ดาวโจนส์บวก 94 จุดได้แรงหนุนจากผลประกอบการบ.สดใส

ดาวโจนส์บวก 94 จุดได้แรงหนุนจากผลประกอบการบ.สดใส

ดัชนีดาวโจนส์ ปิดวันจันทร์ (1พ.ย.)ปรับตัวขึ้น 94 จุด ถือเป็นการปรับตัวขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในวันจันทร์(1พ.ย.) เพราะได้แรงหนุนจากรายงานผลประกอบการบริษัท

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์เพิ่มขึ้น 94.28 จุด หรือ 0.26% ปิดที่ 35,913.84 จุด ดัชนีเอสแอนด์พี 500 เพิ่มขึ้น 8.29 จุด หรือ 0.18% ปิดที่ 4,613.67 จุด และดัชนีแนสแด็ก เพิ่มขึ้น 97.53 จุด หรือ 0.63% ปิดที่ 15,595.92 จุด

นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยังได้ปัจจัยบวกจากการที่นักลงทุนมองว่าราคาหุ้นจะปรับตัวขึ้นในช่วงปลายปีนี้ โดยได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยหุ้นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการเปิดเศรษฐกิจต่างพุ่งขึ้นในการซื้อขายวันนี้

ทั้งนี้ ดัชนีดาวโจนส์ดีดตัวขึ้น 5.8% ในเดือนต.ค. ขณะที่ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ทะยานขึ้น 6.9% ทำสถิติปรับตัวขึ้นรายเดือนมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย.2563 ส่วนดัชนีแนสแด็กพุ่งขึ้น 7.3%
 

ข้อมูลจาก “Stock Trader's Almanac” ระบุว่า ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทมักดีดตัวขึ้นในเดือนต.ค และปรับตัวขึ้นจนถึงสิ้นปี โดยเดือนต.ค.ถือเป็นจุดเริ่มต้นของช่วงขาขึ้นตามฤดูกาลของราคาหุ้น ขณะที่ดัชนีเอสแอนด์พี500 ดีดตัวขึ้นเฉลี่ย 0.8% ในเดือนต.ค. ก่อนที่จะพุ่งขึ้น 1.6% ในเดือนพ.ย. และ 1.5% ในเดือนธ.ค.

บริษัทจำนวน 50% ในดัชนีเอสแอนด์พี 500 ได้รายงานผลประกอบการในไตรมาส 3 แล้ว โดยมากกว่า 80% ในจำนวนดังกล่าวมีผลประกอบการสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ และนักวิเคราะห์คาดว่าบริษัทจดทะเบียนจะมีกำไรในไตรมาส 3 เพิ่มขึ้นถึง 38.6%

นักลงทุนเพิ่มการคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในกลางปีหน้า หลังจากที่สหรัฐเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นในเดือนก.ย.
 

FedWatch Tool ของ CME Group ซึ่งวิเคราะห์การซื้อขายสัญญาล่วงหน้าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของสหรัฐ พบว่า นักลงทุนคาดการณ์ว่า เฟดมีแนวโน้ม 50% ที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในเดือนมิ.ย.2565 เทียบกับตัวเลขคาดการณ์เพียง 15% ก่อนหน้านี้

นอกจากนี้ นักลงทุนยังคาดว่าเฟดจะประกาศปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) ในการประชุมวันที่ 2-3 พ.ย. ก่อนที่จะปรับลดจริงในการประชุมเดือนธ.ค. ซึ่งจะทำให้เฟดยุติมาตรการคิวอีโดยสิ้นเชิงในกลางปี 2565

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยเมื่อวันศุกร์ว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (พีซีอี) ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน เพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนก.ย. เมื่อเทียบรายเดือน

เมื่อเทียบรายปี ดัชนีพีซีอีทั่วไปพุ่งขึ้น 4.4% ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนม.ค.2534

ดัชนีพีซีอีได้รับแรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของราคาอาหารและพลังงาน ส่วนดัชนีพีซีอีพื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนก.ย. เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนส.ค.

เมื่อเทียบรายปี ดัชนีพีซีอีพื้นฐานเพิ่มขึ้น 3.6% ในเดือนก.ย. สอดคล้องกับเดือนส.ค.

ทั้งนี้ ดัชนีพีซีอีถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค (ซีพีไอ) จากกระทรวงแรงงานสหรัฐ

นักลงทุนจับตาตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐในวันศุกร์นี้ ซึ่งกระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยในเวลา 19.30 น.ตามเวลาไทย

นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า กระทรวงแรงงานสหรัฐจะรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 450,000 ตำแหน่งในเดือนต.ค. หลังจากที่เพิ่มขึ้นเพียง 194,000 ตำแหน่งในเดือนก.ย.

นอกจากนี้ คาดว่าอัตราการว่างงานจะลดลงสู่ระดับ 4.7% ในเดือนต.ค. จากระดับ 4.8% ในเดือนก.ย.