EA คาดดีมานต์ EV ดันยอดแบตเตอรี่ลิเธียม เล็งขยายไลน์ผลิตใหญ่สุดในโลก

EA คาดดีมานต์ EV ดันยอดแบตเตอรี่ลิเธียม เล็งขยายไลน์ผลิตใหญ่สุดในโลก

EA มั่นใจความต้องการใช้แบตเตอรี่ลิเธียมโตหลังมาตรการหนุนยานยนต์ไฟฟ้าชัดเจน ความต้องการใช้รถ EV เพิ่ม เล็งขยายกำลังการผลิตโรงงานผลิตแบตเตอรี่ฯที่ร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ธุรกิจจากไต้หวัน ชี้สามารถขยายได้ถึง 50 GWh ใหญ่สุดในโลก แนะไทยเร่งแก้กฎหมายหนุนลงทุน

นายสมโภชน์ อาหุนัย  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ "EA" กล่าวในการเสวนาหัวข้อ “มุมมองใหม่ ฝ่าเศรษฐกิจไทย ปี 2022” ในงาน "INTANIA DINNER TALK" จัดโดยสมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่าทิศทางสำคัญของประเทศไทยต้องเร่งเข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับแทรนด์และกระแสของโลกที่มุ่งเน้นไปในเรื่องพลังงานสะอาด เช่น รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) ซึ่งบมจ.พลังงานบริสุทธิ์   มุ่งเจาะตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์เป็นหลักเนื่องจากมองว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการเติบโตสูงในอนาคตทั้งตลาดในประเทศและตลาดระดับภูมิภาค

รวมถึงมองหาโอกาสที่เกิดขึ้นจากยานพาหนะอื่นๆที่ใช้ไฟฟ้าทั้งรถบัส รถบรรทุก รวมทั้งเรือซึ่งมองไปถึงการใช้ประโยชน์ที่หลากหลาย 

"ความต้องการใช้รถไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในอนาคตมีดีมานต์เพิ่มขึ้น ทำให้ความ้ต้องการใช้แบตเตอรี่ที่มีคุณภาพสูง โดยเป้าหมายที่จะมีการผลิตรถ EV เพิ่มอีก 1.3 ล้านคันในประเทศ ต้องการแบตเตอรี่เพิ่มขึ้นถึง 260 GWh หากคิดถึงการต้องการใช้ทั่วทั้งอาเซียนในอนาคตการใช้จะมีอีกมากซึ่งเป็นโอกาสที่ธุจกิจจะเติบโตต่อไปได้" 

ในส่วนของแบตเตอรี่ที่จะใช้ในยานยนต์ไฟฟ้าถือว่าเป็นสิ่งสำคัญโดยบมจ.พลังงานบริสุทธิ์ มีความร่วมมือกับพันธมิตรจากไต้หวันคือบริษัท AMITA Technologies Inc.โดยในวันที่ 12 ธ.ค.โครงการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนที่ดำเนินการภายใต้บริษัทย่อย คือบริษัท อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด (ATT) ระยะที่ 1 ขนาดกำลังการผลิต 1 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) ต่อปี จะเริ่มดำเนินการ 

 เบื้องต้นเน้นผลิตและจำหน่ายให้บริษัทในเครือ EA ก่อน ไม่ว่าจะเป็น E-Bus, E-Truck, E-Ferry เป็นต้น เพื่อพิสูจน์ให้ตลาด หลังจากนั้นจะขายให้กับค่ายรถEV อื่นๆ รวมถึงส่งออก โดยโรงงานแบตเตอรี่ดังกล่าวสามารถขยายกำลังการผลิตได้ถึง 4 GWhต่อปี คาดว่าไม่เกิน 2-3 ปีจะดำเนินการขยายได้ตามเป้าหมาย

"โรงงานแห่งนี้สามารถเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 4 GWh ได้ในอนาคตโดยไม่ต้องมีการลงทุนขนาดใหญ่เพิ่มเติม ทั้งนี้ในพื้นที่ของโรงงานแห่งนี้สามารถรองรับการขยายกำลังการผลิตเป็น 50 GWh ได้ในอนาคตซึ่งจะกลายเป็นโรงงานผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในโลกแซงหน้าโรงงานของบริษัทเทสล่าที่มีกำลังการผลิตประมาณ 30 GWh"

 

 

นายสมโภชน์กล่าวต่อว่า โลกหลังโควิด-19 เป็นโลกที่กติการะหว่างประเทศทั้งการค้า และการลงทุนให้ความสำคัญกับการลดคาร์บอนไดออกไซด์และส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด ดังนั้นโอกาสของเศรษฐกิจไทยจึงต้องสอดคล้องไปทิศทางนี้

"หากต้องการให้ประเทศไทยกลับมาแข็งแกร่ง ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นสิ่งที่คนทั่วโลกให้ความสำคัญในปัจจุบัน อาจต้องมีการปรับแก้กฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่างๆต่อการลงทุนที่เกี่ยวข้อง หรืออาจเริ่มจากทำโครงการแบบ Sandbox ที่ให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อเป็นตัวอย่างให้แก่พื้นที่อื่นต่อไปเช่นในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซีได้"นายสมโภชน์ กล่าว