ส.อ.ท.หนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน เตรียมตั้งสถาบันจัดการคาร์บอนเครดิต

ส.อ.ท.หนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน เตรียมตั้งสถาบันจัดการคาร์บอนเครดิต

ส.อ.ท.ชี้ความจำเป็นเศรษฐกิจหมุนเวียน กติกาโลกกำกับการผลิต การส่งออกของไทย หวังกลไกเอกชนรายใหญ่ เงื่อนไขรัฐ ช่วยเอสเอ็มอีปรับตัว เล็งตั้งสถาบันจัดการคาร์บอนเครดิตดึงตลาดหลักทรัพย์ - เอกชน มีส่วนร่วมอย่างเป็นรูปธรรม

นายสุพันธ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวในงานสัมมนา Thailand Next Episode3 Circular Economy นวัตกรรมเพื่ออนาคต จัดโดยเครือเนชั่นวันนี้ (28 ต.ค.) ว่า เรื่องของ "เศรษฐกิจหมุนเวียน" หรือ “Circular Economy” ถือว่าเป็นแนวโน้มที่สำคัญที่โลกให้ความสำคัญ และจะมีบทบาทอย่างมากในการกำหนดแนวทางการค้า การผลิตในภาคอุตสาหกรรมระดับโลก

โดยเศรษฐกิจหมุนเวียนจะช่วยให้เกิดการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เน้นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดอย่างมีความคุ้มค่า และจำกัดของเสียในกระบวนการผลิตให้เหลือน้อยที่สุดเพื่อนำกลับไปใช้ใหม่

ทั้งนี้ ส.อ.ท. ตระหนักดีว่าแนวโน้มดังกล่าวเกี่ยวข้องโดยตรงกับภาคการผลิตในอุตสาหกรรมและธุรกิจของประเทศไทย เนื่องจากอุตสาหกรรมในประเทศกว่า กว่า 70% เป็นอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อการส่งออก ดังนั้นกติกาของโลกทำให้เราต้องปรับตัวให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น จึงมีความจำเป็นที่จะสนับสนุนให้เกิดการคิดค้นนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆมาให้เกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดโดย สอท.มีการทำสถาบันบรรจุภัณฑ์เพื่อรีไซเคิล เพื่อสนับสนุนการลดการใช้ทรัพยากรที่ฟุ่มเฟือย

นอกจากนี้เพื่อให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศไทยให้สอดคล้องกับแนวทาง Circular economy ส.อ.ท.มีแนวคิดที่จะจัดตั้งสถาบันการจัดการซื้อขายคาร์บอนเครดิตขึ้นเพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการที่จะมีการซื้อคาร์บอนเครดิตสามารถทำได้ง่ายขึ้นซึ่งจะมีการทำแพลตฟอร์มร่วมกับองค์กรการบริหารก๊าซเรือนกระจก (อบก.) และเตรียมที่จะลงนามความร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์ และร่วมมือกับบริษัทในตลาดในการทำงานทั้งการขับเคลื่อนการลดคาร์บอนเครดิตและทำงานในส่วนอื่นๆที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถที่จะปรับตัวเข้าสู่ Circular economy ได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยในส่วนของภาครัฐหากสามารถที่จะปรับปรุงกฎระเบียบบางส่วนให้มีความทันสมัยมากขึ้นก็จะเอื้อให้เกิดการต่อยอด Circular economy ได้อีกมาก

“การมุ่งในทาง Circular Economy เป็นเรื่องใหม่แต่เป็นเรื่องที่สำคัญ เมื่อมีความชัดเจนและสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาของโลกถือว่าเป็นแนวทางที่มีประโยชน์กับการพัฒนาอุตสาหกรรมและสามารถไปสู่การเป็น New S curveของอุตสาหกรรมไทยได้ โดยความสำคัญในส่วนนี้เราเห็นความจำเป็นร่วมกัน ให้ความสำคัญกับ circular economy

ทุกภาคส่วนต้องมุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกัน และให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอีให้ปรับตัวได้มากขึ้นกับกติกาและกลไกเหล่านี้ด้วย เนื่องจากบริษัทขนาดกลางและขนาดใหญ่สามารถไปในเรื่องนี้ แต่บริษัทขนาดเล็กควรมีกลไกที่จะทำให้เกิดการปรับตัวได้ง่ายด้วยต้นทุนที่ต่ำหรืออาจมีมาตรการทางการเงินหรือมาตรการทางภาษีเข้ามาสนับสนุนมากขึ้น” นายสุพันธ์ กล่าว