UTA เดินหน้าลงทุน “อู่ตะเภา” ลุยตอกเสาเข็มเฟสแรกปี 2566

UTA เดินหน้าลงทุน “อู่ตะเภา” ลุยตอกเสาเข็มเฟสแรกปี 2566

UTA เดินหน้าลงทุนเฟสแรก 3.1 หมื่นล้านบาท ปั้นสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกตามแผน ตอกเสาเข็มปี 2566 แม้โควิดกระทบการเดินทาง เชื่อฟื้นตัวทันเปิดบริการในปี 2568

นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ ประธานคณะผู้บริหาร และกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงความคืบหน้าของโครงการท่าอากาศยานอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โดยระบุว่า ปัจจุบันบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด หรือ UTA อยู่ระหว่างเจรจากับภาครัฐในส่วนของแผนดำเนินงาน ภายหลังส่งแผนแม่บท (มาสเตอร์เพลน) พัฒนาโครงการดังกล่าวให้กับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ในช่วงกลางปีที่ผ่านมา

โดยการดำเนินโครงการขณะนี้ ภาพรวมยังถือว่าเป็นไปตามแผนกำหนดไว้ ในช่วงที่ผ่านมา UTA ได้ลงพื้นที่เข้าไปปิดรั้วกันพื้นที่เตรียมงานก่อสร้าง อีกทั้งยังดำเนินงานในส่วนของการขอใบอนุญาตประกอบกิจการ และจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) เบื้องต้นจึงคาดการณ์ว่าจะสามารถดำเนินการตามแผนกำหนด และตอกเสาเข็มเริ่มงานก่อสร้างในปี 2566

“คอนเซ็ปต์พัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เราจะสร้างให้เป็นเมืองที่น่าสนใจ นอกเหนือจากการเป็นพื้นที่เพื่อเดินทางเท่านั้น สร้างให้สนามบินและเมืองการบินนี้เป็นศูนย์กลางของภูมิภาค รองรับเที่ยวบินทั้งในประเทศ ต่างประเทศ และเชื่อมต่อเส้นทางบินแบบจุดต่อจุด (Point-to-point)”

สำหรับท่าอากาศยานอู่ตะเภา UTA ได้ว่าจ้างทีมบริหารท่าอากาศยานนาริตะ ประเทศญี่ปุ่น เข้ามาเป็นผู้บริหาร โดยคอนเซ็ปต์ภายในอาคารจะเน้นความทันสมัย นำเทคโนโลยีมาให้บริการ เพื่อตอบรับต่อความเปลี่ยนแปลงหลังจากเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ต้องเน้นลดการสัมผัส อีกทั้งท่าอากาศยานอู่ตะเภาจะเป็นท่าอากาศยานของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นศูนย์กลางด้านการบินในประเทศ ระหว่างประเทศ และสายการบินต่างชาติก็จะเข้ามาใช้บริการเป็นฮับการบินด้วย

นายพุฒิพงศ์ กล่าวด้วยว่า แม้จะมีการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่กระทบต่อการเดินทางของผู้โดยสาร แต่ส่วนตัวยังมองว่าการเดินทางจะเริ่มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในปีแรกของการเปิดให้บริการท่าอากาศยานอู่ตะเภา ในปี 2568 ประเมินว่าผู้โดยสารอาจไม่เติบโตอย่างที่ประเมินไว้ แต่เชื่อว่าหากการเดินทางในภูมภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลับมาขยายตัวเช่นเดิม ปริมาณผู้โดยสารของท่าอากาศยานอู่ตะเภาจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก หรือหากมีกรณีอัดอั้นการเดินทางเกิดขึ้น อาจส่งผลให้ผู้โดยสารเติบโตอย่างก้าวกระโดด

“ภูมิภาคเอเชียก่อนเกิดโควิด-19 มีปริมาณการเดินทางสูงกว่าภูมิภาคอื่นๆ ในโลก จึงคิดว่าแม้จะมีเหตุการณ์โควิด ก็มองว่าผู้โดยสารอาจชะงักไปบ้าง ไม่ได้เติบโตในปริมาณการคาดการณ์ไว้ แต่คงไม่มีผลเท่าไหร่ นอกจากจะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นหลังจากนี้อีก ดังนั้นการจราจรในปีที่อู่ตะเภาเปิดปีแรก น่าจะมีผู้โดยสารกลับมาแล้ว หรือไม่อาจโตแบบก้าวกระโดด”

ส่วนแผนลงทุนในโครงการนี้ แม้ปัจจุบันจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ต่ออุตสาหกรรมการบิน แต่ UTA ยังคงแผนลงทุนแบ่งออกเป็น 4 ระยะเช่นเดิม และจะไม่มีการเจรจาขอเยียวยาจากภาครัฐ เพราะเชื่อว่าธุรกิจการบินที่กำลังดำเนินการอยู่นี้ มีความต้องการการเดินทาง และจะเป็นโครงการที่สร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศ ดังนั้นคงไม่เอาเรื่องการเยียวยามาเป็นเงื่อนไขต่อรอง ไม่มองผลประโยชน์ส่วนตัว ต้องมองที่ผลประโยชน์ส่วนรวม

ทั้งนี้ โครงการท่าอากาศยานอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เป็นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโดยใช้เงินลงทุนประมาณ 290,000 ล้านบาท แบ่งการลงทุนออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่

  • ระยะที่ 1 งบลงทุน 31,290 ล้านบาท ก่อสร้างอาคารผู้โดยสารขนาด 157,000 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 15.9 ล้านคนต่อปี
  • ระยะที่ 2 งบลงทุน 23,852 ล้านบาท พัฒนาอาคารผู้โดยสารมีพื้นที่เพิ่มขึ้นกว่า 107,000 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด30 ล้านคนต่อปี
  • ระยะที่ 3 งบลงทุน 31,377 ล้านบาท เป็นการต่อขยายอาคารผู้โดยสารเพิ่มเติมจากระยะที่ 2 กว่า 107,000 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 45 ล้านคนต่อปี
  • ระยะที่ 4 งบลงทุน 38,198 ล้านบาท มีพื้นที่อาคารผู้โดยสารหลังที่สองของเมืองการบิน เพิ่มขึ้นกว่า 82,000 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 60 ล้านคนต่อปี