‘เงินบาท’ วันนี้เปิด’อ่อนค่า’ ที่33.05บาทต่อดอลลาร์

‘เงินบาท’ วันนี้เปิด’อ่อนค่า’ ที่33.05บาทต่อดอลลาร์

“กรุงไทย” ชี้แนวโน้มเงินบาทผันผวนตามทิศทางดอลลาร์ หากบาทแตะระดับ33บาทต่อดอลลาร์ เปิดโอกาสต่างชาติกลับเข้ามาเก็งกำไรการแข็งค่าของเงินบาทอีกครั้งจากโฟลว์เก็งกำไรแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย มองกรอบเงินบาทวันนี้ 32.85-33.05 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันนี้ (23พ.ย.) ที่ระดับ33.05 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลง จากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ  32.88 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.85-33.05 บาทต่อดอลลาร์

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท มองว่า เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้นได้บ้าง จากโฟลว์เก็งกำไรแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ผ่านทั้งการลงทุนในหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติ รวมถึง การซื้อบอนด์ระยะสั้นเพื่อเก็งกำไรเงินบาทแข็งค่า 

เราเชื่อว่า การอ่อนค่าของเงินบาทใกล้ระดับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์จจะเปิดโอกาสให้ผู้เล่นต่างชาติกลับเข้ามาเก็งกำไรการแข็งค่าของเงินบาทอีกครั้ง นอกจากนี้ ผู้ส่งออกต่างก็รอทยอยขายเงินดอลลาร์อยู่ ทำให้ เรามองว่าเงินบาทจะไม่อ่อนค่าไปมาก 

อย่างไรก็ดี เงินบาทอาจผันผวนจากแนวโน้มเงินดอลลาร์ รวมถึงโฟลว์เก็งกำไรทองคำ ซึ่งเราเชื่อว่า การปรับตัวลงหนักของราคาทองคำสู่แนวรับสำคัญแถว 1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อาจหนุนให้ผู้เล่นบางส่วนทยอยเข้ามาซื้อ Buy on Dip เพื่อเล่นรอบเก็งกำไรการรีบาวด์ของราคาทองคำได้ ซึ่งโฟลว์ดังกล่าวจะเป็นแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาท

ผู้เล่นในตลาดการเงินมีความมั่นใจมากขึ้นว่าเฟดจะเร่งใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวด สะท้อนผ่านมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เริ่มเชื่อว่า เฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยได้ราว 3 ครั้งในปีหน้า เริ่มตั้งแต่ช่วงกลางปี หลังจากที่ ประธานาธิบดี Biden ตัดสินใจเลือกให้ประธานเฟด Powell ดำรงตำแหน่งประธานเฟดสมัยที่ 2 นอกจากนี้ มุมมองของตลาดที่เชื่อว่าเฟดอาจใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดเร็วขึ้น ได้ส่งผลกระทบให้ผู้เล่นในตลาดเลือกที่จะเทขายสินทรัพย์เสี่ยง โดยเฉพาะหุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth กดดันให้ ในฝั่งสหรัฐฯ ดัชนี S&P500 ย่อตัวลง -0.32% ส่วนดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ดิ่งลงกว่า -1.26% 

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป นอกเหนือประเด็นความกังวลสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ ที่ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดเลือกจะเทขายหุ้นในธีม Reopening หรือ หุ้นกลุ่ม Cyclical ตลาดหุ้นยุโรปยังถูกกดดันจากแรงเทขายหุ้นกลุ่มเทคฯ เช่นกัน อาทิ Adyen -6.0%, SAP -3.3%, ASML -1.7% ส่งผลให้ ดัชนี STOXX50 ย่อตัวลงต่อเนื่อง-0.41% 

ในฝั่งตลาดบอนด์ ความกังวลปัญหาเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น รวมถึงมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เชื่อว่า เฟดภายใต้การนำของประธานเฟด Powell สมัยที่ 2 อาจใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดเร็วขึ้น ได้หนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นกว่า 6bps สู่ระดับ 1.62% นอกจากนี้ เรายังคงเชื่อว่า บอนด์ยีลด์ยังมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นต่อได้ จากแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจและการทยอยลดการอัดฉีดสภาพคล่องหรือคิวอีของบรรดาธนาคารกลางหลัก

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ จากมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เชื่อว่าเฟดอาจเร่งใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นในปีหน้า โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวลงสู่ระดับ 96.55 จุด ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2020 นอกจากนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ รวมถึงการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ราคาทองคำปรับตัวลดลงหลุดแนวรับสำคัญในโซน 1,850 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ลงมาใกล้ระดับ 1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเป็นแนวรับหลักสำคัญ ที่เรามองว่า มีโอกาสที่จะเห็นผู้เล่นบางส่วนอาจเข้ามาซื้อทองคำในโซนแนวรับดังกล่าวเพื่อเก็งกำไรการรีบาวด์ของราคาทองคำ อย่างไรก็ดี ในระยะสั้นที่ผู้เล่นในตลาดยังมองโอกาสเฟดใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นได้เร็วนั้น อาจจะกดดันให้ราคาทองคำยังแกว่งตัวใกล้แนวรับหลักไปก่อน จนกว่าจะมีปัจจัยใหม่เข้ามาหนุนราคาทองคำ อาทิ ความกังวลปัญหาเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น หรือ ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่ทำให้ตลาดพลิกกลับมาปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น 

สำหรับวันนี้ ตลาดรอลุ้นแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกผ่านรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ (Manufacturing and Services PMIs) ในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งตลาดมองว่าโมเมนตัมการฟื้นตัวเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่ง หนุนโดยการขยายตัวต่อเนื่องในอัตราเร่งของภาคการผลิตและการบริการในเดือนพฤศจิกายน ชี้จากดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ ที่จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 59.1 จุด และ59 จุด ตามลำดับ (ดัชนี >50 จุด หมายถึง ภาวะขยายตัว)  ส่วนในฝั่งยุโรป ภาพอาจจะแตกต่างจากในฝั่งสหรัฐฯเนื่องจากสถานการณ์การระบาดระลอกใหม่ของ COVID ซึ่งเริ่มส่งผลให้บางประเทศกลับมาใช้มาตรการ Lockdown อาจส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจยุโรปส่งสัญญาณชะลอตัวลงมากขึ้น โดยตลาดประเมินว่า ภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการของยูโรโซนมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราชะลอลงจากผลกระทบของการระบาดระลอกใหม่ ชี้จากดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการที่จะปรับตัวลดลงสู่ระดับ 57.3 จุด และ 53.5 จุด ตามลำดับ

ส่วนในฝั่งเอเชีย ผู้เล่นในตลาดเชื่อว่าการฟื้นตัวเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะได้แรงหนุนจากการทยอยผ่อนคลายมาตรการLockdown โดยตลาดมองว่าทั้งภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการของญี่ปุ่นจะขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นในเดือนพฤศจิกายน สะท้อนผ่านดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการที่จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 54 จุด และ 51.2 จุด ตามลำดับ