ทำความรู้จัก "ไวยาวัจกร" ผู้มีหน้าที่เบิกจ่าย และดูแลทรัพย์สินวัด

ทำความรู้จัก "ไวยาวัจกร" ผู้มีหน้าที่เบิกจ่าย และดูแลทรัพย์สินวัด

ส่องบทบาทหน้าที่ "ไวยาวัจกร" นอกจากจะมีหน้าที่ในการเบิกจ่ายเงิน และดูแลทรัพย์สินภายในวัดแทนพระสงฆ์แล้ว ยังเป็นตัวแทนของวัดในการจัดการทรัพย์สินของวัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ด้วย

จากความคืบหน้าคดีรวบตัว “ไวยาวัจกร” ของวัดแห่งหนึ่งหลังบุกปล้นทอง 80 บาท เพื่อหาเงินคืนวัดที่ตนเองสังกัดอยู่เมื่อไม่นานนี้ ทำให้หลายคนสงสัยว่า “ไวยาวัจกร” คือตำแหน่งอะไรและมีความสำคัญอย่างไรกับวัด

ความหมายของไวยาวัจกร คือ ผู้ทำกิจธุระแทนภิกษุหรือสงฆ์, ผู้จัดการขวนขวายแทนภิกษุหรือสงฆ์, ผู้ทำกิจธุระแทนสงฆ์, ผู้ช่วยขวนขวายทำกิจธุระ หรือผู้ช่วยเหลือรับใช้พระ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องเปิดโปง "ไวยาวัจกร" จี้ชิงทองห้างบิ๊กซี ตบตาตำรวจแต่ไม่รอด เหตุพระเสพยาทั้งวัด

นอกจากนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กรณีที่มีการมอบหมายให้ไวยาวัจกรดูแลรักษาและจัดการทรัพย์สินของวัด ไวยาวัจกรยังมีฐานะเป็น "ตัวแทน" ของวัดในการจัดการทรัพย์สินของวัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่นำเข้ามาใหม่ และยังมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาอีกด้วย แต่เป็นตำแหน่งที่ไม่มีเงินเดือน

หน้าที่หลักของไวยาวัจกร ได้แก่ มีหน้าที่เบิกจ่ายนิตยภัต หรือเงินเรื่องที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้รับงบประมาณแผ่นดินเพื่อดำเนินการเบิกจ่ายถวายอุดหนุนแด่พระภิกษุผู้ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ พระภิกษุสงฆ์ที่มีตำแหน่งหน้าที่ในทางราชการต่างๆ เรื่อยไปจนถึงพระเปรียญธรรมเก้าประโยคของวัด ดูแลทรัพย์สินต่างๆ ที่เป็นของวัด รวมถึงมีหน้าที่ทำกิจธุระต่างๆ แทนพระสงฆ์ตามที่ได้รับมอบหมาย โดยเฉพาะกิจธุระที่เกี่ยวกับเรื่องการใช้จ่ายของวัด แต่จะต้องเป็นงานที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าอาวาสเท่านั้น

การแต่งตั้งไวยาวัจกร ถือเป็นหน้าที่ของเจ้าอาวาสที่ต้องออกหนังถือแต่งตั้ง เพื่อขออนุมัติจากเจ้าคณะอำเภอ แต่ต้องผ่านการปรึกษาหารือกับพระลูกวัดถึงคุณสมบัติของผู้ที่จะมารับหน้าที่นี้เรียบร้อยแล้ว โดยวัดหนึ่งวัดอาจมีไวยาวัจกรมากกว่าหนึ่งคนหากเป็นวัดใหญ่ และมีกิจธุระเยอะ และความเป็นไวยาวัจกรจะสิ้นสุดลงเมื่อเจ้าอาวาสผู้แต่งตั้งให้ออกหรือเจ้าอาวาสพ้นจากความเป็นเจ้าอาวาสไปแล้ว

สำหรับคุณสมบัติของไวยาวัจกร จะต้องเป็นเพศชาย มีอายุ 25 ปีขึ้นไป มีความประพฤติเป็นที่น่านับถือ

จากทั้งหมดที่กล่าวมานั้น จะเห็นได้ว่าตำแหน่ง “ไวยาวัจกร” นั้น วัดหรือเจ้าอาวาสสามารถแต่งตั้งใครก็ได้ที่เป็นที่ไว้ใจและมีความเต็มใจจะทำงานให้กับวัดได้โดยไม่รับเงินเดือน แต่การคัดเลือกไวยาวัจกรนั้นก็มาจากการคัดเลือกกันเองโดยพระภายในวัด ไม่ได้มีคนภายนอกมาเกี่ยวข้องโดยตรง อาจเป็นช่องว่างที่ทำให้เกิดปัญหาอย่างที่เป็นข่าวได้ง่าย

อ้างอิง: คมชัดลึก, คู่มือไวยาวัจกร

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์