ร.ฟ.ท.วางฐานโลจิสติกส์ รับไฮสปีดจีน - ลาว 2 ธ.ค.นี้

ร.ฟ.ท.วางฐานโลจิสติกส์ รับไฮสปีดจีน - ลาว 2 ธ.ค.นี้

โครงการรถไฟจีน – สปป.ลาว เตรียมเปิดดำเนินการในวันชาติของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว 2 ธ.ค.นี้ เชื่อมต่อที่เมืองบ่อเต็น สปป. ลาว และมีปลายทางที่นครหลวงเวียงจันทน์ซึ่งอยู่ใกล้กับจังหวัดหนองคาย

นิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ลงพื้นที่จังหวัดหนองคาย เพื่อเตรียมความพร้อมเชื่อมต่อโครงข่ายการขนส่งดังกล่าว บูรณาการแผนงานยุทธศาสตร์ด้านโลจิสติกส์เพื่อรองรับการขยายตัวขนส่งเชื่อมต่อจีน – สปป.ลาว ผ่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว พร้อมระบุว่า การเปิดให้บริการขบวนรถไฟขนส่งสินค้าข้ามสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ถือเป็นความสำเร็จในการเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระบบรางของทั้ง 2 ประเทศเข้าด้วยกัน

อีกทั้งการเปิดบริการรถไฟสายดังกล่าว ยังสอดรับกับยุทธศาสตร์การพัฒนาโลจิสติกส์ของประเทศในการสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ตลอดจนรองรับปริมาณการขนส่งสินค้าข้ามแดนระหว่างไทย-สปป.ลาว ที่มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภายหลังการเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูง สปป.ลาว-จีน ช่วงเดือน ธ.ค.นี้

สำหรับการเตรียมความพร้อมของ ร.ฟ.ท.ได้ร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องของจังหวัดหนองคาย ประกอบด้วย นายด่านศุลกากรหนองคาย แขวงทางหลวงหนองคาย กองบังคับการตำรวจภูธรหนองคาย และตำรวจตรวจคนเข้าเมืองหนองคาย เร่งทดลองขบวนรถไฟขนส่งสินค้าความยาว 25 แคร่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งข้ามแดนทางรถไฟ ช่วงหนองคาย-ท่านาแล้ง

นอกจากนี้ ยังวางแผนเดินรถขบวนรถไฟขนส่งสินค้าเพื่อรองรับการขยายตัวของการขนส่ง แบ่งออกเป็น ในปี 2564-2565 มีการเพิ่มขบวนรถไฟขนส่งสินค้า ,ปี 2566-2568 จะปรับเพิ่มขบวนรถขนส่งสินค้าเป็นวันละ 16 ขบวน

"ร.ฟ.ท.ยังมีแผนงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบูรณาการพัฒนาพื้นที่ย่านสถานีหนองคาย และพื้นที่ CY หรือศูนย์รวบรวมและเปลี่ยนถ่ายสินค้าที่สถานีรถไฟนาทา หนองคาย เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าทางรถไฟ จากท่าเรือแหลมฉบัง มายังสถานีหนองคายและต่อขยายถึงที่ลานตู้สินค้า ที่ท่านาแล้ง สปป.ลาว ได้โดยตรง รองรับการลงทุนในอนาคต"

ทั้งนี้ แผนพัฒนาย่านสถานีหนองคาย จะมีการพัฒนาพื้นที่สถานีทั้งหมด 80 ไร่ รองรับการขนส่งผ่านสะพานเดิม และการเปลี่ยนถ่ายจากถนนสู่ระบบรางเชื่อมโยงภายในประเทศ ซึ่งจะเป็นการช่วยเสริมศักยภาพระบบขนส่งในภูมิภาค สร้างงานสร้างอาชีพ ก่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่น และสนับสนุนให้ไทย เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาคตามนโยบายรัฐบาล

ด้านกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ในฐานะคณะอนุกรรมการพัฒนาการเชื่อมต่อและการขนส่งข้ามแดนทางรถไฟช่วงหนองคาย - เวียงจันทน์ ได้จัดทำข้อเสนอในการเชื่อมต่อและการขนส่งข้ามแดนทางรถไฟช่วงหนองคาย – เวียงจันทน์ เพื่อสนับสนุนการขนส่งข้ามแดนทางรถไฟช่วงหนองคาย - เวียงจันทน์ และรถไฟสปป.ลาว - จีน โดยกำหนดออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่

ระยะที่ 1 ฝ่ายไทยจะเร่งพัฒนาสถานีหนองคายให้รองรับการขนส่งผ่านสะพานเดิม โดยพัฒนาบริเวณสถานีที่มีพื้นที่ประมาณ 80 ไร่ ให้เป็นพื้นที่ตรวจปล่อยสินค้าระหว่างประเทศ และการเปลี่ยนถ่ายจากถนนสู่ราง โดยให้เอกชนเช่าบริหารจัดการพื้นที่ 4 แปลง อีก 1 แปลงเป็นพื้นที่ส่วนกลาง

ระยะที่ 2 ฝ่ายไทยจะดำเนินการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ ซึ่งอยู่ห่างจากสะพานเดิมประมาณ 30 เมตร โดยเป็นสะพานรถไฟที่มีทั้งทางขนาด 1 เมตร และ 1.435 เมตร โครงสร้างสะพานจะเป็นรูปแบบสะพานคานคอนกรีตอัดแรงรูปกล่องก่อสร้างโดยวิธีคานยื่นสมดุล เพื่อรองรับการขนส่งทางราง

รวมทั้งจะจัดเตรียมพื้นที่และสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับศูนย์ย่านเปลี่ยนถ่ายสินค้า (Transshipment Yard) สามารถรองรับการแลกเปลี่ยนสินค้าจากรถไฟที่เข้ามาจากจีนและสปป.ลาว และส่งออกไปยังสปป.ลาวและจีน โดยตั้งอยู่ในพื้นที่ด้านหลังของลานขนถ่ายสินค้า สำหรับกองเก็บตู้สินค้าประเภทต่างๆ รวมถึงอาคารสำนักงาน, คลังสินค้า และอาคารประกอบอื่นๆ ของหน่วยงานที่เกี่ยวกับการนำเข้า-ส่งออก รวมถึงศูนย์เอ๊กซเรย์ตู้สินค้า เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้มาใช้บริการแบบ One-Stop Service

ส่วนการพัฒนาระบบรถไฟเชื่อมต่อระหว่างไทย - ลาว - จีน ปัจจุบันไทยอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 1ช่วง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา