เอ็กซิมแบงก์คาดหนี้เสียSMEsพุ่งหลังสิ้นสุด​มาตรการช่วยเหลือ

เอ็กซิมแบงก์คาดหนี้เสียSMEsพุ่งหลังสิ้นสุด​มาตรการช่วยเหลือ

เอ็กซิมแบงก์คาดหนี้เสียในกลุ่มสินเชื่อที่ให้กับ SMEs ในระบบจะเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจากปัจจุบันมาอยู่ที่ 10 % เมื่อมาตรการช่วยเหลือสิ้นสุดลง​ โดยจะมีSMEs​ราว​ 1 ล้านรายที่ต้องหยุดกิจการ

นายรักษ์​ วรกิจโภคาทร​ กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(เอ็กซิมแบงก์)​ประเมินสถานการณ์หนี้เสียในกลุ่มสินเชื่อที่ให้กับ SMEs ในระบบจะเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจากปัจจุบันมาอยู่ที่ 10 % เมื่อมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐสิ้นสุดลง โดยขณะนี้​ สถาบันการเงินทั้งของภาครัฐและเอกชน ยังคงมีมาตรการเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19ให้กับSMEs แต่ในสิ้นปีนี้มาตรการเหล่านั้นจะสิ้นสุดลง น่าจะส่งผลให้ SMEs ที่มีฐานะไม่ดีและได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ยอดขายหายไป น่าจะอยู่ไม่ได้  ซึ่งในปัจจุบัน หนี้เสียของสินเชื่อที่ให้กับ SMEs ทั้งระบบ อยู่ที่ 6% ของสินเชื่อที่ให้กับ SMEs ทั้งหมด

เขากล่าวว่า ในปัจจุบัน SMEs 3 ล้านรายในระบบ มีประมาณ 5 แสนราย ที่ดำเนินธุรกิจไปต่อไม่ได้ และยังมีอีกประมาณ 5 แสนราย ที่อยู่ในสภาพคล้ายซอมบี้ คือ อยู่ได้ด้วยมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ เมื่อดึงมาตรการช่วยเหลือออก SMEs กลุ่มนี้ก็จะดำเนินธุรกิจต่อไม่ได้  ดังนั้น​ โดยรวมแล้วอาจมี SMEs ที่ล้มหายตายจากไปรวมกันประมาณ 1 ล้านราย

เขากล่าวอีกว่า ในปีหน้าคงต้องจับตาดูว่าSMEs ที่เป็นซอมบี้เหล่านั้น จะดิ้นล้นต่อสู้อย่างไรในทางธุรกิจ เมื่อไม่มีมาตรการรัฐคอยสนับสนุน จะหาสภาพคล่องเพื่อมาหล่อเลี้ยงธุรกิจอย่างไร เมื่อธนาคารไม่ให้สินเชื่ออีกต่อไป ซึ่งหาก SMEs เหล่านั้น สามารถหาสินเชื่อจากแหล่งอื่น เช่น จากนาโนไฟแนนซ์​ ซึ่งอัตราดอกเบี้ยอยู่สูงถึงราว 20 %  และยังสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปจนมีกำไรได้ ในอนาคต SMEs เหล่านั้นก็อาจสามารถเข้ามาขอสินเชื่อในระบบธนาคารต่อไปได้

อย่างไรก็ตาม เขากล่าวว่า ปัญหาของหนี้เสียของสินเชื่อ SMEs จะไม่ส่งผลกระทบต่อฐานะของระบบสถาบันการเงินในประเทศ เนื่องจากระบบสถาบันการเงินของไทยถือว่ามีความแข็งแกร่งมาก เป็น 1 ใน 10 ของสถาบันการเงินที่แข็งแกร่งที่สุดในโลกในขณะนี้

สำหรับเอ็กซิมแบงก์นั้นคาดว่า​ จนถึงสิ้นปีนี้หนี้เสียของธนาคารจะอยู่ 3.58 % หรืออาจจะต่ำกว่าหนี้หากสามารถขายหนี้ออกไปได้

ส่วนการ Hair cut หนี้ กรณีที่ลูกค้าสินเชื่อไม่สามารถชำระหนี้ได้นั้น ธนาคารพร้อมที่จะดำเนินการ Hair cut ให้กับลูกหนี้ หากรัฐบาลมีมติให้ดำเนินการ โดยเฉพาะลูกค้าสินเชื่อที่อยู่ในกลุ่มเปราะบาง  อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องมีหลักเกณฑ์บางประการในการ Hair cut เช่น จำเป็นต้องมีลูกหนี้กับธนาคารมาระยะเวลาหนึ่ง และอัตราการ Hair cut อาจไม่เท่ากัน ตัวอย่างเช่น กรณีที่เป็นลูกค้าสินเชื่อของธนาคารมา 7 ปี อาจ Hair cut หนี้ให้ 25 % หรือถ้าเป็นลูกค้า 7-10% อาจ Hair cut 30 % เป็นต้น

เขากล่าวว่า กรณีที่ลูกค้าเป็นลูกค้าสินเชื่อกับธนาคารมานาน เช่น กู้ในวงเงิน 800 ล้านบาท ชำระดอกเบี้ยมาแล้ว​ 10  ปี รวมเป็นภาระดอกเบี้ยที่จ่ายให้กับธนาคาร 374 ล้านบาท ก็ถือว่าเป็นรายได้ของธนาคารส่วนหนึ่งแล้ว