ 28 ม.ค.64 โดยระบุเหตุผล ไม่มีที่ยืน และไม่มีตำแหน่งอะไรที่พรรคมอบให้ 

9.นิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ อดีต ส.ส.พัทลุง อดีต รมว.วัฒนธรรม ยื่นหนังสือลาออกเมื่อวันที่ 6 ธ.ค.64 โดยไปร่วมก่อตั้งพรรคสร้างอนาคตไทย ร่วมกับสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกฯ อุตตม สาวนายน อดีต รมว.คลัง และสนธิรัตน์สนธิจิรวงศ์ อดีต รมว.พาณิชย์

10.ไพร พัฒโน อดีตนายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ และอดีตส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ 2 สมัย ได้ยื่นหนังสือลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่ 11 มี.ค.2565 โดยระบุเหตุผลการลาออกว่า "แนวทางการเมืองไม่มีทางให้เลือกมากนัก การลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ถือเป็นการตัดสินใจที่ยาก สาเหตุหนึ่งนั้นมาจากปัจจุบัน การตัดสินใจในหลายๆเรื่องของพรรคนั้น ไม่เห็นด้วย" สำหรับนายไพรจะไปร่วมพรรคเศรษฐกิจไทย และเป็นหนึ่งในกรรมการบริหารพรรค พร้อมลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.เขต 2 สงขลา

11.เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ อดีต ส.ส.กทม. อดีตแกนนำ กปปส. ยื่นหนังสือลาออกเมื่อวันที่ 16 มี.ค.65 โดยระบุว่า "วันนี้ผมได้ยื่นขอลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ขออนุญาตกราบลาจากพรรคฯ แม้จะเป็นการตัดสินใจที่ยาก แต่ผมขอคงไว้ซึ่งความเคารพ ความรักและผูกพันธ์ เต็มไปด้วยความทรงจำดีๆ ตลอดไปครับ" โดยมีกระแสว่านายเอกนัฏจะไปร่วมพรรครวมไทยสร้างชาติ

12.อภิชัย​ เตชะอุบล​ ส.ส.บัญชีรายชื่อ​ พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นลาออกจากสมาชิกพรรค เมื่อวันที่ 17​ มี.ค.65 โดยระบุว่าใช้เวลาตัดสินใจมาได้สักพักใหญ่แล้ว ก่อนจะไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เพื่อเข้ามาเป็นผู้ดูแลพื้นที่เลือกตั้ง ส.ส.และ ส.ก.ในกรุงเทพฯ

ทั้งหมดเป็นไทม์ไลน์ปรากฎการณ์ "เลือดเก่าไหลออก" ในยุคจุรินทร์เป็นหัวหน้าพรรค ในช่วงกระแสการจัดทัพ เตรียมเลือกตั้งใหญ่ที่พร้อมเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ

เปิดชื่อ "เลือดเก่า" ไหลออก "บิ๊กเนม" ลาประชาธิปัตย์ยุค "จุรินทร์"